รากฟันเถื่อน (ตอนที่ 2 และตอนจบ)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 22 มิถุนายน 2562
- Tweet
รากฟันเทียมเหมาะกับผู้ที่สูญเสียฟันธรรมชาติไปและอยากทำให้รูปลักษณ์กลับมาดูดีและใช้งานเคี้ยวได้ มักใช้กับผู้ที่อายุ 18 ปี ขึ้นไป เพราะกระดูกมีการพัฒนาที่เต็มที่แล้ว
โดยผู้ที่ทำจะต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีปัญหาเรื่องฟันผุหรือเหงือกอักเสบ เพราะอาจมีปัญหาเรื่องความเสี่ยงของการติดเชื้อจากการทำรากฟันเทียม
ทั้งนี้ การทำรากฟันเทียมมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. การตรวจสภาพช่องปาก ด้วยการเอกซเรย์ฟันเพื่อดูปริมาณกระดูกและรากฟันซี่ข้างเคียง พิมพ์ปาก วางแผนการรักษา และแก้ไขปัญหาในช่องปากให้พร้อมกับการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม ซึ่งได้แก่ การอุดฟันผุซี่ที่ใกล้เคียง ขูดหินปูน และในรายที่มีโรคเหงือกอักเสบหรือปริทันต์อักเสบ ต้องได้รับการรักษาให้หายดีก่อน
2. ผ่าตัดฝังตัวรากเทียม (Insertion of the implant) ลงไปในกระดูก โดยการผ่าตัดมักทำภายใต้การฉีดยาชาเฉพาะที่ หลังจากนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่ต้องรอให้ตัวรากเทียมยึดติดกับกระดูกขากรรไกรให้สมบูรณ์ ทั้งนี้ระยะเวลาขึ้นอยู่กับชนิดและคุณสมบัติของรากเทียมที่ใช้งาน
3. เมื่อรากเทียมยึดติดกับขากรรไกรเรียบร้อยถาวรแล้ว ก็จะทำการผ่าตัดอีกครั้ง ซึ่งการผ่าตัดครั้งนี้แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อติดตัวเสริมหรือที่เรียกว่า เดือยรองรับฟัน ให้เข้ากับรากฟันเทียมของคนไข้ ซึ่งตัวเดือยฟันนี้จะเป็นตัวที่จะใช้ในการให้สะพานฟันหรือฟันปลอมยึดไว้
4. ใส่ครอบฟัน ซึ่งเป็นวัสดุเทียมที่ลอกเลียนสีและรูปร่างของฟันธรรมชาติไว้แล้ว (Implant crown หรือ Acrylic denture)
อย่างไรก็ดี รากฟันเทียมอาจไม่เหมาะกับ
- กรณีที่กระดูกขากรรไกรมีความหนาไม่พอในการติดตั้ง
- ผู้ที่มีปัญหาเรื่องความผิดปกติของลิ่มเลือด
- เป็นโรคบางชนิดที่เกี่ยวกับกระดูก
- มีระบบภูมิต้านทานบกพร่อง
- ผู้ที่เสพยา
- ผู้ที่สูบบุหรี่
แหล่งข้อมูล:
- Implants. https://www.dentalhealth.org/dental-implants[2019, Jun 21].
- Dental Implants. https://www.efp.org/patients/dental-implants.html [2019, Jun 21].