ริโทนาเวียร์ (Ritonavir)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 16 พฤศจิกายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาริโทนาเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาริโทนาเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาริโทนาเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาริโทนาเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาริโทนาเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาลิโทนาเวียร์อย่างไร?
- ยาริโทนาเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาริโทนาเวียร์อย่างไร?
- ยาริโทนาเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- เอดส์ (AIDS)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral Agent)
- ยาต้านไวรัสพีไอ (PIs: Protease inhibitors)
- ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)
บทนำ
ยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) เป็นยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral agent) ซึ่งหมายถึง เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ยาริโทนาเวียร์มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยทำการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โปรติเอส (Protease enzyme) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวเป็นตัวตั้งต้นของโปรตีนของเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดหนึ่ง (ที่มีชื่อว่า Gag-pol polyprotein) ที่มีผลต่อการเพิ่มจำ นวนเชื้อไวรัสเอชไอวี ดังนั้นเมื่อยาริโทนาเวียร์ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์ (Protease Inhibitors, ย่อว่า PIs/พีไอ, ยาต้านเอนไซม์โปรติเอส) เข้าสู่ร่างกาย ยานี้จะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์โปรติเอสของเชื้อไวรัสเอชไอวี ผลลัพธ์คือเชื้อไวรัสเอชไอวีจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนในร่างกายได้ เนื่อง จากเชื้อไวรัสเอชไอวีมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ (Immature virion) จึงไม่พร้อมแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวน
ข้อควรระวังในการใช้ยากลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์/พีไอ คือ อันตรกิริยาระหว่างยากับยา (Drug-drug interaction หรือ ปฏิกิริยาระหว่างยา) เนื่องจากยาในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติที่อาจทำให้ เกิดอันตรกิริยาระหว่างยากับยาได้ เมื่อมีการใช้ยาหลายชนิดร่วมกันและพร้อมกับยาต้านไวรัสเอชไอวีกลุ่มนี้
โดยยาริโทนาเวียร์เป็นยาในกลุ่ม PI ตัวแรก และมีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ CYP3A4 (Cytochrome P450 3A4/เอนไซม์ใช้ทำลายพิษของยาหรือของสารเคมีที่แปลกปลอม) ที่รุนแรงที่สุด (Strong CYP3A4 inhibitor) ปัจจุบันจึงนำเอายาริโทนาเวียร์ขนาดต่ำๆผสมในตำรับคู่กับยาในกลุ่ม PIs อื่นๆเพื่อเพิ่มระดับยา PIs ตัวอื่นในกระแสเลือดและเพิ่มระยะเวลาอยู่ในร่างกายของยานั้นๆ ดังนั้นริโทนาเวียร์จึงอาจถูกเรียกว่าเป็น Boosted PI เนื่องด้วยกลไกไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 ทำให้ระดับยาเพิ่มมากขึ้น และยายังไปยับยั้งการทำงานเกี่ยวกับการขับยาออกด้วย จึงทำให้ระดับยาในเลือดและในอวัยวะเพิ่มสูงขึ้น
ยาริโทนาเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาริโทนาเวียร์มีข้อบ่งใช้/สรรพคุณสำหรับรักษาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) โดยใช้ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่น เช่น ซิโดวูดีน (Zidovudine), ลามิวูดีน (Lamivudine) และ โลปินาเวียร์ (Lopinavir) และมีคุณสมบัติทางเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็น ไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ในการยับยั้งเอนไซม์ CYP3A4 ที่รุนแรงที่สุด ปัจจุบันยานี้จึงถูกนำ มาใช้ร่วมกับยากลุ่ม PIs อื่น เช่น โลปินาเวียร์ (Lopinavir), ซาควินาเวียร์ (Saquinavir), อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) ในขนาดต่ำๆด้วยจุดประสงค์เพื่อเพิ่มระดับยา PIs ตัวอื่นๆในร่างกายให้เพิ่มสูงขึ้น (Pharmacokinetic enhancer)
ยาริโทนาเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ริโทนาเวียร์ (Ritonavir) จัดเป็นยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่ม PIs โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำ งานของเอนไซม์โปรติเอส (Protease enzyme) ของเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งเอนไซม์โปรติเอสเป็นตัว ตั้งต้นของโปรตีนของไวรัสเอชไอวีที่มีชื่อว่า Gag-pol polyprotein ที่มีผลต่อกระบวนการเพิ่มจำนวน เชื้อไวรัสเอชไอวีในร่างกายมนุษย์ ดังนั้นเมื่อยาริโทนาเวียร์เข้าสู่ร่างกาย ยานี้จะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์โปรติเอสของเชื้อไวรัสเอชไอวี ผลลัพธ์คือเชื้อไวรัสเอชไอวีจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนในร่างกายคนได้ เนื่องจากมีโครงสร้างหรือส่วนประกอบที่ยังเจริญไม่เต็มที่/ไม่สมบูรณ์ เชื้อไวรัสเอชไอวีที่สภาพ ไม่สมบูรณ์จึงไม่พร้อมกับการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวน
ยาริโทนาเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาริโทนาเวียร์ในประเทศไทยมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์/รูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- เป็นยาแคปซูลชนิดนิ่ม (Soft-gelatin capsule) ขนาด 100 มิลลิกรัม และ
- ยาชนิดน้ำ (Oral solution) บรรจุขวดแบบใช้ได้หลายครั้งขนาด 90 มิลลิลิตร และ 240 มิลลิลิตร โดยมีขนาดยา 80 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร
ยาริโทนาเวียร์รูปแบบน้ำ มีรสชาติขม จึงแนะนำว่าให้ผสมยาริโทนาเวียร์สูตรน้ำคู่กับเครื่องดื่มอื่นๆที่มีรสชาติอร่อยตามต้องการ เช่น นมชงรสชาติต่างๆ, นมที่เป็นอาหารทางการแพทย์, น้ำอัดลม, เครื่องดื่มรสชาติตามที่ต้องการ เช่น น้ำส้มคั้น, เครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน, แต่แนะนำให้เครื่องดื่มดังกล่าวปราศจากแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ยังมียาสูตรผสมระหว่างยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) กับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่น เช่น
- คาเลทต้า (Kaletra®) เป็นยาต้านเอชไอวีสูตรผสมชนิดน้ำ ประกอบด้วย ริโทนาเวียร์ (Ritonavir ) 20 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และโลปินาเวียร์ 80 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และ
- อะลูเวียร์ (Aluvia®) ยาต้านเอชไอวีสูตรผสมชนิดเม็ด ที่ใน 1 เม็ดประกอบด้วย ริโทนาเวียร์ (Ritonavir) 25 มิลลิกรัม และโลปินาเวียร์ 100 มิลลิกรัม
ยาริโทนาเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาริโทนาเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น
ก. ขนาดยาและการปรับขนาดยาสำหรับเด็ก:
- ขนาดยาสำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี: เช่น
- เด็กอายุน้อยกว่า 1 เดือน: ยาไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลขนาดยาที่เหมาะสม และเด็กอาจได้รับผลพิษจากยาจนเกิดอันตรายได้
- เด็กอายุมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป: 350 - 400 มิลลิกรัมต่อตารางเมตรของพื้นที่ผิวกาย(Body surface area) วันละ 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง โดยขนาดยาสูงสุดต่อวันไม่ควรเกิน 600 มิลลิกรัม การให้ยานึ้ควรเริ่มต้นด้วยขนาด 250 มิลลิกรัมต่อตารางเมตรของพื้นที่ผิวของร่างกาย และค่อยๆเพิ่มขนาดยาขึ้นครั้งละ 50 มิลลิกรัมต่อตารางเมตรวันละ 2 ครั้งทุก 2 - 3 วัน จนถึงขนาดยาเป้า หมายที่แพทย์กำหนด หากผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อขนาดยาสูงสุดต่อวันที่แพทย์กำหนดได้ เนื่อง จากอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงจากยา แพทย์จะให้ยาในขนาดสูงสุดที่ผู้ป่วยทนได้เพื่อคงการรักษาไว้โดยให้ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่น
- ขนาดยาสำหรับใช้คู่กับยาในกลุ่ม PIs อื่นๆเพื่อเพิ่มระดับยา PIs ตัวอื่นในกระแสเลือด(Pharmacokinetic Booster in combination with other PIs): ขนาดยารีโทนาเวียร์ขึ้นกับชนิดยาในกลุ่ม PIs ที่ใช้ร่วมด้วย ดังนั้นขนาดยาจึงขึ้นกับแพทย์ผู้ให้การรักษา
- ขนาดยาในผู้ป่วยเด็กไตบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา
- ขนาดยาในผู้ป่วยเด็กตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาเมื่อการทำงานของตับบก พร่องระดับน้อยถึงปานกลาง มีรายงานในผู้ป่วยที่มีตับบกพร่องปานกลางอาจทำให้ระดับยาในร่าง กายต่ำกว่าปกติ จึงจำเป็นต้องติดตามอาการทางคลินิกใกล้ชิด เนื่องจากยาถูกทำลาย (Metabolite ) ผ่านตับ แต่ยังไม่มีการศึกษาในผู้ป่วยตับบกพร่องรุนแรง จึงไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยตับบกพร่องรุนแรง
ข. ขนาดยาและการปรับขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่:
- ขนาดยาสำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี: เช่น 600 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง แนะนำให้รับประ ทานพร้อมอาหาร โดยรับประทานคู่กับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่นๆ การค่อยๆปรับขนาดยาอาจช่วยลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา พร้อมกับยังคงไว้ซึ่งระดับยาที่เหมาะสมในร่างกาย ควรเริ่มยาในขนาด 300 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งห่างกัน 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 3 วัน (ไม่ควรได้รับยาขนาดนี้เกิน 3 วัน) และค่อยๆเพิ่มขนาดยาขึ้นทีละ 100 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งห่างกัน 12 ชั่วโมงจนได้ขนาด 600 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งห่างกัน 12 ชั่วโมงภายใน 14 วัน
- ขนาดยาสำหรับใช้คู่กับยาในกลุ่ม PIs อื่นๆเพื่อเพิ่มระดับยา PIs ตัวอื่นในกระแสเลือด(Pharmacokinetic Booster in combination with other PIs): เช่น 100 - 400 มิลลิกรัมต่อวันแบ่งให้ วันละ 1 - 2 ครั้ง โดยใช้คู่กับ PIs อื่นๆเช่น โลปินาเวียร์ (Lopinavir), ซาควินาเวียร์ (Saquinavir), อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) พบว่าขนาดยาริโทนาเวียร์ 100 มิลลิกรัม เพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติดื้อยากลุ่ม PIs มาก่อน และที่ไม่มีผลข้างเคียงต่างๆ (เช่น คลื่นไส้ อาเจียน) เมื่อได้รับยานี้ในปริมาณที่น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม
- ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา
- ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาเมื่อการทำงานของตับบกพร่อง ระดับน้อยถึงปานกลาง มีรายงานในผู้ป่วยที่มีตับบกพร่องปานกลางอาจทำให้ระดับยาในร่างกายต่ำกว่าปกติ จึงจำเป็นต้องติดตามอาการทางคลินิกใกล้ชิด เนื่องจากยาถูกทำลายผ่านตับ แต่ยังไม่มีการศึกษาในผู้ป่วยตับบกพร่องรุนแรง จึงไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยตับบกพร่องรุนแรง
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาริโทนาเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาริโทนาเวียร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย หากเจ็บป่วยเล็กน้อย และต้องการซื้อยาต่างๆเพื่อบรรเทาอาการด้วยตัวเอง ควรแจ้งเภสัชกรก่อนทุกครั้งว่าท่านกำลังรับประทานยาริโทนาเวียร์อยู่ เนื่องจากยาริโทนาเวียร์ สามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆได้หลายชนิด
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดสำหรับความปลอดภัยในการใช้ยาริโทนาเวียร์ในหญิงตั้งครรภ์และการผ่านของยาทางน้ำนม จึงพิจารณาใช้ยาริโทนาเวียร์ในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตรเฉพาะกรณีแพทย์ผู้ รักษาพิจารณาประโยชน์ว่ามีมากกว่าความเสี่ยงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายทอด เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ยังไม่แนะนำให้หญิงที่กำลังได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีให้นมบุตร
- แจ้งบุคลากรทางการแพทย์ หากช่วงที่ผ่านมาลืมรับประทานยา/ไม่ได้รับยา หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถรับประทานยาได้อย่างสม่ำเสมอทุกวันได้ เนื่องจากยาริโทนาเวียร์เป็นยาจำเป็นที่ต้อง รับประทานอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลาอย่างเคร่งครัดทุกวัน
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
สำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาริโทนาเวียร์นั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาให้ ตรงเวลาห่างกันทุก 12 ชั่วโมงอย่างเคร่งครัด โดยแนะนำให้รับประทานพร้อมอาหาร
กรณีลืมรับประทานยาริโทนาเวียร์ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ (หากห่างไม่เกิน 6 ชั่วโมง จากเวลารับประทานปกติ) แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่า 6 ชั่วโมง) ให้รับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ (โดยข้ามมื้อยาที่ลืมไป) ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า (หรือนำยามื้อที่ลืมไปมารับประทานด้วย) และรับประทานยาในมื้อถัดๆไปในขนาดยาปกติเช่นเดิม ควรบันทึกเวลาที่ลืมรับประทานยาและความถี่ในการลืมไว้เพื่อแจ้งแพทย์ กรณีแพทย์ต้องการทราบความร่วมมือในการใช้ยา ยกตัวอย่างเช่น ปกติรับประทานยาเวลา 8.00 น. และ 20.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานมื้อ 8.00 น. โดยนึกได้ตอนเวลา 12.00 น. (เกินกว่าเวลาปกติที่รับประทานยา 4 ชั่วโมง) ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันที จากนั้นเมื่อถึงเวลา 20.00 น. ให้รับประทานยามื้อ 20.0 น.ในขนาดปกติ แต่ถ้าหากนึกขึ้นได้ในช่วงเวลาที่นานเกินกว่า 6 ชั่วโมงของเวลายาปกติ ให้รอรับประทานยามื้อต่อไป โดยข้ามยามื้อที่ลืมไป และรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดปกติ (ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือนำยามื้อที่ลืมไปมารับประทานด้วย) ยกตัวอย่างเช่น หากนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 16.00 น. (เกิน 6 ชั่วโมง) ให้ผู้ป่วยข้ามยามื้อ 8.00 น. ไป จดบันทึกมื้อยาที่ลืมรับประทาน และรอรับประทานยามื้อ 20.00 น. ในขนาดยาปกติ ไม่ต้องนำยามื้อ 8.00 น. ที่ลืมมารับประทานหรือเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าโดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาต้านไวรัส (ทุกชนิด) ที่ไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ระดับยาในเลือดอยู่ในระดับสูงบ้างต่ำบ้าง ซึ่งช่วงที่ระดับยามีขนาดต่ำเสมือนเป็นการกระตุ้นให้เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ เป็นสาเหตุของการดื้อยาในเวลาต่อมา
การรับประทานยานี้เกินขนาดโดยอุบัติเหตุ ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง และไม่มียาต้านพิษที่จำเพาะเจาะจงสำหรับยาริโทนาเวียร์ โดยอาจพิจารณาให้ยาถ่านกัมมันต์ (Activated charcoal) เพื่อกำจัดยาที่เหลืออยู่ที่ยังไม่ถูกดูดซึม ทั้งนี้ การฟอกไตเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดสามารถทำได้แต่ไม่น่าจะเกิดประโยชน์มากนัก เนื่องจากยาจับกับโปรตีนในร่างกายสูง ดังนั้นตามการรักษา จึงมักใช้การเฝ้าระวังความผิดปกติของสัญญาณชีพ และให้การรักษาตามอาการทางคลินิกของผู้ป่วยเป็นหลัก
ยาริโทนาเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา หรือผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง ของยาริโทนาเวียร์ที่พบได้บ่อย เช่น
- ภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) โดยมีค่าไตรกลีเซอไรด์, คอเลสเตอรอลเพิ่มสูงขึ้น
- อาการของระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
- นอกจากนี้ ยานี้อาจทำให้ค่า GGT (Gamma - Glutamyl Transpeptidase: ค่าบ่งชื้การเกิดความผิดปกติที่ตับและท่อน้ำดี) ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ หรือ
- อาจทำ ให้เกิดรู้สึกกล้ามเนื้ออ่อนแรง และ
- อาจพบการเพิ่มขึ้นของระดับ CPK (CPK: Creatinine phosphor kinase เป็นเอนไซม์ที่พบในหัวใจ สมอง และกระดูก หากค่า CPK ในเลือดสูงหมายถึง เกิดความผิด ปกติของอวัยวะนั้นๆเช่น เกิดกล้ามเนื้อฉีกหรืออักเสบ)
มีข้อควรระวังการใช้ยาลิโทนาเวียร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลิโทนาเวียร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาริโทนาเวียร์คู่กับยาดังต่อไปนี้ ที่อาจเกิดอันตรกิริยารุนแรงได้ เช่นยา
- อาฟูโซซิน/Alfuzosin ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต
- อะมิโอดาโลน/Amiodarone ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ควินิดีน/Quinidine ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ฟูซิดิกเอซิด/ Fusidic acid ยาฆ่าเชื้อ แบคทีเรีย
- โวลิโคนาโซล/Voriconazole ยาต้านเชื้อรา
- แอสทิมีโซล/Astemizole ยาแก้แพ้
- เทอร์ฟีนีดีน/Terfenadine ยาแก้แพ้)
- โบรนาซีลีน/Blonaserin ยารักษาโรคจิต
- Ergot derivetives ยาที่มีส่วนผสมของ Ergot ประกอบด้วย Erogatamine /เออโกตามีน: ยาต้านไมเกรน), Ergonovine (เออร์โกโนวีน: ยาบีบมดลูก)
- Methylergonovine/เมททิวเออร์โกโนวีน ยาบีบมดลูก)
- ซิสซาพาย/Cisapide ยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้
- สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ธ/St. John's wort สมุนไพรคลายเครียด
- โลวาสสะตาติน/Lovastatin ยาลดไขมันในเลือด
- ซิมวาสสะตาติน/Simvastatin ยาลดไขมันในเลือด
- เซาเมทารอล/Salmeterol ยาขยายหลอดลม
- พิโมซายด์/Pimozide ยาต้านโรคจิต
- ซิเดนาฟิว/Sidenafil ยารักษาภาวะ Pulmonary Hypertension
- ไมด้าโซแลม/Midazolam ยาสงบระงับ/ยานอนหลับ
- ไตรอะโซแลม/Triazolam ยาสงบระงับ/ยานอนหลับ
- ทุกครั้งที่มีการใช้ยาริโทนาเวียร์คู่กับยาชนิดอื่นๆ ควรตรวจสอบอันตรกิริยาระหว่างยา/ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ เพี่อความปลอดภัยของผู้ป่วย หรือหากจำเป็นต้องใช้ยาที่มีอันตรกิริยาอาจพิจารณายาทางเลือกอื่นที่มีโอกาสเกิดอันตรกิริยาได้น้อย
- ควรศึกษาข้อมูลการใช้ยานี้อย่างละเอียด โดยศึกษาจากเอกสารกำกับยา หัวข้อปฏิกิริยาระ หว่างยา หากต้องการใช้ยากลุ่ม PIs กับยาริโทนาเวียร์ เพื่อให้ทราบถึงข้อห้าม, ข้อควรระวังของการใช้ยาทั้งสองชนิดร่วมกัน เพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างเหมาะสม
- ปฏิกิริยาการแพ้ยานี้: มีรายงานการเกิดลมพิษ, เกิดผื่นที่ผิวหนังในระดับไม่รุนแรง หลอด ลมหดเกร็ง และภาวะแองจิโอเอ็ดดิมา (Angioedema: เป็นการบวมของชั้นหนังแท้และชั้นไขมันใต้ผิวหนัง เพราะมีการขยายตัวของหลอดเลือดและมีของเหลวออกมาอยู่ภายนอกหลอดเลือด ทำให้เห็นเป็นผื่นบวมลึก ขอบเขตไม่ชัดเจน สีเดียวกับผิวหนัง มักเกิดบริเวณรอบตา และที่ริมฝีปาก) มีรายงานการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) และ สตีเวน จอห์นสัน ซินโดรม (Steven's Johnson Syndrome) น้อยมาก แต่หากเกิดผื่นรุนแรงหรือมีผื่นระดับปานกลางร่วมกับอาการทางคลินิกอื่น แนะนำให้หยุดการใช้ยานี้ และควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันถ่วงที
- ปฏิกิริยาต่อตับ: ยานี้ถูกทำลายและกำจัดผ่านตับเป็นหลัก จึงควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยตับบกพร่องปานกลางถึงรุนแรง พบว่าการใช้ยาริโทนาเวียร์อาจทำให้เกิดภาวะ Transminitis ได้ (ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น 5 เท่าของระดับสูงสุดที่มีได้ตามปกติ, เกิด ภาวะตับอักเสบ)
- ยาสามารถทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis: ระดับเอนไซม์ตับอ่อนอะไมเลส/Amylase และ ไลเปส/Lipase ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น) ร่วมกับมีอาการทางคลินิกเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หากเกิดภาวะนี้แล้วอาจจำเป็นที่ต้องประเมินเพื่อหยุดการใช้ยานี้
- นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติในการกระจายตัวของมวลไขมัน โดยมีภาวะไขมันฝ่อตัว (Lipoatrophy) มักพบไขมันฝ่อตัวบริเวณใบหน้า, แขน, ขา หรือก้น และอาจพบไขมันพอกตัวผิด ปกติ โดยพบก้อนไขมันพอกที่คอด้านหลัง (Buffalo hump), เส้นรอบวงของคอขยายขึ้น 5 - 10 ซม., เต้านมขยายใหญ่ขึ้น, ไขมันสะสมตามอวัยวะภายในช่องท้องมากขึ้นทำให้มีพุง ในผู้ป่วยบางรายสามารถเกิดได้ทั้งภาวะไขมันฝ่อตัวและไขมันพอกตัวผิดปกติ โดยมักเกิดร่วมกับภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) ดังนั้นหากพบว่าเกิดภาวะไขมันกระจายตัวผิด ปกติในระหว่างใช้ริโทนาเวียร์ ให้แจ้งแพทย์ โดยแพทย์อาจมีการเปลี่ยนแปลงสูตรยาให้แก่ผู้ป่วย เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยา
- ภาวะ Immune Reconstitution Syndrome (หมายถึง ภาวะการอักเสบที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อโรคติดเชื้อ ปฏิกิริยานี้เกิดขึ้นเพราะร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่กลับสู่สภาพปกติหลังจากการได้รับการรักษาด้วยยาต้านเอชไอวี เป็นผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติต่างๆ ตามมา ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้) ซึ่งมีรายงานการเกิดภาวะดังกล่าวในผู้ป่วยเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสหลายชนิดร่วมกันในช่วงต้นของการรักษา และเมื่อระบบภูมิคุ้มกันฯมีการตอบสนอง ผู้ ป่วยอาจมีการตอบสนองแบบเกิดการอักเสบจากเชื้อฉวยโอกาสที่เหลืออยู่ เช่น การติดเชื้อ Mycobac terium avium, การติดเชื้อ Cytomegalovirus
- มีรายงานการเกิดเลือดออกเพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia: โรคเลือดทาง พันธุกรรมที่พบได้น้อย เป็นโรคที่ส่งผลให้เลือดออกได้ง่ายมาก) ที่ใช้ยาในกลุ่ม PIs
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม ถึงยาริโทนาเวียร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาริโทนาเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาริโทนาเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
1. เมื่อใช้ยาริโทนาเวียร์คู่กับยาดังต่อไปนี้ ซึ่งคาดว่าสามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 ได้ เช่น ฟีโนบาร์บีทาล (Phenobarbital: ยากันชัก), คาร์บามาซีปิน (Carbamazepine: ยากันชัก), ฟีนีทอย (Phenytoin: ยากันชัก), ไรแฟมปินซิน (Rifampicin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาต้านวัณโรค), ไรฟาบูติน (Rifabutin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาต้านวัณโรค) ดังนั้น หากใช้ยาเหล่านี้ที่กล่าวมาคู่กับยาริโทนาเวียร์ อาจทำให้ระดับยาริโทนาเวียร์ในเลือดลดลง
2. หากมีการใช้ยาริโทนาเวียร์ร่วมกับยากลุ่ม PIs อื่นๆเช่น อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir), ดารุนาเวียร์ (Darunavir), ฟอสแอมพรีนาเวียร์ (Fosamprenavir), อินดินาเวียร์ (Indinavir), ซาควินาเวียร์(Saquinavir), ทิพล่านาเวียร์ (Tipranavir) แพทย์ผู้รักษาจะปรับขนาดยาแต่ละตัวเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับขนาดยาที่ถูกต้องเหมาะสม
3. นอกจากนี้ ยังมียาอีกหลายชนิดที่อาจจะทำให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยา/ปฏิกิริยาระหว่างยาได้เมื่อใช้คู่กับยาริโทนาเวียร์ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยจึงควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ทุกครั้งว่า กำลังได้รับยาริโทนาเวียร์อยู่ เพื่อให้แพทย์และเภสัชกรทำการตรวจสอบคู่ยาที่ได้รับร่วมก่อนเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงคู่ยาที่อาจก่ออันตรายได้อย่างรุนแรง
ควรเก็บรักษายาริโทนาเวียร์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาริโทนาเวียร์ เช่น
ก. ยาริโทนาเวียร์ชนิดแคปซูลนิ่ม (Soft-gelatin capsule): กรณีการเก็บรักษายาในโรงพยาบาล แนะนำให้เก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius) จนกว่ายาจะถูกจำหน่ายไปให้แก่ผู้ป่วย
เมื่อผู้ป่วยได้รับยาริโทนาเวียร์ชนิดแคปซูลนิ่มไปแล้ว สามารถเก็บยา เช่น
- เก็บยาในตู้เย็นช่องธรรมดา โดยยาจะมีอายุจนกว่าจะถึงวันหมดอายุที่ระบุ หรือเพื่อความสะดวก ผู้ป่วยสามารถเก็บยาไว้นอกตู้เย็นก็ได้ แต่จำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวที่เก็บไว้นอกตู้เย็นให้หมดภายใน 30 วันหลังจากวันที่ได้รับยามาจากโรงพยาบาล (วันที่ยาถูกนำออกนอกตู้เย็น) เพื่อความคงตัวทางกายภาพของยา
- อย่างไรก็ตาม หากเก็บยาริโทนาเวียร์ชนิดแคปซูลนิ่มนอกตู้เย็นอยู่แล้วนั้น ยังคงแนะนำให้เก็บยาไว้ ณ อุณหภูมิห้อง
- ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม และควรปิดฝาภาชนะบรรจุในเรียบร้อยทุกครั้งหลังเปิดใช้
- เก็บยาให้พ้นจากแสงแดด และแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
- ไม่เก็บยาในที่ร้อน เช่น ในรถยนต์ หรือในที่ชื้น เช่น ห้องครัว ห้องน้ำ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ข. สำหรับยาน้ำริโทนาเวียร์: การแนะนำ เช่น
- เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง
- ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
- เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
- ไม่แนะนำให้แช่ยาในตู้เย็นทั้งช่องแช่เย็นธรรมดาหรือช่องแช่แข็ง เนื่องจากยามีส่วนผสมของน้ำตาลและน้ำมันหอมระเหย อาจจะทำให้เกิดความไม่คงตัวทางกายภาพได้หากนำยาเข้าตู้เย็น
- หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มากไป เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดด หรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน )
- ก่อนการใช้ยาทุกครั้งควรเขย่าขวดก่อนทุกครั้ง
- ปิดฝาให้สนิททุกครั้งหลังเปิดใช้ และ
- สามารถใช้ยาได้ถึงวันหมดอายุของยา
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาริโทนาเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาริโทนาเวียร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Rinavir (ลินาเวียร์) oral solution 80 mg/mL | GPO |
Norvir (นอเวียร์) soft-gelatin capsule 100 mg | AbbVie |
Norvir (นอเวียร์) oral solution 80 mg/mL | AbbVie |
บรรณานุกรม
1. Taketomo CK, Hodding, JH, Kraus DM, .Pediatric & Neonatal Dosage Handbook, 19th ed. Hudson, Ohio, Lexi-Comp, Inc.; 2012
2. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
3. Product Information: Rinavir, Ritonavir, AbbVie, Thailand.
4. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013
5. กิตติยศ ยศสมบัติ. Comprehensive Pharmacy Review. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร: นานนะภงค์, 2557.
6. ป่วน สุทธิพินิจธรรม, กนกวลัย กุลทนันท์, ศิริเพ็ญ พัววิไล, กอบกุล อุณหโชค และพัชรินทร์ จันทร์จำรัสแสง. Clinical Practice Guideline Urticaria/Angioedema. [2020,Nov14]
7. มานิตย์ วัชร์ชัยนันท์. Drug interactions: CYP3A4 (มารู้จักกับเอ็นไซม์ CYP3A4 กันเถอะ). http://vatchainan2.blogspot.com/2011/03/drug-interactions-cyp3a4-cyp3a4.html. [2020,Nov14]