ลิซูไลด์ (Lisuride)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลิซูไลด์(Lisuride หรือ Lisuride hydrogen maleate) เป็นยาประเภทโดพามีน อะโกนิสต์ (Dopamine agonist) มีกลไกการออกฤทธิ์ในสมอง ทางคลินิกใช้เป็นยาบำบัดอาการโรคพาร์กินสัน ตัวยาจะช่วยทำให้สภาพการเคลื่อนไหวของร่างกายกลับมาเป็นปกติ ผู้ป่วยด้วยพาร์กินสันมักมีอาการเคลื่อนไหวได้ช้า ตัวสั่น สูญเสียการทรงตัว และไม่สามารถควบคุมร่างกายได้อย่างอิสระ การใช้ยาลิซูไลด์ร่วมกับยาประเภท L-DOPA (L-3,4-dihydroxyphenylalanine หรือ Levodopa) อย่างเหมาะสมจะทำให้อาการของผู้ป่วยพาร์กินสันทุเลาได้อย่างรวดเร็ว

การใช้ยาลิซูไลด์ ยังทำให้เกิดกลไกตอบสนองของร่างกายโดยมีฤทธิ์ กดการทำงานของฮอร์โมนโปรแลกติน(Prolactin) การมีฮอร์โมนชนิดนี้ในร่างกายมากจนเกินไป สามารถส่งผลกระทบให้มีภาวะน้ำนมไหล ประจำเดือนขาด/ขาดประจำเดือน และทำให้ระบบสืบพันธุ์ของสตรีมีสภาพไม่เหมาะสมต่อการมีบุตร การใช้ยาลิซูไลด์อย่างเหมาะสมตามคำสั่งแพทย์จะช่วยบรรเทาอาการน้ำนมไหล ปรับประจำเดือนให้มาตามปกติ และสภาพร่างกายกลับมาพร้อมต่อการมีบุตรได้มากยิ่งขึ้น

ยาลิซูไลด์มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ยานี้สามารถถูกดูดซึมได้จากระบบทางเดินอาหารประมาณ 10–20% ตัวยาในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 15% ก่อนที่จะถูกลำเลียงไปทำลายที่ตับ ร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย โดยผ่านไปกับอุจจาระและปัสสาวะในปริมาณที่พอๆกัน

การใช้ยาลิซูไลด์จะต้องมีความต่อเนื่องเพื่อให้สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองมีระดับที่เสถียร หรือมีความเข้มข้นที่เหมาะสมต่อการควบคุมอาการโรค

ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สามารถใช้ยาลิซูไลด์ได้ หรือต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถระบุเป็นข้อๆดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีปัญหาของหลอดเลือดแดงทำงานผิดปกติ หรือมีปริมาณเลือดไหลเวียนในหลอดเลือดแดงไม่เพียงพอ
  • ห้ามใช้ยาลิซูไลด์กับยา Phenylpropanolamine ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้อย่างรุนแรง
  • ระวังการใช้ยาลิซูไลด์กับผู้ป่วยทางจิตเภทหรือผู้ที่มีประวัติติดยาเสพติด ด้วยตัวยาลิซูไลด์อาจทำให้อาการของโรคกำเริบหรือเป็นมากขึ้น
  • ถึงแม้จะมีการทดลองใช้ยานี้กับสัตว์ทดลองที่ตั้งท้องและพบว่าตัวยาลิซูไลด์ไม่มีผลกระทบต่อตัวอ่อนก็จริง แต่กับมนุษย์โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร มีความเสี่ยงต่อการใช้ยาหลายประเภทซึ่งรวมถึงยาลิซูไลด์ด้วยที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรงได้ หากจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ควรต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ยาลิซูไลด์สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นที่ ระบบทางเดินอาหาร ต่อสภาพจิตใจ ต่อระบบประสาท บางกรณีหลังรับประทานยานี้แล้ว จะทำให้มีอาการง่วงนอนและวิงเวียน ผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่ในท่าพัก ห้ามลุกเดิน หรือขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันบางรายอาจมีอาการรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยานี้เพิ่มขึ้นให้กับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยที่สุด และห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเองโดยเด็ดขาด
  • ยาลิซูไลด์ประมาณครึ่งหนึ่งในกระแสเลือดจะถูกขับออกไปกับน้ำปัสสาวะ กรณีที่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยานี้ให้เหมาะสมด้วยผู้ป่วยที่มีโรคไตร่วมด้วย จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่สามารถได้รับผลข้างเคียงจากยานี้ได้ง่าย
  • เฝ้าระวังพฤติกรรมหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยานี้ เพราะยาลิซูไลด์มีการออกฤทธิ์ต่อสมอง ผลข้างเคียงบางประการที่เคยมีรายงานแจ้งเตือนพบว่า ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้จะมีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้นมาก แพทย์อาจพิจารณาปรับลดขนาดการใช้ยานี้ลง หรืออาจต้องหันไปใช้ยาตัวอื่นแทน
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดด้วยยาลิซูไลด์ อาจมีความผิดปกติ เกิดพังผืดบริเวณ หัวใจ ปอด หรือในโพรงเยื่อหุ้มปอด แพทย์จึงต้องตรวจสภาพการทำงานของหัวใจและของปอดเป็นระยะๆ ตลอดเวลาที่ใช้ยานี้
  • กรณีพบว่าผู้ป่วยมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน และเวียนศีรษะ อย่างมาก หลังการใช้ยานี้ อาจตั้งข้อสันนิษฐานว่า ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด ควรรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

จากข้อมูลต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น จะพบว่าการใช้ยาลิซูไลด์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย นอกจากการใช้ยาตามคำสั่งแพทย์แล้ว ผู้ดูแลผู้ป่วย/ญาติ จะต้องให้ความร่วมมือเฝ้าสังเกตติดตามพัฒนาการของผู้ป่วยว่า เป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งหากพบความผิดปกติของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายหรือจิตใจ ควรรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที

ยาลิซูไลด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ลิซูไลด์

ยาลิซูไลด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาอาการโรคพาร์กินสัน
  • ช่วยต่อต้านฤทธิ์การทำงานของฮอร์โมนโปรแลกตินในร่างกาย

ลิซูไลด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาลิซูไลด์ มีกลไกการออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ(Receptor)ในสมองที่มีชื่อเรียกว่า Postsynaptic dopamine receptors ส่งผลสร้างสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองจนเป็นผลให้การควบคุมการเคลื่อนไหว การทรงตัวของผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันกลับมาเป็นปกติ หรือใกล้เคียงกับภาวะปกติมากขึ้น

นอกจากนี้ ยาลิซูไลด์ยังออกฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของฮอร์โมนที่มี ชื่อว่า โปรแลกติน ทำให้ลดภาวะน้ำนมไหลที่เป็นอาการป่วยของร่างกายที่มีโปรแลกตินมากเกินไป

จากกลไกที่กล่าวมาทั้งหมด สามารถก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

ลิซูไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลิซูไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยยา Lisuride hydrogen maleate 0.2 มิลลิกรัม/เม็ด

ลิซูไลด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาลิซูไลด์ มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับรักษาโรคพาร์กินสัน:

  • ผู้ใหญ่:เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 0.1 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนนอน จากนั้น แพทย์จะปรับขนาดรับประทานเพิ่ม 0.1 มิลลิกรัมในแต่ละสัปดาห์ โดยให้ ผู้ป่วยรับประทานยาครั้งละ 0.1 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและกลางวัน ขนาดรับประทานยาสูงสุดต้องไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน วันละ 3–4 ครั้ง

ข.สำหรับลดฤทธิ์การทำงานของฮอร์โมนโปรแลกติน:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 0.1 มิลลิกรัม ครั้งเดียว ก่อนนอน ในวันที่ 2 รับประทานยาครั้งละ 0.1 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-กลางวัน, ในวันที่ 3 รับประทานยาครั้งละ 0.1 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เช้า-กลางวัน-เย็น

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
  • ระยะเวลาของการใช้ยานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ผู้ป่วยไม่ควรหยุดรับประทานยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน
  • ต้องเฝ้าติดตามอาการและพฤติกรรมของผู้ป่วยที่ได้รับยาลิซูไลด์อย่างใกล้ชิด หากเกิดความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นอาการทางร่างกายหรือทางจิต ให้รีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลิซูไลด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลิซูไลด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้ เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาลิซูไลด์ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ

ลิซูไลด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาลิซูไลด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ปากแห้ง อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น การเคลื่อนไหวช้า ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นผิดปกติ บวมปลายมือ-ปลายเท้า
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีเหงื่อออกมาก เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ประสาทหลอน วิตกกังวล รู้สึกสับสน ฝันร้าย นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้ลิซูไลด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลิซูไลด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคหลอดเลือด ผู้ที่มีการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดงไม่เพียงพอ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคทางจิตเภท
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่อง ตรงตามขนาด และเวลาในแต่ละวัน ตามแพทย์สั่ง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกาย และดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลิซูไลด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ลิซูไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลิซูไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาลิซูไลด์ร่วมกับยาPhenylpropanolamine ด้วยจะเกิดความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาลิซูไลด์ร่วมกับยากลุ่ม Benzodiazepines ด้วยสามารถทำให้เกิดอาการง่วงนอนจนถึงขั้นสงบประสาท(กดการทำงานของสมอง)ได้
  • ห้ามใช้ยาลิซูไลด์ร่วมกับยา Dopamine antagonists ตัวอื่นๆ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาลิซูไลด์ลดลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาลิซูไลด์ร่วมกับยาประเภท Sympathomimetics และยาในกลุ่ม Ergot alkaloids ด้วยจะส่งผลให้มีภาวะหลอดเลือดหดตัวมากขึ้น จนก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา

ควรเก็บรักษาลิซูไลด์อย่างไร?

ควรเก็บยาลิซูไลด์ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

ลิซูไลด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลิซูไลด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Arolac (อาโรแลค)Lisapharm
DOPERGIN (โดเพอร์กิน)Bayer
Dopergine (โดเพอร์จีน)Schering

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Proclacam, Revani

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Lisuride[2017,April8]
  2. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00589[2017,April8]
  3. http://www.tabletwise.com/medicine/lisuride-hydrogen-maleate [2017,April8]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/lisuride/?type=brief&mtype=generic[2017,April8]
  5. http://www.bayerresources.com.au/resources/uploads/datasheet/file9563.pdf[2017,April8]
  6. https://www.drugs.com/international/lisuride.html[2017,April8]