รีซอร์ซินอล (Resorcinol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 มิถุนายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- รีซอร์ซินอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- รีซอร์ซินอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- รีซอร์ซินอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- รีซอร์ซินอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- รีซอร์ซินอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้รีซอร์ซินอลอย่างไร?
- รีซอร์ซินอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษารีซอร์ซินอลอย่างไร?
- รีซอร์ซินอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาใช้ภายนอก (External Use drug)
- ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- ตาปลา (Corns)
- หูด (Warts)
- สิว (Acne)
บทนำ: คือยาอะไร?
รีซอร์ซินอล (Resorcinol) คือ สารที่มีลักษณะเป็นผลึกรูปเข็มไม่มีสี สามารถละลายน้ำและแอลกอฮอล์ได้ดี ทางคลินิกได้นำ รีซอร์ซินอล มาใช้เป็นยาต่อต้านและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ โดยมีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาใช้ภายนอก เช่น ยาขี้ผึ้ง โลชั่น หรือสารละลาย ตัวยายังจะทำให้ผิวหนังที่หยาบด้านหลุดลอกได้อีกด้วย
หรืออาจกล่าวในเชิงสรรพคุณว่า ยารีซอร์ซินอล ช่วยบำบัดอาการปวดและอาการคันจากแผลเล็กน้อยที่เกิดจากของแหลมหรือของมีคม แผลไหม้ แผลแมลงกัด ต่อย แพ้พิษจากพืช ผิวหนังที่ถูกแดดเผามากเกินไป รวมถึงอาการระคายเคืองของผิวหนังจากสาเหตุอื่นๆอีก
ปัจจุบันมีการพัฒนาประโยชน์ทางคลินิกของยารีซอร์ซินอลมากขึ้น โดยนำมาใช้เป็นยารักษาสิว โรคเรื้อนกวาง/โรคสะเก็ดเงิน ผื่นผิวหนังอักเสบ หูด ตาปลา และการอักเสบของของต่อมไขมันที่ผิวหนัง เป็นต้น
ถึงแม้ยารีซอร์ซินอลจะเป็นยาใช้ภายนอก ผู้บริโภคก็ต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดพิษและอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆหลังการใช้ยานี้
นอกจากนี้อาจกล่าวถึงข้อพึงปฏิบัติอย่างกลางๆในการใช้ยาที่มีส่วนผสมของยารีซอร์ซินอลได้ดังนี้ เช่น
- ห้ามรับประทาน ใช้ทาเฉพาะผิวหนังภายนอกเท่านั้น
- ห้ามใช้กับแผลที่มีลักษณะเป็นแผลเปิด แผลที่มีอาการระคายเคืองอย่างมาก แผลไหม้ที่เป็น บริเวณกว้าง
- ขนาดการใช้ยานี้ควรต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ และทายาในบริเวณที่เป็นแผลเท่า นั้น ไม่ควรทายานี้ในบริเวณกว้างกินพื้นที่ของผิวหนังปกติ ด้วยร่างกายอาจจะดูดซึมยานี้เข้าสู่กระแสเลือดจนก่อให้เกิดอาการระคายเคืองของอวัยวะต่างๆติดตามมา
- ล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังใช้ยานี้นอกจากผู้บริโภคจำเป็นต้องทายาในบริเวณมือของตนเอง
- หากใช้ยานี้ไปแล้วอาการของผิวหนังไม่ดีขึ้นตามระยะเวลาที่เหมาะสม ควรกลับมาปรึกษาแพทย์ /มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับวิธีการรักษา
- ระวังมิให้ยานี้เข้าตาด้วยจะก่อให้อาการระคายเคือง หากตัวยากระเด็นเข้าตาให้ล้างออกด้วยน้ำเปล่าสะอาดจนหมด
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาชนิดอื่นๆทาทับหรือทาปนกับยารีซอร์ซินอลนอกจากจะมีคำสั่งจากแพทย์
- กรณีพบอาการแพ้ยานี้ จะมีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง ใบหน้า ลำคอ และลิ้นมีอาการบวม อึดอัด/หาย ใจลำบาก/หายใจไม่ออก ควรต้องส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน
- ผิวหนังของเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)โดยเฉพาะเด็กเล็กจะบอบบางกว่าผู้ใหญ่มากทำให้สามารถดูดซึมตัวยานี้เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าผิวหนังของผู้ใหญ่ การใช้ยานี้ในเด็กจึงต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
อนึ่งสามารถพบเห็นการใช้ยารีซอร์ซินอลได้ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนอีกทั้งมีจำ หน่ายตามร้านขายยาตั้งแต่ขนาดกลางขึ้นไป
รีซอร์ซินอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
รีซอร์ซินอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการบาดแผลเล็กน้อยที่เกิดจากของมีคม แผลไหม้ ผื่นคันจากพืชหรือจากแมลงกัดต่อย
- เป็นยาร่วมรักษาโรค สะเก็ดเงิน หูด ตาปลา และการอักเสบของผิวมัน
รีซอร์ซินอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยารีซอร์ซินอลจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและของโรคเชื้อรา นอกจากนี้ยังสามารถทำให้ผิวหนังหลุดลอกโดยเฉพาะผิวหนังชั้นนอกสุดที่เรียกว่า Stratum corneum ซึ่งส่งผลให้เชื้อโรคบางประเภท เช่น เชื้อราไม่สามารถเจริญเติบโตได้ จากกลไกเหล่านี้จึงทำให้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
รีซอร์ซินอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยารีซอร์ซินอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาขี้ผึ้ง ขนาดความเข้มข้น 2%
- ยาโลชั่นที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Salicylic acid8% + Resorcinol 3.8% + Phenol 0.825%
- ยาสารละลายที่มีส่วนประกอบของยาอื่น เช่น Boric acid8% + Phenol 4% + resorcinol 8%
รีซอร์ซินอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยารีซอร์ซินอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: ทายาขี้ผึ้งนี้ขนาด 2% ตรงบริเวณผิวหนังที่มีอาการโรค/บาดเจ็บวันละ 3 - 4 ครั้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงจากยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถ ใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยารีซอร์ซินอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยารีซอร์ซินอลอาจส่งผลให้ อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายารีซอร์ซินอล สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัด ไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทายาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรทายารีซอร์ซินอลให้ตรงเวลา
รีซอร์ซินอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
รีซอร์ซินอลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- อาจพบอาการผิดปกติที่ผิวหนังตรงรอยทายานี้ เช่น ผิวหนังแดง ผิวหนังลอก
- และสำหรับผู้ที่ได้รับพิษจากยารีซอร์ซินอลถูกดูดซึมเข้าร่างกายมากเกินไป เช่น จะพบอาการเช่น
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดท้อง
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- ปวดหัว
- กระสับกระส่าย
- หัวใจเต้นช้า
- อึดอัด/หายใจลำบาก
- เหงื่อออกมาก
- อ่อนเพลีย
*ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้รีซอร์ซินอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้รีซอร์ซินอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยารีซอร์ซินอล
- ห้ามรับประทานและห้ามมิให้ยานี้เข้าตา
- ห้ามทายานี้ในบริเวณผิวที่ไม่มีอาการโรค
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กเล็ก โดยไม่มีคำสั่งการใช้ยาจากแพทย์
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการผิดปกติหลังใช้ยานี้ เช่น ปวดหัว หายใจไม่ออก/ หายใจลำบาก ผิวเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ หัวใจเต้นเร็ว หรือมีอาการชัก หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- การใช้ยารีซอร์ซินอลต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์และไม่ควรปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยารีซอร์ซินอล) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
รีซอร์ซินอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปฏิกิริยาระหว่างยารีซอร์ซินอลกับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยารีซอร์ซินอล ร่วมกับยาชนิดทา Tretinoin จะทำให้เกิดการระคายเคืองทางผิวหนังได้มากขึ้นหรืออาจทำให้ผิวหนังแห้งและหลุดลอกจนเกิดอันตราย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการทายาร่วมกัน
ควรเก็บรักษารีซอร์ซินอลอย่างไร?
ควรเก็บยารีซอร์ซินอล:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
รีซอร์ซินอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยารีซอร์ซินอล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Castellani's Paint (คาสเทลลาไน เพนท์) | ICM Pharma |
Zema Lotion (ซีมา โลชั่น) | Union Drug |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Resorcinol [2022,June4]
- https://www.drugs.com/dosage/resorcinol-topical.html [2022,June4]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Zema%20Lotion/ [2022,June4]
- https://www.drugs.com/cons/resorcinol-topical.html [2022,June4]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/resorcinol-topical-index.html?filter=2&generic_only= [2022,June4]