วัณโรคนอกปอด (ตอนที่ 4)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 4 สิงหาคม 2562
- Tweet
วัณโรคข้าวฟ่าง (ต่อ)
โดยอาการที่เกิดได้แก่ เป็นไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และหอบเหนื่อย (Progressive dyspnea) การแพร่ของเชื้อเป็นระยะอาจทำให้มีอาการเป็นไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ (Fever of unknown origin: FUO) และหากติดเชื้อที่ไขกระดูกอาจเป็นสาเหตุให้เกิด ภาวะโลหิตจาง (Anemia) เกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) หรือมีภาวะที่ร่างกายมีการสร้างเม็ดเลือดขาวออกมาในปริมาณมาก (>50,000 cell/ul) เพื่อตอบสนองต่อภาวะความผิดปกติบางอย่าง (Leukemoid reaction)
วัณโรคระบบทางเดินปัสสาวะ (Genitourinary TB) อาจแสดงอาการออกมาในลักษณะของกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) เช่น เป็นไข้ ปวดหลัง และปัสสาวะมีหนอง (Pyuria) เชื้อมักกระจายไปยังกระเพาะปัสสาวะ และในผู้ชายเชื้อมักกระจายไปยังต่อมลูกหมาก (Prostate) ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (Seminal vesicles) หรือ ท่อน้ำเชื้อ (Epididymis) ทำให้เกิดก้อนเนื้อที่ถุงอัณฑะ (Scrotal mass) และอาจกระจายไปยังรอบบริวเวณไต (Perinephric space) ลงไปยังกล้ามเนื้อสะโพกโซแอส (Psoas muscle) ซึ่งบางครั้งเป็นสาเหตุของการเกิดฝีที่ต้นขาส่วนหน้า (Anterior thigh)
บริเวณท่อนำไข่และรังไข่อักเสบ (Salpingo-oophoritis) ก็สามารถเกิดขึ้นได้ หลังการมีประจำเดือนและมีเลือดตกค้างในท่อนำไข่ (Fallopian tubes) โดยมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังหรือตั้งครรภ์นอกมดลูก
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค (TB meningitis) เป็นโรคที่มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุและผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ แต่ถ้าเกิดในเด็กมักเกิดในเด็กที่อายุระหว่าง 0-5 ปี เป็นโรคที่ร้ายแรงและมีอัตราการเสียชีวิตที่สูง และเชื่อกันว่าการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG vaccine) จะช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ในเด็กได้
ทั้งนี้ จะมีอาการเป็นไข้ต่ำ ปวดศีรษะต่อเนื่อง คลื่นไส้ และง่วงนอน ซึ่งอาจกลายเป็นอาการมึนงง (Stupor) และหมดสติไม่รู้สึกตัว (Coma) นอกจากนี้อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) จากการมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Thrombosis)
วัณโรคในช่องท้อง (TB peritonitis) เกิดจากการติดเชื้อในเยื่อบุช่องท้องที่มาจากต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง(Abdominal lymph nodes) หรือท่อนำไข่และรังไข่อักเสบ (Salpingo-oophoritis) เป็นชนิดที่มักเกิดในหมู่คนที่ติดแอลกอฮอล์และเป็นโรคตับแข็ง (Cirrhosis)
อาจมีอาการอ่อนเพลีย ปวดท้อง และบวม หรือมีอาการรุนแรงคล้ายอาการปวดท้องเฉียบพลัน (Acute abdomen)
แหล่งข้อมูล:
- Extrapulmonary Tuberculousis (TB). https://www.msdmanuals.com/professional/infectious-diseases/mycobacteria/extrapulmonary-tuberculosis-tb[2019, August 3].
- Tuberculosis (TB). https://www.who.int/tb/areas-of-work/preventive-care/ltbi_faqs/en/[2019, August 3].