ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ตอน การส่งต่อเมื่อจำเป็น ไม่ต้องกังวล

ระบบสุขภาพ-8


      

      เมื่อมีการเจ็บป่วยก็มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ตามสิทธิ์การรักษาบัตรทอง หรือประกันสังคม อย่างไรก็ตามเมื่อแพทย์ได้ประเมินอาการเจ็บป่วยแล้วพบว่าไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้ หรือไม่สามารถให้การรักษาได้ที่โรงพยาบาล หรือให้การรักษาได้ แต่รักษาแล้วอาการเจ็บป่วยไม่ดีขึ้นเลย แพทย์ก็จะทำการประสานการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่สูงกว่า เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งขั้นตอนในการส่งต่อนั้นทางโรงพยาบาลใกล้บ้านจะเป็นผู้ดำเนินการให้อย่างเหมาะสม แต่เราก็พบว่าผู้ป่วย และญาติมักไม่ค่อยสบายใจในระบบการส่งต่อ ทำให้เกิดปัญหาระหว่างผู้ป่วย ญาติกับทางโรงพยาบาลได้บ่อย ๆ เหตุเพราะอะไร ผมพอที่จะสรุปเหตุได้ ดังนี้

      1. ผู้ป่วยและญาติไม่ไว้วางใจ หรือไม่มั่นใจในการรักษาของโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน มีความเชื่อว่าโรงพยาบาลใหญ่ต้องรักษาได้ดีกว่าโรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีขนาดเล็กกว่า มีความพร้อมต่ำกว่า

      2. ผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นตามที่คาดหวังไว้ ทำให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความกังวลใจว่าทำไมอาการไม่ดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษาแล้ว จึงอยากให้มีการส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่

      3. อาจเกิดจากปัญหาการสื่อสารระหว่างทีมผู้ให้การรักษากับผู้ป่วยและญาติ ซึ่งปัญหาการสื่อสารนั้นเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะผู้ป่วยและญาติมีความเชื่อมั่น หรือไว้วางใจต่อโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านไม่สูง

      4. อาจเกิดจากการประสานงานที่ไม่รวดเร็ว หรือไม่ราบรื่น เช่น ไม่สามารถส่งตัวผู้ป่วยได้ทันทีที่ต้องการ ข้อมูลการส่งต่อไม่สมบูรณ์

      5. เมื่อผู้ป่วยถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลจังหวัดแล้วอาการก็ไม่ดีขึ้น แต่กลับทรุดลง ย่อมก่อให้เกิดปัญหาในการส่งต่ออย่างแน่นอน

      ผมเองเพียงแค่พยายามหาเหตุของการเกิดปัญหาในการส่งต่อ อยากอธิบายให้คนไทยเข้าใจ ผมอยากให้คนไทยมีความไว้วางใจระบบการส่งต่อมากขึ้น รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องก็ต้องพัฒนาระบบการส่งต่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย