ลมหายขณะหลับ (ตอนที่ 5)

ลมหายขณะหลับ-5

ส่วนการตรวจสุขภาพการนอนหลับที่บ้าน (Home sleep tests) ซึ่งเป็นการทดสอบแบบง่ายๆ ที่สามารถทำที่บ้าน มักจะรวมถึงการวัดอัตราของหัวใจ ระดับออกซิเจนในเลือด รูปแบบการหายใจ อย่างไรก็ดี เนื่องจากเครื่องมือนี้เป็นการตรวจแบบคร่าวๆ ดังนั้นแพทย์จึงมักแนะนำให้ทำการตรวจที่ศูนย์การนอนหลับด้วย

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับถือเป็นความผิดปกติที่จำเป็นต้องรักษา ในกรณีที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับระดับอ่อน แพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต (Lifestyle) เช่น การลดน้ำหนัก หรือเลิกสูบบุหรี่ หรือกรณีที่เป็นภูมิแพ้ที่จมูก (Nasal allergies) แพทย์อาจให้รักษาอาการภูมิแพ้ก่อน

โดยการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับนั้น สามารถทำได้ด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจหรือการผ่าตัด

ในส่วนของการรักษาด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจ เช่น

  • เครื่องเป่าความดันลมเพื่อเปิดขยายทางเดินหายใจ (Continuous positive airway pressure = CPAP) – กรณีที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับระดับปานกลางถึงรุนแรง CPAP จะมีหลักการในการรักษาคือ การเป่าความดันลมผ่านทางจมูกหรือปาก ผ่านบริเวณลำคอ และโคนลิ้น ซึ่งเป็นส่วนทางเดินหายใจส่วนต้น เพื่อเปิดช่องขยายตัวตลอดเวลาโดยไม่ให้มีการอุดกั้นขณะที่นอนหลับ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ใช้เครื่องสามารถหายใจรับอากาศอย่างพอเพียงและนอนหลับราบรื่นตลอดทั้งคืน โดยลมที่เป่าด้วยความดันนี้มักเป็นเพียงอากาศปกติ ไม่ใช่การให้ออกซิเจนตามโรงพยาบาล อย่างไรก็ดี การใช้เครื่องนี้อาจมีปัญหาเรื่องความพอดีของหน้ากากที่ต้องมีการปรับในการใช้ให้เหมาะสม
  • เครื่องมือทันตกรรมนอนกรนหรือเครื่องครอบฟัน (Oral appliance) โดยมีหลักการคือ การยึดลิ้นหรือขากรรไกรมาทางด้านหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหรือเนื้อเยื่อในลำคอหย่อนลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น สามารถใช้ได้ดีในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีความผิดปกติทางร่ายกายหรือบริเวณทางเดินหายใจส่วนอื่น ๆ ข้อดีที่เหนือกว่าการใช้เครื่องช่วยหายใจแบบ CPAP ก็คือสะดวกสบายในการใช้และง่ายในการพกพาขณะเดินทาง

ส่วนการผ่าตัดมักเป็นทางเลือกที่การรักษาอื่นไม่ได้ผล โดยทั่วไปจะมีการทดลองรักษาด้วยวิธีอื่นอย่างน้อย 3 เดือนก่อน อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีปัญหาเกิดจากเรื่องโครงสร้างของขากรรไกร การผ่าตัดจะเป็นทางเลือกที่ดีก่อนวิธีอื่น

ทั้งนี้ การผ่าตัดมีเป้าหมายเพื่อขยายทางเดินหายใจในจมูกหรือคอที่เป็นสาเหตุทำให้กรนหรือมีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โดยการผ่าตัดมีหลายวิธี ได้แก่

  • การตัดเนื้อเยื่อออก (Tissue removal) - เป็นการผ่าตัดที่เรียกว่า การผ่าตัดตกแต่งลิ้นไก่และเพดานอ่อน (Uvulopalatopharyngoplasty) โดยแพทย์มักจะตัดเอาต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ออกไปด้วย การผ่าตัดวิธีนี้อาจช่วยให้หยุดการกรนได้ แต่ได้ผลน้อยกว่าการใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP ทั้งยังมีความไม่แน่นอนว่าจะรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้หรือไม่

แหล่งข้อมูล:

  1. Sleep apnea. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sleep-apnea/basics/definition/con-20020286 [2017, September 27].
  2. Sleep Apnea. http://www.medicinenet.com/sleep_apnea/article.htm [2017, September 27].