วัณโรคนอกปอด (ตอนที่ 2)

วัณโรคนอกปอด-2

      

      ด้าน พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผอ.สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค ให้ความรู้ว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดที่ปอด 80% จึงแพร่เชื้อได้ง่ายผ่านละอองอากาศที่มีเชื้อจากผู้ป่วย ไอ จาม พูดดังๆ ตะโกน หัวเราะหรือร้องเพลง จากคนสู่คน

      โดยเมื่อผู้ป่วยวัณโรคปอด หลอดลม หรือกล่องเสียง ปล่อยละอองฝอยขนาดเล็ก 1-5 ไมโครเมตร กระจายอยู่ในอากาศ ซึ่งอนุภาคขนาดเล็กๆ จะเข้าไปสู่ถุงลมในปอดผู้ที่สูดดม และจะปรากฏอาการที่สำคัญ คือ ไอเรื้อรังติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้คือ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มีไข้ ไอมีเลือดปน เจ็บหน้าอก หายใจขัด เหงื่อออกมากตอนกลางคืน

      พญ.ผลิน ได้แนะนำให้ทุกคนควรตรวจหาวัณโรคอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ด้วยการเอ็กซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ และเจาะเลือดตรวจด้วยเครื่องอนุชีววิทยา

      ส่วนวัณโรคนอกปอดอาจพบได้ในอวัยวะอื่นๆ ได้แก่ เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท เป็นต้น และในกรณีวัณโรคปกติสามารถรักษาให้หายขาดได้ ทานยาวันละ 10 เม็ด ติดต่อกัน 6 เดือน แต่คนมักจะเบื่อหน่ายเลิกกินกลางคัน สุดท้ายกลายเป็นวัณโรคที่ดื้อยา

      พญ.ผลิน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันพบว่าไทยมีผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงมากถึง 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลก ซึ่งผู้ติดเชื้อไม่มีอาการป่วยเป็นวัณโรค ไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น จึงไม่จัดว่าเป็นผู้ป่วยวัณโรค แต่เป็นเสมือนแหล่งเพาะเชื้อเตรียมพร้อมสำหรับการแพร่กระจาย และเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายไม่สามารถจัดการทำลายเชื้อได้ ก็จะทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นวัณโรคซึ่งยากต่อการรักษา เพราะต้องใช้ยาร่วมกันหลายชนิดและใช้เวลาในการรักษายาวนาน

      ฉะนั้นจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการรักษา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งต้องรักษาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงทันทีที่ตรวจพบ ได้แก่ ผู้ป่วยติดเชื้อเฮชไอวีทุกราย ผู้ที่อาศัยใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อวัณโรค เช่น อยู่บ้านเดียวกัน อาศัยอยู่ในห้องเดียวกันนานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน เป็นต้น ทั้งนี้ โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่อยู่ระหว่างการได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นต้น

      พญ.ผลิน กล่าวว่า 5-6 ปี เราพบว่า มีผู้ป่วยวัณโรคที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนรวยป่วยเพิ่มขึ้น อันนี้เรื่องจริง แต่เราเปิดเผยข้อมูลคนไข้ไม่ได้ ทำได้เพียงประชาสัมพันธ์ เพราะโรคนี้ถูกคนลืม ไม่ใช่เป็นโรคของคนระดับล่าง เหตุผลคือ เรายังใช้อากาศเดียวกันหายใจ ดังนั้นต้องคัดกรองผู้ติดเชื้อเข้าสู่วงจร คือ การตัดปัญหาและยุติโรคนี้ให้ลดน้อยลง

      

แหล่งข้อมูล:

  1. วัณโรคระยะแฝงคืออะไร? พบชาวไทยติดเชื้อ20ล้านคน! https://www.dailynews.co.th/regional/717026[2019, August 1].