ลิซิโนพริล (Lisinopril)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลิซิโนพริล (Lisinopril) เป็นยาในกลุ่ม ACE inhibitor ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาลดความ ดันโลหิตสูงทั้งกับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป การรักษามักจะทำควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารประเภทไขมัน การควบคุมโรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และการจำกัดอาหารรสเค็ม นอกจากนี้ยังใช้ยาลิซิโนพริลในการรักษาอาการหัวใจล้มเหลว รวมถึงลดอัตราการเสียชีวิต (ตาย) ของกลุ่มผู้ป่วยด้วยอาการหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยามีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้ 25% โดยประมาณ และต้องใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

มีข้อพึงระวังบางประการที่แพทย์นำมาประกอบเพื่อพิจารณาก่อนจ่ายยานี้ให้กับคนไข้/ผู้ป่วย เช่น

  • ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาลิซิโนพริลหรือไม่
  • หากเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานและมีการใช้ยา Aliskiren อยู่ก่อนแล้ว แพทย์จะไม่เลือกใช้ยา ลิซิโนพริลร่วมด้วยเพราะจะทำให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงจนส่งผลเสียกับไตของผู้ป่วย และ/หรือเกิดภาวะอัมพาตจนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นได้
  • หากเป็นสตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร แพทย์จะไม่ใช้ยาลิซิโนพริลกับผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเด็ดขาด
  • โรคประจำตัวต่างๆที่อาจส่งผลกระทบต่อการรักษาด้วยยาลิซิโนพริลเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ภาวะ Marfan syndrome (โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยที่มีความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในทุกอวัยวะส่งผลให้อวัยวะต่างๆทำงานผิดปกติเช่น หัวใจ ปอด สมอง ตา) Sjogren’s syndrome และโรคข้อรูมาตอยด์
  • ยากลุ่มต่างๆที่ผู้ป่วยต้องใช้เพื่อบำบัดโรคประจำตัวเช่น ยากลุ่มโพแทสเซียม (เช่น Potassium chloride) ยารักษาโรคเบาหวานหรือยาอินซูลิน ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID ล้วนแล้วสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาลิซิโนพริลได้ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) วิธีการรับประทานยา ระยะเวลาในการรับประทาน รวมถึงขนาดยาที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยแพทย์จะตรวจสอบจากการตอบสนองจากอาการผู้ป่วย

ทั้งนี้หากใช้ยาลิซิโนพริลแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจสั่งจ่ายยาอื่นเพิ่มเติมเพื่อช่วยลดความดันโลหิตเช่น ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาลิซิโนพริลเป็นยาอันตราย การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหายานี้มารับประทานเอง

ลิซิโนพริลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ลิซิโนพริล

ยาลิซิโนพริลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ดังนี้

  • รักษาอาการโรคความดันโลหิตสูง
  • รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว/หัวใจวาย
  • รักษาภาวะโรคไตด้วยเหตุจากโรคเบาหวาน

ลิซิโนพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาลิซิโนพริลคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Angiotensin*-converting-enzyme ทำให้ลดปริมาณการเปลี่ยน Angiotensin I ไปเป็น Angio tensin II ส่งผลให้หลอดเลือดคลายตัวและเป็นเหตุให้ความดันโลหิตสูงลดลง อีกทั้งทำให้หัวใจไม่ต้องทำงานหนักในการสูบฉีดโลหิต จากกลไกเหล่านี้จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

อนึ่ง *Angiotensin เป็นฮอร์โมนที่มาจากตับที่ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหดตัว แบ่งได้เป็น 4 ตัวหลักคือ Angiotensin I, Angiotensin II, Angiotensin III, Angiotensin IV

ลิซิโนพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลิซิโนพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2.5, 5, 10, 20 และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด

ลิซิโนพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

โดยทั่วไปยาลิซิโนพริลมีขนาดรับประทานในการควบคุมอาการโรคต่างๆดังกล่าวในหัวข้อสรรพคุณของยานี้เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานที่ใช้คงการรักษาอยู่ที่ 20 - 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทาน 0.07 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้ง

การใช้ยาในขนาดเริ่มต้นห้ามเกิน 5 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 0.61 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงประสิทธิผลและผลข้างเคียงของยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • ผู้สูงอายุ: รับประทานยาเริ่มต้นที่ 2.5 - 5 มิลลิกรัมวันละครั้ง แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับ ประทานในทุกๆ 1 - 2 สัปดาห์ โดยแพทย์อาจปรับเพิ่มปริมาณครั้งละ 2 - 5 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง

*อนึ่ง สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลิซิโนพริลด้วย ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขี้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาลิซิโนพริลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาลิซิโนพริลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาลิซิโนพริลให้ตรงเวลา

ลิซิโนพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาลิซิโนพริลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น

ก. อาการข้างเคียงที่อาจพบได้บ่อย: : เช่น ตาพร่า ปัสสาวะขุ่น รู้สึกสับสน ปัสสาวน้อย วิงเวียน เป็นลม เหงื่อออกมาก อ่อนเพลียและไม่มีแรง

ข. อาการข้างเคียงที่พบได้แต่น้อย: เช่น ปวดท้อง ปวดตามร่างกาย เจ็บหน้าอก หนาวสั่น คัดจมูก ท้องเสีย เสียงแหบ คลื่นไส้ ไอ จาม เจ็บคอ และอาเจียน

มีข้อควรระวังการใช้ลิซิโนพริลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลิซิโนพริลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเกิดลมพิษขึ้นตามผิวหนังหลังจากใช้ยากลุ่ม ACE inhibitor
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยา Aliskiren และในผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินมาตรฐาน รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • แพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาปรับขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคไต
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลิซิโนพริลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ลิซิโนพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลิซิโนพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การรับประทานยาลิซิโนพริลร่วมกับยากลุ่ม Potassium เช่น Potassium chloride และ Potassium bicarbonate อาจทำให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินจากมาตรฐานส่งผลให้ไตทำงานหนักจนถึงขั้นเกิดภาวะไตวาย กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต และหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้งสองกลุ่มร่วมกัน
  • การรับประทานยาลิซิโนพริลร่วมกับยา Olmesartan อาจเพิ่มความเสี่ยงของการมีภาวะความดันโลหิตต่ำ เกิดความเสียหายที่ไตด้วยเกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในร่างกายเกิน บางกรณีทำให้เกิดภาวะไตวาย กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หัวใจเต้นผิดจังหวะจนถึงหยุดเต้น เพื่อมิให้เสี่ยงต่ออาการที่กล่าวมาจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การรับประทานยาลิซิโนพริลร่วมกับยา HCTZ อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การรับประทานยาลิซิโนพริลร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs เช่น Ibuprofen, Naproxen อาจทำให้ฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตของยาลิซิโนพริลด้อยประสิทธิภาพลง อีกทั้งยังทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้น กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป

ควรเก็บรักษาลิซิโนพริลอย่างไร?

ควรเก็บยาลิซิโนพริลในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในห้อง น้ำหรือในรถยนต์ ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ลิซิโนพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลิซิโนพริลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Lisinopril Tablet USP (ลิซิโนพริล แทบเลต ยูเอสพี) Sandoz
Lisdene (ลิสดีน) Sandoz
Lisir (ลิเซอร์) Kopran
Lispril (ลิสพริล) Siam Bheasach
Zestril (เซสทริล) AstraZeneca

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Lisinopril [2015,Oct31]
  2. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=%20Lisinopril%20 [2015,Oct31]
  3. http://www.drugs.com/pro/lisinopril.html#LINK_6d30faa1-c754-49eb-afcf-f92bbd503415 [2015,Oct31]
  4. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Lispril/?type=BRIEF [2015,Oct31]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/lisinopril-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Oct31]