วัคซีนคอตีบ (Diphtheria vaccine)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 16 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ประเภทของวัคซีนป้องกันคอตีบเป็นอย่างไร?
- ประเภทของวัคซีนที่มีส่วนประกอบของวัคซีนป้องกันคอตีบผสมอยู่ด้วย
- มีข้อบ่งใช้ของวัคซีนป้องกันคอตีบอย่างไร?
- มีวิธีบริหารวัคซีนป้องกันคอตีบอย่างไร?
- มีข้อห้ามฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนป้องกันคอตีบอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนป้องกันคอตีบเป็นอย่างไร?
- ตารางเวลาการฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบและการฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
- การใช้วัคซีนป้องกันคอตีบช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
- กรณีรับการฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบไม่ตรงตามตารางเวลาที่กำหนดหรือรับวัคซีนไม่ครบ
- มีวิธีการเก็บรักษาวัคซีนป้องกันคอตีบอย่างไร?
- วัคซีนป้องกันคอตีบที่มีจำหน่ายในประเทศไทยและบริษัทผู้ผลิต
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- คอตีบ (Diphtheria)
- วัคซีน (Vaccine)
- วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ (Tetanus Toxoid vaccine)
- บาดทะยัก (Tetanus)
- ไอกรน (Pertussis)
- แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)
บทนำ
โรคคอตีบ (Diptheria) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Corynebacterium diphthe riae โดยการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อดังกล่าวเข้าไปเช่น จากการไอ จาม หรือพูดคุยกันในระยะ ใกล้กับผู้ป่วยโรคนี้ หรือโดยการสัมผัสกับน้ำลายผู้ป่วย บางครั้งเกิดจากการใช้ภาชนะเช่น แก้วน้ำช้อนร่วมกัน เมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะเกาะในคอ ในบริเวณต่อมทอนซิล เพดาอ่อน จากนั้นจะทำการสร้างสารพิษ/สารชีวพิษ (Diphtheria toxin) ที่มีฤทธิ์ขัดขวางการสร้างสารโปรตีนของเซลล์ทำให้เซลล์ตาย ภายหลังรับเชื้อนี้ประมาณ 2 - 5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ เป็นไข้ ซึ่งเชื้อนี้สามารถทำให้เกิดอาการคออักเสบชนิดร้ายแรงโดยมีแผ่นขาวๆเกิดบนเยื่อบุในคอหอย ซึ่งส่งผลทำให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น หรือจากพิษของเชื้อคอตีบที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือปลายเส้นประสาทอักเสบ
ในประเทศที่พัฒนาแล้วอัตราการเกิดโรคคอตีบแทบไม่พบ สำหรับการเกิดโรคคอตีบในประเทศ ไทยก็ลดลงอย่างมากจากอดีต เนื่องจากการเข้าถึงวัคซีนป้องกันคอตีบ (วัคซีนคอตีบ) เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันฯ (ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค) ตั้งแต่เด็กแรกเกิด เด็กขวบปีแรก และหญิงตั้งครรภ์ เพิ่มมากขึ้น แต่พบว่าในพื้นที่ที่มีอัตราการได้รับวัคซีนป้องกันคอตีบต่ำ สามารถพบโรคคอตีบได้ในเด็กอายุ 1 - 6 ปี และพบได้บ่อยในประชากรที่อาศัยอยู่อย่างแออัดและมีเศรษฐานะต่ำ ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทยน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อาศัยบริเวณชายแดนหรืออพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งวิธีป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุดคือ การฉีด “วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ/วัคซีนป้องกันคอตีบ/วัคซีนคอตีบ (Diphtheria vaccine)”
วัคซีนป้องกันคอตีบผลิตโดยนำพิษของแบคทีเรียที่ก่อโรคคอตีบมาทำให้หมดพิษ แต่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันฯต่อพิษของเชื้อคอตีบได้ ซึ่งกลไกการทำงานของวัคซีนชนิดนี้สามารถเสริมสร้างกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันฯให้แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้ที่เรียกการมีภูมิคุ้มกันฯแบบนี้ว่า Active immunization วัตถุประสงค์ก็เพื่อใช้ในการป้องกันโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียคอตีบ โดยไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อจากตัวแบคทีเรียโดยตรง
ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคคอตีบไม่มีรูปแบบที่เป็นวัคซีนคอตีบชนิดเดี่ยว แต่จะอยู่ในรูปวัคซีนชนิดรวม โดยวัคซีนรวมหนึ่งเข็มจะประกอบด้วยวัคซีนป้องกันเชื้อโรคคอตีบ และวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ และอาจประกอบด้วยวัคซีนป้องกันโรคไอกรนอยู่ด้วยอีกชนิดรวมเป็น 3 ชนิด
ประเภทของวัคซีนป้องกันคอตีบเป็นอย่างไร?
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบเป็นวัคซีนในกลุ่มท็อกซอยด์ (Toxoid) ซึ่งใช้ป้องกันโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียโรคคอตีบ (Corynebacterium diphtheriae) ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อจากตัวแบค ทีเรียโรคคอตีบโดยตรง สำหรับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบผลิตโดยนำพิษของแบคทีเรียนี้มาทำให้หมดพิษ แต่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันฯได้ ดังนั้นวัคซีนนี้จึงเป็นวัคซีนสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันฯ (หรือเรียกว่า Active immunization) เป็นวัคซีนที่จำเป็นสำหรับเด็กที่เด็กไทยทุกคนควรได้ รับตามตารางการให้วัคซีนของเด็กจากกระทรวงสาธารณสุขไทย และปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไม่มีรูปแบบชนิดเดี่ยวแต่จะอยู่ในรูปวัคซีนชนิดผสมดังได้กล่าวแล้วในบทนำ
ประเภทของวัคซีนที่มีส่วนประกอบของวัคซีนป้องกันคอตีบผสมอยู่ด้วย
ปัจจุบันไม่มีวัคซีนคอตีบชนิดเดี่ยว แต่จะเป็นวัคซีนชนิดรวมที่มีส่วนประกอบของวัคซีนคอตีบ ประกอบอยู่ในวัคซีนรวม/วัคซีนผสมดังนี้
1. วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก (DT, dT): เป็นวัคซีนที่ทำจากพิษของแบคทีเรียคอตีบและของแบคทีเรียบาดทะยัก (Toxin) และทำให้หมดฤทธิ์ด้วยสารเคมีที่เรียกว่า ท็อกซอยด์ (Toxoid) ใช้สำ หรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันฯเพื่อป้องกันโรคคอตีบและโรคบาดทะยัก โดยวัคซีนรวมชนิดนี้มี 2 ชนิด แตกต่างกันที่ปริมาณวัคซีนคอตีบแต่มีปริมาณวัคซีนบาดทะยักเท่ากันทั้งสองชนิดดังนี้
1.1 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและโรคบาดทะยักสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีหรือเรียกอีกชื่อว่า วัคซีน DT วัคซีนชนิดนี้จะมีปริมาณเชื้อคอตีบสูงกว่าชนิด dT
1.2 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและโรคบาดทะยักสำหรับเด็กอายุ 7 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่หรือ เรียกอีกชื่อว่าวัคซีน dT วัคซีนชนิดนี้จะมีปริมาณเชื้อคอตีบต่ำกว่าชนิด DT จึงลดโอกาสเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากวัคซีนคอตีบลงได้
2. วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ (Whole cell) หรือเรียกว่าวัคซีน DTwP: เป็นวัคซีนที่ทำจากพิษ (Toxin) และทำให้หมดฤทธิ์ด้วยสารเคมีที่เรียกว่า ท็อกซอยด์ (Toxoid) ของเชื้อคอตีบและเชื้อบาดทะยัก และเชื้อไอกรนชนิดทั้งเซลล์แต่ทำให้เซลล์ตาย (Inactivated pertussis) ใช้สำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันฯในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี
3. วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Acellular) หรือเรียกว่า วัคซีน DTaP: เป็นวัคซีนที่ทำจากพิษ (Toxin) และทำให้หมดฤทธิ์ด้วยสารเคมีที่เรียกว่า ท็อกซอยด์ (Toxoid) ของเชื้อคอตีบและบาดทะยัก และเชื้อไอกรนทำจากส่วนประกอบเฉพาะบางส่วนของตัวเชื้อไอกรนที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนได้ วัคซีน DTaP จะมีปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์/ปฏิกิริยาข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆน้อยกว่าวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) เช่น อาการไข้ อาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน วัคซีนนี้ใช้สำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันฯในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีได้
ทั้งนี้ทั้งวัคซีน DTwP และ DTaP มีขนาดและวิธีใช้ที่เหมือนกัน แต่ DTaP มีราคาแพงกว่าแต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า และ DTaP ไมได้บรรจุอยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขไทย DTaP จะถูกเลือกใช้ในกรณีที่ต้องการลดความเสี่ยงต่อปฏิกิริยาข้างเคียงของ DTwP โดยเฉพาะในเด็กที่มีความเสี่ยงต่อภาวะไข้เช่น เด็กที่มีปัญหาทางสมอง โรคลมชัก หรือเด็กที่เคยมีปฏิกิริยาข้างเคียงมากต่อ DTwP
4. วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Acellular) สูตรเด็กโตที่อายุ 7 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่หรือเรียกว่า วัคซีน Tdap: เป็นวัคซีนชนิดเดียวกับวัคซีนในข้อ 3 แต่มีการปรับลดปริมาณ Toxoid ของเชื้อคอตีบและของเชื้อไอกรนลง แต่คงปริมาณ Toxoid ของเชื้อบาดทะยักไว้เท่าเดิม ซึ่งการให้วัคซีนชนิดนี้เหมาะสมกับเด็กโตและผู้ใหญ่เพราะเด็กโตและผู้ใหญ่มีความไวต่อวัคซีนคอตีบและไอกรนมากกว่าเด็กเล็กจึงสามารถลดปริมาณToxoid ลงได้เพื่อลดผลข้างเคียงของวัคซีน แต่ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯได้ดี
มีข้อบ่งใช้ของวัคซีนป้องกันคอตีบอย่างไร?
ข้อบ่งใช้หรือสรรพคุณของวัคซีนคอตีบคือ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันฯแก่เด็ก (Primary immunization) ปัจจุบันวัคซีนชนิดนี้อยู่ในระบบบริการของกระทรวงสาธารณสุขไทยเพื่อฉีดให้แก่เด็ก 3 เข็มแรกเมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน วัคซีนดังกล่าวจะเป็นวัคซีนรวมประกอบด้วยวัคซีนป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก หรือคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน และอาจมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีรวมอยู่ด้วย ดังนั้นการฉีดวัคซีนชุดแรกนี้ จึงทำให้เด็กได้รับภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกันฯต่อโรคคอตีบและโรคอื่นๆดังกล่าวด้วยเช่นกัน และจะพิจารณาฉีดวัคซีนกระตุ้นชนิดวัคซีนรวม (คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน) อีก 2 ครั้งเมื่อเด็กอายุ 18 เดือนและในช่วงอายุ 4 - 6 ปี
โดยภูมิคุ้มกันฯต่อโรคคอตีบจะเริ่มเกิดประมาณ 2 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนเข็มแรก ถ้าได้วัคซีน 3 เข็มครบมีโอกาสเป็นโรคคอตีบน้อยกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบประมาณ 11.5 เท่า และผู้ที่ได้รับวัคซีนครบจะมีโอกาสตายจากโรคคอตีบน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนประมาณกว่า 100 เท่า เด็กที่ได้รับวัค ซีนนี้ครบ 4 เข็มจะมีภูมิคุ้มกันฯโรคคอตีบเกิน 10 ปี
มีวิธีบริหารวัคซีนป้องกันคอตีบอย่างไร?
วิธีบริหาร/วิธีการฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบจะโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular injection) โดย มีตำแหน่งในการฉีดที่แนะนำคือ ทารกและเด็กวัยหัดเดิน แนะนำฉีดวัคซีนนี้เข้ากล้ามเนื้อกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าค่อนไปทางด้านนอก สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ แนะนำฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน ทั้งนี้ไม่แนะนำฉีดวัคซีนคอตีบเข้ากล้ามเนื้อสะโพกเพราะการฉีดวัคซีนบริเวณดังกล่าวอาจกระทบกระเทือนเส้นประสาทบริเวณสะโพกได้
ไม่ควรฉีดวัคซีนนี้ให้เด็กที่กำลังป่วยด้วยโรคอื่นๆหรือกำลังมีไข้สูง แต่ถ้าเจ็บป่วยเล็กน้อยเช่น เป็นโรคหวัดโดยไม่มีไข้ ให้ฉีดวัคซีนนี้ได้ตามปกติ
วัคซีนคอตีบจะถูกเก็บรักษาในตู้เย็น ดังนั้นก่อนบริหารยาให้ผู้ป่วยควรตรวจสอบสภาพของสารละลายวัคซีนทุกครั้ง วัคซีนที่พร้อมใช้จะมีลักษณะเป็นน้ำใส และห้ามใช้วัคซีนที่มีลักษณะขุ่นหรือมีตะกอน (ควรทิ้งไป) รวมถึงควรปรับอุณหภูมิของวัคซีนโดยการคลึงกระบอกยาด้วยฝามือทั้งสองข้างประมาณ 1 - 2 นาทีเพื่อให้อุณหภูมิวัคซีนเท่ากับของร่างกายก่อนฉีดให้ผู้ป่วย
มีข้อห้ามฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบอย่างไร?
มีข้อห้ามฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบดังนี้เช่น ห้ามใช้วัคซีนคอตีบกรณีที่เคยได้รับวัคซีนชนิดรวมที่ประกอบด้วยวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ วัคซีนคอตีบ วัคซีนไอกรน แล้วเกิดอาการแพ้ยา/แพ้วัค ซีนรุนแรงที่เรียกว่า อะนาไฟแลกซิส (Anaphylaxis) โดยอาการคือ มีผื่นคันตามร่างกาย อาการหายใจติดขัด/หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก บางกรณีอาจมีความดันโลหิตตก/ต่ำ เรียกอาการที่มีภาวะความดันโลหิตตกร่วมด้วยนี้ว่า อะนาไฟแลกซิส ช็อก (Anaphylacitc shock) หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนนี้ ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน และหลีกเลี่ยงการได้รับวัคซีนชนิดดังกล่าวในครั้งถัดไป แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนดังกล่าวต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้แล้วเท่านั้น
มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนป้องกันคอตีบอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้/การฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบเช่น ห้ามฉีดวัคซีนคอตีบเข้าหลอดเลือดดำ โดยวิธีการฉีดวัคซีนคอตีบที่ถูกต้องคือ ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ ผู้ที่ฉีดให้ควรเป็นพยาบาลที่มีความชำนาญ เพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนป้องกันคอตีบฉีดเข้ากล้ามเนื้ออย่างถูกต้อง เพราะการฉีดวัคซีนคอตีบเข้าหลอดเลือดดำอาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดภาวะช็อก (Shock: หมดสติ) ได้ ดังนั้นจึงควรเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ภายหลังได้รับวัคซีนนี้โดยเฝ้าสังเกตอาการอย่างน้อย 20 นาที
แต่หากเกิดอุบัติเหตุโดยฉีดวัคซีนเข้าหลอดเลือดดำ ควรเฝ้าติดตามอาการภายหลังได้รับวัคซีนนี้ไปแล้วอย่างน้อยนาน 1 ชั่วโมง
อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนป้องกันคอตีบเป็นอย่างไร?
อาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง/ปฏิกิริยาภายหลังฉีดวัคซีนคอตีบเช่น
- อาการเฉพาะที่บริเวณที่ฉีดวัคซีน: จะเป็นอาการที่ไม่รุนแรงเช่น ปวดบริเวณที่ฉีด บวม แดง กด แล้วเจ็บบริเวณตำแหน่งฉีด รู้สึกแดงร้อนบริเวณที่ได้รับวัคซีน
- ปฏิกิริยาทั่วๆไป: เช่น อาจมีไข้ หนาวสั่น รู้สึกไม่สบายตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
ทั้งนี้กรณีรู้สึกปวดบริเวณที่ฉีดและ/หรือมีไข้ไม่สบายตัวสามารถรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol: ยาแก้ปวด, ยาลดไข้) เพื่อบรรเทาอาการได้
นอกจากนี้ยังพบรายงานการเกิดปฏิกิริยาแพ้ยา/แพ้ต่อวัคซีนคอตีบอย่างรุนแรงคือ อะนาไฟแลกซิส (Anaphylaxis) โดยมีอาการคือ ผื่นคันตามร่างกาย อาการหายใจติดขัด/หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก บางกรณีอาจมีความดันโลหิตตกเรียกอาการที่มีภาวะความดันโลหิตตกร่วมด้วยนี้ว่า อะนาไฟแลกซิส ช็อก (Anaphylacitc shock)
ในผู้ที่ได้รับวัคซีนคอตีบที่มาคู่กับวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์บ่อยเกินไป อาจเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า Arthus reaction ได้ ซึ่งจะเกิดอาการบวมมากของแขนหรือของขาข้างที่ได้รับวัดซีนซึ่งมักเกิดหลังฉีดภายใน 2 - 8 ชั่วโมง หากเกิดปฏิกิริยาดังกล่าวควรประคบเย็นในบริเวณที่ฉีดวัคซีนและในบริเวณที่บวมและให้ยาแก้ปวด (เช่น Paracetamol) รักษาตามอาการ ปฏิกิริยานี้ไม่มีอันตรายแต่เพื่อหลีกเลี่ยงอาการ/ปฏิกิริยาดังกล่าวควรพิจารณาเว้นช่วงการฉีดวัคซีนที่มีส่วนประกอบของวัคซีนป้องกันบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์เข็มถัดไปอย่างน้อย 10 ปี
ตารางเวลาการฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบและการฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
ตารางเวลาในการฉีดวัคซีนคอตีบสำหรับป้องกันโรคคอตีบ โดยวิธีการฉีดวัคซีนขึ้นกับจุดประสงค์ และอายุของผู้ป่วยที่ได้รับการฉีด ทั้งนี้จะกล่าวถึงวัคซีนชนิดรวมที่มีส่วนประกอบของวัคซีนคอตีบประ กอบอยู่ดังนี้
1. เด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี: ฉีดวัคซีนชนิดรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ (เรียกว่าวัคซีน DTwP) หรือวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (เรียกว่าวัคซีน DTaP) โดยฉีดวัคซีนปริมาณ 0.5 มิลลิลิตรเข้ากล้ามเนื้อบริเวณกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าค่อนไปทางด้านนอก ทำการฉีดที่อายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือนและฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกครั้งที่อายุ 4 ปี
วัคซีน DTaP สามารถเลือกใช้แทนวัคซีน DTwP ได้ทุกครั้งและควรเลือกใช้วัคซีน DTaP ในเด็กที่มีโรคสมอง โรคลมชัก หรือมีประวัติเคยมีปฏิกิริยารุนแรงหลังได้รับวัคซีน DTwP สำหรับเข็มกระตุ้นที่อายุ 4 ปีอาจเลือกฉีดวัคซีนชนิด DTwP, DTaP หรือ Tdap
ทั้งนี้ในเด็กที่มีโรคทางสมองที่ยังมีอาการอย่างต่อเนื่อง (Progressive neurological disorder) และยังควบคุมโรคได้ไม่ดี หรือที่เคยได้รับวัคซีนที่มีไอกรนผสมอยู่แล้วเกิดอาการทางสมอง (Encep halopathy) ภายใน 7 วันหลังได้รับวัคซีนนั้น ถือเป็นข้อห้ามของวัคซีนไอกรนทั้ง “ชนิดทั้งเซลล์” และ “ชนิดไร้เซลล์” ดังนั้นเด็กทั้ง 2 กลุ่มนี้ควรพิจารณาฉีดวัคซีนคอตีบและบาดทะยักชนิด DT ที่ใช้สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 7 ปีเท่านั้น ควรงดการฉีดวัคซีนไอกรน
2. เด็กอายุมากกว่า 7 ปีและผู้ใหญ่:
2.1 เด็กอายุ 7 - 10 ปีที่ไม่เคยได้รับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนมาก่อน: ฉีดวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยักสำหรับเด็กอายุ 7 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ (วัคซีน dT) หรือวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์สูตรเด็กโตที่อายุ 7 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ (วัคซีน Tdap) โดยฉีดวัคซีนปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร เข้ากล้ามเนื้อบริเวณกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าค่อนไปทางด้านนอก ทำการฉีดทั้งหมด 3 เข็มโดยเข็มแรกทันที, เข็มที่ 2 ณ เดือนที่ 1 และเข็มที่ 3 ณ เดือนที่ 6 ทั้งนี้แนะนำให้ฉีดวัคซีน Tdap เป็นเข็มแรกจาก นั้นเข็มที่ 2 และ 3 สามารถเลือกได้ทั้ง dT หรือ Tdap
2.2 เด็กอายุ 11 - 18 ปีที่ได้รับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนมาก่อนครบตามจำนวน: แนะนำให้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯด้วยวัคซีน Tdap ณ ช่วงอายุที่ 11 - 12 ปี ทั้งนี้สาเหตุที่แนะนำให้ฉีดวัคซีน Tdap เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯต่อโรคไอกรนด้วย แต่กรณีเด็กได้รับวัคซีนชนิด dT ไปแล้วแทน Tdap ไม่ถือเป็นข้อห้าม แต่หากพิจารณาแล้วพบว่าเด็กที่ได้รับวัคซีน dT มีความเสี่ยงต่อการติดโรคไอกรนสูงเช่น อยู่ในช่วงที่มีโรคไอกรนระบาด อาจพิจาณาให้วัคซีน Tdap อีกครั้งโดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะ ห่างจากการฉีดวัคซีน dT ครั้งก่อน ยกเว้นถ้าเคยมีประวัติเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า Arthus reaction ซึ่งจะเกิดอาการบวมมากของแขนหรือขาข้างที่ได้รับวัดซีนซึ่งมักเกิดหลังฉีดภายใน 2 - 8 ชั่วโมง หากเคยเกิดปฏิกิริยาดังกล่าวควรพิจารณาเว้นช่วงการฉีดวัคซีนที่มีส่วนประกอบของวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์เข็มถัดไปอย่างน้อย 10 ปี
2.3 ผู้ใหญ่อายุ 19 ปีขึ้นไปที่เคยได้รับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนมาก่อนในวัยเด็กข้างต้นแล้ว: แนะนำให้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน dT ทุก 10 ปีและให้ใช้วัคซีน Tdap แทน dT ได้ 1 ครั้ง หากยังไม่เคยได้รับวัคซีน Tdap มาก่อนเลยโดยเฉพาะบุคคลที่มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีควรได้รับวัคซีน Tdap ก่อนสัมผัสใกล้ชิดเด็กดังกล่าวอย่างน้อย 2 สัปดาห์
2.4 ผู้ใหญ่อายุ 19 ปีขึ้นไปและไม่เคยได้รับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนมาในวัยเด็กข้างต้นมาก่อน: ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนมาก่อนเลยให้ฉีดวัคซีน dT จำนวน 3 ครั้งโดยฉีดวัคซีนปริมาณ 0.5 มิลลิลิตรเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน ทำการฉีดทั้งหมด 3 เข็มโดยเข็มแรกทันที, เข็มที่ 2 ณ เดือนที่ 1 และเข็มที่ 3 ณ เดือนที่ 6 ทั้งนี้แนะนำให้ฉีดวัคซีน Tdap 1 ครั้งใน 3 ครั้งเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อไอกรน และเมื่อมีโอกาสควรฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯด้วยวัคซีน dT ทุก 10 ปี
การใช้วัคซีนป้องกันคอตีบช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
การใช้วัคซีนป้องกันคอตีบไม่ถือเป็นข้อห้ามระหว่างการตั้งครรภ์และให้นมบุตร อีกทั้งวัคซีนป้องกันคอตีบยังเป็นหนึ่งในวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันคอตีบมาก่อนอีกด้วย โดยวัคซีนที่แนะนำให้ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ทุกครรภ์, มารดาหลังคลอดบุตร และมารดาที่ให้นมบุตรคือ วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Acellular) สูตรเด็กโตที่อายุ 7 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่หรือที่เรียกว่า Tdap
1. ในหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีประวัติได้รับ Tdap ไม่ว่าจะเคยรับ dT หรือ T มาครบถ้วนหรือไม่ก็ตาม แพทย์ควรพิจารณาให้ Tdap ระหว่างตั้งครรภ์ได้โดยแนะนำให้ 1 เข็มเมื่ออายุครรภ์ 27 - 36 สัปดาห์ โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่ห่างจากวัคซีนบาดทะยักหรือคอตีบเข็มล่าสุดเพื่อให้ภูมิคุ้มกันฯส่งผ่านถึงทารกได้มากที่สุด หากไม่ได้รับระหว่างตั้งครรภ์ควรให้เร็วที่สุดหลังคลอด
2. ในกรณีหญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนไม่ครบหรือไม่ทราบประวัติรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันฯต่อเชื้อบาดทะยักและคอตีบแก่แม่และทารก หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อบาดทะยักและคอตีบ (dT) จำนวน 3 ครั้ง โดยฉีดเข็มที่ 1 เมื่อมาฝากครรภ์ทันทีจากนั้น 4 สัปดาห์ต่อมาจึงฉีดเข็มที่ 2 จากนั้นให้ฉีดเข็มที่ 3 อีก 6 - 12 เดือนต่อมาจากเข็มที่ 2 โดยสามารถพิจารณาฉีดวัคซีน Tdap แทน dT ได้ 1 ครั้งใน 3 ครั้งซึ่งเพียงพอที่จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯต่อไอกรนให้แก่มารดาและทารก โดยแนะนำให้พิจารณาฉีดวัคซีนรวม Tdap ในช่วงอายุครรภ์ 27 - 36 สัปดาห์
3. ในหญิงตั้งครรภ์ที่เคยได้รับวัคซีนที่มีส่วนประกอบของวัคซีนป้องกันบาดทะยักและคอตีบมาแล้ว 1 เข็มไม่ว่านานเท่าใด แนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อบาดทะยักและคอตีบ (dT) จำนวน 2 ครั้ง โดยฉีดเข็มที่ 1 ห่างจากเข็มล่าสุดที่เคยได้รับมาอย่างน้อย 1 เดือน จากนั้น 6 เดือนถัดมา จึงรับการฉีดเข็มที่ 2 จากนั้นให้ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี โดยสามารถพิจารณาฉีดวัคซีน Tdap แทน dT ได้ 1 ครั้งใน 2 ครั้ง ซึ่งเพียงพอที่จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไอกรนให้แก่มารดาและทารกโดยแนะนำให้พิจารณาฉีดวัคซีนรวม Tdap ในช่วงอายุครรภ์ 27 - 36 สัปดาห์
4. ในหญิงตั้งครรภ์ที่เคยได้รับวัคซีนที่มีส่วนประกอบของวัคซีนป้องกันบาดทะยักและคอตีบมาแล้วอย่างน้อย 3 เข็มและเข็มสุดท้ายน้อยกว่า 10 ปี แนะนำว่าไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักและคอตีบในระหว่างตั้งครรภ์ครั้งนี้
5. ในหญิงตั้งครรภ์ที่เคยได้รับวัคซีนที่มีส่วนประกอบของวัคซีนป้องกันบาดทะยักและคอตีบมาแล้วอย่างน้อย 3 เข็มและเข็มสุดท้ายนานกว่า 10 ปี แนะนำว่าให้หญิงตั้งครรภ์ทำการฉีดเข็มที่ 1 เมื่อมาฝากครรภ์ทันทีจากนั้นให้ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี
กรณีรับการฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบไม่ตรงตามตารางเวลาที่กำหนดหรือรับวัคซีนไม่ครบ
กรณีผู้ป่วยมารับการฉีดวัคซีนคอตีบไม่ตรงตามตารางเวลาที่กำหนด ผู้ป่วยสามารถฉีดวัคซีนนี้ เข็มถัดไปได้ทันทีและสามารถนับต่อจากเข็มที่ผู้ป่วยควรได้รับในกรณีที่ระยะเวลาที่เมื่อนึกขึ้นได้เป็นระยะเวลาที่น้อยกว่า 5 ปีโดยไม่ต้องเริ่มต้นการฉีดวัคซีนใหม่ตั้งแต่เข็มแรก
กรณีผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าต้องฉีดเข็มวัคซีนคอตีบหลังจากเข็มแรกเมื่อผ่านไปแล้วเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ควรแนะนำเริ่มต้นการฉีดวัคซีนคอตีบใหม่ทั้งหมดตั้งแต่เข็มแรกและฉีดต่อจนครบตาม ตารางเวลาสำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนนี้มาก่อน
มีวิธีการเก็บรักษาวัคซีนป้องกันคอตีบอย่างไร?
วัคซีนป้องกันคอตีบที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นวัคซีนชนิดน้ำใสสำหรับฉีดเข้ากล้ามเนื้อ วิธีการเก็บ คือ เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา (อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส/Celsius) ห้ามแช่แข็ง และควรเก็บวัคซีนในบรรจุภัณฑ์เดิมที่หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงสว่าง พิจารณาใช้วัคซีนนี้ภายหลังการเปิดวัคซีนทันที ยา/วัคซีนส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ให้พิจารณาทิ้งไป
วัคซีนป้องกันคอตีบที่มีจำหน่ายในประเทศไทยและบริษัทผู้ผลิต
วัคซีนป้องกันคอตีบที่มีจำหน่ายในประเทศไทยผลิตจากพิษ (Toxin) ของแบคทีเรีย Coryne bacterium diphtheriae ซึ่งก่อให้เกิดโรคคอตีบ โดยนำพิษนี้มาทำให้หมดพิษ แต่ยังสามารถกระตุ้น ให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันฯต่อพิษของเชื้อคอตีบได้เรียกว่า ท็อกซอยด์ (Toxoid) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อ ให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันฯ (Active immunization) ให้แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้ โดยปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคคอตีบไม่มีรูปแบบที่เป็นวัคซีนชนิดเดี่ยวแต่จะอยู่ในรูปวัคซีนชนิดรวม โดยวัคซีนชนิดรวมหนึ่งเข็มจะประกอบด้วยวัคซีนป้องกันเชื้อคอตีบและวัคซีนป้องกันบาดทะยัก หรืออาจประกอบด้วยวัคซีนไอกรนร่วมด้วยอีกโรค นอกจากนั้นบางชนิดอาจมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีผสมเพิ่มอีกด้วย
ในประเทศไทยวัคซีนรวมดังกล่าวมีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
บรรณานุกรม
- Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
- TIMS (Thailand). MIMS. 137th ed. Bangkok: UBM Medica; 2014
- กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, เกษวดี ลาภพระ, จุฑารัตน์ เมฆมัลลิกา, ฐิติอร นาคบุญนำ และอัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2556. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา; 2556
- กำพล สุวรรณพิมลกุล, กมลวรรณ จุติวรกุล, เลลานี ไพฑูรย์พงษ์ และคณะ. Infectious Disease Emergencies. กรุงเทพฯ: ตรีเทพบุ๊คโปรเสส; 2559
- โอฬาร พรหมาลิขิต, อัจฉรา ตั้งสภาพรพงษ์ และอุษา ทิสยากร. วัคซีน 2015. กรุงเทพฯ: นพชัยการพิมพ์; 2558