ราโลซิฟีน (Raloxifene)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ราโลซิฟีน (Raloxifene) คือ ยาในกลุ่มมีความสามารถในการปรับเข้ากับตัวรับของฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างเลือกจำเพาะ (ยาเซิร์ม/ SERM, Selective Estrogen Receptor Modulators) กล่าวคือ ตัวยาจะทำหน้าที่เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจนต่อระบบกระดูก คือ ป้องกันการดูดซึมแคลเซียมออกจากกระดูก จึงมีข้อบ่งใช้รักษาโรคกระดูกพรุน, แต่จะทำหน้าที่ตรงข้าม/ต้านกับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่อเนื้อเยื่อของเต้านม ทำให้ลดการกระตุ้นการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านม จึงมีการนำมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมชนิดที่รุกราน (Invasive, ชนิดเป็นมะเร็งแน่นอนแล้ว)

ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนเพศที่ร่างกายผลิตขึ้นในผู้หญิง ฮอร์โมนเอสโตรเจนผลิต ขึ้นจากรังไข่ มีความสำคัญมากในการทำหน้าที่ส่งเสริมการแสดงลักษณะเด่นของเพศหญิง อาทิ การมีหน้าอก/เต้านมหรือการมีประจำเดือน นอกจากนี้ ฮอร์โมนเอสโตรเจนยังมีบทบาทสำคัญอื่นๆอาทิ ส่งเสริมการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกาย การป้องกันการเสื่อมสลายของกระ ดูก จึงมีการนำประโยชน์ของฮอร์โมนดังกล่าวมาใช้ในการรักษาหรือป้องกันโรคกระดูกพรุนในปัจจุบัน

นอกจากความสัมพันธ์กับระบบกระดูกแล้วนั้น ฮอร์โมนเอสโตรเจนยังมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเนื้อเยื่อของมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมชนิดที่ต้องอาศัยฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen receptor +, ER+) ในการกระตุ้นให้เกิดการแบ่งเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็ง ดังนั้น การใช้ยาที่มีการส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนจึงอาจทำให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมบางชนิดเกิดการพัฒนาจากเนื้องอกไปเป็นมะเร็ง หรือขยายเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็งตามลำดับ

ยาราโลซิฟีนจัดเป็นยาอันตรายตามกฎหมายของไทย ดังนั้นการใช้ยานี้ควรอยู่ภายใต้การ รักษาและดุลยวินิจของแพทย์ และใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

ยาราโลซิฟีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ราโลซิฟีน

ยาราโลซิฟีน มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้เฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (Postmenopausal) ดังต่อไปนี้ เช่น

ก. โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis): ยาราโลซิฟีนมีข้อบ่งใช้ในการรักษาหรือป้อง กันโรคกระดูกพรุนโดยช่วยให้กระดูกมีมวลกระดูกมากขึ้น ลดความเสี่ยงการแตกหัก/กระดูกหัก

ข. มะเร็งเต้านมชนิดรุกราน (Invasive Breast Cancer): ยาราโลซิฟีนมีคุณสม บัติช่วยลดความเสี่ยงในการพัฒนาเซลล์เต้านมไปเป็นมะเร็งเต้านมในระยะรุกราน (Invasive stage) โดยใช้เฉพาะกรณีผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้แก่ ผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านมอาทิ มารดา พี่หรือน้องสาวท้องเดียวกัน บุตรสาว เป็นต้น รวมไปถึงผู้ป่วยที่เคยได้รับการส่งตรวจชิ้นเนื้อบริเวณเต้านม (Breast Biopsy) และพบว่ามีความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมเช่น จากเซลล์เริ่มมีการกลายพันธุ์

***อนึ่ง ยาราโลซิฟีนเป็นยาที่ลดความเสี่ยงการพัฒนาเป็นมะเร็งเต้านมระยะรุกรานเท่า นั้น ไม่ได้เป็นยาที่สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม และไม่ได้มีฤทธิ์ในการรักษามะเร็งเต้านมในระยะลุกลามแพร่กระจาย หรือมีฤทธิ์ในการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำในผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมก่อนแล้ว ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรเข้าตรวจกับแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง

ยาราโลซิฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาราโลซิฟีนเป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่มยาที่มีความสามารถในการปรับเข้ากับตัวรับ (Receptor)ของฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างจำเพาะ/ยาเซิร์ม (SERM, Selective Estrogen Receptor Modulators) กล่าวคือ

ในเชิงความสัมพันธ์ของฮอร์โมนเอสโตรเจนกับกระดูก ฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยยับยั้งกระบวนการทำลายกระดูกหรือการดูดซึมของแคลเซียมออกจากกระดูก ทำให้แคลเซียมสามารถคงอยู่ในกระดูกและช่วยให้กระดูกมีความแข็งแรงขึ้น กรณีนี้ยาราโลซิฟีนทำหน้าที่คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนต่อระบบกระดูก โดยจับกับตัวรับเอสโตรเจนทำให้ยับยั้งการดูดซึม ของแคลเซียมออกจากกระดูก จึงช่วยในการรักษาหรือป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้

ในขณะเดียวกัน ฮอร์โมนเอสโตรเจนยังมีส่วนทำให้เซลล์เต้านมที่เสี่ยงต่อการพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งเต้านม พัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งเต้านมได้ ในกรณีนี้ยาราโลซิฟีนกลับทำหน้าที่ตรงกันข้ามกับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่อเนื้อเยื่อของเต้านมกล่าวคือ เมื่อยาโลซิฟีนจับกับตัวรับของเอสโตรเจนที่เนื้อเยื่อเต้านม ตัวยาจะทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของตัวรับเอสโตรเจนที่เนื้อ เยื่อเต้านม ทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่สามารถกระตุ้นหรือส่งเสริมการขยายเพิ่มจำนวนเซลล์ที่เสี่ยงจะเป็นมะเร็งเต้านม ทำให้สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้

ด้วยคุณสมบัติของยาราโลซิฟีนที่ทำหน้าที่แตกต่างกันในตัวรับประเภทเดียวกันที่อยู่ต่างที่กันของร่างกาย จึงเรียกยาในกลุ่มนี้ว่า ยาที่มีผลต่อตัวรับเอสโตรเจนอย่างเลือกจำเพาะ “Selective Estrogen Receptor Modulators ย่อว่า SERM/ เซิร์ม”

ยาราโลซิฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ในประเทศไทย ยาราโลซิฟีนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์จัดจำหน่าย:

  • เป็นยาเม็ดเคลือบ (Film Coated Tablets) ขนาดความแรงเม็ดละ 60 มิลลิกรัม

ยาราโลซิฟีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาราโลซิฟีนมีขนาดยาที่แนะนำในสตรีวัยหมดประจำเดือน สำหรับข้อบ่งใช้ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน และข้อบ่งใช้การลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมคือ รับประทานวันละ 1 ครั้งๆละ 1 เม็ด (60 มิลลิกรัม) โดยทานในเวลาเดียวกันทุกวัน โดยไม่ต้องคำนึกถึงมื้ออาหาร

การใช้ยาราโลซิฟีนหากพบว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อยาได้ดี แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาราโลซิฟีนในระยะยาว (Long term treatment) ในทั้ง2ข้อบ่งใช้ข้างต้นคือ นานต่อเนื่องมากกว่า 3 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เป็นกรณีๆไป

อนึ่ง ในผู้ป่วยที่ใช้ยาราโลซิฟีนเพื่อป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน หากผู้ป่วยที่ทานอาหารได้น้อยหรือได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน แพทย์อาจพิจารณาการให้แคลเซียมร่วมกับวิตามินดี เสริมการรักษาโรคกระดูกพรุนด้วย

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาราโลซิฟีน ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยาและ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยารวมไปถึงแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย รวมไปถึงยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพรต่างๆ โดยเฉพาะยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาฟาริน (Warfarin), ยาลดไขมัน เช่น ยาโคเลสไทรามีน (Cholestyramine) ยาโคเลสทิพอล (Colestipol), ยารักษาอาการนอนไม่หลับหรือยาคลายกังวล/ยาคลายเครียดเช่น ยาไดอะซีแพม (Diazepam), ยารักษาโรคน้ำตาลในเลือดต่ำเช่น ยาไดอะซีพ็อกไซด์ (Diazoxide), ยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือการเภสัชบำบัดด้วยฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด, รวมไปถึงยาที่มีคุณสมบัติให้เกิดอาการชา เช่น ยา ลิโดเคน (Lidocaine), ซึ่งแพทย์อาจจำเป็นต้องปรับระดับยาหรือเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้เมื่อใช้ร่วมกับยาราโลซิฟีน
  • ประวัติโรคมะเร็งทุกชนิด โดยเฉพาะประวัติการมีก้อนเนื้อ/เนื้องอกที่บริเวณเต้านม (ก้อนในเต้านม) หรือมะเร็งเต้านม ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคไต หรือ โรคตับ
  • ประวัติโรคมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำของขา ปอด หลอดเลือดตา หรือประวัติการเกิดหลอดเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน (Stroke)
  • แจ้งให้ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกรทราบ หากคุณกำลังตั้งครรภ์, วางแผนที่จะตั้งครรภ์, หรือกำลังให้นมบุตร

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาราโลซิฟีน ให้รับประทานยาโดยทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้เวลาการรับประทานยาในมื้อถัดไป ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมนั้นไป และรับประทานยาตามมื้อยาถัดไปตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาราโลซิฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาราโลซิฟีนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง)บางประการ ซึ่งหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่าอาการแย่ลงหรือไม่ทุเลา ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด อาการฯต่างๆเช่น

  • ร้อนวูบวาบ โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรกในการรักษา
  • ปวดขา
  • ปวดข้อ
  • ปวดหัว
  • ปวดศีรษะแบบไมเกรน
  • เหงื่อออกมากผิดปกติ
  • นอนไม่หลับ

*อนึ่ง หากรับประทานยาราโลซิฟีนแล้วเกิด

  • อาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน, อาการบวมของริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตา ใบหน้า, หรือหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก
  • หรืออาการข้างเคียงที่มีความรุนแรง เช่น อาการปวดขาอย่างรุนแรงโดยเฉพาะอาการปวดและบวมของขาข้างเดียว, มีการบวมหรือร้อนบริเวณขาโดยเฉพาะน่อง, อาการหายใจลำบากหรือติดขัด, อาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกเฉียบพลัน, หรืออาการปวดหัวรุนแรงอย่างฉับพลัน ร่วมกับอาการแขน-ขาอ่อนแรง, ชาครึ่งซีก, พูดลำบาก/พูดไม่ชัด, การมองเห็นภาพเปลี่ยนไป,
  • หากมีอาการดังกล่าวอาการใดอาการหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีครบทุกอาการ ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ยาราโลซิฟีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาราโลซิฟีน เช่น

  • ไม่ใช้ในผู้ป่วยที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ไม่ใช้ยานี้ในสตรีที่ยังมีประจำเดือน สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่วางแผนที่จะตั้งครรภ์ในอนาคต หรือสตรีที่ให้นมบุตร
  • ไม่ใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (VTE; Venous Thrombo embolism Event) ทั้งภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำส่วนลึก (DVT; Deep Vein Thrombosis) และภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (PE; Pulmonary Embolism)
  • ไม่ใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไตระยะรุนแรง
  • ไม่ใช้ยานี้ร่วมกับยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่นยา Premarin
  • ยาราโลซิฟีนไม่มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดการเลือดออกที่บริเวณช่องคลอดหรือการมีเลือด ออกที่คล้ายกับการมีประจำเดือน หากระหว่างการใช้ยานี้แล้วพบว่ามีเลือดออกจากช่องคลอดหรือมีหยดเลือดจากช่องคลอด ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที
  • ยาราโลซิฟีนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมแบบรุกราน แต่ไม่ได้ป้องกันหรือทำให้ความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมหมดไป ดังนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าตรวจกับแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาราโลซิฟีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาราโลซิฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาราโลซิฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆดังต่อไปนี้ เช่น

ก. ยาโคเลสไทรามีน (Cholestyramine), ยาโคเลสทิพอล (Colestipol) เนื่องจากยา 2 ชนิดนี้อาจลดการดูดซึมของยาราโลซิฟีน อาจทำให้การรักษาไม่ประสบความสำเร็จ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยา 2 ชนิดนี้ร่วมกับยาราโลซิฟีน

ข. ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) เนื่องจากยาราโลซิฟีนมีส่วนในการลดความสามารถในการแข็ง ตัวของเลือด ซึ่งหากใช้ยาราโลซิฟีนร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างเช่น ยาวาฟาริน อาจทำให้คุณสมบัติการต้านการแข็งตัวของเลือดเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจึงอาจได้รับการตรวจเลือดเป็นระยะๆเพื่อวัดค่าความสามารถการแข็งตัวของเลือด และแพทย์อาจมีความจำเป็นต้องปรับขนาดยาวาฟารินแล้วแต่กรณี

ค. ยาที่มีความสามารถในการจับกับโปรตีนในกระแสเลือด เช่น ยาไดอะซีแพม (Diazepam), ยาไดอะซอกไซด์ (Diazoxide), ยาลิโดเคน (Lidocaine), เนื่องจากยาราโลซิฟีนมีความสามารถในการจับกับโปรตีนในกระแสเลือดได้มาก การใช้ยานี้ร่วมกับยาที่มีความสามารถในการจับโปรตีนในกระแสเลือดสูงอาจส่งผลให้เกิดการแย่งจับยา นำไปสู่การเกิดปริมาณยาราโลซิฟีนอิสระในกระแสเลือดมากขึ้น อาจทำให้เกิดพิษจากยาราโลซิฟีนได้เพิ่มขึ้น การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาราโลซิฟีน จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

ควรเก็บรักษายาราโลซิฟีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาราโลซิฟีน เช่น

  • เก็บยาในภาชนะบรรจุหรือบรรจุภัณฑ์ดั้งเดิมของผู้ผลิต
  • เก็บยาในอุณหภูมิห้องปกติ ควรหลีกเลี่ยงที่อับชื้นเช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำ ห้องครัว หรือบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาราโลซิฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ปัจจุบันยาราโลซิฟีนที่จำหน่ายในประเทศไทยมีดังต่อไปนี้

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
เซลวิสทา (Celvista) บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด

บรรณานุกรม

  1. Australian Medicins Handbook (AMH). Others Drugs Affecting Bone: Raloxifene. 2014: 441.
  2. สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย. แนวทางการดูแลภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำในผู้ป่วยมะเร็งนรีเวช. 2557.
  3. https://www.ema.europa.eu/en/documents/product-information/evista-epar-product-information_en.pdf [2021,Oct9]
  4. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2007/022042lbl.pdf [2021,Oct9]
  5. https://www.fda.gov/media/73445/download [2021,Oct9]
  6. https://investor.lilly.com/news-releases/news-release-details/lilly-announces-review-data-long-term-raloxifene-treatment?releaseid=597868 [2021,Oct9]