ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ตอน สิทธิการรักษา 3 สิทธิ์แตกต่างกันจริงหรือ?
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 2 สิงหาคม 2562
- Tweet
การรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยของคนไทยนั้นในปัจจุบันมี 3 สิทธิการรักษาที่คอยดูแลคนไทยทั่วทั้งประเทศ ได้แก่
1. สิทธิการรักษาข้าราชการ คอยดูแลผู้ที่ปฏิบัติราชการ และครอบครัว คือ พ่อ แม่ของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่อายุไม่เกิน 20 ปี
2. สิทธิการรักษาประกันสังคม คอยดูแลผู้ที่ทำงานในภาคเอกชน บริษัท โรงงานต่าง ๆ หรือหน่วยงานในสังกัดของรัฐที่ไม่ใช่ข้าราชการ
3. สิทธิการรักษาบัตรทอง คอยดูแลคนไทยที่ไม่มีสิทธิในข้อที่ 1 และ 2 ข้างต้น
4. กลุ่มที่เหลือที่ไม่มีสิทธิการรักษา เช่น ไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก คนไทยชายขอบประเทศ เป็นต้น
สิ่งที่คนส่วนใหญ่มีข้อสงสัย คือ ทั้ง 3 สิทธิ์นั้นครอบคลุมการรักษาพยาบาลแตกต่างกันหรือไม่ ผมขอเล่าให้ฟัง เพื่อความชัดเจน ดังนี้
1. การครอบคลุมการรักษาในสิ่งที่จำเป็น และเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาของการเจ็บป่วยนั้นไม่มีความแตกต่างกัน อะไรที่จำเป็นก็จะได้รับการดูแลหมดครับ ไม่ว่าการรักษานั้นจะมีค่าใช้จ่ายสูงเพียงใด เช่น การตรวจเอ็มอาร์ไอ การฟอกเลือด การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดสมอง การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เป็นต้น ผมย้ำว่าไม่ได้ขึ้นกับค่ารักษาว่าถูก หรือแพง แต่ขึ้นกับความจำเป็นในการรักษา และการรักษานั้นถูกพิสูจน์แล้วว่าได้ประโยชน์จริง ไม่มีทางเลือกอื่น ๆ ในการรักษา
2. ยาที่ใช้ในการรักษาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทุกสิทธิการรักษาครอบคลุมหมด ย้ำว่าไม่เกี่ยวกับค่ารักษาที่มูลค่าเท่าใด เช่น ยาอิมมูโนกลอบบูลิน ราคาเกือบ 3 แสนบาทต่อการรักษา 1 ครั้งนาน 5 วัน ก็ครอบคลุมหมดทั้ง 3 สิทธิการรักษา ในการรักษาโรคที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าได้ประโยชน์จริง ๆ และถูกกำหนดในแนวทางการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของรัฐ หรือยารักษาโรคมะเร็งที่มีค่าใช้จ่ายสูงก็ครอบคลุม
3. สิ่งที่ต่างกันระหว่าง 3 สิทธิการรักษานั้น มีเฉพาะในส่วนของยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ การรักษาด้วยหัตถการที่ไม่ได้ถูกกำหนดในแนวทางการรักษาที่มีหลักฐานทางการแพทย์ระดับ 1 คือ มีการพิสูจน์แล้วว่าได้ประโยชน์จริง ๆ ด้วยการศึกษาทางการแพทย์ขนาดใหญ่ ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการอาจได้สิทธิการรักษานี้ แต่สิทธิประกันสังคม และบัตรทองอาจไม่ครอบคลุม
4. ยาหรือการทำหัตถการต่าง ๆ ที่อยู่ในระหว่างการศึกษานั้น สิทธิข้าราชการอาจมีโอกาสได้รับการครอบคลุม ขึ้นอยู่กับแพทย์หรือคณะกรรมการพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่ใช้การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยจะมีอันตรายถึงกับชีวิต
ดังนั้นการรักษาส่วนใหญ่ ผมประมาณว่าน่าจะมากกว่าร้อยละ 95 นั้นทุกสิทธิการรักษานั้นครอบคลุมหมด แต่ในส่วนที่เหลือก็มีความต่างกัน ซึ่งผมอยากให้ทุกคนยอมรับความแตกต่างส่วนนี้ด้วย เพราะคงไม่มีอะไรที่ทุกคนจะได้รับเหมือนหรือเท่าเทียมกันทั้งหมด ย้ำอีกครั้งความแตกต่างนั้นมีครับ แต่คนส่วนใหญ่นั้นแทบไม่ได้รับผลกระทบครับ