วัคซีนนิวโมคอกคัส หรือวัคซีนปอดอักเสบ (Pneumococcal Vaccine)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 28 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- วัคซีนนิวโมคอกคัสมีกี่ชนิด? อะไรบ้าง? แต่ละชนิดมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
- วัคซีนนิวโมคอกคัสมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์และขนาดบริหารอย่างไรบ้าง?
- ผู้ป่วยกลุ่มใดที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อนิวโมคอกคัส?
- วัคซีนนิวโมคอกคัสมีข้อห้ามหรือข้อควรระวังอะไรบ้าง?
- วัคซีนนิวโมคอกคัสก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?
- วัคซีนนิวโมคอกคัสมีตารางการฉีดวัคซีนอย่างไร?
- วัคซีนนิวโมคอกคัสมีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วัคซีน (Vaccine)
- โรคติดเชื้อนิวโมคอกคัส โรคไอพีดี
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หูน้ำหนวก (Chronic otitis media)
บทนำ
เชื้อแบคทีเรียชนิดสเตรปโตคอกคัส นิวโมนิเอ (Streptococcus pneumoniae) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า นิวโมคอกคัส (Pneumococcus) เป็นเชื้อแบคทีเรียหลักในการก่อโรคปอดอักเสบ ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งโรคปอดอักเสบในประเทศไทยพบได้ 8 - 10% ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยอาจเกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา การเกิดการติดเชิ้อเหล่านี้พบเกิดได้ในระดับชุมชน (Community-acquired Pneumonia) หรือในผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลไปแล้ว 2 - 5 วัน (Hospital-acquired Pneumonia) หรือในผู้ที่อาศัยอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) เป็นต้น
เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคต่างๆสูงกว่าคนในวัยอื่น เนื่องจากมีการทำงานของระบบภูมิคุมกันต้านทานโรค/ภูมิคุ้มกันของร่างกายเป็นไปอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพกล่าวคือ ในเด็กเล็กระบบภูมิคุ้มกันอยู่ในช่วงของการพัฒนา ส่วนในผู้สูงอายุร่างกายจะมีความเสื่อมในระบบภูมิคุ้มกันในการป้องกันหรือในการกำจัดเชื้อโรค
ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคปอดอักเสบได้แก่ ผู้ที่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง หรือผู้มีโรคเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง/โรคเอดส์ (AIDS) รวมไปถึงผู้ป่วยบางกลุ่มที่ใช้ยาที่มีผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดต่ำลงเช่น ใช้ยากดภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง (Immunosuppressant เช่น ยาสเตียรอยด์) หรือยาเคมีบำบัด เป็นต้น
เชื้อแบคทีเรียนิวโมโคคัสมีมากกว่า 90 สายพันธุ์ย่อย การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อาจนำไปสู่การติดเชื้อแบบรุกราน (Invasive) ที่มีความรุนแรงหรือที่เรียกว่าโรคไอพีดี (Invasive pneumo coccal disease; IPD) กล่าวคืออาจนำไปสู่การติดเชื้อในบริเวณอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกายนอก เหนือจากปอดเช่น เยื่อหุ้มสมอง (Meningitis) และการติดเชื้อในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) แม้โรคนี้เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Antibacterial) แต่ก็เป็นโรคที่มีอันตรายถึงเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ดีมีการพัฒนา “วัคซีนนิวโมคอกคัส หรือเรียกชื่ออื่นว่า วัคซีนปอดอักเสบ หรือวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ (Pneumococcal Vaccine)” ซึ่งป้องกันการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมนิเอ (Streptococcus pneumonia) โดยวัคซีนนี้ มี 2 ชนิดหลักคือ “ชนิดคอนจูเกต (Conjugate)” และ “ชนิดโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide)” ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป
องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้มีการฉีดวัคซีนนิวโมคอกคัสแก่เด็กเล็กเพื่อป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อร้ายแรงนี้ และจัดให้วัคซีนนิวโมคอกคัสนี้เป็นหนึ่งในบัญชียาจำเป็นขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้มีไว้ในระบบสาธารณสุขมูลฐาน
วัคซีนนิวโมคอกคัสมีกี่ชนิด? อะไรบ้าง? แต่ละชนิดมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
วัคซีนนิวโมคอกคัสมี 2 ชนิดได้แก่
ก. ชนิดคอนจูเกต (Conjugate) หรือที่นิยมเรียกย่อว่า วัคซีนพีซีวี (PCV; Pneumococcal Conjugate Vaccine): ซึ่งใช้ในทารก เด็กเล็ก รวมถึงผู้ใหญ่ได้ วัคซีนชนิดนี้เป็นการนำเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมนิเอ (Streptococcus pneumoniae) ไปเชื่อมต่อกับโปรตีนชนิดที่เป็นโปรตีนนำส่ง (Carrier Protein) เพื่อใช้ในการนำส่งวัคซีนในร่างกาย ปัจจุบันมี 3 วัคซีนที่ใช้วิธีการนำส่งในลักษณะนี้ได้แก่
วัคซีนชนิดคอนจูเกตมีข้อบ่งใช้ในการป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอกคัสแบบรุกรานหรือโรคติด เชื้อไอพีดี (IPD) และโรคปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมนิเอ (Streptococcus pneumoniae) ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ส่วนในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์ถึง 17 ปีมีข้อบ่งใช้เพิ่มเติมจากการป้องกันปอดอักเสบนิวโมคอกคัสอีกประการคือ ใช้ในการป้องกันโรคหูชั้นกลางอักเสบชนิดเฉียบพลัน (Acute Otitis Media) จากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมนิเอ (Strepto coccus pneumoniae)
ข. ชนิดโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) หรือที่นิยมเรียกย่อว่า วัคซีนพีพีเอสวี (PPSV; Pneumococcal Polysaccharide Vaccine): เป็นวัคซีนที่ใช้โพลีแซคคาไรด์ (Polysaccha ride) หรือสารจำพวกคาร์โบไฮเดรตชนิดโมเลกุลใหญ่ในการนำส่งวัคซีนซึ่งมีความจำเพาะเจาะจงต่อสารภูมิต้านทาน จึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในกระบวนการกำจัดเชื้อ สเตรปโตคอคคัส นิวโมนิเอ
วัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์นี้ครอบคลุมเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมนิเอ 23 สายพันธุ์ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พีพีเอสวี 23 (PPSV 23)” มีข้อบ่งใช้ในผู้ใหญ่และในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป แต่โดยทั่วไปแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปหรือในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 2 - 64 ปีที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมนิเอ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในหัวข้อผู้ป่วยกลุ่มใดที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อนิวโมคอกคัส) โดยวัคซีนจะเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อต่อต้านการติดเชื้อ แต่ไม่มีข้อบ่งใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อในหูชั้นกลางหรือในระบบทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory Tract; URI) แต่อย่างใด
วัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ยังสามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอกคัสในผู้ป่วยบางกลุ่มเช่น ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดม้าม (Splenectomy เช่นในผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่มีม้ามโตมาก), ผู้ป่วยที่จะเริ่มการใช้ยาเคมีบำบัด หรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันเช่น ในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ โดยให้ล่วงหน้าก่อนเริ่มการผ่าตัดหรือการรักษาดังกล่าวประมาณ 2 สัปดาห์
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการใช้วัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์นี้ในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปที่เป็นโรคที่มีความเสี่ยงในการเกิดปอดอักเสบชนิดนี้ และยังพบว่าวัคซีนชนิดนี้ยังมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยในการควบคุมการกำเริบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease; COPD) และของโรคหืด (Asthma)
ส่วนในประเทศแคนาดามีการใช้วัคซีนชนิดนี้ในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและในผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ (AIDS) ซึ่งพบว่าสามารถลดอัตราการเกิดติดเชื้อไอพีดี/IPD (Invasive pneumococcal Disease) ลงได้
ปัจจุบันในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปีแพทย์อาจพิจารณาให้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดคือทั้งชนิดคอนจูเกตและชนิดโพลีแซคคาไรด์ โดยให้พีซีวี 13 ก่อนและให้พีพีเอสวี 23 หลังจากนั้น 6 - 12 เดือน
วัคซีนนิวโมคอกคัสมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์และขนาดบริหารอย่างไรบ้าง?
วัคซีนนิวโมคอกคัสมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่มีการจัดจำหน่ายในประเทศไทยและมีขนาดบริหาร/ ขนาดการใช้วัคซีนดังต่อไปนี้
ก. ชนิดคอนจูเกต เพรฟนาร์ 13 (Prevnar 13) หรือ พีซีวี 13: เป็นชีววัตถุ (Biomaterial) ชนิดน้ำแขวนตะกอน บรรจุในเข็มฉีดยาพร้อมฉีด (Pre-filled syringe) ขนาด 0.5 มิลลิลิตรต่อเข็มฉีดยา ประกอบด้วยเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมนิเอ 13 สายพันธุ์ ซึ่งขนาดการให้ยาโดยทั่วไปคือให้ครั้งละ 0.5 มิลลิลิตรฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular) แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือดอาจพิจารณาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous) ก็ได้ สำหรับเด็กจนถึงผู้มีอายุ 18 ปีให้อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อตารางการฉีดวัคซีน และสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปให้ฉีดเพียงครั้งเดียวโดยไม่ต้องฉีดกระตุ้นอีก
ข. ชนิดโพลีแซคคาไรด์ หรือพีพีเอสวี 23 (PPSV 23): เป็นยาน้ำสำหรับฉีดขนาดบรรจุขวดละ 0.5 มิลลิลิตร (0.5 mL/vial) ประกอบด้วยเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมนิเอ 23 สายพันธุ์ ซึ่งขนาดวัค ซีนที่แนะนำคือให้ครั้งละ 0.5 มิลลิลิตรโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular) หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Injection) โดยไม่ต้องฉีดซ้ำหรือฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่ในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาฉีดกระตุ้นภายหลังการฉีดครั้งแรก 3 - 5 ปีขึ้นกับดุลยวินิจของแพทย์โดยดูจากปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคปอดอักเสบของผู้รับวัคซีนว่าสูงหรือไม่
ผู้ป่วยกลุ่มใดที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อนิวโมคอกคัส?
ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อนิวโมคอกคัสได้แก่
- ผู้ป่วยที่น้ำในสมองและไขสันหลังรั่วไหล (Cerebrospinal fluid/CSF leaks)
- ผู้ป่วยที่ได้รับการฝังเครื่องมือแพทย์ทดแทนหูชั้นในส่วนที่เรียกว่าคอเคลีย (Cochlear Implant)
- ผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดแดงผิดปกติคือมีรูปร่างเป็นรูปเคียว (Sickle Cell Disease) ซึ่งเม็ดเลือดแดงปกติจะมีรูปร่างกลม
- ผู้ป่วยไม่มีม้าม (Asplenia)
- ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ป่วยที่มีปัญหาของระบบภูมิคุ้มกัน
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
- ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
- ผู้ป่วยโรคไตชนิดโรคไตรั่ว (Nephrotic syndrome)
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ
- ผู้ป่วยโรคปอด
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยติดสุราเรื้อรัง
- ผู้ป่วยโรคตับแข็ง
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินส์ (Hodgkin’s Disease)
- ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Multiple myeloma
- ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเช่น ใช้ยาเสตียรอยด์ (Steroids) ต่อเนื่อง
- ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
วัคซีนนิวโมคอกคัสมีข้อห้ามหรือข้อควรระวังอะไรบ้าง?
วัคซีนนิวโมคอกคัสมีข้อห้ามหรือข้อควรระวังในการใช้เช่น
- ห้ามใช้วัคซีนนี้หากผู้ป่วยแพ้ยา/แพ้วัคซีนหรือส่วนประกอบของวัคซีน
- หากมีอาการป่วยหรือมีการติดเชื้อ ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนนี้ออกไปจนกว่าจะหายเป็นปกติ
- ผู้ป่วยควรระลึกว่าไม่มีวัคซีนใดป้องกันโรคได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ วัคซีนเพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคให้ลดน้อยลงเท่านั้น
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนนี้ในสตรีตั้งครรภ์หรืออยู่ในระหว่างการให้นมบุตร
- หลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนชนิดคอนจูเกตในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์ และชนิดโพลีแซกคาไรด์ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
- ไม่ใช้วัคซีนที่หมดอายุ
- ไม่เก็บวัคซีนที่หมดอายุ
วัคซีนนิวโมคอกคัสก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?
วัคซีนนิวโมคอกคัสอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเช่น
- ผลข้างเคียงเฉพาะที่: ได้แก่ มีอาการเจ็บ/ปวดหรือบวมบริเวณที่ฉีด
- ผลข้างเคียงทั่วไป: เช่น อาจทำให้เกิดอาการรู้สึกไม่สบายตัว มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ความอยากอาหารลดลง
โดยทั่วไปอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายในช่วงระยะเวลา 3 - 5 วันหลังได้รับวัคซีน การดูแลตนเองเพียงกินยาแก้ปวดยาลดไข้เช่น ยา Paracetamol อย่างไรก็ดีหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีท่าทีว่าจะทุเลาลงหรือมีอาการุนแรงขึ้น ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
วัคซีนนิวโมคอกคัสอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่รุนแรงเช่น อาการแพ้ยา/ แพ้วัคซีนเช่น การเกิดผื่นคันขึ้นตามลำตัว ใบหน้า-เปลือกตา/หนังตาบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ซึ่งหลังได้รับวัคซีนนี้แล้วเกิดอาการดังกล่าวต้องรีบมาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
วัคซีนนิวโมคอกคัสมีตารางการฉีดวัคซีนอย่างไร?
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยแนะนำให้วัคซีนนิวโมคอกคัสชนิดคอนจูเกต (PCV) เป็นวัคซีนเสริมที่เด็กควรได้รับโดยเฉพาะในเด็กที่มีความเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อชนิดรุกรานหรือไอพีดี (IPD; Invasive pneumococcal infection) เช่น เด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กที่ไม่มีม้าม เป็นโรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคเรื้อรังของอวัยวะต่างๆของร่างกายเช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคที่เสี่ยงต่อเยื่อหุ่มสมองอักเสบ ดังต่อไปนี้
ก. กลุ่มเด็กที่ไม่มีความเสี่ยงฯ/ปัจจัยเสี่ยงฯ:
ข. กลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงฯ/ปัจจัยเสี่ยงฯ:
ในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงควรได้รับวัคซีนดังตารางข้างต้นเหมือนกับเด็กที่ไม่มีความเสี่ยงฯ แต่หากมีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปควรให้วัคซีนพีพีเอสวี 23 ร่วมด้วยดังนี้
อนึ่งหากผู้รับวัคซีนนี้เกิดอาการป่วยใดๆในช่วงระหว่างการรับวัคซีนนี้ หรือลืมไปรับวัคซีนนี้ตามนัด ควรติดต่อสถานพยาบาลที่รับวัคซีนนี้ เพื่อแพทย์พิจารณานัดการให้วัคซีนในครั้งถัดไปได้ ในเวลาที่เหมาะสม
วัคซีนนิวโมคอกคัสมีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตอะไรบ้าง?
วัคซีนนิวโมคอกคัสที่มีจำหน่ายในประเทศไทย มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตหรือจัดจำหน่าย ดังต่อไปนี้
บรรณานุกรม
- Pneumococcal Vaccine. CDC https://www.cdc.gov/vaccines/vpd-vac/pneumo/ [2016,July9]
- Singapore Health Promotion Board. Pneumococcal Disease. http://www.hpb.gov.sg/HOPPortal/dandc-article/8314 [2016,July9]
- Pneumococcal Vaccine. Vaccines.gov http://www.vaccines.gov/diseases/pneumonia/ [2016,July9]
- WHO Model List of EssentialMedicines". World Health Organization. October 2013.
- Pneumococcal. Immunisation against infectious disease - The Green Book. Department of Health (UK). 2006.
- Austrian R, Douglas RM, Schiffman G, et al. Prevention of pneumococcal pneumonia by vaccination. Trans Assoc Am Physicians 1976; 89: 184–94.
- Pneumococcal Vaccination for Adults. WebMD http://www.webmd.com/vaccines/pneumococcal-vaccine-schedule [2016,July9]
- โรคปอดอักเสบ. สำหนักระบาดวิทยา. http://www.boe.moph.go.th/fact/Pneumonia.html [2016,July9]
- ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย โดยสมาคมโรติดเชื้อในด็กแห่งประเทศไทย 2559. http://www.pidst.net/A478.html [2016,July9]
- ส่วนงานสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา http://wwwapp1.fda.moph.go.th/consumer/conframe.asp [2016,July9]
- Summarization of Product Characteristic. Synflorix suspension for injection in pre-filled syringe. Emc.http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/22743 [2016,July9]
- Summarization of Product Characteristic. Prevenar 13 suspension for injection. Emc. http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/22689 [2016,July9]
- Summarization of Product Characteristic. Pneumococcal Polysaccharide Vaccine Sanofi Pasteur MSD. Emc. http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/1446 [2016,July9]