วิตามินดี (Vitamin D or Ergocalciferol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 ธันวาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- วิตามินดีมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- วิตามินดีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- วิตามินดีมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- วิตามินดีมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- วิตามินดีมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้วิตามินดีอย่างไร?
- วิตามินดีมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาวิตามินดีอย่างไร?
- วิตามินดีมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วิตามิน (Vitamin)
- วิตามินรวม มัลติวิตามิน เอ็มทีวี (Multivitamin: MTV)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
บทนำ
ยาวิตามินดี (Vitamin D) หรือ Ergocalciferol จัดเป็นวิตามินที่ละลายได้ดีในไขมัน สามารถพบได้ในอาหารที่มนุษย์รับประทานเช่น ปลาทะเลอย่างแซลมอนและทูน่า น้ำมันตับปลา นม โยเกิร์ต หรือในเห็ดบางชนิด ร่างกายจะสร้างวิตามินดีได้โดยที่ผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดอ่อนๆ หน้าที่หลักๆของวิตามินดีได้แก่
- สนับสนุนการดูดซึมแคลเซียมจากระบบทางเดินอาหาร
- ช่วยคงระดับแคลเซียมและเกลือฟอสเฟตในกระแสเลือดเพื่อรักษาระดับมวลกระดูก
- ป้องกันภาวะชักจากการมีระดับเกลือแคลเซียมในเลือดต่ำ
- จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของกระดูกหรือการซ่อมแซมกระดูกที่มีการชำรุด
- ช่วยป้องกันอาการโรคกระดูกอ่อน/โรคกระดูกน่วม (Osteomalacia) ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
- ทำให้เซลล์ต่างๆในร่างกายเจริญเติบโต
- ผู้ที่ขาดวิตามินดีจะมีภาวะกระดูกบางผิดรูปร่าง
- ช่วยสนับสนุนหน้าที่ของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในร่างกาย
ทั้งนี้วิตามินดีสามารถดูดซึมจากลำไส้เล็กได้อย่างช้าๆ เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะกระจายตัวไปยังตับ ละลายในไขมัน ซึมเข้าสู่กล้ามเนื้อ-ผิวหนัง-กระดูก รวมตัวกับสารโปรตีนที่ชื่อ Globulins และ Albumin ร่างกายสามารถขับวิตามินดีออกโดยผ่านไปกับอุจจาระ และมีส่วนน้อยที่ถูกขับผ่านไปกับปัสสาวะ ในแต่ละวันผู้ชายและผู้หญิงควรได้รับวิตามินดี 600 ยูนิตสากล/วัน
อนึ่ง สาเหตุที่ร่างกายได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอในแต่ละวันอาจเกิดจากสิ่งต่างๆต่อไปนี้ เช่น
- เป็นผู้ที่ไม่เคยออกแดด/ไม่โดนแสงแดดเลย
- ผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมมิดชิดและผิวหนังไม่มีโอกาสสัมผัสกับแสงแดด
- ผู้ป่วยโรคไตจะไม่สามารถเปลี่ยนวิตามินดีให้อยู่ในโครงสร้างที่ร่างกายสามารถนำไปใช้งานได้
- การป่วยและมีภาวะการดูดซึมสารอาหารจากระบบทางเดินอาหารผิดปกติ มีภาวะลำไส้อักเสบ ก็เป็นอีกเหตุปัจจัยที่ทำให้ร่างกายไม่ได้รับวิตามินดีเท่าที่ควร
- ทารกที่ดื่มนมมารดาอย่างเดียว วิตามินดีอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของทารก
- ผู้ที่มีผิวคล้ำหรือผิวดำจะมีผิวหนังที่สามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้ต่ำกว่าคนผิวขาว
ในทางตรงกันข้ามหากผู้ป่วยบริโภคหรือได้รับวิตามินดีมากเกินความต้องการ ก็สามารถได้รับพิษจากวิตามินนี้และแสดงออกมาจากอาการต่างๆเช่น เกิดภาวะเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ปัสสาวะบ่อย และหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีเกลือแคลเซียมในเลือดสูงจนมีภาวะหินปูนจับหรือพอกตามเนื้อเยื่อและหลอดเลือด แต่การสร้างวิตามินดีจากการที่ผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานานๆจะไม่ทำให้ร่างกายได้รับพิษจากวิตามินดีแต่อย่างใด ด้วยความร้อนเกินไปจากแสงแดดสามารถทำลายสารตั้งต้นที่จะเปลี่ยนไปเป็นวิตามินดีนั่นเองจึงช่วยควบคุมการได้รับวิตามินดีเกินได้
ยังมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวิตามินดีที่ผู้ป่วย/ผู้บริโภคควรทราบด้วยอาจเป็นประโยชน์ในระหว่างการใช้ยาเช่น
วิตามินดีเป็นยาอีกหนึ่งรายการที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยอยู่ในหมวดของยาอันตราย และสามารถพบเห็นการใช้ได้ในสถานพยาบาลทั่วไป
วิตามินดีมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาวิตามินดีมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- รักษาภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดต่ำ
- รักษาโรคกระดูกอ่อน/โรคกระดูกน่วม
- รักษาภาวะ Hypoparathyroidism (ภาวะมีฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์ต่ำ)
- บำบัดรักษาอาการขาดวิตามินดีของร่างกาย
- เป็นส่วนประกอบของยากลุ่มวิตามินรวมบำรุงร่างกาย
วิตามินดีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาวิตามินดีคือ ตัวยาวิตามินดีจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างจากตับไปเป็นสารตั้งต้นในการทำงานของวิตามินดีคือ 25-hydroxyvitamin D จากนั้นสารนี้จะถูกส่งผ่านไปที่ไต และถูกเปลี่ยนไปเป็นสารที่สามารถออกฤทธิ์ทำงานได้โดยมีชื่อเรียกว่า 1,25-dihydroxyvitamin D จากนั้นสารนี้จะทำให้ร่างกายดูดซึมเกลือแคลเซียมและฟอสเฟตจากลำไส้เล็ก ทำให้เกลือทั้งสองตัวนี้เพิ่มสูงในกระแสเลือดจนก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
วิตามินดีมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาวิตามินดีมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาแคปซูลนิ่มชนิดรับประทาน ขนาด 20,000 และ 50,000 ยูนิต/แคปซูล
วิตามินดีมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาวิตามินดีมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาโดยขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรค ดังนั้นขนาดยานี้จึงแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างเช่น
ก.สำหรับภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 50,000 - 200,000 ยูนิต/วัน
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงขนาดยานี้ในเด็ก ขนาดการรักษาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
ข. สำหรับโรคกระดูกอ่อน/โรคกระดูกน่วม (Osteomalacia):
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 2,000 - 5,000 ยูนิต/วัน หากเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะดูดซึมวิตามินดีได้ต่ำให้รับประทาน 10,000 - 300,000 ยูนิต/วัน
- เด็ก: รับประทาน 1,000 - 5,000 ยูนิตวันละครั้ง
ค.สำหรับภาวะขาดวิตามินดี:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 1,000 ยูนิตวันละครั้ง หากเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะดูดซึมวิตามินดีได้ต่ำ ให้รับประทาน 10,000 - 100,000 ยูนิตวันละครั้ง
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงขนาดยานี้ในเด็ก การรักษาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*อนึ่งสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ:
- ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงวิตามินดี ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาวิตามินดีอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาวิตามินดีสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาวิตามินดีให้ตรงเวลา
วิตามินดีมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
สำหรับวิตามินดีสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น ปัสสาวะมาก การตรวจตรวจปัสสาวะพบแคลเซียมในปัสสาวะ (ปกติจะตรวจไม่พบ) ความดันโลหิตสูง คลื่นไส้ ท้องผูก เบื่ออาหาร มีแคลเซียมเกาะที่ไต-ผนังหลอดเลือด อาจมีโลหิตจาง น้ำ หนักลด เกิดอาการเมื่อยล้า
มีข้อควรระวังการใช้วิตามินดีอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาวิตามินดีเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
- ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่ได้มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- หากมีอาการแพ้ยานี้ต้องหยุดการใช้ยานี้แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมวิตามินดีด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
วิตามินดีมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาวิตามินดีมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้วิตามินดีร่วมกับยา Hydrochlorothiazide อาจทำให้ปริมาณแคลเซียมในเลือดสูง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้วิตามินดีร่วมกับยา Magnesium carbonate อาจก่อให้เกิดภาวะ Magnesium ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะถ้าใช้ยาทั้งสองตัวกับผู้ป่วยโรคไต หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้วิตามินดีร่วมกับยา Digitoxin (ยาโรคหัวใจ) อาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเกิดภาวะได้รับพิษจาก Digitoxin มากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาวิตามินดีอย่างไร?
ควรเก็บยาวิตามินดีในอุณหภูมิที่ไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแข่แช็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
วิตามินดีมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาวิตามินดีที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ergocalciferol (เออโกแคลซิเฟอรอล) | Major Pharmaceuticals Inc. |
Drisdol (ดริสดอล) | SANOFI-AVENTIS U.S. |
Calciferol Capsules (แคลซิเฟอรอล แคปซูล) | British Dispensary (L.P.) |
บรรณานุกรม
- https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminD-HealthProfessional/#h2 [2015,Dec5]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_D [2015,Dec5]
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Ergocalciferol [2015,Dec5]
- http://www.drugs.com/mtm/vitamin-d.html [2015,Dec5]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/145#item-8861 [2015,Dec5]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Calciferol%20Capsules/?type=brief [2015,Dec5]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/ergocalciferol-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Dec5]