ริมฝีปากลอก ริมฝีปากแตก (Exfoliative cheilitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?

ภาวะริมฝีปากลอก หรือริมฝีปากแตก หรือชื่อทางการแพทย์คือ ‘Exfoliative cheilitis’ คือ การอักเสบของริมฝีปากที่ทำให้มีริมฝีปากแห้งและลอก ซึ่งยังไม่มีการศึกษารายงานสถิติการเกิดภาวะนี้ชัดเจน แต่พบว่าเป็นภาวะที่พบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง พบในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวมากกว่าในวัยสูงอายุ

ริมฝีปากลอกเกิดได้อย่างไร?

ริมฝีปากลอก

สาเหตุการเกิดริมฝีปากแห้งลอกแตก พบว่า สัมพันธ์กับการบาดเจ็บของผิวหนังที่ริมฝีปาก ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำบ่อยๆต่อริมฝีปากเช่น แกะปาก ลอกปาก เลียริมฝีปาก กัดริมฝีปาก ซึ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่มักสัมพันธ์กับอาการ วิตกกังวล ความเครียด หรืออาจเกิดจากการบาดเจ็บของผิวหนังบริเวณริมฝีปากโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ/แพทย์หาสาเหตุไม่พบ

ริมฝีปากลอกติดต่อไหม?

ริมฝีปากลอกไม่ใช่โรคติดต่อจึงไม่ติดต่อทั้งการสัมผัส หายใจ คลุกคลี การใช้ของใช้ต่างๆร่วมกัน ที่รวมถึงเสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว และการกินอาหารร่วมกัน

ริมฝีปากลอกมีอาการอย่างไร?

อาการของริมฝีปากลอกที่พบบ่อยคือ ริมฝีปากบวม แดง เจ็บ มีสะเก็ด อาจคัน หรืออาจแตกเป็นร่อง และผิวหนังบริเวณริมฝีปากลอกออกได้เป็นแผ่น

แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไร?

โดยทั่วไปแพทย์วินิจฉัยภาวะริมฝีปากลอกได้จาก

  • การสอบถามประวัติการใช้ชีวิต, ลักษณะความประพฤติเกี่ยวกับริมฝีปาก, ปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ
  • การตรวจร่างกาย และ การตรวจ ดูลักษณะริมฝีปาก
  • แต่ในบางกรณีที่มีการอักเสบของริมฝีปากมาก แพทย์อาจต้องทำการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม เพื่อดูว่าเกี่ยวกับโรคติดเชื้อราหรือไม่ เช่น เชื้อราแคนดิดา (แคนดิไดอะซิส/Candidiasis) อาจโดยนำเนื้อเยื่อที่ริมฝีปากบริเวณรอยโรคไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

หากมีอาการริมฝีปากแห้งลอกแตก สามารถพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อทำการวินิจฉัยรักษาและรับคำ แนะนำการดูแลริมฝีปากได้เสมอ

รักษาริมฝีปากลอกอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะริมฝีปากลอกได้แก่ การใช้ยาทาที่ริมฝีปากโดย

  • เป็นยาในกลุ่มยา สเตียรอยด์ชนิดความเข้มข้นอ่อน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง คอร์ติโคสเตียรอยด์ /Corticosteroids) เพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง
  • ร่วมกับการทาริมฝีปากบ่อยๆเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นด้วย ยา ปิโตรเลียม เจลลี่ (Petroleum jelly)/วาสลีน (Vaseline)
  • ในรายที่ริมฝีปากลอกเกิดจากพฤติกรรมการ แกะ ลอก เลีย ริมฝีปาก การให้ยารับประทานเพื่อลดความวิตกกังวล และการแนะนำให้ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมเหล่านี้กับภาวะริมฝีปากลอกนี้อาจช่วยลดอาการลงได้
  • ในรายที่ริมฝีปากลอกเกิดจากเชื้อรา การรักษาคือการใช้ยาต้านเชื้อราซึ่งอาจเป็นยาทาและ/หรือยากินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

ริมฝีปากลอกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากภาวะริมฝีปากลอก คือ

  • ในผู้ที่มีริมฝีปากแห้งแตกมากจะมีอาการ เจ็บแสบ คัน ที่ริมฝีปาก
  • นอกจากนั้นคือการเสียภาพลักษณ์สำหรับในบางคน

ริมฝีปากลอกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ภาวะริมฝีปากลอกเป็นภาวะไม่อันตราย ดูแลรักษาได้หายเสมอ โดยอาการจะดีขึ้นเมื่อปัจจัย ที่ทำให้ริมฝีปากบาดเจ็บหมดไป เช่น การลอก การเลียริมฝีปากบ่อยๆ

อย่างไรก็ตาม อาการจะกลับมาเป็นซ้ำอีกได้เสมอ เมื่อกลับมามีพฤติกรรมดังกล่าวอีก

ดูแลรักษาตนเองอย่างไรเมื่อมีริมฝีปากลอก?

การดูแลตนเองเมื่อเกิดภาวะริมฝีปากลอก คือ

  • พยายามหยุดพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของผิวหนังบริเวณริมฝีปากเช่น การลอกปาก เลียริมฝีปาก
  • ทาริมฝีปากบ่อยๆด้วยปิโตรเลียม เจลลี่ร่วมกับ
  • ใช้ยาทาริมฝีปากตามที่แพทย์สั่ง
  • ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของริมฝีปากเมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่มเช่น วันละ 8 - 10 แก้ว
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหารเพื่อช่วยให้เซลล์แข็งแรงเพื่อแผล/อาการที่ริมฝีปากหายได้เร็วขึ้น
  • รักษาสุขภาพจิตไม่ให้วิตกกังวล

เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?

หลังการรักษาด้วยยาทาริมฝีปาก ถ้าอาการลุกลามขึ้นสามารถพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดได้เสมอ

ป้องกันริมฝีปากลอกได้อย่างไร?

การป้องกันภาวะริมฝีปากลอกทำได้ โดย

  • รักษาความชุ่มชื่นของริมฝีปาก ซึ่งในกรณีที่ริมปากแห้งสามารถทาปิโตรเลียม เจลลี่บ่อยๆ(ทาบ่อยได้เท่าที่ต้องการ) เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของริมฝีปาก
  • เลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของผิวหนังที่ริมฝีปากเช่น การลอกปาก เลียปาก
  • ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของริมฝีปากเมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่มเช่น วันละ 8 - 10 แก้ว
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหารเพื่อช่วยให้เซลล์แข็งแรงเพื่อแผล/อาการที่ริมฝีปากหายได้เร็วขึ้น
  • ดูแลสุขภาพจิตใจให้แข็งแรง ไม่วิตกกังวลจนเกินเหตุ

บรรณานุกรม

  1. ปรียากุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:ชื่อบท.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
  2. Lowell A. Goldsmith,Stephen I. Katz,Barbara A. Gilchrest,Amy S. Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick’s dermatology in general medicine :chapter.eight edition.McGraw-Hill.2012