วิตามิน (Vitamin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คืออะไร?

วิตามิน บางคนอาจออกเสียงเป็น ไวตามิน (Vitamin) คือ สารอาหารที่มีหน้าที่ช่วยการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย การขาดวิตามินอาจเป็นสาเหตุของโรค(โรค-อาการ-ภาวะ)ต่างๆได้มากมาย

ในสมัยโบราณมนุษย์รู้จักวิตามินในแง่ของอาหารที่ใช้รับประทาน ชาวอียิปต์พบว่าการกินน้ำมันตับปลาจะช่วยให้หายจากอาการตาบอดกลางคืน ศัลยแพทย์ชาวสก๊อตพบว่าผลไม้พวกส้ม สามารถรักษาอาการโรคลักปิดลักเปิดหรือโรคเลือดออกตามไรฟันได้ แพทย์ชาวดัชท์สังเกตพบว่าไก่ที่กินข้าวที่ไม่ขัดขาวจะไม่มีอาการเหน็บชา จากข้อมูลที่ค้นพบไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือจากการเฝ้าสังเกต มนุษย์ได้นำมาประยุกต์ใช้จนพัฒนาเป็นวิทยาการในปัจจุบัน วิตามินได้ถูกค้นพบหลายชนิดที่สำคัญ เช่น วิตามิน เอ (A), บี1 (B1), บี2 (B2), บี3 (B3), บี5 (B5), บี6 (B6), บี7 (B7), บี9 (B9), บี12 ( B12), ซี (C), ดี (D), อี (E ), และ เค (K)

การแบ่งกลุ่มวิตามินยังแบ่งเป็น

ก. ประเภทที่ละลายน้ำได้: ซึ่งได้แก่ วิตามินบี และ วิตามินซี

ข. วิตามินที่ละลายในไขมัน: ได้แก่ วิตามิน เอ, วิตามินดี, วิตามินอี, และ วิตามินเค, ซึ่งการเข้าใจคุณสมบัติของวิตามินแต่ละชนิดจะทำให้การบริโภคเป็นไปได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุด

วิตามินมีหน้าที่อย่างไร?

วิตามิน

มนุษย์ต้องการวิตามินทุกวัน หน้าที่ของวิตามินแต่ละชนิดจะแตกต่างกันออก ไป วิตามินช่วยขับเคลื่อนให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ เมื่อเราบริโภคอาหารซึ่งมีวิตามินเป็นส่วนประกอบ อาหารจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและถูกนำไปใช้เสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ วิตามินซึ่งได้จากอาหารและดูดซึมเข้าไปอยู่ในเลือดจะถูกส่งไปตามอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายเพื่อให้อวัยวะต่างๆทำงานได้ตามปกติ นอกจากนี้วิตามินยังช่วยให้ระบบประสาทสั่งงานไปยังอวัยวะต่างๆได้เป็นอย่างดี หากการสั่งงานจากระบบประสาทใช้งานไม่ได้ การทำ งานของอวัยวะต่างๆจะสูญเสียไป

อาการจากการขาดวิตามินมีหลายลักษณะ เช่น

  • รู้สึกชาตามร่างกาย
  • การมองเห็นไม่ชัดเจน
  • ผิวพรรณเหี่ยวไม่สดชื่น
  • บาดแผลหายช้า
  • กระดูกเปราะ กระดูกบาง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปลายประสาทอักเสบ
  • โลหิตจาง/ โรคซีด
  • เลือดออกง่าย ฯลฯ

ทั้งนี้ หน้าที่ของวิตามิน มีหลากหลาย พอสรุปในภาพรวมได้ดังนี้ เช่น

1. ช่วยพัฒนา สมอง เส้นประสาท ให้มีการเจริญเติบโตและสามารถทำงานปกติไม่ว่าจะเป็นขณะที่เราหลับหรือตื่นนอนอยู่ก็ตาม

2. เสริมสร้างความเจริญเติบโตและเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูก, ฟัน, และกล้ามเนื้อ

3. เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายให้แข็งแรง และทำหน้าที่ต้านทานโรค ภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี

4. ช่วยให้ร่างกายนำสารอาหาร เช่น โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เกลือแร่ มาเป็นตัวตั้งต้นในการสร้างเม็ดเลือดแดง

5. ช่วยให้อวัยวะต่างๆในร่างกายสามารถใช้พลังงานจากไขมันได้

6. เป็นส่วนประกอบในการสร้างและสังเคราะห์สารทางพันธุกรรม

7. ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญสารอาหารที่บริโภคเข้าไปและสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิต

8. ช่วยสร้างฮอร์โมนซึ่งเป็นสารเคมีที่จำเป็นต่อการทำงานของอวัยวะและระบบต่างๆในร่าง กาย

9. ช่วยรักษาสภาพผิวหนังของคนเราให้เป็นปกติ

10. ช่วยในการดูดซึมเกลือแร่/ แร่ธาตุที่ได้จากรับประทานอาหาร

การใช้วิตามินนานๆส่งผลเสียอะไรบ้าง?

ในบทนำเราพูดถึงการแบ่งกลุ่มวิตามินเป็น 2 กลุ่มคือ วิตามินที่ละลายน้ำ, และกลุ่มวิตามินที่ละลายในไขมัน

ก. กลุ่มวิตามินที่ละลายน้ำ: อาจอยู่ในร่างกายได้ 2 - 4 ชั่วโมง ส่วนที่เหลือจากการใช้งานจะถูกขับออกทางไตมากับปัสสาวะ โอกาสที่จะสะสมในร่างกายจึงมีน้อย จึงมักไม่ค่อยก่อผลเสีย (ผลข้างเคียง) ซึ่งจากการสะสมในร่างกายน้อยนี่เอง จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องบริ โภควิตามินจากอาหารเข้าไปเสริมอยู่ทุกวัน

ข. กลุ่มวิตามินละลายในไขมัน: มักจะมีการสะสมในชั้นไขมันของร่างกาย ถ้ามีการสะสมมากเกินไปอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย โดยก่ออาการคล้ายกับเป็นโรคออกมา

ดังนั้น จึงกล่าวโดยสรุปว่า การได้รับวิตามินบางชนิดมากเกินไปจากการซื้อวิตามินเสริมอาหารมารับประทานเองโดยไม่รู้เท่าทัน นอกจากจะสูญเสียทรัพย์สินโดยเปล่าประโยชน์ อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและต้องเสียทุนทรัพย์เพิ่มเติมในการรักษาตัว ซึ่งอาการของการได้รับวิตามินมากเกินไปแสดงอยู่ใน ‘ตารางวิตามิน’ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปในหัวข้อ ‘ตัวอย่างวิตามินสำคัญ แหล่งอาหาร และผลข้างเคียง’

เมื่อมีการสั่งยาวิตามินควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งวิตามิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด และอาการจากการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยามักผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาวิตามินควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานวิตามินสามารถรับประทานวิตามินเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานวิตามินใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดวิตามินเป็น 2 เท่า

วิตามินมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?

วิตามินมีรูปแบบจัดจำหน่ายหลายอย่าง

  • หากเราเข้าไปในร้านขายยาจะพบรูปแบบของวิตามินที่มีหลายๆลักษณะ เช่น อยู่ในรูปของยาเม็ด, ยาเม็ดฟู่, ยาเม็ดเคลือบน้ำตาล, ยาแคปซูลนิ่ม, ยาน้ำเชื่อม
  • ส่วนใน สถานพยาบาล ตามคลินิก และในโรงพยาบาล จะพบวิตามินในรูปยาฉีดด้วย

นอกจากนั้น วิตามิน ยังถูกแบ่งบรรจุในรูปวิตามินเดี่ยวและวิตามินรวม ด้วยความมากมายของชนิดและขนาดวิตามินที่ใช้รับประทาน ย่อมเป็นการยากที่ผู้บริโภคจะสามารถเลือกได้ตรงตามความต้องการของร่างกายตนเอง ดังนั้นหากมีความประสงค์ที่จะใช้วิตามินเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือขอคำปรึกษาจากเภสัชกรที่ร้านขายยาใกล้บ้านก่อนเสมอ

มีคำแนะนำการเลือกใช้วิตามินไหม? อย่างไร?

วิตามิน เป็นสิ่งที่มีอยู่ในอาหารที่เราบริโภคอยู่เป็นประจำ หากบริโภคอาหารได้ถูกหลักโภชนาการ ร่างกายจะแข็งแรงได้เป็นปกติ ไม่จำเป็นต้องซื้อวิตามินมารับประทานเพิ่ม เพราะถึงแม้ร่างกายต้องการวิตามิน แต่ต้องการในปริมาณไม่มาก หากมีความจำเป็นต้องใช้วิตามินอาจใช้หลักเกณฑ์ดังนี้ เช่น

  • ปรึกษา แพทย์ เภสัชกร หรือโภชนากร ให้เป็นผู้แนะนำในการเลือกรับประทาน
  • การเลือกซื้อวิตามิน: ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ระบุชื่อของวิตามินต่างๆ มีคำแนะนำและวัตถุประสงค์การใช้อย่างชัดเจน โดยในฉลากยาจะต้องระบุเลขที่ผลิตและวันหมดอายุ
  • สภาพวิตามินที่จะรับประทานต้องอยู่ในสภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการผลิตเช่น
  • วิตามินในรูปยาเม็ด ต้องไม่แตกหัก หรือ ชื้นจนเปลี่ยนสภาพ
  • วิตามินที่อยู่ในรูปของยาน้ำ, ยาน้ำแขวนตะกอน, ต้องไม่ตกตะกอนเป็นก้อนแข็ง สภาพสีและรสชาติต้องไม่เปลี่ยนไปจากมาตรฐานเดิม
  • การเก็บรักษาวิตามิน ต้องเก็บให้พ้น แสงแดด หรือ ไม่เก็บในที่อุณหภูมิสูง
    • ถ้าอยู่ในรูปของยาเม็ดหรือแคปซูลนิ่ม ต้องเก็บให้พ้นจากความชื้น
    • หากรับประทานตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ ปรากฏว่าอาการโรคไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อ แพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแผนการรักษาใหม่
  • นอกจากนั้นคือ
    • ห้ามแบ่งยา/วิตามินให้ผู้อื่นใช้ และ
    • ห้ามใช้ยา/วิตามินหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิดที่รวมถึงวิตามิน, เกลือแร่/ แร่ธาตุ ทุกชนิด ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างวิตามินสำคัญ แหล่งอาหาร และผลข้างเคียง

รายละเอียดของวิตามินที่แสดงด้านล่างเป็นเพียงแนวทางและแนะนำความรู้ เป็นการศึก ษาที่ได้จากการใช้วิตามินในเพศชายที่มีร่างกายปกติแข็งแรงเท่านั้น (ในเพศหญิงซึ่งมีขนาดร่างกายเล็กกว่าเพศชาย ความต้องการวิตามินจึงควรในปริมาณที่น้อยกว่า) การเลือกบริโภคโดยให้เกิดประโยชน์สูงสุดของร่างกาย ควรขอคำแนะนำจาก แพทย์ เภสัชกร หรือโภชนากร จะเป็นการปลอดภัยและไม่สูญเสียค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น โดยเฉพาะในเด็กควรต้องปรึกษาแพทย์เสมอ อย่าซื้อวิตามินให้บุตรหลานรับประทานเอง เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงต่างๆได้สูงกว่าในผู้ใหญ่ เพราะร่างกายของเด็กขับสารส่วนเกินต่างๆออกจากร่างกายได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่ จากตับและไตยังทำงานไม่สมบูรณ์เต็มที่

ตัวอย่าง วิตามิน:

วิตามิน เอ (A):

  • ชื่อทางเคมี : เรตินอล (Retinol)
  • ความต้องการ/วัน : ในผู้ชายอายุ 19 - 70 ปี 900 ไมโครกรัม, ในผู้หญิง ไม่สูงเกินกว่าในผู้ชาย
  • แหล่งอาหารที่พบวิตามิน : ผักและผลไม้ที่มี สีส้ม เหลือง เขียว เช่น ฟักทอง ข้าวโพด แครอด
  • อาการจาก ภาวะขาดวิตามินเอ : กระจกตา (ตาดำ) เป็นแผล, ตาบอดกลางคืน, ผิวหนังหนาตัว
  • ปริมาณสูงสุดที่ร่างกายได้รับ : ไม่ควรเกิน/วัน 3,000 ไมโครกรัม
  • อาการที่ได้รับวิตามินเกิน : มีอาการ คลื่นไส้-อาเจียน, ปวดหัว, เวียนศีรษะ, ตาพร่า มัว, เสียความสมดุลในการทำงานของกล้ามเนื้อ

วิตามิน บี1 (B1):
  • ชื่อทางเคมี : ไทอามีน (Thiamine)
  • ความต้องการ/วัน : ในผู้ชายอายุ 19 - 70 ปี 1.2 มิลลิกรัม
  • แหล่งอาหารที่พบวิตามิน : ข้าวกล้อง ถั่ว งา จมูกข้าวสาลี นมถั่วเหลือง เนื้อหมู เมล็ดทานตะวัน
  • อาการจากภาวะขาดวิตามินบี1 : เหน็บชา
  • ปริมาณสูงสุดที่ร่างกายควรได้รับ : ไม่ควรเกิน/วัน ไม่ระบุ
  • อาการที่ได้รับวิตามินเกิน : ง่วงนอน กล้ามเนื้อคลายตัว

วิตามิน บี2 (B2):
  • ชื่อทางเคมี : ไรโบฟลาวิน (Riboflavin)
  • ความต้องการ/วัน : ในผู้ชายอายุ 19 - 70 ปี 1.3 มิลลิกรัม
  • แหล่งอาหารที่พบวิตามิน : ไข่ นม เครื่องในสัตว์ ตับ ผักใบเขียว โยเกิร์ต ข้าวโอ๊ต
  • อาการจากภาวะขาดวิตามิน2 (ปากนกกระจอก)
  • ปริมาณสูงสุดที่ร่างกายควรได้รับ : ไม่ควรเกิน/วัน ไม่ระบุ
  • อาการที่ได้รับวิตามินเกิน : ไม่ระบุ

วิตามิน บี3 (B3):
  • ชื่อทางเคมี : ไนอาซิน (Niacin), ไนอาซินามายด์ (Niacinamide)
  • ความต้องการ/วัน : ในผู้ชายอายุ 19 - 70 ปี 16 มิลลิกรัม
  • แหล่งอาหารที่พบวิตามิน : ตับ เนื้อสัตว์ ข้าวโอ๊ต ถั่ว จมูกข้าว ยีสต์ ผักใบเขียว
  • อาการจากภาวะขาดวิตามินบี3 : เพลลากร้า(Pellagra) คือ กลุ่มอาการดังต่อไปนี้ มีอาการอักเสบของลิ้น/ ลิ้นอักเสบ คันตามผิวหนัง อาหารไม่ย่อย ปวดประสาท ปลายประสาทอักเสบ ซึมเศร้า อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หงุดหงิด นอนไม่หลับ คลุ้มคลั่ง ความจำเสื่อม และท้องเสีย
  • ปริมาณสูงสุดที่ร่างกายได้รับ : ไม่ควรเกิน/วัน 35 มิลลิกรัม
  • อาการที่ได้รับวิตามินเกิน : ถ้าได้รับ B3 มากกว่า 2 กรัม/วัน ตับอาจได้รับความเสียหาย

วิตามิน บี5 (B5):
  • ชื่อทางเคมี : แพนโททินิก แอซิด (Pantothenic Acid)
  • ความต้องการ/วัน : ในผู้ชายอายุ 19 - 70 ปี 5 มิลลิกรัม
  • แหล่งอาหารที่พบวิตามิน : ไก่ เนื้อวัว ตับ มันฝรั่ง เมล็ดทานตะวัน
  • อาการจากภาวะขาดวิตามินบี5 : ปวดท้อง ท้องอืด ตะคริว อ่อนเพลีย ซึมเศร้า นอนไม่หลับ แก่ก่อนวัย อาการเหน็บชาตามปลายมือปลายเท้า อาเจียน
  • ปริมาณสูงสุดที่ร่างกายได้รับ : ไม่ควรเกิน/วัน ไม่ระบุ
  • อาการที่ได้รับวิตามินเกิน : อาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน แสบร้อนกลางอก

วิตามิน บี6 (B6):
  • ชื่อทางเคมี : ไพริดอกซีน (Pyridoxine), ไพริดอกซามีน (Pyridoxamine), ไพริดอกซอล (Pyridoxal)
  • ความต้องการ/วัน : ในผู้ชายอายุ 19 - 70 ปี 1.3 - 1.7 มิลลิกรัม
  • แหล่งอาหารที่พบวิตามิน : เนื้อสัตว์ ปลา ไก่ ตับ มันฝรั่ง กล้วย แตงโม นม ไข่แดง ข้าวกล้อง รำข้าว จมูกข้าวสาลี ถั่วต่างๆ เมล็ดงา
  • อาการจากภาวะขาดวิตามิน6 : โลหิตจาง (โรคซีด), ปลายประสาทอักเสบ
  • ปริมาณสูงสุดที่ร่างกายได้รับ : ไม่ควรเกิน/วัน 100 มิลลิกรัม
  • อาการที่ได้รับวิตามินเกิน : การได้รับมากกว่า 100 มก./วัน อาจทำให้เส้นประสาทถูกทำ ลาย และสูญเสียการรับรู้ของประสาทสัมผัส

วิตามิน บี7 (B7):
  • ชื่อทางเคมี : ไบโอติน (Biotin)
  • ความต้องการ/วัน : ในผู้ชายอายุ 19 - 70 ปี 30 ไมโครกรัม
  • แหล่งอาหารที่พบวิตามิน : ดอกกะหล่ำ ถั่ว กล้วย ปลาแซลมอน เนื้อสัตว์ ไข่ ตับ งา
  • อาการจากภาวะขาดไบโอติน : ผิวหนังอักเสบ ไม่สดชื่น
  • ปริมาณสูงสุดที่ร่างกายได้รับ : ไม่ควรเกิน/วัน ไม่ระบุ
  • อาการที่ได้รับวิตามินเกิน : ไม่ระบุ

วิตามิน บี9 (B9):
  • ชื่อทางเคมี : โฟลิก แอซิด (Folic Acid), โฟลินิก แอซิด (Folinic Acid), หรือ โฟเลท(Folate)
  • ความต้องการ/วัน : ในผู้ชายอายุ 19 - 70 ปี 400 ไมโครกรัม
  • แหล่งอาหารที่พบวิตามิน : ถั่ว ผักโขม บรอกโคลี คะน้าผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ส้ม สตอเบอรี ธัญพืช ถั่วลิสง ตับ ผักกาดหอม
  • อาการจากภาวะขาดวิตามินบี9/ ภาวะขาดโฟเลท : โลหิตจาง/ โรคซีด
  • ปริมาณสูงสุดที่ร่างกายได้รับ : ไม่ควรเกิน/วัน 1,000 ไมโครกรัม
  • อาการที่ได้รับวิตามินเกิน : อาจพบสิวขึ้นคล้ายลักษณะผื่นคัน แต่เป็นไม่ทุกกรณีไป

วิตามิน บี12 (B12):
  • ชื่อทางเคมี : ไซยาโนโคบาลามิน (Cyanocobalamin), ไฮดรอกซีโคบาลามิน (Hydro xycobalamin), เมทิลโคบาลามิน (Methylcobalamin)
  • ความต้องการ/วัน : ในผู้ชายอายุ 19 - 70 ปี 2.4 ไมโครกรัม
  • แหล่งอาหารที่พบวิตามิน : เนื้อสัตว์ เครื่องใน นม โยเกิร์ต ตับ ไข่
  • อาการจากภาวะขาดวิตามินบี12 : โลหิตจาง/ โรคซีด มีขนาดเม็ดเลือดแดงโตกว่าปกติ
  • ปริมาณสูงสุดที่ร่างกายได้รับ : ไม่ควรเกิน/วัน ไม่ระบุ
  • อาการที่ได้รับวิตามินเกิน : อาจพบสิวขึ้นคล้ายลักษณะผื่นคัน แต่เป็นไม่ทุกกรณีไป

วิตามิน ซี (C):
  • ชื่อทางเคมี : แอสคอบิก แอซิด (Ascorbic Acid)
  • ความต้องการ/วัน : ในผู้ชายอายุ 19 - 70 ปี 90 มิลลิกรัม
  • แหล่งอาหารที่พบวิตามิน : ส้ม ฝรั่ง สับปะรด พริก แตงโม บรอกโคลี่ กระหล่ำดอก มะ นาว กล้วย ผักโขม สตอเบอร์รี มะเขือเทศ มะละกอ
  • อาการจากภาวะขาดวิตามินซี/ โรคลักปิดลักเปิด : เลือดออกตามไรฟัน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดตามข้อ เจ็บกระดูก
  • ปริมาณสูงสุดที่ร่างกายได้รับ : ไม่ควรเกิน/วัน 2,000 มิลลิกรัม
  • อาการที่ได้รับวิตามินเกิน : เกิดข้ออักเสบ การรับประทานเกิน 1000 มก./วัน อาจทำให้ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาจเพิ่มการสะสมธาตุเหล็กตามกระดูกและข้อ

วิตามิน ดี (D):
  • ชื่อทางเคมี : คาลซิเฟอรอล (Calciferol)
  • ความต้องการ/วัน : ในผู้ชายอายุ 19 - 70 ปี 5 - 10 ไมโครกรัม
  • แหล่งอาหารที่พบวิตามิน : แสงแดดที่กระตุ้นผิวหนังช่วงเช้า น้ำมันปลา นม เห็ด หอยนางรม ปลาแซลมอน ไข่ ตับ เนย น้ำมันตับปลาจากปลาทะเล
  • อาการจากภาวะขาดวิตามินดี : มวลกระดูกบาง กระดูกพรุน และหักง่าย
  • ปริมาณสูงสุดที่ร่างกายได้รับ : ไม่ควรเกิน/วัน 50 ไมโครกรัม
  • อาการที่ได้รับวิตามินเกิน : เบื่ออาหาร เวียนศีรษะ คลื่นไส้-อาเจียน ปวดข้อ กระสับกระส่าย เซื่องซึม

วิตามิน อี (E):
  • ชื่อทางเคมี : โทโคเฟอรอล (Tocopherol)
  • ความต้องการ/วัน : ในผู้ชายอายุ 19 - 70 ปี 15 มิลลิกรัม
  • แหล่งอาหารที่พบวิตามิน : ผักใบเขียว ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดทานตะวัน น้ำมันพืช นม ไข่ เนย ข้าวโอ๊ต ข้าวบาเลย์ อัลมอลล์
  • อาการจากภาวะขาดวิตามินอี : ถ้าขาดในเด็กทารกอาจทำให้โลหิตจาง เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย การทำงานของระบบประสาทผิดปกติ
  • ปริมาณสูงสุดที่ร่างกายได้รับ : ไม่ควรเกิน/วัน 1,000 มิลลิกรัม
  • อาการที่ได้รับวิตามินเกิน : อาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว

วิตามิน เค (K):
  • ชื่อทางเคมี : ไฟโตนาไดโอน (Phytonadione)
  • ความต้องการ/วัน : ในผู้ชายอายุ 19 - 70 ปี 120 ไมโครกรัม
  • แหล่งอาหารที่พบวิตามิน : ผักใบเขียวเข้มเช่น ใบบัวบก ผักโขม บรอกโคลี่ คะน้า กะ หล่ำปลี ตับ ไข่ น้ำมันถั่วเหลือง
  • อาการจากภาวะขาดวิตามินเค : เลือดออกง่าย เลือดไหลแล้วหยุดช้า
  • ปริมาณสูงสุดที่ร่างกายได้รับ : ไม่ควรเกิน/วัน ไม่ระบุ
  • อาการที่ได้รับวิตามินเกิน : เพิ่มการจับตัวของเกล็ดเลือด

บรรณานุกรม

  1. ศัลยา คงสมบูรณ์เวช (2551) อาหารบำบัดโรค กรุงเทพฯ อมรินทร์พริ้นติ้ง.
  2. https://www.penguinrandomhouse.com/books/288662/the-real-vitamin-and-mineral-book-4th-edition-by-shari-lieberman/ [2021,July31]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin [2021,July31]