วิธีดูแลผู้สูงอายุอยู่ลำพัง (Home care for elderly living alone)
- โดย จิราภรณ์ ชนมาสุข
- 25 พฤษภาคม 2562
- Tweet
สารบัญ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ผู้สูงอายุ (Older person)
- การดูแลผู้สูงอายุ (Elderly care)
- โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related macular degeneration หรือ AMD)
- สายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia)
- การเดินทางโดยเครื่องบินของผู้สูงอายุ (Air travel in older People)
- สิวผู้สูงอายุ หรือ สิวแดด (Senile comedones หรือ Solar comedones)
- กระผู้สูงอายุ (Senile lentigo) กระแดด (Solar lentigines)
- การป้องกันการล้มในผู้สูงอายุ (Falls prevention in elderly)
- การดูแลผู้สูงอายุท้องผูก (Care of constipation in older people)
บทนำ
การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้มีอัตราการตายลดลง ทำให้ประชากรวัยสูงอายุมีเพิ่มขึ้น จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2549-2553 พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังคงอยู่กันเป็นครอบครัว แต่ก็ยังพบว่ากว่า 1 ใน 10 อาศัยอยู่คนเดียว นอกจากนี้จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พบว่า ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.3 (6.3%) ในปี พ.ศ. 2545 เป็นร้อยละ 7.7 (7.7%) ในปีพ.ศ. 2550 โดยผู้สูงอายุหญิงจะอยู่คนเดียวมากกว่าผู้สูงอายุชาย
ผู้สูงอายุ เป็นผู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและสังคม เช่น
- ด้านร่างกาย อวัยวะต่างๆมีประสิทธิภาพเสื่อมลง
- ด้านสังคมหลังจากเกษียณอายุจากการทำงาน การพบปะทางสังคมน้อยลง ต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง ปัญหาสำคัญที่พบ คือ ปวดเข่า การทรงตัวไม่มีประสิทธิภาพจากข้อเข่าเสื่อม ปัญหาเกี่ยวกับการกินยา และปัญหาการพลัดตกหกล้ม ซึ่งล้วนแล้วแต่อันตรายต่อชีวิตและความเป็นอยู่ในสังคม
จากการที่พยาบาลเข้าเยี่ยมบ้านในชุมชนเขตกรุงเทพมหานครและในเขตชนบท ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่บ้านเพียงลำพังส่วนมาก ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษและต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากโรคที่รุนแรงขึ้น
ปัญหาที่มักพบในผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง?มีวิธีป้องกันแก้ไขอย่างไร?
ก. ปัญหาที่มักพบในผู้สูงอายุ ได้แก่
- ข้อเข่าเสื่อม: เกิดจากกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อกระดูกสึกกร่อน เกิดการอักเสบ เมื่อมีการเสื่อมก็มีการการซ่อมแซมบริเวณข้อโดยมีปุ่มกระดูกหรือหินปูนเกิดขึ้นบริเวณรอบผิวข้อ ซึ่งสามารถสัมผัสได้จากภายนอก และการที่เวลาเดินมีเสียงกรอบแกรบเนื่องมาจากปุ่มกระดูกที่สร้างมาซ่อมแซมแตกและเข้าไปอยู่ในช่องว่างของข้อ ทำให้เคลื่อนไหวข้อลำบาก จะปวดข้อเข่ามากเมื่อเดินหรือยืนนานๆ ไม่สามารถยืดเข่าได้สุด การนั่งคุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบหรือขึ้นลงบันไดได้ยากเนื่องจากข้อเข่ามีการเบียดกันมากกว่าปกติ นอกจากนั้นการนั่งถ่ายโดยใช้ส้วมลักษณะแบบคอห่านที่ต้องนั่งยองๆเป็นเวลานานจะเป็นการเพิ่มความเจ็บปวดข้อเข่าให้รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักมากยิ่งเป็นการเพิ่มแรงกดต่อข้อเข่าให้เสื่อมเร็วขึ้น
- ลืมกินยา กินยาซ้ำ: ผู้สูงอายุจะมีการเสื่อมของเซลล์สมองและเซลล์ประสาท ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำให้ความคิดช้าลง ความจำเสื่อม ประกอบกับ ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง แก้วตายืดหยุ่นลดลง ขอบเขตการมองเห็นแคบลง และความเสื่อมของร่างกายด้านอื่นๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่ให้เกิดการลืมกินยาหรือกินยาซ้ำ โดยเฉพาะยาที่จำเป็นต้องกินตรงเวลาและในขนาดที่แน่นอน เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน และยารักษาโรคความดันโลหิตสูง
- ยารักษาโรคเบาหวานจะเป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติซึขนาดของยาจัดตามความเหมาะสมกับแต่ละบุคคล หากรับประทานยาไม่ตรงตามเวลา เช่น หลังเวลาที่กำหนดมากๆ 1-3 ชั่วโมง หรือลืมรับประทานยาจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งจะมีอาการ กระหายน้ำ คลื่นไส้ ปัสสาวะบ่อย ตาพร่า และอาจช็อก หมดสติ ที่พบได้บ่อยๆก็คือไปพบผู้สูงอายุที่นอนหมดสติ อุจจาระปัสสาวะราด เจาะระดับน้ำตาลในเลือดได้ระดับสูง ส่วนการรับประทานยาซ้ำในกรณียาเบาหวานจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ ซึ่งจะมีอาการ เหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่น มึนงง/วิงเวียน คล้ายจะเป็นลม ช็อก (อาการเหมือนคนหิวข้าว)
- ในกรณีลืมกินยาความดันโลหิตจะทำให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น มีอาการ ปวดตึงท้ายทอย ตาพร่า เลือดกำเดาไหล ชัก หมดสติ เป็นอัมพาต ได้
- กรณีกินยาซ้ำ ทั้งในโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง จะทำให้ระดับความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ ซึ่งมีอาการวิงเวียน หน้ามืด วูบ เป็นลม
- อีกกรณีคือ การกินยาหมดอายุ ผู้สูงอายุส่วนมากประสบปัญหาการกินยาหมดอายุ เนื่องจากการสะสมยาไว้นานอาจจากการลืมกินยา การมองไม่เห็นวันหมดอายุที่อยู่บนซองยา หรือประสิทธิภาพการมองเห็นลดลงทำให้ไม่สามารถแยกยาหมดอายุออกได้ ทำให้เกิดอันตรายโดยเฉพาะการกินยาที่หมดอายุโดยไม่รู้ตัวเป็นเวลานานๆ
- หกล้ม: อุบัติเหตุหกล้มภายในบ้าน หรือในห้องน้ำ ที่เกิดกับผู้สูงอายุส่วนหนึ่งมาจากความเสื่อมของระบบกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ ข้อเข่าเสื่อม การสูญเสียความสามารถในการเดินหรือในการทรงตัว ปัญหาในการมองเห็น อ่อนเพลีย ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่า ทำให้มีอาการวิงเวียนเมื่อลุกยืน นั่ง แสงสว่างไม่เพียงพอในบางพื้นที่ การขึ้นลงบันไดที่ชัน และการมีทางต่างระดับภายในบ้าน การวางสิ่งของระหว่างทางเดินไม่เป็นระเบียบ ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยารักษารักษาความดันโลหิตสูง ยาขับปัสสาวะ ส่งผลให้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ประกอบกับห้องน้ำลื่น
จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-52 ของ วิชัย เอกพลากร พบว่าสาเหตุการหกล้มในผู้สูงอายุเกิดจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อ วิงเวียนหน้ามืด พื้นลื่น สะดุดสิ่งกีดขวางโดยเฉพาะพื้นต่างระดับ โดยผู้สูงอายุหญิงมีโอกาสเสี่ยงต่อการหกล้มมากกว่าชาย และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ผู้ใช้ยาคลายเครียดหรือยานอนหลับ มีโอกาสหกล้มมากกว่าผู้สูงอายุทั่วไป
ผู้สูงอายุที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือมีอีกชื่อว่า คูมาดิน (Coumadin) ต้องระวังมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีโอกาสเลือดออกได้ง่ายและหยุดไหลช้ากว่าปกติ หากเกิดอุบัติเหตุจะเกิดอันตรายและมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้สูงอายุทั่วไป เช่น ผู้สูงอายุล้มหัวกระแทกแล้วมีเลือดออกภายในสมองไม่หยุด การถอนฟัน ผ่าฝี อุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆ ก็มีโอกาสทำให้เสียชีวิตได้ทั้งสิ้น
ข. วิธีป้องกันและแก้ไข
- ข้อเข่าเสื่อม แนวทางป้องกันและแก้ไข คือ
- ด้านร่างกาย:
สอนให้ออกกำลังกายเบาๆด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อหรือเดินประมาณ 5 นาที จากนั้นเริ่มโดยนอนหงายราบบนเตียง หรือพื้นที่ไม่นุ่มมากจนตัวจมในที่นอน (สามารถหนุนหมอนต่ำได้) ใช้เชือกหรือผ้ายืดรองใต้ฝ่าเท้าแล้วยกขาขึ้นให้ตึงดังรูป ดึงค้างไว้ประมาณ 20 วินาที แล้ววางขาลง ทำซ้ำอีก 2 ครั้ง (รวมเป็น 3 ครั้ง) เสร็จแล้วเปลี่ยนข้าง ทำเหมือนเดิม 1 รอบ สามารถทำในท่านั่งเก้าอี้ได้โดยใช้ผ้ายืดรองฝ่าเท้าแล้วยืดขาให้ตึงทำมุมฉากกับหลังแล้วดึงค้างไว้ 20 วินาที และทำซ้ำเช่นเดียวกับท่านอน
ยืนตรง เกาะโต๊ะหรือราวจับที่แน่นหนามั่นคง ให้ระยะห่างเท้าซ้ายเท้าขวาพอประมาณ (ปลายเท้าไม่ต้องชิดกัน) เขย่งปลายเท้าขึ้นค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นวางฝ่าเท้าลงกับพื้นกลับมาสู่ท่าเดิมช้าๆ ทำซ้ำ 10 ครั้ง กรณีที่นั่งเก้าอี้ก็สามารถทำท่านี้ได้เช่นกัน โดยการนั่งบนเก้าอี้ให้เท้าซ้ายเท้าขวาห่างกันพอประมาณ เขย่งปลายเท้า ค้างไว้ 5 วินาที และวางเท้าราบกับพื้นกลับมาสู่ท่าเดิม ทำซ้ำอีก 1 รอบ
อนึ่ง:
แนะนำให้งดกิจกรรมที่ทำให้อาการปวดเข่ารุนแรงขึ้น เช่น
- การนั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า ควรหลีกเลี่ยงด้วยการนั่งเก้าอี้ หรือนั่งเหยียดขา
- ใช้ลิฟต์แทนการเดินขึ้นลงบันได(เมื่อไปในบางสถานที่ที่มีลิฟต์)
- ไม่ควรยืนหรือเดินนานๆ
- ใช้ผ้ายืดพยุงเข่าให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด
- ในรายที่มีโรคอ้วน หรือ น้ำหนักตัวเกิน ควรลดน้ำหนักเพื่อลดแรงกดที่เข่า หรืออาจใช้ไม้ค้ำยัน/ไม้เท้า ช่วยพยุงเวลาเดิน
- ในกรณีที่มีอาการปวดข้อเข่าร่วมด้วย สามารถใช้น้ำอุ่นประคบได้/การประคบร้อน
- และบริหารกล้ามเนื้อเข่าให้แข็งแรงตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพแนะนำ
- ด้านสิ่งแวดล้อม: จัดให้ผู้สูงอายุได้อาศัยอยู่ชั้นล่างเสมอ ป้องกันการเดินขึ้นลงบันไดบ่อย จัดให้มีราวเกาะในบริเวณบ้านและในห้องน้ำ เปลี่ยนส้วมเป็นชนิดชักโครก หรือแบบเก้าอี้นั่งถ่ายบนคอห่าน
- ลืมกินยา:
- กรณีการกินยาหมดอายุ: ผู้ดูแล ควรมีการตรวจเช็ควันหมดอายุของยาตั้งแต่วันแรกที่ได้รับยา และเขียนระบุวันเดือนปีที่หมดอายุด้วยอักษรขนาดใหญ่บนฉลากให้ชัดเจน ควรใช้ยาเก่าให้หมดก่อนยาใหม่เพื่อป้องกันยาเก่าหมดอายุ กรณีไม่มีวันเดือนปี กำกับข้างซองยา การสังเกตลักษณะของยาก็เป็นเรื่องที่สำคัญ
- ลักษณะของยาหมดอายุ คือ
- ยาเม็ด หากยามีสีเปลี่ยนไป แตกกร่อนง่าย มีน้ำเยิ้มออกจากแคปซูล
- หรือกรณียาน้ำที่เปิดใช้แล้วเกิน 3 เดือน หรือ ยาตกตะกอน จับตัวเป็นก้อน เมื่อยาหมดอายุ หรือ มีลักษณะหมดอายุ ต้องทิ้งยาเหล่านนั้นไป (อ่านเพิ่มเติมใน บทความเรื่อง วิธีทิ้งยา)
- ควรตรวจเช็คสภาพยาทุก 1 เดือน หรือ ทุกครั้งเมื่อได้รับยามาใหม่
ทั้งนี้ แนวทางป้องกันและแก้ไขคือ
- ควรมีการตั้งเวลาปลุกเมื่อถึงเวลากินยาในแต่ละมื้อ โดยจัดซองยาไว้บริเวณใกล้กับที่ตั้งนาฬิกาปลุก และควรจัดนาฬิกาไว้ในสถานที่สามารถได้ยินเสียงปลุกทันที
- กรณีต้องออกไปนอกสถานที่ ควรจัดยาแบ่งใส่กล่องโดยแบ่งเป็นมื้อเช้า เที่ยง เย็น ตามจำนวนวันที่ออกไป ซึ่งง่ายต่อการตรวจเช็คว่า กินยาไปแล้วหรือไม่ ยกเว้นยาสำคัญที่ต้องเอาไปจำนวนมาก เช่น ยาอมใต้ลิ้น
- หกล้ม:
แนะนำให้ผู้สูงอายุเปลี่ยนอิริยาบถทุกครั้งอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันการหน้ามืด วิงเวียน รู้สึกจะเป็นลมจากการเปลี่ยนท่า เช่น หากนอนอยู่แล้วต้องการลุกนั่ง ควรตะแคงตัวไปด้านใดด้านหนึ่งก่อน แล้วค่อยลุกนั่งข้างเตียงช้าๆ ไม่ลุกทันที เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วขณะ ทำให้มีอาการ หน้ามืด วิงเวียน ตาพร่า อาเจียน คล้ายจะเป็นลม และหมดสติ เรียกอาการนี้ว่า ความดันตกในท่ายืน หรือ ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน (Postural hypotension) หากผู้สูงอายุมีอาการดังกล่าว ควรรีบนั่งลงทันทีและพักจนกว่าจะหมดอาการแล้วถึงทำกิจกรรมต่อ
ทั้งนี้ แนวทางป้องกันและแก้ไข คือ
- ควรจัดให้ห้องนอนผู้สูงอายุอยู่ชั้นล่าง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการขึ้นลงบันได
- จัดทำราวเกาะพยุงตัวในบริเวณบ้านและในห้องน้ำ
- จัดสิ่งของบริเวณทางเดินให้เป็นระเบียบเพื่อป้องกันการสะดุดหกล้ม
- หมั่นดูแลความสะอาดของพื้นห้องน้ำให้แห้งอยู่เสมอ ควรเลือกใช้วัสดุปูพื้นที่ไม่ลื่นง่าย
- จัดแสงสว่างในสถานที่ต่างๆ รวมถึงในห้องน้ำ ให้เพียงพอ
สรุป
ผู้สูงอายุ จำเป็นต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสมและใกล้ชิด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอยู่เพียงลำพัง ผู้ดูแลควรมีการจัดการหรือวางแผนเพื่อป้องกัน และลดการเกิด ปัญหาต่างๆดังกล่าวที่จะตามมา เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์
บรรณานุกรม
- วิชัย เอกพลากร. (2553). รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พศ. 2551-2. สำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. นนทบุรี.
- ศิริพร ขัมภลิขิต และ จุฬาลักษณ์ บารมี. (2555). คู่มือการสอนการสร้างเสริมสุขภาพในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต. แผนการพัฒนาเครือข่ายพยาบาลศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (พย.สสส) ระยะที่ 2 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
- สกุณา บุญนรากร. (2552). การสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวมทุกช่วงวัย. (พิมพ์ครั้งที่ 3). สงขลา: เทมการพิมพ์.
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ. ห่วงใยกันซักนิดกับชีวิตที่สูงวัย. http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/article/article_older.html [2019,May25]