ลีโนกราสทิม (Lenograstim)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลีโนกราสทิม(Lenograstim) เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล(Neutrophils)ต่ำจากสาเหตุต่างๆ เช่น ได้รับยาเคมีบำบัด หรือเพิ่งได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกมาใหม่ๆ ยานี้มีโครงสร้างคล้ายกับสารไกลโคโปรตีน(Glycoprotein)ของร่างกายซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “Granulocyte-Colony Stimulating Factor หรือเขียนย่อๆว่า G-CSF” ซึ่งโปรตีน/ยาชนิดนี้จะทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดในไขกระดูกให้เกิดการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลเพิ่มขึ้น

ยาลีโนกราสทิม มีชื่ออื่นเช่น Granulocyte-colony stimulating factor (G CSF) หรือ Non-pegylated human granulocyte colony stimulating factor หรือ Colony-stimulating factor 3 (CSF 3) หรือ Recombinant human granulocyte stimulating factor

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาลีโนกราสทิมเป็นแบบยาฉีด ที่สามารถฉีดเข้าหลอดเลือดหรือผิวหนังก็ได้ ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยาชนิดนี้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3–4 ชั่วโมงเพื่อขับยาลีโนกราสทิมออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

มีข้อควรระวัง ข้อห้ามใช้ และข้อควรทราบบางประการ ของยาลีโนกราสทิมดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่ป่วยด้วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Myeloid leukemia
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคปอดบวม โรคตับ โรคไต ในระยะรุนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาทุกประเภท
  • ยาชนิดนี้ไม่ใช่ยารักษาโรคมะเร็ง แต่เป็นยาที่สามารถสนับสนุนผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะ เม็ดเลือดขาวต่ำจากยารักษามะเร็ง/ยาเคมีบำบัด
  • จากกลไกการออกฤทธิ์ของยาลีโนกราสทิมที่กระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น จึงต้องระวังเรื่องภาวะเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดสูงเกินไป และถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจเม็ดเลือด(การตรวจCBC)เป็นระยะๆตามที่แพทย์นัดหมาย
  • กรณีพบอาการ ปวดกระดูก เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หรือมีไข้ หลังจากได้รับยานี้ ผู้ป่วยต้องรีบกลับมา/โรงพยาบาล/ขอคำแนะนำจากแพทย์ ห้ามใช้ยาอื่นใดมารักษาอาการโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์เสียก่อน

สำหรับประเทศไทย ยาลีโนกราสทิมถูกกำหนดให้เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น และเราจะพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

ลีโนกราสทิมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ลีโนกราสทิม

ยาลีโนกราสทิมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • เป็นยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล หลังจากได้รับการทำเคมีบำบัด/ให้ยาเคมีบำบัด
  • ใช้เป็นยาร่วมในการปลูกถ่ายไขกระดูก
  • บำบัดอาการเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลต่ำตั้งแต่กำเนิด

ลีโนกราสทิมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาลีโนกราสทิม เป็นยาชีวะสังเคราะห์ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่เลียนแบบการทำงานของ G-CSF ซึ่งเป็นปัจจัยในการกระตุ้นเซลล์ไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลให้เจริญเติบโตและสมบูรณ์ขึ้นมาทดแทนเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลที่ตายหรือที่ได้รับผลกระทบจากการทำเคมีบำบัด

ลีโนกราสทิมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลีโนกราสทิมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่บรรจุ Lenograstim ขนาด 100 และ 250 ไมโครกรัม/ขวด

ลีโนกราสทิมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาลีโนกราสทิมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลหลังทำเคมีบำบัด:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปี: แพทย์จะให้ยากับผู้ป่วยหลังจากการทำเคมีบำบัดผ่านไปแล้ว 24 ชั่วโมง โดยฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 150 ไมโครกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร/วัน แพทย์อาจต้องให้ยาต่อเนื่องจนกระทั่งมีปริมาณเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลในเลือดสูงขึ้นมาในระดับปกติ โดยทั่วไประยะเวลาในการรักษาสูงสุดไม่เกิน 28 วัน

ข. สำหรับบำบัดเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลต่ำตั้งแต่กำเนิด:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปี: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แพทย์ อาจเพิ่มขนาดการให้ยาเป็น 20 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ระยะเวลาใช้ยาอยู่ในช่วง 7-14 วัน ขนาดการใช้ยาต้องเป็นไปตามการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาระยะเวลาการให้ยาได้เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด

ค. สำหรับใช้ร่วมในกระบวนการปลูกถ่ายไขกระดูก:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปี: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 150 ไมโครกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร/วัน โดยใช้เวลาให้ยา 30 นาทีขึ้นไป การให้ยาต้องกระทำหลังจากปลูกถ่ายไขกระดูกไปแล้ว 24 ชั่วโมง ระยะเวลาใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 28 วัน

อนึ่ง:

  • มารับการฉีดยานี้อย่างต่อเนื่อง ตรงตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ทั่วไป การหยุดให้ยานี้ แพทย์จะใช้เกณฑ์ตรวจนับจำนวน เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ที่มีระดับเพิ่มขึ้นจนเข้าเกณฑ์มาตรฐาน
  • เด็กอายุตั้งแต่2ปีลงมา: การใช้ยานี้และขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลีโนกราสทิม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลีโนกราสทิมอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาลีโนกราสทิม ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อแพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาดูแลผู้ป่วย เพื่อทำการนัดหมายการได้รับยาใหม่โดยเร็ว

ลีโนกราสทิมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาลีโนกราสทิมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อม้าม: เช่น ในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการม้ามแตก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ มีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง/อ่อนเพลีย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง อาจพบผื่นคัน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกล็ดเลือดต่ำ มีภาวะเม็ดเลือดแดงรูปเคียว
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด ไอเป็นเลือด

มีข้อควรระวังการใช้ลีโนกราสทิมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลีโนกราสทิม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยาลีโนกราสทิม ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเข้ารับการทำเคมีบำบัด
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยมะเร็งประเภท Myeloid leukemia
  • ระวังเกิดกลุ่มอาการเม็ดเลือดขาวมากเกินปกติ การหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน และความผิดปกติของม้าม
  • ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจประเมินการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย หลังได้รับยาลีโนกราสทิมตามคำแนะนำขงแพทย์ เช่น การทำงานของ ปอด ตับ ไต ม้าม
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมารับการให้ยานี้ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลีโนกราสทิมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ลีโนกราสทิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลีโนกราสทิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาลีโนกราสทิมร่วมกับยา Bleomycin, Cyclophosphamide, และ Methotrexate เพราะจะทำให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)กับปอด เช่น ปอดอักเสบรุนแรง

ควรเก็บรักษาลีโนกราสทิมอย่างไร?

ควรเก็บยาลีโนกราสทิม ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ลีโนกราสทิมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลีโนกราสทิม มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Granocyte (แกรโนไซต์)Chugai

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Neupogen , Granix , Zarxio

บรรณานุกรม

  1. https://www.old.health.gov.il/units/pharmacy/trufot/alonim/PIL_Granocyte_34_E_30_03_2014_1438779663019.pdf [2018, April14]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/granocyte/?type=brief [2018, April14]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/lenograstim/?type=brief&mtype=generic [2018, April14]