ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ตอน รถบริการรักษาโรคอัมพาตเคลื่อนที่

ระบบสุขภาพ-20


      

      ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินข่าวว่าโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมีรถบริการรักษาโรคอัมพาตเคลื่อนที่ (stroke mobile unit) พร้อมที่จะให้การรักษาผู้ป่วยสงสัยโรคอัมพาตถึงที่เกิดเหตุ ทุกคนต้องดีใจที่ประเทศไทยมีการรักษาที่ยอดเยี่ยม บริการถึงที่เลย และก็อาจเข้าใจว่าการรักษาย่อมได้ผลดีกว่าการพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาล เพราะผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วกว่า ไม่ต้องเดินทาง ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวก็มีทั้งถูกและไม่ถูก ผมเลยอยากอธิบายให้ทุกคนเข้าใจมากยิ่งขึ้นในเรื่องดังกล่าว และชี้ให้ทุกคนเห็นว่าถ้ามีอาการเจ็บป่วยสงสัยโรคอัมพาต การรักษาแบบไหนเหมาะสมกว่ากันในแต่ละสถานการณ์ครับ

      รถบริการรักษาโรคอัมพาตเคลื่อนที่ก็คือรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่มีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พร้อมเครื่องมือในการตรวจของแพทย์ เครื่องมือการตรวจเลือด เครื่องมือสื่อสารระหว่างทีมตรวจรักษาบนรถกับทีมรักษาที่โรงพยาบาล เครื่องมือการให้น้ำเกลือ และฉีดยาเพื่อให้การรักษาเบื้องต้นได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยเร็วที่สุด เนื่องจากการรักษาโรคอัมพาตให้ได้ผลดีที่สุดนั้น จะต้องรีบตรวจรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อแยกโรคอัมพาตว่าเป็นโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือด หรือเลือดออกในสมอง กรณีเป็นสมองขาดเลือดถ้าไม่มีข้อห้ามในการให้ยาละลายลิ่มเลือด และญาติเห็นด้วยกับวิธีการรักษา ก็จะได้รีบให้การรักษาทันที เพราะปัจจัยที่ส่งผลการรักษาจะดีหรือไม่ดีนั้น ปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นจากระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการจนได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด เรียกว่ายิ่งเร็วที่สุดเท่าไหร่ ยิ่งดี ด้วยเหตุผลนี้จึงเกิดการคิดค้นระบบบริการ ทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง หรือ stroke fast track หรือ 270 นาทีชีวิต คือ ระบบบริการที่รวดเร็วเมื่อผู้ป่วยมีอาการก็พยายามให้ผู้ป่วยมาถึงห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด และเมื่อมาถึงห้องฉุกเฉินก็ได้รับการตรวจรักษาจากทีมแพทย์ พยาบาลอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้เนื้อสมองมีการขาดเลือดเป็นบริเวณน้อยที่สุด จะได้มีโอกาสหายเป็นปกติมากที่สุด หรือมีความพิการน้อยที่สุด

      แต่ในบางพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลได้ เช่น อยู่ไกลมาก ๆ เดินทางไปมาลำบากมาก หรือรถติดมาก ๆ เช่น ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เนื่องจากถ้าจะให้ผู้ป่วยเดินทางมาถึงโรงพยาบาลก็จะมาไม่ทันช่วงนาทีทอง 270 นาที หรือทันแต่ก็ล่าช้ามาก ถ้ามีรถบริการเคลื่อนที่วิ่งไปหาผู้ป่วยถึงที่เกิดเหตุนั้นได้ หรือวิ่งไปพบกันกลางทาง เช่น ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติห่างจากโรงพยาบาล 200 กิโลเมตร โรงพยาบาลมีรถบริการเคลื่อนที่ก็ขับรถไปหาผู้ป่วย ด้านผู้ป่วยก็เดินทางมาพบรถบริการเคลื่อนที่ เช่น พบกันที่สถานบริการน้ำมันที่อยู่ระหว่างทางของทั้ง 2 ฝ่าย การทำแบบนี้ก็จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วที่สุด

      ดังนั้นการรักษาด้วยรถบริการเคลื่อนที่นี้ก็จะเหมาะกับสถานการณ์การเดินทางด้วยความลำบาก เพราะรถติดมากในกรุงเทพและปริมณฑล หรือที่ที่ห่างไกลมาก จะใช้การเคลื่อนย้ายทางอากาศก็ลำบาก ค่าใช้จ่ายสูงมาก ถ้ามีรถบริการเคลื่อนที่แบบนี้ก็จะดีที่มาพบกันครึ่งทาง โดยให้โรงพยาบาลนำส่งผู้ป่วย และรถบริการเคลื่อนที่ก็ขับรถไปหาผู้ป่วยด้วย ถ้ามีอาการผิดปกติสงสัยโรคอัมพาตก็รีบแจ้งเตือนโรงพยาบาลที่มีระบบการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดที่อยู่ใกล้ที่สุด หรือโรงพยาบาลที่มีรถบริการเคลื่อนที่ดังกล่าว แล้วประสานกันว่าวิธีไหนที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้เร็วที่สุด ก็เลือกวิธีนั้นครับ

      ดังนั้นรถบริการเคลื่อนที่นี้จะมีประโยชน์เฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น ไม่ได้ประโยชน์ทั่วไปครับ