ลำไส้ใหญ่อักเสบ (Colitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ลำไส้ใหญ่อักเสบ (Colitis)คือ โรคที่มีการอักเสบของเยื่อบุด้านในของผนังลำไส้ใหญ่/เยื่อเมือกลำไส้ใหญ่ ซึ่งลำไส้ใหญ่อักเสบมีสาเหตุได้หลากหลายมากมายทั้งจากการติดเชื้อและจากสาเหตุต่างๆที่ไม่ใช่การติดเชื้อ ซึ่งเมื่อแพทย์ทราบสาเหตุ โรคนั้นๆก็จะได้ชื่อไปตามสาเหตุนั้น เช่น โรคบิดมีตัว โรคบิดไม่มีตัว โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง โรคโครห์น

ลำไส้ใหญ่อักเสบอาจเกิดเฉพาะที่ลำไส้ใหญ่ และ/หรือเกิดร่วมกับการอักเสบของกระเพาะอาหาร และ/หรือของลำไส้เล็กก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของโรค

ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นโรคพบบ่อย พบได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ พบทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย ทั้งนี้ไม่มีสถิติของการเกิดโรคกลุ่มนี้รวมทั้งหมด แต่จะเป็นการศึกษาแยกเป็นสถิติการเกิดของแต่ละโรคย่อยที่จะแตกต่างกันไปตามแต่ละสาเหตุของลำไส้ใหญ่อักเสบ เช่น สถิติการเกิดโรคโครห์น เป็นต้น

ลำไส้ใหญ่อักเสบมีสาเหตุจากอะไร?

ลำไส้ใหญ่อักเสบ

สาเหตุที่พบได้บ่อยของลำไส้ใหญ่อักเสบ เช่น

ก. ลำไส้ใหญ่อักเสบจากการติดเชื้อ เช่น

  • ติดเชื้อ แบคทีเรีย เช่น โรคบิดไม่มีตัว, โรคไทฟอยด์, อาหารเป็นพิษจากติดเชื้ออีโคไล/E.coli/ Escherichia coli,
  • โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว เช่น โรคบิดมีตัว
  • โรคติดเชื้อไวรัส เช่น โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัสในผู้ติดเชื้อเอชไอวี

ข. โรคที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจนแต่เชื่อว่าน่าเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมร่วม กับภาวะภูมิต้านตนเอง เช่น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง และโรคโครห์น

ค. โรค Necrotizing enterocolitis in newborn: เป็นโรคพบเกิดในทารกคลอดก่อนกำหนดที่ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันคือ ลำไส้ยังเจริญเติบ โตได้ไม่เต็มที่, ลำไส้ขาดออกซิเจน, และอาจร่วมกับแบคที่เรียในลำไส้เจริญมากผิดปกติ

ง. Pseudomembranous colitis: เป็นการอักเสบของลำไส้ใหญ่ที่เกิดจากผลข้าง เคียงจากยาปฏิชีวนะบางชนิดที่ผู้ป่วยใช้ยาเหล่านั้นเป็นระยะเวลานานเกินไป ส่งให้มีผลฆ่าแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ใหญ่ร่วมไปด้วย ส่งผลให้เกิดการขาดสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียมีพิษบางชนิดจึงสร้างสารชีวพิษ(Toxin) ขึ้นมาในปริมาณมากส่งผลทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อเมือกที่บุลำไส้ใหญ่ เกิดเป็นการอักเสบของลำไส้ใหญ่เกิดขึ้น

จ. Ischemic colitis: โรคลำไส้ใหญ่อักเสบที่เกิดจากลำไส้ใหญ่ขาดเลือด เช่น จากโรคหลอดเลือดอักเสบ ภาวะช็อกที่รุนแรง โรคหลอดเลือดแดงแข็งรุนแรง หรือจากการผ่าตัดใหญ่ในช่องท้อง เป็นต้น

ฉ. Allergic colitis: เป็นโรคจากการแพ้อาหาร มักพบในเด็กเล็ก เช่น แพ้นมวัว แพ้นมถั่วเหลือง เป็นต้น

ช. โรคออโตอิมมูน (แนะนำอ่านรายละเอียดในเว็บ haamor.com)

ซ. ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง: เช่น การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก, โรคมะเร็งไส้ตรง เป็นต้น

ฌ. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด: เช่น ยาในกลุ่ม NSAID, ยา Isotretinoin

ลำไส้ใหญ่อักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของลำไส้ใหญ่อักเสบแบ่งเป็น 3 กลุ่มอาการหลักคือ อาการหลักของลำไส้ใหญ่อักเสบที่พบในทุกสาเหตุ, อาการลำไส้ใหญ่อักเสบที่ขึ้นกับแต่ละสาเหตุ, และอาการทั่วไปที่เหมือนกับโรคทั่วๆไป

ก. อาการหลักของลำไส้ใหญ่อักเสบ: หมายถึงอาการลำไส้ใหญ่อักเสบที่เกิดในผู้ ป่วยลำไส้ใหญ่อักเสบทุกราย เช่น ท้องอืด, ปวดท้องทั่วๆไปไม่ปวดเฉพาะจุด, อุจจาระเป็นมูก อาจมีเลือดปน, ปวดอุจจาระตลอดเวลา, ท้องเสีย, กระหายน้ำ, และถ้าท้องเสียมากจะมีภาวะขาดน้ำ

ข. อาการทางลำไส้ใหญ่ที่ขึ้นกับแต่ละสาเหตุ: เช่น อาการในข้อ ก. ร่วมกับอุจจาระมีมูกเลือด อุจจาระมีกลิ่นเหม็นรุนแรง ปวดท้องรุนแรงเฉพาะจุด มีไข้ลอยและสูง ท้องเสียหลังบริโภคอาหารที่แพ้ (เช่น หลังดื่มนม) หรือปวดตามข้อต่างๆ เป็นต้น เช่น อาการของโรคบิดมีตัว โรคครห์น โรคเอชไอวี เป็นต้น

ค. อาการเช่นเดียวกับโรคอื่นๆทั่วไป: เช่น อาการในข้อ ก. + ข้อ ข. ร่วมกับอาการทั่วไป เช่น หนาวสั้นเมื่อมีไข้ ปวดหัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ร่วมกับปวดเนื้อตัว อ่อนเพลีย

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆที่รวมถึงอาการที่กล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ และอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองใน 2 - 3 วันควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ แต่หากอาการเลวลงควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึง 2 - 3 วัน

แพทย์วินิจฉัยลำไส้ใหญ่อักเสบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยลำไส้ใหญ่อักเสบได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย เช่น อาการโรคที่เป็นอยู่ การใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • อาจมีการตรวจทางทวารหนัก
  • ตรวจเลือดดูการอักเสบ เช่น ซีบีซี (CBC)
  • การตรวจอุจจาระ
  • การเพาะเชื้อจากอุจจาระ
  • การตรวจภาพช่องท้อง/ลำไส้ด้วยอัลตราซาวด์ เอกซเรย์สวนแป้ง และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์( ซีทีสแกน)
  • การตรวจส่องกล้องทวารหนักและ/หรือ ลำไส้ ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา และการตรวจเพาะเชื้อจากรอยโรค

รักษาลำไส้ใหญ่อักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาลำไส้ใหญ่อักเสบประกอบด้วยการรักษาตามอาการ และ การรักษาสาเหตุ

ก. การรักษา(ประคับประคอง)ตามอาการ: เป็นการรักษาเช่นเดียวกันในผู้ป่วยลำไส้ใหญ่อักเสบทุกราย เช่น การให้ยาแก้ปวดท้อง (เช่น ยา Hyoscine), ยาลดการเคลื่อนไหวของลำไส้(เช่น ยา Loperamide) , ยาลดไข้ (เช่น ยาParacetamol), การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อร่างกายมีภาวะขาดน้ำ

ข. การรักษาสาเหตุ: การรักษาจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นกับสาเหตุ เช่น การหยุดยาต่างๆที่เป็นสาเหตุ, การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย, การให้ยาฆ่าสัตว์เซลล์เดียวเมื่อเป็นโรคบิดมีตัว (เช่น ยา Metronidazole), การรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง หรือการรักษาโรคโครห์น เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคดังกล่าว เป็นต้น

ลำไส้ใหญ่อักเสบมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากลำไส้ใหญ่อักเสบ เช่น

  • โรคซีดจากอุจจาระเป็นเลือด
  • ลำไส้อุดตันจากลำไส้ใหญ่เกิดอาการบวมมากหรือเกิดเป็นพังผืดจนช่องทางเดินลำไส้ตีบ แคบลง
  • ลำไส้ใหญ่ทะลุ (ลำไส้ทะลุ)จากมีแผลกินลึกจนผนังลำไส้ฯทะลุ ส่งผลให้เกิดติดเชื้อรุนแรงในช่องท้อง(เยื่อบุช่องท้องอักเสบ)
  • ภาวะขาดน้ำเมื่อท้องเสียรุนแรง

ลำไส้ใหญ่อักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคในลำไส้ใหญ่อักเสบจะขึ้นกับแต่ละสาเหตุและความรุนแรงของแต่ละ สาเหตุ ซึ่งมีได้ตั้งแต่

  • รักษาโรคได้หายในกรณีเป็นสาเหตุที่รักษาหายได้และโรคไม่รุนแรง เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบจากการติดเชื้อจากแบคทีเรียชนิดที่ไม่รุนแรง
  • ไปจนถึงมีโอกาสตายได้ กรณีโรครุนแรงโดยเฉพาะกรณีเกิดผลข้างเคียงรุนแรง เช่น ในโรคไทฟอยด์, โรคติดเชื้ออีโคไลสายพันธุ์รุนแรง, ลำไส้ทะลุจนเกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดเชื้อรุนแรง, ลำไส้อุดตัน, หรือเลือดออกรุนแรงจากแผลในลำไส้ใหญ่

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบ ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงกับน้ำที่เสียไปกับอุจจาระอย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้วหรือตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
  • รักษาความสะอาดอาหารและน้ำดื่ม
  • หลีกเลี่ยงอาหารเครื่องดื่มที่ก่ออาการแพ้ ท้องเสีย
  • ไม่ซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์เภสัชกร
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • อาการต่างๆไม่ดีขึ้น เช่น ท้องเสีย อุจจาระเป็นเลือด ปวดท้อง
  • อาการที่รักษาหายแล้วกลับมามีอาการอีกเช่น เป็นไข้ ท้องเสีย อุจจาระเป็นเลือด
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น ปวดท้องรุนแรง ท้องผูกรุนแรงโดยเฉพาะเมื่อร่วม กับปวดท้องมากและ/หรือไม่ผายลม เพราะเป็นอาการของลำไส้อุดตันที่ต้องรีบพบแพทย์ /ไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันลำไส้ใหญ่อักเสบอย่างไร?

การป้องกันโรคลำไส้ใหญ่อักเสบคือ การป้องกันสาเหตุที่ป้องกันได้ซึ่งคือ

  • สาเหตุจากการติดเชื้อที่การป้องกันสำคัญคือ
    • การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
    • และการรักษาความสะอาดอาหารและน้ำดื่ม เช่น ในโรคไทฟอยด์ โรคอาหารเป็นพิษจากติดเชื้ออีโคไล โรคบิดมีตัว
  • รวมไปถึงรู้จักใช้ถุงยางอนามัยชายในการมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี
  • นอกจากนั้นคือ
    • กินยาต่างๆเฉพาะกรณีจำเป็น
    • ไม่ซื้อยาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อน ซึ่งยาสำคัญที่เป็นสาเหตุลำไส้ใหญ่อักเสบคือ ยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะและยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAID ดังนั้นการซื้อยาต่างๆควรต้องปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอ

บรรณานุกรม

  1. Piccoli,D. et al. http://emedicine.medscape.com/article/927845-overview#showall [2020,May30]
  2. 2. https://en.wikipedia.org/wiki/Colitis [2020,May30]
  3. https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/001125.htm [2020,May30]