ลีโวเซทิไรซีน (Levocetirizine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 กันยายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- ลีโวเซทิไรซีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ลีโวเซทิไรซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ลีโวเซทิไรซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ลีโวเซทิไรซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ลีโวเซทิไรซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ลีโวเซทิไรซีนอย่างไร?
- ลีโวเซทิไรซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาลีโวเซทิไรซีนอย่างไร?
- ลีโวเซทิไรซีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- Cetirizine
- ลมพิษ (Urticaria)
- เยื่อจมูกอักเสบ (Rhinitis)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
บทนำ
ยาลีโวเซทิไรซีน(Levocetirizine หรือ Levocetirizine dihydrochloride) เป็นยาต่อต้านฮีสตามีนรุ่นที่ 3 (Third-generation antihistamine)ถูกพัฒนามาจากยา Cetirizine ซึ่งเป็นยาต้านสารฮีสตามีนรุ่นที่ 2 ทางคลินิกใช้ยาลีโวเซทิไรซีนเป็นยาลดอาการแพ้ต่างๆ เช่น โรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้หูคอจมูก ลมพิษ
ยาลีโวเซทิไรซีนจัดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพการรักษาดีกว่ายาต้านฮีสตามีนรุ่นที่ 2 แต่ก็มีผลข้างเคียงมากกว่าเช่นกัน แต่เป็นผลข้างเคียงเล็กน้อยที่ไม่รุนแรง รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยารับประทานชนิดเม็ด หากรับประทานยานี้พร้อมอาหารที่มีไขมันสูง จะเกิดการชะลอการดูดซึมตัวยานี้จากระบบทางเดินอาหาร หลังรับประทาน ยานี้จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1 ชั่วโมง และมีฤทธิ์ยับยั้งอาการแพ้ได้นานถึงประมาณ 24 ชั่วโมง ร่างกายต้องใช้เวลา 8-9 ชั่วโมง ในการกำจัดยานี้ส่วนใหญ่ออกทางปัสสาวะและบางส่วน ถูกขับออกไปกับอุจจาระ
ทั้งนี้ สามารถใช้ยาลีโวเซทิไรซีนนี้ได้กับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นมา ด้วยยานี้ประมาณ 85.4% จะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไต ดังนั้นผู้ที่ป่วยด้วยโรคไตแพทย์อาจต้องปรับขนาดรับประทานตามความรุนแรงของโรคไตที่เป็นอยู่ ส่วนการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยมากเพียงพอมาสนับสนุน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาทดลองใช้ยาลีโวเซทิไรซีนกับมนุษย์โดยควบคุมขนาดรับประทาน และความถี่ของการใช้ยานี้ เทียบกับยาหลอกในอาสาสมัครพบว่า การใช้ยานี้ในระยะสั้น(ไม่เกิน 6 สัปดาห์) สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) เช่น ง่วงนอน มีไข้ ท้องเสีย อาเจียน ได้ไม่ต่างกับอาสาสมัครที่ได้รับยาเป็นระยะยาวนาน(4 – 6 เดือน) จึงมีข้อสรุปให้ยาลีโวเซทิไรซีนถูกวางจำหน่ายตั้งแต่ ปี ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) มาจนถึงปัจจุบัน
*กรณีที่ผู้บริโภค รับประทานยาลีโวเซทิไรซีนเกินขนาด สามารถสังเกตได้จากอาการ ง่วงนอนมาก ตัวสั่น กระสับกระส่าย ซึ่งแพทย์จะช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยการรักษาประคับประคองตามอาการที่ปรากฏ
อนึ่ง สามารถพบเห็นการใช้ยาลีโวเซทิไรซีนได้ตามสถานพยาบาลต่างๆ และมีจำหน่ายตามร้านขายยาโดยทั่วไป
ลีโวเซทิไรซีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาลีโวเซทิไรซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาโรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
- รักษาอาการแพ้ทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ
ลีโวเซทิไรซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาลีโวเซทิไรซีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ในบริเวณตัวรับ(Receptor)ของเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย ที่มีชื่อว่า H1 receptor ส่งผลให้ปริมาณสารฮีสตามีน(Histamine)ที่ถูกปลดปล่อยจากเนื้อเยื่อต่างๆมีปริมาณน้อยลง และเกิดกระบวนการป้องกันการหลั่งสารกระตุ้นอาการแพ้ตัวอื่นๆอีกด้วย เช่น สารในกลุ่ม Cytokine จากกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ลีโวเซทิไรซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาลีโวเซทิไรซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด
ลีโวเซทิไรซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาลีโวเซทิไรซีนมีขนาดรับประทานสำหรับรักษาโรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และลมพิษ ดังนี้ เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละครั้งก่อนนอน
- เด็กอายุ 6 – 11 ปี: รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม วันละครั้ง ก่อนนอน
- เด็กอายุ 2 – 5 ปี: รับประทานครั้งละ 1.25 มิลลิกรัม วันละครั้ง ก่อนนอน
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงที่ชัดเจนของยานี้ในเด็กวัยนี้
การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- สำหรับผู้ใหญ่บางราย แพทย์สามารถปรับลดขนาดรับประทานเหลือครึ่งหนึ่งจาก ขนาดรับประทานปกติ (คือ รับประทานเพียง 2.5 มิลลิกรัม) ก็สามารถบรรเทาอาการแพ้ได้แล้ว
- โดยทั่วไป หลังการใช้ยานี้ อาการผู้ป่วยมักจะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน กรณีอาการดีขึ้นสามารถหยุดการใช้ยานี้ได้ นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์ให้รับประทานต่อเนื่องไปอีกสักระยะหนึ่ง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลีโวเซทิไรซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลีโวเซทิไรซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้ เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาลีโวเซทิไรซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาลีโวเซทิไรซีนตรงเวลา
ลีโวเซทิไรซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาลีโวเซทิไรซีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ดังนี้ เช่น
- ผลต่อหัวใจ: เช่น เกิดชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว
- ผลต่อผิวหนัง: เช่ย เกิดผื่นคัน และลมพิษ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง ท้องเสียหรือท้องผูก อาเจียน คลื่นไส้
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน อ่อนแรง ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน มีภาวะลมชัก
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าบิลิรูบิน และค่าเอนไซม์ทรานสมิเนส(Transaminase,เอนไซม์การทำงานของตับ)ในเลือด เพิ่มสูงขึ้น
- ผลต่อการมองเห็น: เช่น ตาพร่า การมองภาพไม่ชัดเจน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น คอหอยอักเสบ ไอ
- ผลต่อจิตประสาท: เช่น มีอารมณ์ก้าวร้าว ประสาทหลอน นอนไม่หลับ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด/ปัสสาวะไม่ออก
มีข้อควรระวังการใช้ลีโวเซทิไรซีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลีโวเซทิไรซีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ และ/หรือทำงานกับเครื่องจักร เมื่อมีอาการวิงเวียนหลังใช้ยานี้ ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคไต โรคตับ กรณีที่ต้องใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้แพทย์จะปรับลดขนาดการใช้ยานี้ลงมา
- กรณีมีอาการแพ้ยานี้ เช่น ตัวบวม ผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีไข้ หรือรับประทานยานี้เกินขนาด ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เพื่อให้แพทย์บำบัดรักษาโดยเร็ว
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลีโวเซทิไรซีน) ยาแผนโบราญทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ลีโวเซทิไรซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลีโวเซทิไรซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาลีโวเซทิไรซีนร่วมกับยา Disulfiram, Hydrocodone, Hydroxyzine, Loperamide, Ketamine, Zolpidem, Promethazine, Risperidone, อาจทำให้มีอาการข้างเคียงต่างๆจากยาลีโวเซทิไรซีนเพิ่มมากขึ้น เช่น วิงเวียน ง่วงนอน การครองสติทำได้ยาก หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาลีโวเซทิไรซีนร่วมกับยาต้านไวรัส Ritonavir โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ที่มีไตทำงานผิดปกติ อาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงของยาลีโวเซทิไรซีนเพิ่มมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาลีโวเซทิไรซีนอย่างไร
ควรเก็บยาลีโวเซทิไรซีนในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ห้ามเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
ลีโวเซทิไรซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาลีโวเซทิไรซีน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Xyzal (ไซซอล) | GlaxoSmithKline |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Rinozal, Vozet
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Levocetirizine [2016,Aug20]
- https://www.drugs.com/pro/levocetirizine.html [2016,Aug20]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/levocetirizine/?type=brief&mtype=generic [2016,Aug20]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/xyzal/?type=brief [2016,Aug20]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/levocetirizine-index.html?filter=2&generic_only= [2016,Aug20]