ลมเป็นพิษ (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ลมเป็นพิษ

อาการลมพิษเรื้อรังที่สำคัญ ได้แก่

  • มีตุ่มนูน (Welt / wheal) สีแดงหรือสีขาว ที่บริเวณใบหน้า ลำตัว แขน หรือขา
  • ตุ่มนูนจะมีขนาดและลักษณะที่แตกต่างกันไป เป็นๆ หายๆ
  • คัน
  • มีอาการบวมที่เป็นสาเหตุทำให้ปวดหรือแสบร้อน (Angioedema) โดยเฉพาะในคอ รอบตา แก้ม ริมฝีปาก มือ เท้า และอวัยวะสืบพันธุ์ (Genitals)

สาเหตุของการเกิดลมพิษยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ตุ่มนูนที่เป็นลมพิษจะเกิดเมื่อเซลล์ปล่อยสารต้านฮีสตามีน (Histamine) หรือสารเคมีอื่นเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งผิวหนังมักจะมีปฏิกริยาเมื่อถูกกระตุ้นด้วย

  • ยาบางชนิด เช่น ยา NSAIDs (Non-steroidal anti -inflammatory drug) ยาแก้ปวด
  • แมลงหรือปาราสิต
  • การติดเชื้อ
  • การเกา (Scratching)
  • ความร้อนหรือความเย็น
  • ความเครียด
  • แสงแดด
  • การออกกำลังกาย
  • แอลกอฮอล์ หรือ คาเฟอีน
  • อาหาร หรือ วัตถุเจือปนในอาหาร (Food additives) เช่น ถั่ว ช็อคโกแลต มะเขือเทศ ปลา ไข่ นม เป็นต้น
  • แรงกดทับบนผิวหนัง เช่น การรัดเข็มขัดที่ตึง เป็นต้น

โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสียงในการเป็นลมพิษเรื้อรัง ได้แก่ การมีเพศหญิงซึ่งมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชาย 2 เท่า และการอยู่ในช่วงวัยรุ่น (Young adult)

ส่วนอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากการเป็นลมพิษเรื้อรัง ได้แก่

  • หายใจลำบาก เมื่อมีอาการบวมในปากหรือคอ
  • มีปฏิกิริยาภูมิแพ้อย่างรุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ที่เกี่ยวเนื่องกับหัวใจหรือปอด หลอดลมตีบตัน หายใจลำบาก ความดันโลหิตตก อาจรู้สึกเวียนศีรษะ หรือแม้แต่เสียชีวิต

คนที่เป็นลมพิษเรื้อรังจะยิ่งมีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของระบบภูมิต้านทานอย่างโรคไทรอยด์ (Thyroid disease) โรคลูปัส (Lupus) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) กลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren's syndrome ที่มีอาการตาแห้งและปากแห้งเป็นหลัก) โรคแพ้กลูเตน (Celiac disease) และโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes)

การรักษาอาการลมพิษที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการ การกินยาต้านฮีสตามีน การกินยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) และหากเป็นกรณีรุนแรงอาจใช้การฉีดยา Epinephrine (Adrenaline)

สำหรับคำแนะนำในการป้องกันหรือการบรรเทาปฏิกริยาของผิวหนังจากการเป็นลมพิษเรื้อรัง ได้แก่

  • สวมเสื้อผ้าที่เบา หลวมสบาย
  • หลีกเลี่ยงการเกาหรือการใช้สบู่ที่กระด้าง
  • ดูแลบริเวณที่เป็นให้เย็นด้วยการใช้ผ้าเย็นหรือโลชั่น
  • จดบันทึกวันเวลาที่เป็น ทำอะไร กินอะไร เพื่อสังเกตุว่าอะไรเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดลมพิษ
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดลมพิษ เช่น อาหารหรือวัตถุเจือปนในอาหาร แอลกอฮอล์ ยาแก้ปวด ความร้อน ความเย็น และความเครียด

แหล่งข้อมูล

  1. Chronic hives (urticaria). http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/chronic-hives/basics/definition/con-20031634 [2015, October 2].
  2. Allergies and Hives. http://www.webmd.com/allergies/guide/hives-urticaria-angioedema [2015, October 2].