รามิพริล (Ramipril)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 30 สิงหาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- รามิพริลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- รามิพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- รามิพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- รามิพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- รามิพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้รามิพริลอย่างไร?
- รามิพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษารามิพริลอย่างไร?
- รามิพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor)
บทนำ
ยารามิพริล (Ramipril) เป็นยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor) ที่นำมาใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงและอาการหัวใจล้มเหลว โดยตัวยาจะทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อในผนังหลอดเลือดฝอยจึงทำให้ความดันโลหิตลดลงและเลือดไหลเวียนได้ดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการ นำยารามิพริลไปรักษาอาการโรคไตในผู้ป่วยโรคเบาหวานและยังใช้เป็นยาป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัว ใจขาดเลือด
ยานี้มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตและห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะ โรคไตอย่างรุนแรง การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์อาจเป็นสาเหตุให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้
ผลข้างเคียงจากยานี้ที่พบและดูเป็นปัญหากับผู้ป่วยได้แก่ อาการไอแห้งๆ คลื่นไส้ เป็นลม ซึ่งอาการเหล่านี้รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน หากพบอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงดังกล่าวผู้ป่วยควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนการรักษา
นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาการกระจายตัวยารามิพริลในร่างกายมนุษย์พบว่า ตัวยานี้ดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 50 - 60% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 73% ตัวยาจะถูกลำเลียงไปยังตับและเกิดการเผาผลาญและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีจากยารามิพริลไปเป็นสารรามิไพรแลต (Ramiprilat) ซึ่งเป็นตัวออกฤทธิ์ (Active metabolite) ร่าง กายต้องใช้เวลาประมาณ 13 - 17 ชั่วโมงในการกำจัดยาครึ่งหนึ่งทีได้รับออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ขนาดการใช้ยานี้กับผู้ป่วยแต่ละกลุ่มอาการมีความแตกต่างกัน ในการใช้ยาได้อย่างปลอดภัย แพทย์จะต้องตรวจคัดกรองความรุนแรงของโรค สุขภาพของผู้ป่วย อีกทั้งมีการแพ้ยาหรือไม่ เข้ามาให้พิจารณาด้วยเช่นกันจึงจะมีคำสั่งจ่ายยานี้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
รามิพริลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยารามิพริลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- รักษาอาการหัวใจล้มเหลว
- รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- รักษาการทำลายไตของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
รามิพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยารามิพริลมีกลไกการออกฤทธิ์คือ เมื่อตัวยาเข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะยังไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ ต้องถูกตับเปลี่ยนโครงสร้างของโมเลกุลไปเป็นสารรามิไพรแลต (Ramiprilat) ซึ่งจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสาร Angiotensin I ไปเป็นสาร Angiotensin II และยังทำให้สารรีนิน (Renin) ทั้ง หมดเป็นสารเกี่ยวข้องกับการหดและขยายตัวของหลอดเลือดในกระแสเลือดแสดงฤทธิ์ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลลดปริมาณฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการคั่งของน้ำและเกลือโซเดียมในร่างกาย จากกลไกเหล่านี้จึงส่งผลให้หลอดเลือดเกิดอาการคลายตัว ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง และก่อให้เกิดผลดีต่อภาวะหัวใจล้มเหลว
รามิพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยารามิพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาแคปซูล ขนาด 1.25, 2.5, 5 และ 10 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ด ขนาด 1.25, 2.5, 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด
รามิพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยารามิพริลมีขนาดรับประทานขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ขนาดยาจึงขึ้นกับดุล พินิจของแพทย์ผู้รักษา ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะกรณีทั่วไปของการใช้ยานี้ในโรคความดันโลหิตสูงและในภาวะหัวใจล้มเหลวดังนี้เช่น
ก.สำหรับความดันโลหิตสูง:
- ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป: รับประทาน 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้ง ระดับการใช้ยาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 - 5 มิลลิกรัมครั้งเดียวต่อวัน แต่หากจำเป็นแพทย์สามารถปรับให้รับประทานยานี้ได้สูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน
ข.สำหรับหัวใจล้มเหลว:
- ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป: รับประทาน 1.25 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุด 10 มิลลิกรัม/วัน หากต้องรับประทานยาตั้งแต่ 2.5 มิลลิกรัมขึ้นไป/วันให้แบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง/วัน
*อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: สำหรับการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณาการใช้เท่านั้นด้วยมีข้อจำกัดหลายประการในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยารามิพริล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยารามิพริลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยารามิพริลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับ ประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
รามิพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยารามิพริลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีภาวะลมพิษขึ้นที่หน้าและลิ้น เกิดภาวะดีซ่าน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ วิงเวียน ความดันโลหิตต่ำ มีภาวะไอแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตรวจเลือดพบค่าไตทำงานผิดปกติ มีภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดสูง และเกิดภาวะโลหิตจาง
อนึ่งการได้รับยานี้เกินขนาดจะพบอาการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ (เป็นลม ชีพจรเต้นเบา ซีด) มีภาวะช็อก หัวใจเต้นช้า มีภาวะไตวาย หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน สถานพยาบาลอาจใช้วิธีล้างท้องเพื่อกำจัดยาส่วนเกินออกจากกระเพาะอาหาร-ลำไส้และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์จนกว่าสภาพร่างกายจะกลับปกติ
มีข้อควรระวังการใช้รามิพริลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยารามิพริลเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยโรคไตที่มีภาวะโรคเบาหวานร่วมด้วย
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และระวังการใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นลมพิษหรือที่เรียกว่า Angioedema
- ระวังการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำระหว่างใช้ยานี้
- ระวังเกิดความเสียหายต่อไต-ตับของผู้ป่วยที่ใช้ยานี้
- การใช้ยานี้ต้องคอยควบคุมความดันโลหิตและระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดให้ปกติอยู่เสมอตามแพทย์ผู้รักษาแนะนำ
- แพทย์อาจตรวจเลือดเป็นระยะๆเพื่อควบคุมดูแลการทำงานของไตเมื่อใช้ยารามิพริลในช่วงสัปดาห์แรก
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยารามิพริลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
รามิพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยารามิพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยารามิพริลร่วมกับยาลดความดันโลหิตตัวอื่นหรือยาขับปัสสาวะใดๆก็ตามอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยารามิพริลร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs จะเพิ่มความเสี่ยงให้ไตทำงานผิดปกติจึงควรหลีก เลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยารามิพริลร่วมกับยา Lithium ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับพิษจาก Lithium ติด ตามมา
- การใช้ยารามิพริลร่วมกับยา Spironolactone อาจเพิ่มระดับเกลือโพแทสเซียมในกระแสเลือดให้มากยิ่งขึ้นส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกสับสน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษารามิพริลอย่างไร?
ควรเก็บยารามิพริลในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
รามิพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยารามิพริลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Acetate (เอซีเทต) | Pond’s Chemical |
Corpril (คอร์พริล) | Ranbaxy |
Gempril (เจมพริล) | M. J. Biopharm |
Mediram (มิดิแรม) | Mediorals |
Ramicard (รามิคาร์ด) | J.B. Chemicals |
Ramiril (รามิริล) | Mylan |
Tritace (ไตรเทส) | sanofi-aventis |
Tritazide (ไทรทาไซด์) | sanofi-aventis |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ramipril [2015,Aug15]
- http://www.drugs.com/ramipril.html [2015,Aug15]
- https://www.mims.com/India/drug/info/ramipril/ [2015,Aug15]
- https://www.mims.com/India/drug/info/ramipril/?type=full&mtype=generic#Actions [2015,Aug15]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Tritace/?type=brief [2015,Aug15]
- http://www.medicinesforchildren.org.uk/ramipril-high-blood-pressure [2015,Aug15]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/ramipril-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Aug15]
- http://www.mims.co.uk/drugs/cardiovascular-system/mi-lvd/ramipril [2015,Aug15]