
รักษ์สุขภาพ - ตอนที่ 8 อนุมูลอิสระ (2)
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 12 มีนาคม 2568
- Tweet
- วิถีการใช้ชีวิต (Life style) กลางแจ้ง (Outdoor) จะช่วยให้คนเราได้รับแสงแดดและแสงสะท้อนจากต้นไม้ใบหญ้า (Greenery)
- การได้กินอาหารพืชที่หลากหลาย (Variety) เช่น หลากสี (Color), หลากรส (Taste), และหลากฤดูกาล (Season)
- การหลีกเลี่ยงสารพิษ (Toxin) ในสิ่งแวดล้อม ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งบุหรี่ (Cigarette) และควันไอเสีย (Exhaust fume)
- การลดภาวะเครียด (Stress) เป็นสิ่งพึงปรารถนา
ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่จะช่วยให้สุขภาพดี และช่วยพลิกผัน (Reverse) โรคเรื้อรัง (Chronic) ผ่านกลไก (Mechanism) การต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ในร่างกายของคนเรา
กลไกหนึ่งของการก่อโรคเรื้อรังโดยอนุมูลอิสระ (Free radical) คือการที่มันไปทำปฏิกิริยากับไขมันเลว (Low density lipoprotein: LDL) ที่ผนังหลอดเลือด แล้วทำให้เกิดการอักเสบ (Inflammation) ที่หลอดเลือด ซึ่งนำไปสู่หลอดเลือดอุดตัน ตามอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ (Heart), สมอง (Brain), และไต (Kidney)
โมเลกุล (Molecule) ของ LDL ส่วนมากเป็นไขมันอิ่มตัว (Saturated fat) โดยตรง แต่ก็มีที่สร้างขึ้น ณ ตับจากพลังงาน (Acetyl-coA) ที่ร่างกายได้จากอาหาร เมื่อ 2 ตัวนี้อยู่พร้อมกันในร่างกาย อนุมูลอิสระก็จะไปดึงอิเล็กตรอน (Electron) จากโมเลกุล LDL ทำให้มันกลายเป็นโมเลกุลอันตราย เรียกว่า Oxidized LDL (OxLDL)
ระบบร่างกายจะตอบสนอง (Respond) ต่แสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการเรียกเซลล์เม็ดเลือดขาว (White blood cell) ชื่อ แมคโครฝาจ (Macrophage) มาเก็บกิน เพื่อทำลายเสีย แต่เมื่อ OxLDL มีมากเหลือเกิน กระบวนการ (Process) เก็บทำลายนี้ จะทำให้เกิดการอักเสบเฉพาะที่ผนังหลอดเลือด (Aerial wall) ขึ้น
ในขณะเดียวกัน แมคโครฝาจ ก็เก็บกินจนตัวมันเอง จนท้องแตกตายไปตามๆ กัน กลายเป็นซากศพแมคโครฝาจที่เต็มไปด้วย คอลเลสเตอรอล (Cholesterol) พอกอยู่บนผนังด้านในของหลอดเลือด เป็นตุ่มเรียกว่า พลัก (Plaque) คลอเลสเตอรอลที่กองสะสม (Accumulate) ไขมัน โตขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดทำให้รูหลอดเลือด (Blood vessel) ตีบตัน
แต่ยังไม่ทันตัน เพราะมีเยื่อบุ (Mucosa) ด้านในของหลอดเลือดคลุมตุ่มเอาไว้ ทำให้ผิวตุ่มเรียบ และเลือดพอวิ่งผ่านไปได้ เมื่อนานไป ร่างกายก็จะพยายามซ่อมแซม (Repair) โดยค่อยๆ ใส่พังผืด (Membrane) เข้ามาแทรก และเอาแคลเซี่ยม (Calcium) เข้ามาเสริม ทำให้ผนังหลอดเลือดแข็งเหมือนหิน เรียกว่า โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
กระบวนการอักเสบใช้เวลานานหลายปีถึงหลายสิบปี เมื่อมีปัจจัยเสริม เยื่อบุที่คลุมผิวตุ่มไขมันนี้ จะแตกออก ทำให้ผิวที่บุไว้ดี กลายเป็นไม่เรียบ (Uneven) แล้วเป็นเหตุให้เลือดก่อตัวเป็นลิ่ม (Clot) และอุดตัน (Block) หลอดเลือดตรงจุดนั้น จนเลือดไหลผ่านไม่ได้ อวัยวะปลายทาง (Destination) จึงขาดเลือดอย่างสิ้นเชิง
แหล่งข้อมูล
- สันต์ ใจยอดศิลป์, นพ. (2560). สุขภาพดีด้วยตัวคุณเอง: Good Health by Yourself (eBook). พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.
- สันต์ ใจยอดศิลป์, นพ. และ พญ. ดร. พิจิกา วัชราภิชาต (2566). Healthy Life Bible คัมภีร์สุขภาพดี: สุขภาพดีได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: บริษัท ฟรีมาย์ พับลิชชิ่ง จำกัด.