วัคซีนงูสวัด (Zoster Vaccine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคงูสวัดเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดวาริเซลลา-เซอเตอร์ (Varicella-zoster Virus ย่อว่า VZV) โดยมีอาการแสดงทางผิวหนังคือ เกิดตุ่มน้ำขึ้นบนผิวหนัง มีอาการปวดบริเวณรอยโรคที่ผิวหนังโดยเฉพาะที่มีตุ่มน้ำ โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะมีอาการปวดแปลบ (ปวดเส้นประสาท) บริเวณผิวหนังประมาณ 3 - 4 วันก่อนผื่นและตุ่มน้ำจะเกิดขึ้น โดยทั่วไปเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ในระยะเวลา 2 - 4 สัปดาห์

เชื้อไวรัสก่อโรคงูสวัด เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ก่อโรคอีสุกอีใส ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัดจะเคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน หลังจากที่อาการโรคอีสุกอีใสหายแล้ว ไวรัสจะเข้าไปหลบตามปมประสาทต่างๆในร่างกาย เมื่อใดที่ร่างกายเกิดภาวะอ่อนแอ/มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลง ไวรัสเหล่านี้ก็จะสามารถเพิ่มจำนวนได้และเกิดอาการแสดงที่เรียกว่าโรคงูสวัด

ผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไปมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคงูสวัดเนื่องจากในระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะอ่อนแอ/ลดลงลง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงการเกิดภาวะปวดเรื้อรังในตำแหน่งรอยโรคนี้แม้ผื่นแผลงูสวัดได้หายไปแล้ว (Postherpetic neuralgia)

“วัคซีนงูสวัด (Zoster vaccine หรืออีกชื่อคือ VZV vaccine)” จึงได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการป้องกันโรคงูสวัดและเพื่อป้องกันภาวะปวดเรื้อรังเมื่อผื่นงูสวัดหายไปแล้ว วัคซีนนี้เป็นวัคซีนเชื้อเป็น (Live attenuated vaccine) คือเป็นการนำเชื้อไวรัส VZV มาทำให้อ่อนแอลงจนไม่สามารถก่อโรคได้แต่ยังมีความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้านโรคนี้ได้ โดยจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดจำเพาะที่ต่อต้านเชื้อไวรัสวาริเซลลา-เซอเตอร์ (VZV) โดยฉีดวัคซีนนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อของสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention; CDC) แนะนำการใช้วัคซีนนี้แก่ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปเนื่องจากเป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัดสูงสุด ผู้ป่วยที่มีอายุ 50 - 59 ปีที่มีความประสงค์จะรับวัคซีนนี้ ควรปรึกษาแพทย์เนื่องจากวัคซีนนี้สามารถป้องกันโรคงูสวัดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วง 5 ปีแรก หลังจากนั้นความสามารถในการป้องกันโรคของวัคซีนจะไม่เสถียรและยังไม่มีการศึกษาเรื่องของการฉีดวัคซีนกระตุ้น ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีนในช่วงอายุ 50 ปี ความสามารถในการป้องกันโรคงูสวัดของวัคซีนอาจไม่เต็มประสิทธิภาพในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไปแม้เป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดสูงก็ตาม

ปัจจุบันวัคซีนงูสวัดจัดเป็นยาชีววัตถุ (Biotechnology drug) ประเภทยาควบคุมพิเศษตามพระราชบัญญัติยาของไทย โดยแพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งใช้ยานี้เท่านั้น

วัคซีนงูสวัดมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

วัคซีนงูสวัด

วัคซีนงูสวัดมีข้อบ่งใช้ดังต่อไปนี้เช่น

ก. ใช้เพื่อป้องกันโรคงูสวัด

ข. ใช้เพื่อป้องกันภาวะปวดเรื้อรังที่รอยโรคเมื่อผื่นงูสวัดหายไป (Postherpetic neuralgia) ในผู้ที่รับยารักษางูสวัดแล้วยังเกิดโรคเป็นซ้ำ

ค. ใช้เพื่อบำบัดลดความเจ็บปวดจากโรคงูสวัดทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังในผู้ที่ได้รับยารักษางูสวัดแล้วยังเกิดโรคซ้ำ

วัคซีนโรคงูสวัดมีขนาดและรูปแบบยาอย่างไร? มีความถี่และวิธีการบริหารยาอย่างไรบ้าง?

วัคซีนโรคงูสวัดเป็นวัคซีนเชื้อเป็น (Live attenuated vaccine) ที่เชื้อไวรัส VZV อ่อนแรงลงจนไม่สามารถก่อโรคได้ เป็นยาชีววัตถุชนิดผงพร้อมผสมเพื่อเป็นยาฉีด (Powder and solvent for suspension for injection) ในการให้วัคซีน 1 ครั้งหรือ 1 โดส/Dose (0.65 มิลลิลิตร) ประกอบไปด้วยไวรัสชนิดวาริเซลลา-เซอเตอร์ (VZV) สายพันธุ์ Oka/Merck ไม่น้อยกว่า 19,400 PFU (Plaque-forming units; หน่วยการนับปริมาณไวรัส)

วัคซีนงูสวัดเป็นการฉีดวัคซีนเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องมีการฉีดกระตุ้นซ้ำ อาจฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous) หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular, IM) ช่วงต้นแขนด้านบน ภายหลังการผสมวัคซีนแล้วควรบริหาร/ควรใช้วัคซีนแก่ผู้ป่วยภายใน 30 นาที

ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภาวะเกล็ดเลือดต่ำหรือมีปัญหาด้านการแข็งตัวของเลือด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง ปัจจัยการแข็งตัวของเลือด) ควรเลือกใช้การฉีดวัคซีนนี้แบบฉีดเข้าใต้ผิวหนังเท่านั้น

วัคซีนงูสวัดมีข้อห้ามใช้อะไรบ้าง?

วัคซีนงูสวัดมีข้อห้ามใช้เช่น

  • ห้ามใช้วัคซีนนี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้สารหรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนเช่น ยานีโอมัยซิน (Neomycin) ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อชนิดหนึ่งที่ใช้ใกระบวนการผลิตวัคซีนนี้ รวมถึงน้ำตาลซูโครส (Sucrose) และเจลาติน (Gelatin) เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น มีภาวะของโรคที่ทำให้มีภูมิคุ้มกันฯต่ำกว่าบุคคลทั่วไปเช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทั้งในโรคระยะเฉียบพลัน และระยะเรื้อรัง หรือโรคอื่นใดที่อาจส่งผลกระทบต่อไขสันหลังหรือระบบน้ำเหลือง และภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV/AIDS)
  • ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเช่น ยาทาโครไลมัส (Tacrolimus) ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ยาไมโคฟิโนเลต (Mycophenolate) ยาอะซาไธโอพรีน (Azathio prine) ยาซิโรไลมัส (Sirolimus) รวมไปถึงการใช้ยาเสตียรอยด์ชนิดรับประทานหรือชนิดฉีดในขนาดสูง (ไม่นับรวมการใช้ผลิตภัณฑ์ยาเสตียรอยด์ชนิดทาภายนอกและยาเสตรียรอยด์ชนิดยาสูดพ่นจมูก)
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่กำลังได้รับยาเคมีบำบัดหรือได้รับรังสีรักษา
  • ผู้ป่วยวัณโรคที่ยังไม่ได้รับการรักษา
  • สตรีตั้งครรภ์

การใช้วัคซีนงูสวัดมีข้อควรระวังไหม? อะไรบ้าง?

การใช้วัคซีนงูสวัดมีข้อควรระวังเช่น

  • ผู้รับวัคซีนงูสวัดควรทราบว่า การรับวัคซีนนี้เป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดเท่านั้น ไม่ได้เป็นการป้องกันได้ 100% ดังนั้นหากเกิดโรคหรือมีอาการคล้ายงูสวัดแม้ได้รับวัคซีนแล้วนั้นควรรีบแจ้งให้แพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
  • ไม่ควรใช้วัคซีนนี้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่ได้รับวัคซีนนี้แล้วควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์อย่างน้อยอีก 1 เดือนนับจากวันที่รับวัคซีนนี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนนี้ในสตรีที่กำลังให้นมบุตร
  • ผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนนี้ควรเป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยในวันรับวัคซีน หากมีอาการป่วยใดๆควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับวัคซีน
  • วัคซีนนี้ไม่ได้มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคอีสุกอีใส และปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนนี้ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น (กลุ่มบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี) จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนในผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • ปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส VZV ในวัคซีนนี้ที่อาจก่อให้เกิดโรคอีกสุกอีใสได้กับบุคคลที่มีระดับภูมิคุ้มกันฯต่ำ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนงูสวัดควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิด/คลุกคลีกับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันฯโรคต่ำในระยะหนึ่งอย่างน้อยประมาณ 2 - 4 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนนี้หรือตามแพทย์แนะนำ

วัคซีนงูสวัดอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อะไรบ้าง?

วัคซีนงูสวัดอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์) ได้เช่น เกิดอาการบวม แดง ปวด หรือคัน บริเวณที่ฉีดวัคซีน หรือมีอาการปวดศีรษะ อาการเหล่านี้ควรทุเลาไปเองใน 1 - 2 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล

หากใช้วัคซีนงูสวดแล้วเกิดผื่นคันขึ้นตามตัว มีอาการบวมตามใบหน้า ลำคอ หายใจไม่สะ ดวก/หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว มีอาการวิงเวียน หรืออ่อนเพลียอย่างรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน โดยทั่วไปแล้วอาการเหล่านี้เกิดขึ้นจากการแพ้ยา/แพ้สารหรือองค์ประกอบอื่นๆในวัคซีนซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังการรับวัคซีนเพียงไม่กีชั่วโมงจนถึงระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีน ผู้ป่วยควรเฝ้าระวังอาการดังกล่าวด้วย

มีวิธีเก็บรักษาวัคซีนงูสวัดอย่างไรบ้าง?

มีวิธีเก็บรักษาวัคซีนงูสวัดดังนี้เช่น

  • วัคซีนงูสวดที่ยังไม่ได้รับการผสม ควรเก็บไว้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น อุณหภูมิระหว่าง - 50 ถึง - 15 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • วัคซีนนี้ที่ได้รับการเก็บรักษา ณ ช่วงอุณภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส ควรใช้ภายใน 72 ชั่วโมง หลังจาก 72 ชั่วโมงไปแล้วควรทิ้งไป ไม่ควรนำมาใช้
  • สารละลายที่ใช้การผสมกับวัคซีนนี้ควรแยกเก็บในตู้เย็นช่วงอุณภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส ไม่เก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ใช้วัคซีนนี้ภายหลังการผสมสารละลายแล้วทันที

*อนึ่งสถานพยาบาลแต่ละแห่งอาจมีนโยบายการเก็บรักษายาต่างๆและวัคซีนต่างๆรวมวัคซีน งูสวดที่แตกต่างกันไป จึงควรปรึกษาฝ่ายเภสัชกรรมของแต่ละสถานพยาบาลเพิ่มเติมถึงนโยบายการเก็บรักษาวัคซีนนี้

วัคซีนงูสวัดมีชื่ออื่นหรือชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตใดบ้าง?

ปัจจุบันวัคซีนงูสวัดมีเพียงบริษัท MERCK SHARP & DOHME CORP. ในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิต ใช้ชื่อการค้าว่า “โซสทาแว็กซ์ (Zostavax)” โดยมีบริษัท เอ็มเอสดี/MSD (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้แทนนำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศไทย

บรรณานุกรม

  1. Shingles Vaccination: What Everyone Should Know. CDC http://www.cdc.gov/vaccines/vpd-vac/shingles/vacc-need-know.html [2016,June18]
  2. Craig M. Hales, et al. Update on Recommendations for Use of Herpes Zoster Vaccine. Weekly August 22, 2014 / 63(33);729-731.
  3. Marla Shapiro, et al. Update on herpes zoster vaccination: A family practitioner’s guide. Canadian Family Physician October 2011 vol. 57 no. 10 1127-1131.
  4. HIGHLIGHTS OF PRESCRIBING INFORMATION ZOSTAVAX https://www.merck.com/product/usa/pi_circulars/z/zostavax/zostavax_pi2.pdf [2016,June18]
  5. Summary of Product Characteristics. Zostavax. http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/25927 [2016,June18]
  6. คณะกรรมการอาหารและยา http://fdaolap.fda.moph.go.th/logistics/drgdrug/DSerch.asp [2016,June18]