ราโมซีตรอน (Ramosetron)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 สิงหาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ราโมซีตรอนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ราโมซีตรอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ราโมซีตรอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ราโมซีตรอนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ราโมซีตรอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ราโมซีตรอนอย่างไร?
- ราโมซีตรอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาราโมซีตรอนอย่างไร?
- ราโมซีตรอนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Serotonin 5-HT3 receptor antagonist
- มะเร็ง (Cancer)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- โรคลำไส้แปรปรวน
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน (Antiemetics)
บทนำ
ยาราโมซีตรอน(Ramosetron หรือ Ramosetron hydrochloride) เป็นยาในกลุ่ม Serotonin 5-HT3 receptor antagonist ทางคลินิกนำมาบำบัดรักษาอาการคลื่นไส้-อาเจียนจากการได้รับยาเคมีบำบัดของผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมถึงอาการจากโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) อีกด้วย โดยรูปแบบผลิตภัณฑ์ของยานี้ จะเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน และยาฉีด ซึ่งจะพบเห็นทั้งสองรูปแบบในประเทศไทยเรา
ธรรมชาติของยาราโมซีตรอนเมื่ออยู่ในกระแสเลือด จะกระจายตัวไปตามของเหลวของร่างกายรวมถึงน้ำนมของมารดา ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยานี้ออกไปกับปัสสาวะ
ยาราโมซีตรอน เป็นยาที่ ไม่เหมาะกับผู้ที่มีอาการท้องผูก หรือผู้ที่มีโรคระบบทางเดินอาหาร หรือมีภาวะอักเสบติดเชื้อของกระเพาะอาหารและลำไส้ รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังต้องระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
โดยทั่วไป แพทย์มักสั่งจ่ายยาราโมซีตรอน เพียงวันละครั้งเท่านั้น ยานี้สามารถรับประทาน ก่อน หรือ พร้อมอาหาร ก็ได้
หลังการใช้ยาราโมซีตรอน ผู้ป่วยอาจพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้บ้าง อาทิ เช่น ปวดศีรษะ ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก
คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้ระบุให้ยาราโมซีตรอนอยู่ในหมวดของยาอันตราย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคจึงควรใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น และไม่ควรไปหาซื้อยาชนิดนี้มารับประทานเองโดยเด็ดขาด
ราโมซีตรอนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาราโมซีตรอนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดอาการคลื่นไส้-อาเจียนจากการรักษาด้วยาเคมีบำบัดของผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- บำบัดอาการของโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome)
ราโมซีตรอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาราโมซีตรอนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า Serotonin 5-HT3 receptor (Serotonin 5-hydroxytryptamine receptor) ของบริเวณเส้นประสาทเวกัส (Vagus nerve, เส้นประสาทสมองคู่ที่ 10) ที่ควบคุมการทำงานของ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ทำให้อวัยวะดังกล่าวลดการบีบตัวลง จึงเกิดฤทธิ์ยับยั้งอาการคลื่นไส้-อาเจียนได้ตามสรรพคุณ
ราโมซีตรอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาราโมซีตรอนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5 ไมโครกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 0.1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (100 ไมโครกรัม/เม็ด)
- ยาฉีด ขนาด 0.3 มิลลิกรัม/ขวด (300 ไมโครกรัม/ขวด)
ราโมซีตรอนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาราโมซีตรอน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับลดอาการคลื่นไส้-อาเจียนในผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด:
- ผู้ใหญ่: กรณียารับประทาน: รับประทานยา 100 ไมโครกรัม วันละครั้ง, กรณียาฉีด: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 300 ไมโครกรัม วันละครั้ง หากจำเป็น แพทย์อาจเพิ่มขนาดยาให้ผู้ป่วยอีก 300 ไมโครกรัม แต่ขนาดการฉีดยาสูงสุดต้องไม่เกิน 300 ไมโครกรัม/วัน
ข.สำหรับโรคลำไส้แปรปรวน:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 5 ไมโครกรัม เพียงวันละครั้ง ซึ่งแพทย์อาจปรับขนาดรับประทาน โดยดูจากการตอบสนองของผู้ป่วย ซึ่งขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 10 ไมโครกรัม/วัน
*อนึ่ง:
- ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ โดยการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องมีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
***** หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาราโมซีตรอน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาราโมซีตรอน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาราโมซีตรอน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาราโมซีตรอนตรงเวลา
ราโมซีตรอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาราโมซีตรอนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาจทำให้ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ชาที่ลิ้น สะอึก
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผิวแดง มีอาการหน้าแดง
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ เช่น ค่าบิลิรูบิน และค่าเอนไซม์การทำงานของตับบางตัว(เช่น ค่า SGPT/Serum glutamate-pyruvate transaminase)ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ
มีข้อควรระวังการใช้ราโมซีตรอนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาราโมซีตรอน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะท้องผูก ผู้ที่มีอาการอักเสบติดเชื้อในกระเพาะอาหารหรือติดเชื้อที่ลำไส้ รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ห้ามหยุดใช้ยานี้ด้วยตนเอง หรือใช้ยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์
- หากพบอาการแพ้ยานี้ อาทิเช่น ผื่นขึ้นเต็มตัว เกิดลมพิษ อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม หัวใจเต้นผิดปกติ ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาราโมซีตรอนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ราโมซีตรอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาราโมซีตรอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาราโมซีตรอนร่วมกับยา Fluvoxamine ด้วยจะทำให้ระดับความเข้มข้นของยาราโมซีตรอนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่างๆจากยาราโมซีตรอนตามมา
- ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยาราโมซีตรอนร่วมกับยากลุ่ม MAOIs, TCAs, Phenothiazines, ยากลุ่ม Anti-cholinergic, และกลุ่ม Opioid narcotics, ด้วยจะส่งผลรบกวนการทำงานของระบบทางเดินอาหารอย่างรุนแรง รวมถึงก่อให้เกิดอาการท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสียติดตามมา
ควรเก็บรักษาราโมซีตรอนอย่างไร?
ยาราโมซีตรอนมีความคงตัวดีในระดับหนึ่ง จึงสามารถเก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็นได้ ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ห้ามเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ราโมซีตรอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาราโมซีตรอนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Irribow (อรีริโบว์) | Astellas Pharma |
Nasea (นาเซีย) | Astellas Pharma |
อนึ่ง ยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ มียาชื่อการค้า เช่น Ibset, Iribo, Nozia
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/5-HT3_antagonist#The_5-HT3_receptor_antagonists_structure [2016,July23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ramosetron [2016,July23]
- http://www.mims.com/india/drug/info/ramosetron?type=full&mtype=generic [2016,July23]
- http://www.drugsupdate.com/generic/view/1111 [2016,July23]