ระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal system)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 11 กันยายน 2555
- Tweet
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร (Anatomy and physiology of alimen tary system)
- มะเร็ง (Cancer)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
- โรคตับ (Liver disease)
- ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
- ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis)
ระบบทางเดินอาหาร หรือเรียกย่อว่า ระบบจีไอ (GI system, Gastrointestinal system, หรือ Gastroenterology) ประกอบด้วยอวัยวะต่างๆมากมายได้แก่ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี และตับอ่อน ทั้งนี้เรียกแพทย์เฉพาะทางระบบนี้ว่า “หมอจีไอ” หรือ “หมอโรคทางเดินอาหาร” หรือ “อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหาร”
บางครั้งเรียกหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนบน (Duodenum) รวมกันว่า “ทางเดินอาหารตอนบน หรือระบบทางเดินอาหารตอนต้น (Upper GI tract)” และเรียกลำไส้เล็กตอนล่าง (Ileum) ลำไส้ใหญ่ ไปจนถึงทวารหนักว่า “ทางเดินอาหารตอนล่าง (Lower GI tract)”
- หลอดอาหาร ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของอาหารจากช่องปากและลำคอเข้าสู่กระเพาะอาหาร โรคที่เกิดกับอวัยวะนี้เช่น โรคกรดไหลย้อนและโรคมะเร็ง
- กระเพาะอาหาร ทำหน้าที่ย่อยอาหาร แต่มีอาหารบางประเภทสามารถดูดซึมได้ในกระเพาะอาหารเช่น น้ำ ยาบางชนิด และกรดอะมีโน (Amino acid) รวมทั้งบางส่วนของแอลกอฮอล์ โรคที่เกิดกับอวัยวะนี้เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคแผลในกระเพาะอาหาร และโรคมะเร็ง
- ลำไส้เล็ก ทำหน้าที่ดูดซึมอาหาร โรคที่พบเกิดกับอวัยวะนี้เช่น โรคลำไส้อักเสบ และท้องเสีย
- ลำไส้ใหญ่ ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของกากอาหารสู่ทวารหนักและปล่อยออกจากร่างกายทางอุจจาระ นอกจากนั้นในลำไส้ใหญ่ยังมีแบคทีเรียมากมายที่หมักกากอาหารและทำให้เกิดวิตามินสำคัญเช่น วิตามิน บี12 และวิตามิน เค ซึ่งถูกดูดซึมเข้าร่างกายทางลำไส้ใหญ่ โรคที่พบเกิดกับอวัยวะนี้เช่น โรคท้องเสีย โรคบิด โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง และโรคมะ เร็ง
- ทวารหนัก ทำหน้าที่เป็นที่พักกากอาหารก่อนปล่อยออกนอกร่างกายทางอุจจาระ โรคที่พบเกิดกับอวัยวะนี้เช่น โรคริดสีดวงทวาร โรคแผลรอยแยกขอบทวารหนัก โรคฝีคัณฑะสูตร และโรคมะเร็ง
- ตับ ทำหน้าที่ทำลายและกำจัดของเสียบางชนิดออกจากร่างกายทางน้ำดี นอกจากนั้นยังช่วยสร้างโปรตีนและสารบางชนิดที่ช่วยการแข็งตัวของเลือดเพื่อช่วยป้องกันเลือดออกมาก หรือออกไม่หยุด เกี่ยวข้องกับการสันดาป (การใช้พลังงาน) ของทั้งแป้ง ไขมัน และโปรตีน และยังช่วยสร้างน้ำย่อยอาหารโดยเฉพาะการย่อยอาหารไขมันโดยผ่านมาทางน้ำดีเช่นกัน โรคที่พบเกิดกับอวัยวะนี้เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ โรคตับแข็ง และโรคมะเร็ง
- ถุงน้ำดี มีหน้าที่เก็บกักน้ำดีจากตับเพื่อช่วยทำให้น้ำดีเข้มข้นมีประสิทธิภาพในการย่อยอาหารเพิ่มขึ้นก่อนนำส่งเข้าลำไส้เล็กผ่านทางท่อน้ำดี โรคที่พบเกิดกับอวัยวะนี้เช่น โรคนิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น
- ท่อน้ำดี มีหน้าที่นำน้ำดีจากตับและจากถุงน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กตอนบน โรคที่พบเช่น นิ่วที่หลุดจากถุงน้ำดีเข้ามาในท่อน้ำดีซึ่งส่งผลให้เกิดการปวดท้องอย่างรุนแรงได้ และโรคมะเร็ง
- ตับอ่อน ทำหน้าที่สร้างน้ำย่อยอาหารโดยเฉพาะอาหารไขมัน และเซลล์บางส่วนสร้างฮอร์โมนหลายชนิดที่สำคัญคือ ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) เพื่อควบคุมการใช้น้ำตาลของร่างกาย โรคที่เกิดกับอวัยวะนี้เช่น โรคเบาหวาน โรคตับอ่อนอักเสบ และโรคมะเร็ง
Updated 2015, Aug 22