ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ตอน การตัดสินใจของหมอในการรักษา ขึ้นกับสิทธิการรักษา?

ระบบสุขภาพ-15


      

      คนส่วนหนึ่งมีความเข้าใจว่าแพทย์ตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วยตามสิทธิการรักษาของผู้ป่วย เพราะในการตรวจรักษาแต่ละครั้งแพทย์จะสอบถามเสมอว่าสิทธิการรักษาคืออะไร ผมว่าด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ผู้ป่วยคิดว่าแพทย์ตัดสินใจให้การรักษาตามสิทธิการรักษา จริงแล้วแพทย์ตัดสินใจให้การรักษาด้วยเหตุผลใดกันแน่ ผมขออธิบายดังนี้

      1. กรณีฉุกเฉินที่มีอันตรายต่อชีวิต การตัดสินใจในการรักษาไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิการรักษาเลย แม้กระทั่งไม่รู้จักว่าเป็นใคร คนไทยหรือคนชาติอื่น ๆ เป็นผู้ร้ายหรือเปล่า เป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือไม่ ก็ไม่ได้มีผลต่อการรักษาของทีมแพทย์ พยาบาลเลย ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุดเหมือนกันทุกคน

      2. กรณีไม่ฉุกเฉินแพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมก่อนเป็นอันดับแรก ต่อจากนั้น แพทย์จะพิจารณาว่าใช้สิทธิการรักษาใด เพราะแต่ละสิทธิการรักษาก็จะมีแนวทางในการรักษาพยาบาลแตกต่างกัน เช่น สิทธิการรักษาประกันสังคม ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลขึ้นทะเบียนประกันตนไว้ก่อน เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติ แต่ถ้าฉุกเฉินก็สามารถรักษาที่ไหนก็ได้ ดังที่กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้สทธิการรักษาที่ต่างกัน ก็จะมีรายละเอียดของวิธีการรักษาที่แตกต่างกันเล็กน้อย เช่น สิทธิข้าราชการสามารถใช้ยานอกบัญชีบางชนิดได้ บางชนิดไม่ได้ สิทธิการรักษาประกันสังคม ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาหรือวิธีการรักษาที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติหรือการรักษาที่ยังไม่ได้ระบุว่าสามารถใช้สิทธิการรักษานั้น ๆ ได้ ก็จะต้องมีการประสานกับทางโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยขึ้นทะเบียนไว้ก่อนเสมอ เช่นเดียวกับสิทธิการรักษาบัตรทองก็ต้องเป็นไปตามเกณฑ์หรือแนวทางการรักษาที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามผมขอย้ำว่าการรักษาใด ๆ ที่เป็นไปตามมาตรฐานนั้นและมีความจำเป็นในการรักษา ถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนั้น และไม่มีทางเลือกอื่น ๆ เลย ทุกสิทธิการรักษามักจะครอบคลุม แต่ถ้ามีทางเลือกในการรักษาระหว่างการรักษาที่อยู่ในบัญชียาหลัก หรือวิธีการรักษาที่แต่ละสิทธิระบุไว้ ก็ต้องใช้ยาในบัญชียาหลักหรือการรักษาที่ถูกระบุไว้ก่อนเสมอ

      3. กรณีที่แพทย์ตัดสินใจแล้วว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลนอกสิทธิการรักษานั้น ในแต่ละโรงพยาบาลก็จะมีแนวทางในการหาทางช่วยเหลือผู้ป่วย ด้วยการใช้งบประมาณที่ได้มีผู้บริจาคสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านค่าใช้จ่าย หรืองบประมาณในส่วนที่มีการตั้งงบประมาณไว้สำหรับผู้ป่วยดังกล่าว ซึ่งส่วนนี้ในแต่ละโรงพยาบาลก็มีแนวทางที่แตกต่างกันไปบ้างในการพิจารณา ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้านการเงินของแต่ละโรงพยาบาล

      ดังนั้นการที่แพทย์หรือเจ้าหน้าที่สอบถามเรื่องสิทธิการรักษานั้น ก็เพื่อให้การรักษานั้นเป็นไปด้วยความราบรื่นในแนวทางการรักษา มิใช่เพื่อตัดสิทธิในการรักษา หรือเลือกวิธีการรักษาที่ค่าใช้จ่ายต่ำสำหรับบัตรทอง เพราะการกำหนดแนวทางการรักษานั้น ผู้ป่วยทุกคนจะต้องได้รับการรักษาที่ได้รับการพิสูจน์แล้วดี มีประโยชน์จริง ปลอดภัย ซึ่งก็ต้องมีความคุ้มค่าสูงในการรักษาด้วย ดังนั้นทั้ง 3 สิทธิการรักษานั้นมีมาตรฐานระดับที่ดีกับทุกสิทธิอยู่แล้ว ไม่อยากให้กังวลในเรื่องนี้จนเกิดความไม่ไว้ใจสิทธิการรักษาบางสิทธิ