ลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคไอบีดี (Inflammatory bowel disease: IBD)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 1 เมษายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- โรคไอบีดีมีสาเหตุจากอะไร?
- โรคไอบีดีมีอาการอย่างไร?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้โรคไอบีดีรุนแรง?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคไอบีดีได้อย่างไร?
- รักษาโรคไอบีดีอย่างไร?
- โรคไอบีดีก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
- โรคไอบีดีมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันโรคไอบีดีอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร (Anatomy and physiology of alimen tary system)
- โรคโครห์น (Crohn’s disease)
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis)
- ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis)
- ลำไส้อุดตัน (Intestinal obstruction)
บทนำ
โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังไอบีดี หรือย่อว่าโรคไอบีดี (Inflam matory bowel disease ย่อว่า IBD) เป็นโรคลำไส้ที่มีการอักเสบเรื้อรังโดยในชั้นแรกไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค แต่ในระยะต่อมาอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนตามมาได้
โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังไอบีดี ซึ่งต่อไปในบทความนี้ขอเรียกว่า “โรคไอบีดี” เป็นกลุ่มโรคที่ประกอบด้วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังหลายโรค แต่โดยทั่วไปจะหมายถึง 2 โรคคือ โรคโครห์น (Crohn’s disease ย่อว่า โรคซีดี/CD) และ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis ย่อว่า โรคยูซี/UC)
- โดยโรคโครห์น มักเกิดการอักเสบเรื้อรังทั้งกับลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ (แต่เกิดได้กับทุกอวัยวะของระบบทางเดินอาหารตั้งแต่ช่องปากถึงทวารหนัก) ร่วมกับมีแผลที่ลุกลามลึกเข้าเนื้อ เยื่อทุกชั้นของผนังลำไส้ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคโครห์น)
- ส่วนโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง จะเกิดการอักเสบเฉพาะกับลำไส้ใหญ่ที่แผลมักลุกลามเฉพาะเนื้อเยื่อชั้นตื้นๆของลำไส้ใหญ่ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง)
โรคไอบีดี เป็นโรคพบได้ไม่บ่อยนัก พบได้สูงกว่าในกลุ่มคนผิวขาว/คนตะวันตก พบได้น้อยในประเทศเอเชียที่รวมถึงประเทศไทย และพบได้น้อยมากในประเทศแอฟริกาและลาตินอเมริกา ทั้งนี้ทั่วโลกพบโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังได้ประมาณ 0.5 - 24.5 รายต่อประ ชากร 1 แสนคน ส่วนโรคโครห์นพบได้ประมาณ 0.1 - 16 รายต่อประชากร 1 แสนคน ทั้งนี้ทั้ง 2 โรคพบในผู้หญิงและในผู้ชายได้ใกล้เคียงกัน
โรคไอบีดี เป็นโรคพบในทุกอายุตั้งแต่เด็ก (มักพบในเด็กโต) ไปจนถึงผู้สูงอายุโดยอายุที่พบได้บ่อยจะอยู่ในช่วง 15 - 40 ปี ซึ่งประมาณ 10% จะพบในอายุต่ำกว่า 18 ปี และในช่วงอายุ 55 - 65 ปี จะพบในผู้หญิงได้สูงกว่าในผู้ชายเล็กน้อย
โรคไอบีดีมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรคไอบีดียังไม่ทราบ แต่พบว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงหรือสาเหตุร่วมจาก
- เชื้อชาติ: เพราะพบได้สูงในคนผิวขาว แต่พบได้น้อยในคนเอเชียและลาตินอเมริกาดังได้กล่าวในหัวข้อ บทนำ
- อาจมีพันธุกรรมบางอย่างผิดปกติ เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้
- จากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ผิดปกติและมาแสดงออกที่อวัยวะในระบบทางเดินอาหารเช่น ในโรคออโตอิมมูน หรือที่เกิดหลังจากการติดเชื้อที่ลำไส้เช่น จากเชื้อแบคที เรียหรือจากเชื้อไวรัส
- จากร่างกายตอบสนองผิดปกติต่อเชื้อโรคต่างๆที่อาศัยเป็นอยู่ในลำไส้เช่น พวกแบคที เรียประจำถิ่น เป็นต้น
โรคไอบีดีมีอาการอย่างไร?
อาการหลักของโรคไอบีดีคือ ปวดท้องและท้องเสียเรื้อรัง ที่รุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก โดยการปวดท้องจะปวดได้ทั่วไปทั้งช่องท้อง ไม่มีตำแหน่งปวดเฉพาะจุดชัดเจน (ยกเว้นกรณีเกิดผลข้างเคียงจากโรคที่จะปวดท้องเฉพาะจุดที่เกิดผลข้างเคียง) และการปวดมักมีลักษณะเป็นปวดบีบ/ปวดเกร็ง ทั้งนี้อุจจาระมักเหลวหรืออาจเป็นน้ำได้ มักมีมูกอาจมีเลือดปนได้และมีกลิ่นคาว แต่จะมีกลิ่นเหม็นมากเมื่อมีการติดเชื้อในแผลลำไส้ร่วมด้วย
ส่วนอาการอื่นๆที่พบได้เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีภาวะทุโภชนา ปวดข้อ อาจมีไข้ต่ำๆบางครั้งอาจมีไข้สูง อาจมีภาวะโลหิตจาง และถ้าโรคเกิดในเด็ก เด็กจะเติบโตช้ากว่าเกณฑ์ อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการดังกล่าว
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้โรคไอบีดีรุนแรง?
ปัจจัยกระตุ้นให้อาการโรคไอบีดีกำเริบและ/หรือรุนแรงในแต่ละคนแตกต่างกัน ดังนั้นแต่ละคนต้องสังเกตุถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆกับอาการที่เกิดขึ้นเพื่อระมัดระวังหลีก เลี่ยงเช่น ประเภทและปริมาณอาหาร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มักมีผลกระตุ้นให้เกิดอาการและ/หรือให้อาการรุนแรงที่พบบ่อย ได้แก่
- อาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์จากนม
- อาหารใยอาหารสูง
- อาหารรสจัด
- อาหารไขมันสูง
- อาหารแปรรูป
- อาหารเครื่องดื่มกลุ่มมีกาเฟอีน
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การสูบบบุหรี่
- การบริโภคยาต้านการอักเสบกลุ่มเอ็นเสด
- บางคนอาจขึ้นกับภาวะสภาพอากาศเช่น หนาว ร้อน
- ความเครียด ความกังวล
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวในหัวข้ออาการ ควรพบแพทย์เสมอเพื่อการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการ เพื่อการรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่นๆ
แพทย์วินิจฉัยโรคไอบีดีได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไอบีดีได้จาก ประวัติอาการ อายุ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว การตรวจร่างกาย การตรวจอุจจาระ (ทั้งการตรวจวิธีทั่วไปและการตรวจวิธีเฉพาะ) การตรวจเลือดต่างๆเช่น ซีบีซี/CBC (ดูภาวะซีด) ดูสารภูมิต้านทานต่างๆ (เพื่อการวินิจฉัยโรคออโตอิมูน) ดูสารอาหารต่างๆ (เพื่อวินิจฉัยภาวะขาดสารอาหาร/ทุโภชนา) การตรวจภาพช่องท้องด้วยอัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์และ/หรือเอมอาร์ไอ การตรวจภาพกระเพาะอาหารและลำไส้ด้วยการเอกซเรย์กลืนแป้ง การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและตรวจลำไส้ การใช้กล้องตรวจด้วยวิธีกลืนกล้องที่เป็นแคปซูล (Capsule endoscopy) การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ และรวมไปถึงการตัดชิ้นเนื้อทั้งจากกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาที่ช่วยให้การวินิจฉัยโรคแม่นยำขึ้น
รักษาโรคไอบีดีอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคไอบีดีคือ การใช้ยาเพื่อต้าน/ลดการอักเสบของลำไส้, การพักการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ (Bowel rest) การผ่าตัด และการรักษาประคับประคองตามอาการ
ก. การรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมการอักเสบของลำไส้:
- การรักษาเพื่อลดการอักเสบของลำไส้: เช่น ยาในกลุ่ม Aminosalicylates และ ยา Corticosteroid
- การลดการอักเสบของลำไส้ด้วยยากดระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายเช่น ยา Methotrexate, Azathioprine, Cyclosporin
- การลดการอักเสบของลำไส้กรณีมีการติดเชื้อได้แก่ ยาปฏิชีวนะต่างๆเช่น ยา Metroni dazole, Ciprofloxacin
ข. การพักการทำงานของลำไส้: ในกรณีที่โรคมีอาการมาก ผู้ป่วยท้องเสียมากจนส่งผลถึงการควบคุมสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย แพทย์จะพักการทำงานของลำไส้ด้วยการงดการกิน/ดื่มทางปากชั่วระยะเวลาหนึ่งจนกว่าอาการท้องเสียจะควบคุมได้ โดยระหว่างพักการทำงานของลำไส้นี้แพทย์จะให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำแทน
ค. การผ่าตัด จะทำในกรณีเพื่อรักษาผลข้างเคียงจากโรคเช่น ลำไส้ทะลุเข้าช่องท้อง, ภาวะเกิดหนองในช่องท้อง, ลำไส้ทะลุเข้าอวัยวะอื่นๆในช่องท้อง (เช่น ทะลุเข้ากระเพาะปัสสาวะ), ลำไส้อุดตัน
ง. การรักษาประคับประคองตามอาการ ได้แก่ การรักษาตามอาการร่วมอื่นๆเช่น การให้กินธาตุเหล็กกรณีมีภาวะซีด การกินยาแก้ปวด ยาแก้ท้องเสีย หรือยาลดการบีบตัวของลำไส้ ยาคลายเครียด วิตามินเกลือแร่เสริมอาหาร ซึ่งยาบางชนิดอาจอยู่ในรูปแบบยาฉีด เป็นต้น
โรคไอบีดีก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากโรคไอบีดีขึ้นกับกลุ่มของโรค
ก. ผลข้างเคียงที่พบได้จากโรคโครห์น เช่น ภาวะลำไส้ทะลุเข้าช่องท้อง ภาวะลำ ไส้ทะลุเข้าอวัยวะต่างๆ ภาวะหนองในช่องท้อง ภาวะลำไส้อุดตัน ภาวะซีด ภาวะทุโภชนา นิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี และภาวะทางจิตใจอารมณ์เช่น เครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล
ข. ผลข้างเคียงที่พบได้จากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง เช่น อุจจาระเป็นเลือดเรื้อรัง ภาวะซีด/โลหิตจาง ลำไส้อุดตัน อาจมีลำไส้ทะลุ (พบได้น้อยกว่าในโรค โครห์น) มีลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
โรคไอบีดีมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของโรคไอบีดีคือ เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย แต่ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆร่วมกับการดูแลตนเองที่ดี ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติและมีชีวิตยืนยาวเท่าคนปกติได้ อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปผู้ป่วยโรคไอบีดีจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไปประมาณ 1.4 - 5 เท่า รวมถึงในชีวิตมักมีโอกาสที่จะต้องผ่าตัดเพื่อรักษาผลข้างเคียงที่เกิดจากตัวโรคเองเช่น ลำไส้อุดตันหรืออักเสบเป็นหนองอย่างน้อยประมาณ 1 - 2 ครั้ง
นอกจากนี้จากที่มีการอักเสบที่เรื้อรังของลำไส้ จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งของลำไส้เล็กหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ (เนื่องจากโรคไอบีดีเป็นโรคพบได้ไม่บ่อยจึงยังไม่มีรายงานสถิติการเกิดโรคมะเร็งที่ชัดเจน) ได้สูงกว่าคนทั่วไปเมื่อเป็นโรคได้นานประมาณ 8 - 10 ปีขึ้นไป ดังนั้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ได้นานเกิน 5 ปี แพทย์ผู้รักษาอาจแนะนำการส่องกล้องตรวจลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ทุก 1 - 3 ปี
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไอบีดีได้แก่
- ปฏืบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
- กินยาต่างๆตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- สังเกตุทุกอย่างในการดำเนินชีวิตว่า อะไรมีผลกระตุ้นให้เกิดอาการหรือทำให้อาการรุน แรงเพื่อการหลีกเลี่ยงเช่น ประเภทอาหาร ปริมาณอาหาร อุณหภูมิ สิ่งแวดล้อม
- หลีกเลี่ยงอาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์ของนม อาหารรสจัด เครื่องดื่มกาเฟอีน แอลกอฮอล์
- กินอาหารไขมันต่ำ อาหารใยอาหารต่ำ
- กินอาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) อาหารย่อยง่าย รสจืด กินครั้งละน้อยๆ แต่กินให้บ่อยขึ้น
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้เพียงพอกับน้ำที่เสียไปจากท้องเสียเช่น อย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม
- ไม่สูบบุหรี่ เลิกสูบถ้าสูบบุหรี่
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ เพื่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิต
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน
- รักษาสุขภาพจิต
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
เมื่อเป็นโรคไอบีดีควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง
- มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
- อาการที่เคยควบคุมได้ แต่กลับมามีอาการกำเริบอีก
- มีผลข้างเคียงจากยามากหรือมีการแพ้ยาจากยาที่ใช้อยู่
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคไอบีดีอย่างไร?
การป้องกันโรคไอบีดีเป็นไปได้ยากเพราะยังไม่ทราบสาเหตุ แต่สามารถควบคุมรักษาโรคได้ดีขึ้น ลดความรุนแรงของอาการ และลดโอกาสเกิดอาการกำเริบคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับการดูแลตนเองอื่นๆซึ่งที่สำคัญได้แก่
- สังเกตุทุกอย่างในการดำเนินชีวิตว่า อะไรมีผลกระตุ้นให้เกิดอาการหรือให้อาการรุนแรง เพื่อการหลีกเลี่ยงเช่น ประเภทอาหาร ปริมาณอาหาร อุณหภูมิ สิ่งแวดล้อม
- หลีกเลี่ยงอาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์ของนม อาหารรสจัด เครื่องดื่มกาเฟอีน แอลกอฮอล์
- กินอาหารไขมันต่ำ อาหารใยอาหารต่ำ
- สังเกตอาการกับการกินผักผลไม้ แล้วปรับตัวตามนั้น ซึ่งผลไม้ควรเป็นชนิดย่อยง่ายเช่น ผลไม้สุก
- กินอาหารอ่อน อาหารย่อยง่าย รสจืด กินครั้งละน้อยๆ แต่กินให้บ่อยขึ้น
- ไม่ซื้อยากินเองพร่ำเพรื่อ
- ไม่สูบบุหรี่ เลิกสูบถ้าสูบบุหรี่
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ เพื่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิต
- พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน
- รักษาสุขภาพจิต
บรรณานุกรม
1. Abraham, C., and Cho, J. (2009). N Engl J Med. 361, 2066-2078
2. Cosnes, J. et al. (2011). Gastroenterology.140,1785-1794
3. Rowe, W. (2014). http://emedicine.medscape.com/article/179037-overview#showall [2015,Jan3]
4. http://www.cdc.gov/ibd/what-is-ibd.htm [2015,Jan3]