ปิโตรเลียม เจลลี่ (Petroleum jelly) วาสลีน (Vaseline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ปิโตรเลียม เจลลี่ ( Petroleum jelly) ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1859 (พ.ศ. 2402) ในพื้นที่ที่มีการ ขุดน้ำมัน คนงานบ่อน้ำมันได้นำสารคล้ายขี้ผึ้งซึ่งเป็นกากหรือของเสียจากกระบวนการทำงาน ซึ่งเรียกว่า Rod wax พบตามท่อต่อของปั๊มที่เป็นเครื่องจักร โดยนำมาทาแผลที่เกิดจากของมีคมหรือแผลที่เกิดจากการถูกความร้อนจนเป็นรอยไหม้ จึงมีการนำเอา Rod wax มาสกัดจนได้ปิโตรเลียม เจลลี่ และเริ่มผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ยาและตั้งชื่อการค้าว่า Vaseline สำหรับในประเทศไทยอาจคุ้นเคยกับ Vaseline ในรูปแบบของเครื่องสำอางและหาซื้อได้ทั้งในซุปเปอร์มาเก็ตตลอดไปจนถึงร้านขายยา ประชาชนสามารถขอคำแนะนำการใช้ปิโตรเลียม เจลลี่จากผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ เภสัชกร เพื่อทำความเข้าใจและใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เจลลี่ได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น

ปิโตรเลียม เจลลี่มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ปิโตรเลียมเจลลี่

ปิโตรเลียม เจลลี่มีสรรพคุณดังนี้

  • ใช้เป็นสารหล่อลื่นในบางหัตถการ เช่น การตรวจทางทวารหนัก
  • ใช้ทาป้องกันไม่ให้ผิวหนังแห้ง
  • ถนอมความชุ่มชื้นให้อยู่กับผิวหนัง
  • รักษาบาดแผลเล็กๆจากของมีคม
  • รักษาอาการผิวไหม้จากความร้อนของแสงแดด
  • ทาริมฝีปากป้องกันริมฝีปากแห้ง

ปิโตรเลียม เจลลี่มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของปิโตรเลียม เจลลี่คือ ตัวยาจะเคลือบผิวหนังเป็นฟิล์มบางๆ ป้องกันผิว หนังมิให้สูญเสียความชื้น รวมถึงช่วยปกป้องไขมันในบริเวณผิวหนัง จึงทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่ม คงสภาพที่แข็งแรง ที่รวมถึงการช่วยฟื้นสภาพของผิวหนังให้ดีมากขึ้น

ปิโตรเลียม เจลลี่มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ปิโตรเลียม เจลลี่มีรูปแบบการจัดจำหน่ายโดยบรรจุกระปุก ขนาด 7, 10, 50, 100, และ 368 กรัม

ปิโตรเลียม เจลลี่มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ปิโตรเลียม เจลลี่มีขนาดการบริหารยา/วิธีใช้ยาด้วยการทาบริเวณผิวหนังตามความต้องการ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงปิโตรเลียม เจลลี่ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้เครื่องสำอางทุกชนิด เช่น ใช้แล้วขึ้นผื่น แสบ บวม
  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรือทายาอะไรอยู่ เพราะปิโตรเลียม เจลลี่อาจส่ง ผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ทาอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภท (ทั้งชนิดกินและทา) สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทาปิโตรเลียม เจลลี่ควรทำอย่างไร?

หากลืมทาปิโตรเลียม เจลลี่สามารถทาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทาในเวลาถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทาเป็น 2 เท่า

ปิโตรเลียม เจลลี่มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ปิโตรเลียม เจลลี่สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น รบกวนกระบวนการขับของเสียออกจากรูขุมขนที่ผิวหนังและ/หรือจากบาดแผลที่ทาปิโตรเลียม เจลลี่ จึงอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน และ/หรือการสมานตัวของแผลช้าลง และปิโตเลียม เจลลี่อาจทำลายและขัดขวางการสร้างสาร คอลลาเจน (Collagen), สารอิลาสติน (Elastin, โปรตีนชนิดหนึ่งที่ช่วยให้ผิวหนังเกิดการยืดหยุ่น) รวมถึงเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของร่างกาย จึงอาจส่งผลให้เซลล์ผิวหนังแก่ตัวเร็ว นอกจากนั้นการทาปิโลเลียม เจลลี่ยังทำให้รู้สึกเหนียวเหนอะหนะ และสามารถทำให้ผิวหนังบริเวณทายา จับสิ่งสกปรก เช่น ฝุ่น แบคทีเรีย ไว้ตามรูขุมขน จนอาจเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังส่วนที่ทายาได้

มีข้อควรระวังการใช้ปิโตรเลียม เจลลี่อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ปิโตรเลียม เจลลี่ดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ปิโตรเลียม เจลลี่
  • ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด
  • ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ
  • ห้ามใช้ทาหล่อลื่นกับวัสดุที่มีส่วนประกอบของยาง เช่น น้ำยาง(ลาเทก, Latex) ถุงยางอนามัยชาย/คอนดอม(Condom) ถุงมือยาง เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายกับวัสดุเหล่านั้นจนเสียประสิทธิภาพในการใช้งาน เช่น ฉีกขาด หรือทะลุได้ง่าย แต่สามารถใช้กับถุงยางอนามัยสตรีได้ เพราะถุงยางอนามัยสตรีไม่ได้ทำจากยาง แต่ทำจากสาร Polyurethane ซึ่งเป็นสารประกอบชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มพลาสติก

*****หมายเหตุ

  • ยังไม่มีรายงานถึงข้อห้ามใช้ยาทานี้ในเด็กที่รวมถึงทารกแรกเกิด, หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ยกเว้นกรณีที่แพ้ยาทานี้
  • ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมปีโตเลียม เจลลี่ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและ ให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ปิโตรเลียม เจลลี่มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เนื่องจากปิโตเลียม เจลลี่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทาผิวภายนอก (ยาใช้ภายนอก) จึงไม่ค่อยพบว่ามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานอื่นแต่อย่างใด แต่อาจรบกวนประสิทธิภาพของยาทาอื่นๆเมื่อใช้ร่วมกันได้

ควรเก็บรักษาปิโตรเลียม เจลลี่อย่างไร?

สามารถเก็บปิโตรเลียม เจลลี่ที่อุณหภูมิห้อง เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดความร้อนและความชื้น เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บในห้องน้ำ

ปิโตรเลียม เจลลี่มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ปิโตเลียม เจลลี่ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Vaseline Jelly Protects Dry (วาสลีน เจลลี่ โพรเทค ดราย)Unilever
Vaseline Lip Therapy (วาสลีน ลิป เทอราพี)Unilever
Vaseline Jelly Baby (วาสลีน เจลลี่ เบบี้)Unilever
Vaseline Jelly Original (วาสลีน เจลลี่ ออริจินัล)Unilever

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Vaseline [2017,Nov25]
  2. http://www.drugs.com/pro/petroleum-jelly-white.html [2017,Nov25]
  3. http://www.amazon.com/Vaseline-Therapy-Original-0-25-Ounce/dp/B0067ZLQTG [2017,Nov25]
  4. https://www.fphandbook.org/lubricants-latex-condoms [2017,Nov25]
  5. https://www.liveabout.com/is-petroleum-jelly-safe-2442885 [2017,Nov25]
  6. https://www.healthline.com/health/beauty-skin-care/petroleum-jelly#overview1 [2017,Nov25]
  7. https://www.nhs.uk/Conditions/contraception-guide/Pages/female-condoms.aspx?tabname=Methods%20of%20contraception [2017,Nov25]
Updated 2017, Nov25