รกน้อย (Accessory lobe of placenta)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

รกน้อยคืออะไร?

รก (Placenta) เป็นอวัยวะที่สำคัญสำหรับทารกในครรภ์มารดา รกเทียบเท่ากับเป็นปอดของทารกในขณะอยู่ในครรภ์มารดาเพราะเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนก๊าซและสารอาหารต่างๆจากแม่สู่ลูก โดยผ่านไปทางสายสะดือ ซึ่งการตั้งครรภ์ปกติที่มีทารกในครรภ์ 1 คนจะมีรก 1 อัน

รกปกติจะมี 1 อัน มีลักษณะเป็นแผ่นค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 22 เซนติเมตร (ซม.) หนาประมาณ 2 - 2.5 ซม. ความผิดปกติของรกสามารถพบได้หลายแบบเช่น รกแบ่งเป็น 2 ก้อน/อันเท่าๆกัน หรือแบ่งเป็นรกก้อนใหญ่และรกก้อนเล็ก หรือรกแบ่งเป็นหลายๆก้อน ซึ่งสาเหตุการเกิดความผิดปกติเหล่านี้บอกปัจจัยไม่ได้ชัดเจน หรืออาจเกิดเนื่องจากตอนฝังตัวของรกไปเกาะบนเนื้องอกมดลูก ทำให้รกบางส่วนไม่เจริญเติบโตหรือขาดหายไปเพราะเลือดไปเลี้ยงไม่พอทำให้รกส่วนนั้นไม่พัฒนาเป็นรกที่สมบูรณ์

ส่วนคำว่า “รกน้อย (Accessory lobe of placenta)” หมายถึง มีรกปกติอยู่แล้ว 1 อันและมีรกอีก 1 อันเพิ่มขึ้นมา (รวมเป็น 2 อัน) ซึ่งส่วนมากรกที่เพิ่มขึ้นมาจะมีขนาดเล็กกว่ารกที่ปกติ โดยหากมีเส้นเลือดเชื่อมกับรกอันใหญ่จะเรียกว่า “Succenturiate placenta” แต่หากไม่มีเส้นเลือดเชื่อมกับรกใหญ่จะเรียกว่า “Spurium placenta”

การเกิดรกน้อยเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งของรก อุบัติการณ์ของรกน้อยพบได้ประมาณ 2 ใน 1,000 ของการตั้งครรภ์

รกน้อยทำให้เกิดอาการอย่างไรบ้าง?

รกน้อย

รกน้อยทำให้เกิดอาการได้ดังนี้เช่น

ก. ระยะก่อนคลอด: อาการเช่น

1. ส่วนมากไม่มีอาการ มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์

2. รกน้อยทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเส้นเลือดสายสะดือทอดผ่านปากมดลูก (Vasa previa, ภาวะนี้พบน้อยมากที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการตกเลือดก่อนคลอด) และภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta previa)

3. มีเลือดออกทางช่องคลอดระหว่างการตั้งครรภ์ (ภาวะตกเลือดก่อนคลอด)

ระยะหลังคลอด: อาการเช่น

1. หากรกคลอดออกมาครบสมบูรณ์ทั้งรกใหญ่และรกน้อย มักไม่มีอาการผิดปกติ

2. ทำให้ตกเลือดหลังคลอด หากรกน้อยค้างอยู่ในโพรงมดลูกเพราะจะทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดี

3. มีน้ำคาวปลามากและ/หรือนานกว่าปกติเนื่องจากรกน้อยค้างอยู่ในโพรงมดลูก แล้วทำให้เกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูก (เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ)

ผู้มีภาวะรกน้อยแพทย์นัดตรวจครรภ์ตามตารางปกติไหม? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ในสตรีตั้งครรภ์ที่ตรวจพบมีรกน้อย หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) เช่น เลือดออก ทางช่องคลอดผิดปกติหรือมีทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ แพทย์จะนัดฝากครรภ์ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การฝากครรภ์) ตามปกติ แต่หากมีอาการผิดปกติต่างๆควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดโดยเร็วหรือทันที/ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการเช่น ถ้าเลือดออกทางช่องคลอดมากก็ควรต้องไปโรงพยาบาลทันที

แพทย์วินิจฉัยภาวะรกน้อยอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะรกน้อยได้โดย

1. ในกรณีที่ตั้งครรภ์ บางครั้งสามารถตรวจพบรกน้อยได้จากการตรวจพบโดยบังเอิญในการตรวจอัลตราซาวด์มดลูกเพื่อประเมินการตั้งครรภ์

2. ในกรณีหลังคลอดที่ผู้มาคลอดเพิ่งได้คลอดทารกและคลอดรก แพทย์ต้องตรวจรกหลังคลอดทุกราย ตรวจดูความสมบูรณ์ของรกว่ามีส่วนใดฉีกขาดหรือไม่ ตรวจดูเส้นเลือดว่ามีฉีกขาดหรือไม่ หากมีการฉีดขาดของเส้นเลือดที่ขอบรก (ซึ่งปกติเส้นเลือดจะไปไม่ถึงขอบรก) สันนิษฐานว่า อาจมีรกน้อยเหลือค้างอยู่ในโพรงมดลูก ซึ่งผู้ป่วยจะแสดงออกมาในรูปมดลูกหดรัดตัวไม่ดี ทำให้ตกเลือดหลังคลอด

3. ทำการตรวจอัลตราซาวด์มดลูก หากยังสงสัยว่ามีรกน้อยค้างในโพรงมดลูกหลังคลอด

รักษาภาวะมีรกน้อยอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะมีรกน้อยได้แก่

1. เมื่อวินิจฉัยได้ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ แพทย์จะใช้วิธีเฝ้าสังเกตอาการ จากนั้นรอจนถึงระยะคลอด แล้วตรวจสอบว่ารกคลอดออกมาครบหรือไม่

2. หากวินิจฉัยได้ตอนหลังคลอดและรกน้อยไม่คลอดออกมา แพทย์สามารถใช้วิธีล้วงรกออกมาได้ซึ่งบางครั้งอาจต้องทำการขูดมดลูกร่วมด้วย

3. หากวินิจฉัยได้เมื่อเวลาผ่านไปหลายวันแล้วหลังคลอดจากมีเลือดออกทางช่องคลอด/น้ำคาวปลาผิดปกติ และ/หรือมีการติดเชื้อในโพรงมดลูก/เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ ที่ต้องรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการขูดมดลูก

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะรกน้อย?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะรกน้อยได้แก่

1. สตรีที่เคยผ่าตัดคลอดบุตรหรือผ่าตัดในบริเวณมดลูก (เช่น ผ่าเนื้องอกมดลูก) ที่การผ่าตัดจะทำให้เกิดแผลเป็นที่เยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งอาจจะมีผลทำให้การพัฒนาของรกผิดปกติได้

2. สตรีที่มีเนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูกหรือในโพรงมดลูก หากรกมาเกาะบริเวณนี้อาจมีผลทำให้การพัฒนาของรกผิดปกติได้

ภาวะรกน้อยก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผู้ป่วยภาวะรกน้อยส่วนมากไม่มีอาการผิดปกติ ภาวะรกน้อยมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง แต่ผู้ป่วยส่วนน้อยมากที่ภาวะรกน้อยอาจก่อผลข้างเคียงได้เช่น เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิด

1. ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด

2. ภาวะรกเกาะต่ำ

3. ภาวะสายสะดือไม่เกาะที่ตัวเนื้อรกเหมือนในภาวะปกติแต่ไปเกาะที่เนื้อเยื่อหุ้มรกแทน ซึ่งเรียกภาวะผิดปกตินี้ว่า”Velamentous cord insertion” ที่อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก จนทำให้เกิดทารกคลอดก่อนกำหนด หรือเกิดหลอดเลือดรกฉีกขาดขณะคลอดส่งผลให้เกิดภาวะตกเลือดอย่างรุนแรงขณะคลอดจนอาจส่งผลต่อการเสียชีวิตของทารกและ/หรือของมารดาได้

4. ภาวะรกเสื่อมทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่ดี ทำให้ทารกเจริญเติบโตไม่เต็มที่/เจริญเติบโตผิดปกติ

ภาวะรกน้อยมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ส่วนมากของผู้ป่วยภาวะรกน้อยมีการพยากรณ์โรคที่ดี ผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีปัญหาหรือมีอาการผิดปกติ ยกเว้นผู้ป่วยกลุ่มที่รกน้อยทำให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำหรือภาวะ Velamentous cord insertion ที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดการตกเลือดทางช่องคลอดอย่างมากในระหว่างการคลอดจนอาจเป็นสาเหตุให้ทั้งมารดาและ/หรือทารกเสียชีวิตได้

ผู้มีภาวะรกน้อยควรดูแลตนเองอย่างไรระหว่างตั้งครรภ์?

การดูแลตนเองของสตรีที่มีภาวะรกน้อยระหว่างตั้งครรภ์คือ ควรคอยสังเกตอาการว่ามีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่ หรือมีทารกในครรภ์เจริญเติบโตตามเกณฑ์หรือ ไม่เช่น ท้องไม่โตขึ้นหรือทารกไม่ดิ้น เป็นต้น ซึ่งถ้าพบมีอาการผิดปกติควรต้องรีบพบสูตินรีแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็วไม่ต้องรอจนถึงวันนัด

ผู้มีภาวะรกน้อยควรดูแลตนเองอย่างไรหลังคลอด?

การดูแลตนเองหลังคลอดของผู้มีภาวะรกน้อยคือ การดูแลตนเองเช่นเดียวกับในสตรีหลังคลอดปกติทั่วไป (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะหลังคลอด) ยกเว้นหากได้รับการขูดมดลูกก็จะมีโอกาสเกิดการติดเชื้อในเยื่อบุโพรงมดลูกมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการขูดมดลูก ซึ่งผู้มีการขูดมดลูกต้องรับประทานยาต่างๆโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งอย่างถูกต้อง ไม่หยุดยาเองหรือไม่ขาดยา

นอกจากนั้นควรสังเกตอาการผิดปกติต่างๆเช่น น้ำคาวมีกลื่น หรือน้ำคาวปลาไม่ค่อยๆแห้ง ไปใน 2 - 3 สัปดาห์หลังคลอด หรือการมีไข้หลังคลอด ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนวันนัด

หลังคลอดเมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

หลังคลอดสตรีที่มีภาวะรกน้อยควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • มีเลือด/น้ำคาวปลาออกทางช่องคลอดมากผิดปกติหรือออกนานผิดปกติหลังจากกลับมาอยู่บ้านแล้ว หรือ
  • มีอาการปวดท้องน้อย เป็นไข้ ควรกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เนื่องจากอาจจะมีเศษรกค้างอยู่ซึ่งจะเหนี่ยวนำทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในโพรงมดลูก/เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ เลือดที่ออกจากโพรงมดลูกบริเวณที่เกาะของรกหลังคลอดเรียกว่า “น้ำคาวปลา” ในผู้คลอดปกติจะมีน้ำคาวปลาไหลนานประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ สีของน้ำคาวปลาจะจางลงเรื่อยๆและปริมาณจะค่อยๆลดลงเช่นกัน หากมีการอักเสบในโพรงมดลูกเลือดจะออกมากและออกนานและเลือดที่ออกอาจมีกลิ่นเหม็นได้

ทารกที่คลอดจากมารดาที่มีรกน้อยมีความผิดปกติหรือไม่?

ทารกที่คลอดจากมารดาที่มีรกน้อยจะเช่นเดียวกับทารกปกติที่เกิดจากมารดาที่มีรกปกติ คือจะไม่มีความผิดปกติ เพราะส่วนมากทารกจะได้รับสารอาหารผ่านทางรกอันใหญ่ที่ปกติ

หากตั้งครรภ์ครั้งถัดไปจะมีโอกาสเกิดภาวะรกน้อยซ้ำอีกหรือไม่?

เป็นการคาดเดาได้ยากว่าเมื่อเกิดภาวะรกน้อยแล้ว ครรภ์ต่อไปจะมีโอกาสเกิดรกน้อยอีกหรือไม่ เพราะอุบัติการณ์ของรกน้อยค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม หากปัจจัยเสี่ยงการเกิดรกน้อย (ดังกล่าวในหัวข้อปัจจัยเสี่ยงฯ) นั้นยังไม่ได้รับการแก้ไขเช่น การมีเนื้องอกมดลูกโดยเฉพาะที่เกิดในโพรงมดลูกหรือในกล้ามเนื้อมดลูกแล้วรกมาฝังตัวบริเวณนั้นก็อาจจะเกิดรกน้อยได้อีก หรือ การเคยผ่าตัดคลอดบุตรหรือการเคยผ่าตัดที่มดลูกที่ทำให้เกิดแผลเป็นที่เยื่อบุโพรงมดลูก เมื่อมีการฝังตัวของตัวอ่อนบริเวณนี้ก็อาจทำให้การพัฒนาของรกผิดปกติได้

ป้องกันเกิดภาวะรกน้อยอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดภาวะรกน้อย แต่การฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆจะช่วยลดโอกาส เกิดผลข้างเคียงจากตั้งครรภ์และจากการคลอดที่อาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตของทั้งมารดาและของทารกในครรภ์ลงได้

บรรณานุกรม

  1. http://www.aafp.org/afp/1998/0301/p1045.html [2016,April16]
  2. http://www.dovemed.com/diseases-conditions/accessory-lobe-placenta/ [2016,April16]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Placenta [2016,April16]