ลามิวูดีน (Lamivudine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลามิวูดีน (Lamivudine) เป็นยาต้านไวรัสที่ได้จากการสังเคราะห์ เมื่อยานี้เข้าสู่ร่างกาย ยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการเชื่อมต่อดีเอ็นเอ (DNA) ของเชื้อไวรัส โดยส่งผลต่อเอนไซม์ รีเวิร์สทรานสคริปเตส (Reverse transcriptase enzyme) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสาร พันธุกรรมของไวรัสจากอาร์เอ็นเอ (RNA) ไปเป็นดีเอ็นเอ (DNA) เพื่ออาศัยในโครโมโซมของเจ้าบ้าน (โฮสต์/Host หมายถึง มนุษย์) ที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอได้ ส่งผลทำให้กระบวน การสังเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA) ของไวรัสหยุดชะงัก ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้

ยาลามิวูดีน มีข้อบ่งใช้สำหรับต้านไวรัส โดยสามารถใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของรีโทรไว รัส (Antiretroviral agent) เช่น เอชไอวี (HIV, Human immunodeficiency virus) นอกจาก นี้ ยาลามิวูดีนยังมีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ได้ด้วยเช่นกัน

ยาลามิวูดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ลามิวูดีน

ยาลามิวูดีนมีข้อบ่งใช้/สรรพคุณดังต่อไปนี้

  • รักษาการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โดยใช้ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่นอีก 2 ชนิด เช่น สตาวูดีน (Stavudine) หรือ ซิโดวูดีน (Zidovudine) และเนวิราปีน (Nevirapine)
  • รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรังที่มีการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยใช้ลามิวูดีนเป็นยาเดี่ยว
  • ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากการสัมผัส โดยใช้ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่นอีก 1 - 2 ชนิด เช่น โลปินาเวียร์/ลิโทนาเวียร์ (Lopinavir/Ritonavir) หรือ ซิโดวูดีน (Zidovudine)

ยาลามิวูดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาลามิวูดีนจัดเป็นยาต้านไวรัส (Antiviral agent) กลุ่ม Nucleoside Analog Reverse Transcriptase Inhibitors (NRTIs) กล่าวคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทํางานของเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส (Reverse Transcriptase enzyme) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีหน้าที่ช่วยสร้าง ดีเอ็นเอ (DNA) จากอาร์เอ็นเอ (RNA) ของไวรัสเพื่อให้ไวรัสมี ดีเอ็นเอ (DNA) ที่เพิ่มจำนวนในเซลล์เจ้าบ้านที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอ (DNA) ได้ ดังนั้นเมื่อได้ยาลามิวูดีนเข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะถูกเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายทำให้มีฤทธิ์ต้านไวรัส โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์รีเวิร์ส ทรานสคริปเตส จึงส่งผลทำให้การเชื่อมต่อระหว่างดีเอ็นเอของไวรัสหยุดชะงัก เชื้อไวรัสจึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้

ยาลามิวูดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาลามิวูดีนในประเทศไทย มีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์หลายลักษณะ เช่น

  • ยาเม็ดขนาด 100, 150 และ 300 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำเชื่อมขนาด 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร

นอกจากนี้ ยังมียาสูตรผสมระหว่างยาลามิวูดีนกับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่นๆจำหน่ายเช่น กัน เช่น

  • ยาเม็ด GPO-vir Z-250 เป็นยาต้านเอชไอวีสูตรผสม ที่ใน 1 เม็ด ประกอบด้วย ซิโดวูดีน 250 มิลลิกรัม, ลามิวูดีน 150 มิลลิกรัม และเนวิลาปีน 200 มิลลิกรัม
  • หรือ ยาเม็ด GPO-vir S-30 เป็นยาต้านเอชไอวีสูตรผสม ใน 1 เม็ด ประกอบด้วย สตาวูดีน 30 มิลลิกรัม, ลามิวูดีน 150 มิลลิกรัม และเนวิราปีน 200 มิลลิกรัม

ยาลามิวูดีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาลามิวูดีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น

ก. ขนาดยาสำหรับการรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B): เช่น

  • เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี: ยาลามิวูดีนไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในการรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • เด็กอายุ 2 - 17 ปี: เช่น 3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง (ขนาดยาสูงสุดต่อ วัน: 100 มิลลิกรัม) โดยรับประทานพร้อมอาหารหรือขณะท้องว่างก็ได้
  • ผู้ใหญ่: เช่น 100 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยรับประทานพร้อมอาหารหรือขณะท้องว่างก็ได้
  • ระยะเวลาในการรักษาด้วยยาลามิวูดีน: กรณีตรวจเลือดพบสาร Hapatitis Be antigen (HBeAg) เป็นบวก รักษาด้วยยานี้มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ปี จากนั้นอาจพิจารณาหยุดยาลามิวูดีน ในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติที่เกิด HBeAg seroconversion แล้ว (หมายถึง ในผู้ป่วยรายที่ตรวจพบ HBeAg จะมีเป้าหมายในการรักษาคือ ใช้ยาจนกระทั่งตรวจไม่พบ HBeAg ในเลือด ร่วมกับมีภูมิคุ้มกันฯต่อ HBeAg/anti-HBe เกิดขึ้นแล้ว) และตรวจไม่พบปริมาณไวรัสตับอักเสบ บี ในเลือดของผู้ป่วย
  • ขนาดยาในผู้ป่วยที่ไตบกพร่องร่วมด้วย: ปรับขนาดยาลดลงในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตน้อยกว่า 50 มิลลิลิตร/นาที
  • ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่อง

ข. ขนาดยาสำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี: เช่น

  • เด็กแรกเกิดอายุน้อยกว่า 30 วัน: เช่น 2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง (ห่างกัน 12 ชั่วโมง)
  • เด็กทารกอายุ 1 - 3 เดือน: เช่น 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง (ห่างกัน 12 ชั่วโมง)
  • เด็กแรกเกิดอายุมากกว่า 3 เดือน - 16 ปี: เช่น 2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง (ห่างกัน 12 ชั่วโมง) ขนาดยาสูงสุดต่อวัน 150 มิลลิกรัมต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง
  • ผู้ใหญ่: เช่น 150 มิลลิกรัมต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง (ห่างกัน 12 ชั่วโมง)
  • ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่อง: ปรับลดขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตน้อยกว่า 50 มิลลิลิตร/นาที หากผู้ป่วยมีการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกไตผ่านทางหน้าท้องหรือฟอกไตผ่านทางเลือดที่มีช่วงเวลามากกว่า 4 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องให้ยาลามิวูดีนเพิ่มเติมภายหลังการฟอกไต
  • ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่อง

ค. ขนาดยาสำหรับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากการสัมผัส: เช่น

  • ทารกอายุน้อยกว่า 1 เดือน: เช่น 2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง (ห่างกัน 12 ชั่วโมง)
  • ผู้ป่วยน้ำหนักน้อยกว่า 37.5 กิโลกรัม: เช่น 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง (ห่างกัน 12 ชั่วโมง)
  • ผู้ป่วยน้ำหนักมากกว่าหรือเท่ากับ 37.5 กิโลกรัม และผู้ใหญ่: เช่น 150 มิลลิกรัมต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง (ห่างกัน 12 ชั่วโมง) โดยใช้ยาลามิวูดีนร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่นอีก 1 - 2 ชนิด เช่น โลปินาเวียร์/ลิโทนาเวียร์ (Lopinavir/Ritonavir) หรือ ซิโดวูดีน (Zidovudine)

ง. ขนาดยาสำหรับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก: เช่น

  • ขนาดยาสำหรับแม่: เช่น 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง (ห่างกัน 12 ชั่วโมง) เริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาคลอด ต่อเนื่องอีก 1 สัปดาห์หลังคลอด
  • ขนาดยาสำหรับลูก: เช่น 2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง (ห่างกัน 12 ชั่วโมง) เริ่มตั้งแต่แรกเกิด ต่อเนื่องอีก 1 สัปดาห์

*****หมายเหตุ:

  • ระยะเวลาในการใช้ยานี้ ในทุกรณี ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ผู้ให้การรักษา
  • ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาลามิวูดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น ขึ้นผื่น หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลามิวูดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก แล้วเข้าสู่ตัวทารก จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
  • แจ้งบุคลากรทางการแพทย์ หากช่วงที่ผ่านมาลืมกินยา/ไม่ได้รับยา หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถรับประทานยาทุก 12 ชั่วโมงได้ เช่น กรณีช่วงถือศีลอด หรือเป็นช่วงที่ต้องหยุดยา/งดอาหารและยาเพื่อทำหัตถการ เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากยาลามิวูดีนเป็น ยาจำเป็นที่ต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลาอย่างเคร่งครัด

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาลามิวูดีนควรปฏิบัติ เช่น

ก. สำหรับในกรณี เอชไอวี: ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาให้ตรงเวลาห่างกันทุก 12 ชั่วโมงอย่างเคร่งครัด อาหารมีผลทำให้การดูดซึมยาลามิวูดีนเข้าสู่กระแสโลหิตช้าลง แต่ไม่มีผลต่อปริมาณที่ถูกดูดซึมเพื่อการเอื้อประโยชน์ในร่างกายโดยรวม ดังนั้นจึงสามารถรับประทานยาลามิวูดีนได้ทั้งขณะท้องว่างหรือหลังอาหาร ดังนั้นการเลือกช่วงเวลาในการรับประทานยาจึงไม่ต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร

กรณีลืมรับประทานยาลามิวูดีน ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ (หากห่างไม่เกิน 6 ชั่ว โมงจากเวลารับประทานปกติ) แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่า 6 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้รับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ ข้ามมื้อยาที่ลืมรับประทานไป จากนั้นรับประทานยาในขนาดปกติต่อไป (ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า หรือนำยามื้อที่ลืมไปมารับประทานด้วย) และรับประทานยาในมื้อถัดๆไปในขนาดยาปกติเช่น เดิม ยกตัวอย่างเช่น ปกติรับประทานยาเวลา 8.00 น. และ 20.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. โดยนึกขึ้นได้ตอนเวลา 12.00 น. (เกินกว่าเวลาปกติที่รับประทานยา 4 ชั่วโมง) ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันที ณ เวลาที่นึกขึ้นได้ จากนั้นเมื่อถึงเวลา 20.00 น. ให้รับประทานยามื้อ 20.0 น.ในขนาดปกติ แต่ถ้าหากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ในช่วงเวลาที่นานเกินกว่า 6 ชั่วโมงแล้ว ให้รอรับประทานยามื้อต่อไป โดยข้ามยามื้อที่ลืมไป และรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดปกติ (ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า หรือนำยามื้อที่ลืมมารับประทานด้วย) ยกตัวอย่างเช่น หากนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 16.00 น. (เกิน 6 ชั่วโมง) ให้ผู้ป่วยข้ามยามื้อ 8.00 น. ไปเลย และให้รับประทานยามื้อ 20.00 น.ในขนาดยาปกติ ไม่ต้องนำยาที่ลืมในมื้อ 8.00 น.มารับประทาน หรือเพิ่มขนาดยยาเป็น 2 เท่าโดยเด็ดขาด

ข. สำหรับการรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี: จะรับประทานยาลามิวูดีนเพียงวันละ 1 ครั้ง ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาให้ตรงเวลา กรณีลืมรับประทานยาลามิวูดีนให้รับประ ทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (วันถัดไป) ให้รับประทานยามื้อถัดไปเลย ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า เช่น ปกติรับประทานยาเวลา 8.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. นึกได้ตอนเวลา 21.00 น. ก็ให้รับประ ทานยามื้อ 8.00 น. ทันที หากนึกขึ้นได้ในช่วงเวลาที่ใกล้กับวันถัดไปเวลา 8.00 น. ให้รับประ ทานยามื้อ 8.00 น. ของวันถัดไปในขนาดยาปกติ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

***** หมายเหตุ:

การกินยานี้ไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ระดับยาในเลือดอยู่ในระดับสูงบ้างต่ำบ้าง ซึ่งช่วงที่ระดับ ยามีขนาดต่ำก็จะเป็นเหมือนการกระตุ้นให้เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์เป็นสาเหตุของการดื้อยาในเวลาต่อมาได้

ยาลามิวูดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ของยาลามิวูดีนที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ประสาทส่วนปลายอักเสบ
  • ชา
  • อ่อนแรง
  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • ภาวะตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) โดยระดับเอนไซม์อะไมเลสเพิ่มสูงขึ้น (Amylase: เอนไซม์สร้างจากเซลล์ของตับอ่อนและต่อมน้ำลาย ในภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เอนไซม์อะไมเลสจะสูงขึ้นภายใน 6 ถึง 12 ชั่วโมง และอยู่ในเลือดได้ประมาณ 3 - 5 วัน) และยังพบว่าระดับเอนไซม์ไลเปสเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน (Lipase: เอนไซม์ไลเปสสร้างโดยตับอ่อน โดยพบว่าจะเริ่มมีระดับสูงขึ้นในเลือดตั้งแต่วันแรกของการมีตับอ่อนอักเสบ ภาวะนี้มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยเด็ก)
  • ภาวะตับโตอย่างรุนแรง ร่วมกับมีไขมันสะสมในตับ/ไขมันพอกตับ (Hepatomegaly with steatosis) หรือ ตรวจเลือดพบค่าเอน ไซม์ตับเพิ่มสูงขึ้น (เช่น ค่า AST Aaspartate aminotransferase, ALT/ Alanine aminotrans ferase เพิ่มสูงขึ้น)
  • ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Neutropenia) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เช่น เจ็บคอ ไอ มีไข้ หรือหนาวสั่น

อาการไม่พึงประสงค์ฯอื่นๆที่อาจพบได้บ่อยเช่นกัน เช่น

  • คลื่นไส้- อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดท้อง
  • ขึ้นผื่น
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดข้อ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว
  • อาจพบการเพิ่มขึ้นของระดับเอนไซม์ CPK (CPK: Creatinine phosphokinase เป็นเอนไซที่พบใน กล้ามเนื้อ หัวใจ สมอง และกระดูก หากค่า CPK ในเลือดสูง หมายถึง เกิดความผิดปกติของอวัยวะต่างๆดังกล่าว เช่น กรณีกล้ามเนื้อฉีก CPK ที่มีอยู่ในกล้ามเนื้อจะออกสู่กระแสเลือดทำให้ทราบว่าเกิดกล้ามเนื้อฉีกหรืออักเสบ)
  • แต่พบภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis, การบาดเจ็บอักเสบรุนแรงของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดการปวดกล้ามเนื้อรุนแรงร่วมกับการอ่อนแรง)ได้น้อยมาก

อนึ่ง: ค่าการตรวจเลือดที่ควรติดตามขณะใช้ยาลามิวูดีน เช่น

  • อะไมเลส/Amylase: เอนไซม์ที่บ่งชี้ภาวะตับอ่อนอักเสบ
  • ไลเปส/Lipase: เอนไซม์ที่บ่งชี้ภาวะตับอ่อนอักเสบ
  • ค่าเอนไซม์การทำงานของตับ/Liver function enzyme เช่น AST, ALT, Bilirubin

ซึ่งควรติดตามทุกๆ 3 เดือน

  • ติดตามค่า HBV DNA (Hepatitis B Virus DNA: ปริมาณเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีในเลือด) ทุก 3 - 6 เดือนระหว่างการรักษาด้วยยาลามิวูดีน

นอกจากนี้ควรติดตามค่า HBV marker ได้แก่ HBeAg (Hepatitis B e antigen: การตรวจ พบ HBeAg ในเลือดมักหมายถึง ไวรัสมีการแบ่งตัวในตับ ดังนั้นผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันนั้น จะตรวจพบ HBeAg อยู่หลายสัปดาห์ก่อนที่จะหายไป) และ Anti-HBe (Anti-Hepatitis B e antibo dy: เมื่อ HBeAg หายไป จะตรวจพบ Anti-Hbe ขึ้นมาแทน ส่วนในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังนั้น จะตรวจพบ HBeAg ได้เป็นเดือนและอาจนานเป็นหลายๆปีได้ ซึ่งบอกถึงว่าไวรัสกำลังมีการแบ่งตัวในเซลล์ตับ และเมื่อ HBeAg หายไปและตรวจพบ Anti-HBe ขึ้นมาแทน ในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อ รัง มักบ่งบอกถึงพยาธิสภาพในตับที่ดีขึ้น) หลังเริ่มการรักษาด้วยยาลามิวูดีนแล้วประมาณ 1 ปี และติดตามอีกครั้งทุก 3 - 6 เดือนหลังจากนั้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาลามิวูดีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลามิวูดีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ระวังการใช้ยาลามิวูดีนในผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง โดยลดขนาดยาลามิวูดีนลง กรณีผู้ป่วยมีค่าการทำงานของไตน้อยกว่า 50 มิลลิลิตรต่อนาที เนื่องจากยาถูกขจัดออก ทางไตลดลง
  • ระมัดระวังการใช้ยาเป็นพิเศษในผู้ป่วยเด็กที่มีประวัติตับอ่อนอักเสบ หรือมีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นตับอ่อนอักเสบ ซึ่งภาวะตับอ่อนอักเสบมักรายงานการเกิดในผู้ป่วยเด็กที่มีประวัติการใช้ยาต้านรีโทรไวรัสในกลุ่มนิวคลีโอไซด์/Nucleoside Antiretroviral agents เช่น ลามิวูดีน/Lami vudine: ยาต้านไวรัส, สตาวูดีน/Stavudine: ยาต้านไวรัส, ซิโดวูดีน/Zidovudine:ยาต้านไวรัส มาก่อน
  • ระมัดระวังแต่ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง เนื่องจากภาวะตับบกพร่องไม่มีผลที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงยาลามิวูดีน
  • ระวังการใช้ยาลามิวูดีนใน หญิงตั้งครรภ์, ผู้ป่วยโรคอ้วน เนื่องจากมีรายงานการเกิด ภาวะแลคติกแอซิโดซิส (Lactic acidosis: ภาวะเลือดเป็นกรดแลคติก ทำให้เซลล์ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ อาการเช่น ความดันโลหิตต่ำ คลื่นไส้ อาเจียนมาก หัวใจเต้นผิดปกติ) และภาวะตับโตรุนแรงร่วมกับไขมันสะสมในตับ (Severe Hepatomegaly with steatosis/ไขมันพอกตับ) โดยควรหยุดยาลามิวูดีนหากมีอาการหรือผลทางห้องปฏิบัติการพบว่า มีภาวะตับอ่อนอักเสบ หรือเกิดภาวะแลคติกแอซิโดซิส (Lactic acidosis)
  • ไม่ควรใช้ยาลามิวูดีนเป็นยาเดี่ยวสำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่ทำให้เชื้อไวรัสเอชไอวีเกิดการดื้อยา แนะนำให้ใช้ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสตัวอื่น
  • กรณีใช้ยาลามิวูดีนร่วมกับยาต้านไวรัสตับอักเสบบีชนิดอื่นๆ เช่น ยาอินเตอร์ฟีลอน อัล ฟา (Interferon alfa) อาจมีความจำเป็นต้องลดขนาดยาหรือหยุดใช้ยาอินเตอร์ฟีลอน อัลฟา
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลามิวูดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาลามิวูดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลามิวูดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

1. ยาซัลฟาเมทอกซาโซล/ไตรเมทโทรพิม (Sulfamethoxazole/Trimethoprim: ยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง) ทำให้ระดับยาลามิวูดีนเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 44% และลดการขจัดยาลามิวูดีน ทางไตได้ประมาณ 30% แต่อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาลามิวูดีนเมื่อใช้ร่วมกัน เว้นแต่ผู้ป่วยมีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง

2. ยาลามิวูดีนทำให้ระดับยาซิโดวูดีน (Zidovudine: ยาต้านรีโทรไวรัส) เพิ่มสูงขึ้นประ มาณ 33% แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีความจำเป็นต้องปรับขนาดยา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญ

3. ไม่แนะนำให้ใช้ยาลามิวูดีนร่วมกับยาซาลไซตราบีน (Zalcitabine: ยาต้านรีโทรไวรัส) เนื่องจากยาทั้งสองจะยับยั้งกระบวนการออกฤทธิ์ของยาซึ่งกัน

ควรเก็บรักษายาลามิวูดีนอย่างไร?

ควรเก็บยาลามิวูดีน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
  • ไม่เก็บยาในที่ร้อน
  • ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
  • เก็บยาให้พ้นแสงส่ว่าง แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และไม่เก็บยาในรถยนต์หรือในห้องน้ำ

ยาลามิวูดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลามิวูดีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Lamivir syrup 10 mg/mL (ลามิเวียร์ ซัยรัป) องค์การเภสัชกรรม (GPO)
Lamivir tablet 150 และ 300 mg (ลามิเวียร์) องค์การเภสัชกรรม (GPO)
Epivir FC 150 mg (อิพิเวียร์) GlaxoSmithKline
Zeffix 100 mg (เซ็ฟฟิกส์) GlaxoSmithKline

บรรณานุกรม

1. นรินทร์ อจละนันท์. Approach to patient with acute pancreatitis. http://med.mahidol.ac.th/med/sites/default/files/public/pdf/medicinebook1/Approach%20to%20patient%20with%20acute%20pancreatitis.pdf [2020,March14]

2. Guidelines for the Prevention and Treatment of Opportunistic Infections Among HIV-Exposed and HIV-Infected Children. Available from http://aidsinfo.nih.gov/guidelines [2020,March14]

3. Hepatitis B virus-HBV http://www.cai.md.chula.ac.th/lesson/lesson4708/html/ virus_b.html [2020,March14]

4. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2011-12.

5. Peter L. Havens and Committee on Pediatric AIDS. Postexposure Prophylaxis in Children and Adolescents for Nonoccupational Exposure to Human Immunodeficiency Virus Pediatrics 2003;111;1475

6. Product Information: Lamivir, Lamivudine, GPO, Thailand.

7. Product Information: Zeffix, Lamivudine, GlaxoSmithKline, Thailand.

8. Product Information: Epivir, Lamivudine, GlaxoSmithKline, Thailand.

9. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013