ลิโดเคน (Lidocaine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 กันยายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- ลิโดเคนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ลิโดเคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ลิโดเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ลิโดเคนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ลิโดเคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ลิโดเคนอย่างไร?
- ลิโดเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาลิโดเคนอย่างไร?
- ลิโดเคนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาชาเฉพาะที่ (Local Anesthetics)
- รูปแบบยาเตรียม (Pharmaceutical Dosage Forms)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
- ยาลูกอม (Throat lozenge)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- การเจาะน้ำไขสันหลัง การเจาะหลัง (Lumbar puncture)
บทนำ
ยาลิโดเคน(Lidocaine หรือ Lidocaine hydrochloride หรือ Lidocaine HCl) หรือในชื่ออื่นคือ ไซโลเคน(Xylocaine) หรือ ลิกโนเคน(Lignocaine) ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ช่วยระงับความรู้สึกของเส้นประสาท กรณีที่นำมาผสมกับยาAdrenalineในปริมาณเล็กน้อยจะใช้เป็นยาชาและช่วยห้ามเลือด ยาชนิดนี้ยังใช้บำบัดอาการหัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อีกด้วย มีการค้นตัวยาลิโดเคนพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1946 (พ.ศ.2489) องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองจ่ายเพื่อให้บริการกับผู้ป่วย ด้วยประสิทธิภาพและเป็นยาที่มีราคาไม่แพงทำให้ยาลิโดเคนเป็นที่ยอมรับของหลายประเทศ
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาลิโดเคนมีทั้ง ยาฉีด ยาสเปรย์ ยาทาในช่องปาก ยาหยอดหู ยาหยอดตา ยาหล่อลื่นเพื่อช่วยสอดสายสวนปัสสาวะ ซึ่งมีการใช้ทั้ง ในลักษณะของยาเดี่ยวและของสูตรตำรับแบบผสม
ยาลิโดเคนมีข้อควรระวัง ที่ควรให้ความสำคัญและเรียนรู้อยู่หลายประการ เช่น การฉีดยาเข้าบริเวณ ศีรษะ ลำคอ ฟัน ปมประสาท จะต้องเป็นไปโดยคำสั่งแพทย์เท่านั้น
*หากผู้ป่วยได้รับยาลิโดเคนเกินขนาด สามารถก่อให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ อาทิ เกิดความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง ทำให้รู้สึกสับสน มีอาการชัก กดการหายใจ หัวใจเต้นช้า อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น มีอาการโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด
ระหว่างที่ได้รับยาลิโดเคน แพทย์อาจสอบถามถึงความรู้สึกของผู้ป่วยว่า มีอาการชาหรือยังมีความรู้สึกเจ็บปวดอยู่หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการตรวจสอบและประเมินประสิทธิผลของการใช้ยานี้ ในประเทศไทยลิโดเคนถูกกำหนดให้เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งมีใช้ตามสถานพยาบาลทั่วไปและมีหลายชื่อการค้า
ลิโดเคนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาลิโดเคนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ(Ventricular fibrillation)
- บำบัดภาวะหัวใจเต้นเร็ว(Ventricular tachycardia)
- ใช้เป็นยาชาร่วมกับยาอื่นสำหรับเป็น ยาหยอดตา ยาหยอดหู
- ใช้เป็นยาชาสำหรับเป็นยาเหน็บทวารหนัก
- บรรเทาอาการเจ็บคอโดยรูปแบบของยาเม็ดอม
- ใช้เป็นยาชาร่วมกับยาอื่นเพื่อหัตถการต่างๆทางการแพทย์
ลิโดเคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาลิโดเคนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะปิดกั้นการส่งกระแสประสาทในบริเวณที่ได้รับยา ทำให้ความรู้สึกต่างๆถูกจำกัด มีอาการชาเกิดขึ้น และลดอาการเจ็บปวด
สำหรับการบำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ และ/หรือหัวใจเต้นเร็ว กลไกการออกฤทธิ์จะโดยตัวยาจะทำให้ความไวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ส่งผลให้หัวใจลดแรงบีบตัวแล้วกลับมาเต้นเป็นปกติ การใช้ลิโดเคนในลักษณะนี้จะต้องมีการควบคุมคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และจังหวะการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติเสมอ
ลิโดเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาลิโดเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดอมแก้เจ็บคอที่ประกอบด้วยตัวยา Dichlorobenzyl alcohol 1.2 มิลลิกรัม + Amylmetacresol 0.6 มิลลิกรัม+ Lignocaine HCl 10 มิลลิกรัม
- ยาฉีดที่ประกอบด้วย Lidocaine HCl 10 , 20 , 40 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาฉีดที่ประกอบด้วย Lidocaine HCl 1% และ 2%
- ยาฉีดที่ประกอบด้วย Lidocaine HCl 10 มิลลิกรัม + Adrenaline 5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และ Lidocaine HCl 20 มิลลิกรัม + Adrenaline 5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
- ยาหยอดตา ที่ประกอบด้วย Lidocaine 4% + Fluorescein 0.25%
- ยาหยอดหู ที่ประกอบด้วย Chloramphenicol 1% + Lidocaine HCl 2%
- ยาชา สำหรับทาสายสวนท่อปัสสาวะที่ประกอบด้วยตัวยา Lidocaine HCl 2 กรัม + Chlorhexidine dihydrochloride 0.05 กรัม/100กรัม
- ยาครีมที่ประกอบด้วย Lidocaine 25 มิลลิกรัม + Prilocaine 25 มิลลิกรัม/กรัม
- ยาเจลที่ประกอบด้วย Lidocaine HCl 2%
- ยาเจลทาในช่องปากที่ประกอบด้วย Lidocaine HCl 20 มิลลิกรัม+ Chamomile flower tincture 185 มิลลิกรัม/10กรัม
- ยาเจลใช้ทาผิวประกอบด้วย Lidocaine 4% + Epinephrine 1:2,000 + Tetracaine 0.5%
- ยาพ่นสเปรย์ลดความเจ็บปวด ขนาดความแรง 10%
- เป็นส่วนประกอบของยาประเภทฟิลเลอร์(Filler injection,ฉีดเติมริ้วรอย)ที่ประกอบด้วย Hyaluronic acid 24 มิลลิกรัม + Lidocaine HCl 3 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาเหน็บทวารแก้ริดสีดวงทวาร ที่ประกอบด้วย Lidocaine 40 มิลลิกรัม + Tribenoside 400 มิลลิกรัม
ลิโดเคนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ยาลิโดเคน ในรูปแบบเภสัชภัณฑ์ต่างๆ ให้เป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ หรือในเอกสารกำกับยา ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาวิธีและขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมจากแพทย์หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลิโดเคน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายติดขัด /หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ มีแผลติดเชื้อ เป็นโรคเริม รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลิโดเคนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรเพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ลิโดเคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาลิโดเคนมีหลายรูปแบบเภสัชภัณฑ์ กรณีใช้ยาลิโดเคน ฉีดเข้าร่างกายจะมีความเสี่ยง ต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ได้หลายประการดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจทำให้มีภาวะ Methemoglobinemia
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้าหรือ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจหยุดเต้น ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน ตัวสั่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน พูดไม่ชัด เป็นอัมพาต
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
- ผลต่อตา: เช่น เกิดภาวะตาพร่า เห็นภาพซ้อนซึ่งอาจเป็นเพียงชั่วคราว
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย รู้สึกสับสน ประสาทหลอน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หลอดลมหดเกร็งตัว/ หายใจขัด/หายใจลำบาก หยุดหายใจ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีลมพิษ มีผื่นคัน ผิวหนังเป็นแผลหรือ บวม แดง
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดขา ปวดสะโพก
มีข้อควรระวังการใช้ลิโดเคนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลิโดเคน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้/ยานี้
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- หลีกเลี่ยงการปรับขนาดการใช้ยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกร
- ห้ามทายาลิโดเคนลงบนแผลที่มีสภาวะติดเชื้อ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะลมชัก
- หลีกเลี่ยงการฉีดยาลิโดเคนกับผู้ป่วยที่หมดสติ และยังไม่ได้รับการใช้เครื่องช่วยหายใจ
- ห้ามฉีดยาลิโดเคนที่มีส่วนประกอบของสารยับยั้งเชื้อ(Preservative)เข้าน้ำไขสันหลัง
- การใช้ยาลิโดเคน ควรเริ่มที่ขนาดต่ำสุดแต่ให้ประสิทธิผลด้านบำบัดอาการป่วย สูงที่สุด
- ขณะฉีดยาลิโดเคนให้ผู้ป่วย ต้องควบคุมสัญญาณชีพของผู้ป่วยร่วมด้วย เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต เป็นต้น
- การใช้ยาใดๆร่วมกับยาลิโดเคน ควรเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลิโดเคนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ลิโดเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลิโดเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาลิโดเคนแบบยาฉีด ร่วมกับยาTramadol ด้วยจะทำให้เกิดภาวะลมชักได้ง่ายยิ่งขึ้น
- ห้ามใช้ยาลิโดเคนชนิดฉีด ร่วมกับยาAmprenavir เพราะจะทำให้ระดับยาลิโดเคนในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆมากขึ้นจากยาลิโดเคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ระวังการใช้ยาลิโดเคนร่วมกับ ยาPrilocaine การใช้ยาทั้งคู่ร่วมกัน อาจทำให้มี ภาวะ Methemoglobinemia ตามมา ซึ่งเป็นผลให้เม็ดเลือดแดงมีความสามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้น้อยลงจนอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต
- การใช้ยาลิโดเคนชนิดฉีด ร่วมกับยาAcebutolol อาจเป็นเหตุให้มีอาการง่วงนอน หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาลิโดเคนอย่างไร?
สามารถเก็บยาลิโดดเคนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือเก็บตามข้อแนะนำของเอกสารกำกับยา
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว และ
- ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
ลิโดเคนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาลิโดเคน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
EMLA (เอมลา) | AstraZeneca |
Kamistad Gel N (คามิสเตด เจล เอน) | Stada |
Lidocaine GPO (ลิโดเคน จีพีโอ) | GPO |
Lidocaine HCl Injection Vesco (ลิโดเคน เอชซีแอล อินเจคชั่น เวสโก) | Vesco Pharma |
Lidocaine Union Drug (ลิโดเคน ยูเนียน ดรัก) | Union Drug |
Xylocaine with adrenaline (ไซโลเคน วิท อะดรีนาลีน) | AstraZeneca |
Xylocaine Topical viscous (ไซโลเคน ท็อปปิคัล วิสคัส) | AstraZeneca |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Chalocaine
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Lidocaine [2018,Sep1]
- http://apps.who.int/medicinedocs/documents/s23176en/s23176en.pdf [2018,Sep1]
- http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=lidocaine&page=0 [2018,Sep1]
- https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.2396.pdf [2018,Sep1]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/lidocaine-index.html?filter=3&generic_only= [2018,Sep1]
- https://www.drugs.com/pro/lidocaine.html#s-34070-3 [2018,Sep1]
- http://web1.dent.cmu.ac.th/mis/dis/UserFiles/File/surg/SheetDOS381/local%20anes.pdf [2018,Sep1]