วิตามินเค (Vitamin K)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 ตุลาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- วิตามินเคมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- วิตามินเคมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- วิตามินเคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- วิตามินเคมีขนาดการใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- วิตามินเคมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้วิตามินเคอย่างไร?
- วิตามินเคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาวิตามินเคอย่างไร?
- วิตามินเคมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วิตามิน (Vitamin)
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- วิตามินดี (Vitamin D or Ergocalciferol)
บทนำ: คือยาอะไร?
วิตามินเค (Vitamin K) คือ วิตามินที่มีหน้าที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ช่วยให้เลือดหยุดในภาวะมีเลือดออก, เป็นวิตามินประเภทละลายได้ดีในไขมัน ร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์วิตามินเคได้จากแบคทีเรียภายในลำไส้, โดยเมื่อนำมาใช้เป็นยา จะอยู่ในรูปแบบของยารับประทาน และยาฉีด
อาจแบ่งวิตามินเคที่มีประโยชน์กับมนุษย์เป็น 3 ชนิดย่อย คือ
- วิตามินเค 1 หรือในชื่ออื่นว่า Phylloquinone หรือ Phytomenadione หรือ Phytonadione: ร่างกายจะได้รับจากอาหารประเภทผักใบสีเขียว
- วิตามินเค 2 หรือในอีกชื่อว่า Menaquinone: ร่างกายได้รับจากสารอาหารที่มาจากสัตว์ เช่น นม ไข่ และร่างกายสังเคราะห์ได้เองโดยอาศัยแบคทีเรียในลำไส้ของเรา
- วิตามินเค 3 หรือจะเรียกว่า Menadione: เป็นสารที่นักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์ขึ้น ถูกนำมาใช้รักษา ภาวะสารช่วยการแข็งตัวของเลือดต่ำ (Hypoprothrombinemia) ในแถบประเทศที่กำลังพัฒนา
ทั้งนี้ประโยชน์ของวิตามินเคในร่างกายมนุษย์จะทำหน้าที่ เช่น
- วิตามินเค 1: เป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการจับตัวของเกล็ดเลือดซึ่งเป็นกลไกป้องกันการเสียชีวิตจากการสูญเสียเลือด (เลือดไหลแล้วหยุดยาก) เมื่อมีบาดแผล
- วิตามินเค 2: ช่วยในการรวมตัวของเกลือแคลเซียมกับมวลกระดูกทำให้กระดูกมีความแข็งแรง
นอกจากนี้ วิตามินเคทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว ยังออกฤทธิ์และทำงานร่วมกับวิตามินดีช่วย สนับสนุนการทำงานของเซลล์ที่มีหน้าที่สร้างกระดูก (Osteoblasts) ทำให้กระดูกมีการเจริญเติบโตได้ดีอีกด้วย
- วิตามินเค ยังช่วยสนับสนุนการพัฒนาและชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย
- วิตามินเค ช่วยป้องกันโรคหัวใจ เพราะการขาดวิตามินเคจะทำให้มีเกลือแคลเซียมในกระแสเลือดมากเกินไป, เกลือแคลเซียมเหล่านี้จะส่งผลทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัวขาดความยืดหยุ่นจนมีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจตามมา
อาจกล่าวได้ว่า การขาดวิตามินเค ย่อมจะส่งผลกระทบกับหน้าที่หลักๆของอวัยวะต่างๆดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้แหล่งอาหารที่มีวิตามินเคปริมาณสูง เช่น ผักใบเขียวต่างๆจะมีปริมาณวิตามินเค 1 สูงมาก, ในขณะที่อาหารจากสัตว์ เช่น ตับ นม ไข่ จะให้วิตามินเค 2 ได้มากกว่า, และแบคทีเรียในลำไส้ของคนเราก็มีความสามารถเปลี่ยนวิตามินเค1 ไปเป็นวิตามินเค 2 ได้อีกด้วย, จากข้อมูลเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของเหตุผลที่การรับประทานยาปฏิชีวนะมากๆอาจทำให้แบคทีเรียในลำไส้ลดน้อยลง จนไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินเคได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
สำหรับวิตามินเค 3 ยังอยู่ในช่วงการศึกษาว่า แหล่งอาหารประเภทใดมีวิตามินชนิดนี้มาก แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ได้สังเคราะห์วิตามินเค 3 ขึ้นมาใช้ได้เอง, และด้วยกลไกของร่างกายสามารถเปลี่ยนวิตามินเค 3 ไปเป็นวิตามินเค 2 ได้เช่นกัน
กลุ่มเสี่ยงที่มักจะมีภาวะขาดวิตามินเคที่พบบ่อย เช่น เด็กทารกแรกเกิด และถือเป็นมาตรฐานของหลายประเทศที่ต้องให้วิตามินเคกับทารกแรกคลอด
อนึ่ง: ทางคลินิก ยังใช้วิตามินเคในการบำบัดอาการเลือดออกของผู้ป่วยที่ได้รับยา Warfarin เกินขนาดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ร่างกายได้รับวิตามินเคมากเกินไปจนร่างกายไม่สามารถกำจัดออกได้ทัน ก็อาจแสดงผลต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ เช่น เกิดภาวะตัวเหลืองโดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดจากมีภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกจึงเกิดสารบิลิรูบิน/สารที่ให้สีเหลืองในเลือดสูง (Hyperbilirubinemia)
ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้วิตามินเค/ยาวิตามินเคได้ในสถานพยาบาลโดยการใช้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
สำหรับบทความนี้ จะขอนำเสนอสรรพคุณของวิตามินเคที่ใช้เป็นยาในเรื่อง “การลดภาวะเลือดออกง่าย” เท่านั้น
วิตามินเคมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
วิตามินเคมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บำบัดภาวะที่มีสารช่วยการแข็งตัวของเลือดต่ำ (Hypoprothrombinemia) ที่มีสาเหตุจากการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- บำบัดภาวะ Hypoprothrombinemia ที่มิได้มีสาเหตุจากการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- ป้องกันภาวะ Hypoprothrombinemiaในเด็กซึ่งการใช้ยาจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
วิตามินเคมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของวิตามินเค ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะวิตามินเค 1 เท่านั้น คือ วิตามินเค1 จะออกฤทธิ์โดยตัวยามีความจำเป็นในขบวนการสร้างสารโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด ได้แก่ Factor II, Factor VII, Factor IX และ Factor X ซึ่งจะส่งผลในการทำงานและการรวมตัวของเกล็ดเลือดให้ปิดบาดแผล, จากกลไกดังกล่าว ส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
วิตามินเคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาวิตามินเคมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำชนิดรับประทานสำหรับหยอดเข้าปาก ขนาดความเข้มข้น 2 %
- ยาฉีด ขนาด 1 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาด 1 มิลลิกรัม/1 มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
วิตามินเคมีขนาดการใช้ยาอย่างไร?
วิตามินเคมีขนาดการใช้ยาเพื่อการบำบัดรักษาภาวะเลือดออกง่าย: เช่น
ก. ภาวะ Hypoprothrombinemia ที่มีสาเหตุจากการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานขนาด 2.5 - 10 มิลลิกรัม, ระยะเวลาในการใช้ยานี้ขึ้นกับคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกของการใช้ยานี้กับเด็ก การใช้ยานี้กับเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของ แพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
ข. ภาวะ Hypoprothrombinemia ที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานขนาด 2.5 - 25 มิลลิกรัม หรือมากกว่านี้ รวมถึงระยะเวลาในการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
- เด็ก: ฉีดยานี้เข้ากล้ามเนื้อขนาด 0.5 - 1 มิลลิกรัม ระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นกับคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา
* อนึ่ง สามารถรับประทานยานี้ (ชนิดรับประทาน) ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงวิตามินเค ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาวิตามินเคอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาวิตามินเค สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาวิตามินเคตรงเวลา
วิตามินเคมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาวิตามินเค สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง): เช่น
- เบื่ออาหาร
- หายใจลำบาก
- ตับโตคลำพบได้จากการคลำหน้าท้อง (ปกติจะคลำหน้าท้องไม่พบตับ)
- บวมตามร่างกายและใบหน้า
- ตัวซีด
- ตัวเหลือง/ตาเหลือง
- อาจพบ ผื่นคัน, แน่นหน้าอก, วิงเวียน, เหงื่อมาก, ความดันโลหิตต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้วิตามินเคอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาวิตามินเค: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงเด็ก และผู้สูงอายุ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ
- *หากใช้ยานี้แล้ว อาการป่วยไม่ดีขึ้น ควรต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- *หากบริโภคยานี้แล้ว พบอาการผิดปกติ เช่น ความดันโลหิตต่ำ หรือเกิดอาการแพ้ยานี้ ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- ยาวิตามินเคสามารถทนอุณหภูมิสูงๆได้ดี แต่จะเสื่อมสลายหากเก็บในช่องแข็งของตู้เย็น จึงไม่ควรเก็บยานี้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมวิตามินเคด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
วิตามินเคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาวิตามินเคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาวิตามินเค ร่วมกับยา Warfarin จะทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของยา Warfarin ด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้วิตามินเค ร่วมกับยา Cholestyramine อาจทำให้ฤทธิ์การรักษาของวิตามินเค 1 ลดลง กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้วิตามินเค ร่วมกับยา Orlistat อาจทำให้การดูดซึมของวิตามินเค 1 ชนิดรับประทานลดลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาวิตามินเคอย่างไร?
ควรเก็บยาวิตามินเค: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
วิตามินเคมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาวิตามินเค มียาชื่อการค้า และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
INJEK (อินเจ็ค) | Neon Labs |
KENADION (เคนาเดียน) | Samarth |
K-WIN (เค-วิน) | Mercury |
K.P. (เค.พี.) | PP Lab |
Konakion MM (โคนาเคียน) | Roche |
Vitamin K1 T P (วิตามินเค 1 ทีพี) | TP Drug |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_K [2022, Oct8]
- https://whfoods.com/genpage.php?tname=nutrient&dbid=112 [2022, Oct8]
- https://www.mims.com/India/drug/info/INJEK/INJEK%20inj [2022, Oct8]
- https://www.mims.com/India/drug/info/KENADION/ [2022, Oct8]
- https://www.drugs.com/dosage/phytonadione.html#Usual_Adult_Dose_for_Hypoprothrombinemia___Not_Associated_with_Anticoagulant_Therapy [2022, Oct8]
- https://www.mims.com/India/drug/info/phytomenadione/?type=full&mtype=generic#Dosage [2022, Oct8]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/k-p-/ [2022, Oct8]