ระวังภัย ไอโอดีนไม่เพียงพอ (ตอนที่ 5)

นายวิทยา บุรณศิริ รมว.กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ สธ. ให้ความสำคัญต่อการกำหนดให้เกลือที่ใช้บริโภคทั้งคนและสัตว์ทุกชนิด ต้องเป็นเกลือเสริมไอโอดีน โดยได้ออกกฎหมาย ให้เกลือบริโภคต้องมีปริมาณไอโอดีน 20 - 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สร้างศูนย์เรียนรู้การผลิตเกลือบริโภค เสริมไอโอดีนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและ ภาคเหนือ

นอกจากนี้ สธ. ยังส่งเสริมไอโอดีนในน้ำดื่มในพื้นที่ทุรกันดาร ในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ [รวมทั้งความปลอดภัย] ตลอดจนความตระหนักเรื่องไอโอดีนที่มีผลต่อพัฒนาการเด็กให้สมวัยและสมสติปัญญา

ไอโอดีน (Iodine) มีความปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ เมื่อกินตามปริมาณที่แนะนำ แต่บางคนก็อาจมีผลข้างเคียง (Side effects) ซึ่งได้แก่ อาการคลื่นไส้ (Nausea) และปวดท้อง (Stomach pain) น้ำมูกไหล (Runny nose) ปวดหัว การได้รับรสชาติผิดปกติ รู้สึกเป็นรสโลหะ (Metallic taste) และอุจจาระร่วง/ท้องเสีย (Diarrhea)

ในคนที่ไวต่อไอโอดีนมากเกินปกติ (Sensitive) ไอโอดีนให้ผลข้างเคียงอื่นๆ อาทิ อาการบวมที่ริมฝีปากและใบหน้า (Angioedema) เลือดไหลไม่หยุด (Severe bleeding) มีรอยฟกช้ำ (Bruising) มีไข้ เจ็บข้อต่อของกระดูก ต่อมน้ำเหลืองโต (Llymph node enlargement) มีปฏิกิริยาภูมิแพ้ (Allergic reaction) ซึ่งรวมทั้งอาการลมพิษ (Hives) และอาจถึงแก่ความตาย ได้ด้วย

ไอโอดีนในปริมาณมาก หรือใช้ไอโอดีนเป็นเวลายาวนาน อาจไม่ปลอดภัย จึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง ผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ไอโอดีนเกินกว่า วันละ 1,100 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่ยอมรับกันได้ (Upper tolerable limit : UL) โดยไม่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์

ในเด็ก ปริมาณ (Dose) ไอโอดีนไม่ควรเกินวันละ 200 ไมโครกรัม สำหรับเด็กเล็กระหว่าง 1 ถึง 3 ปี ปริมาณไอโอดีนไม่ควรเกินวันละ 300 ไมโครกรัม สำหรับเด็กโตระหว่าง 4 ถึง 8 ปี ปริมาณไอโอดีนไม่ควรเกินวันละ 600 ไมโครกรัม สำหรับเด็กเล็กระหว่าง 9 ถึง 13 ปี และปริมาณไอโอดีนไม่ควรเกินวันละ 900 ไมโครกรัม สำหรับวัยรุ่น (Adolescent)

ในเด็กและผู้ใหญ่ การเพิ่มปริมาณไอโอดีนเข้าสู่ร่างกาย (Intake) จะเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียง อาทิ ปัญหาไทรอยด์ (Thyroid) รสโลหะ เจ็บ/แสบ ฟันและเหงือก ปากและคอแห้ง (Burning in mouth and throat) อาจมีน้ำลายที่เพิ่มขึ้น คอบวม ท้องไส้ปั่นป่วน (Stomach upset) อุจจาระร่วง ซึมเศร้า (Depression) และปัญหาทางผิวหนัง/ขึ้นผิ่น

เมื่อใช้ไอโอดีนกับผิวโดยตรง ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะอาจเป็นสาเหตุของการคันตามผิวหนัง (Skin irritation) จุดด่าง (Stains) ปฏิกิริยาภูมิแพ้ และผลข้างเคียงอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องระวังมิให้พันแผล (Bandage) หรือปิดบริเวณที่ใช้ไอโอดีนในการรักษาจนแน่น เพื่อหลีกเลี่ยงการเผาไหม้ของไอโอดีน (Iodine burn) ส่วนไอโอดีนเฉพาะที่ (Topical) ในรูปสารละลาย 2% ปลอดภัยสำหรับใช้ทาผิวหนัง

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.xเดินหน้าพัฒนาเด็กไทยโตสมวัย เร่งขจัดโรคขาดสารไอโอดีน หลังพบไอคิวยังต่ำกว่าเกณฑ์ http://www.naewna.com/local/23321 [2012, September 30].
  2. Iodine. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/natural/35.html [2012, September 30].