รกค้าง (Retained placenta)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 10 เมษายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- ภาวะรกค้างคืออะไร?พบบ่อยไหม?
- ภาวะรกค้างมีอันตรายอย่างไร?
- ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะรกค้างคืออะไร?
- ใครที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดรกค้าง?
- อาการของรกค้างเป็นอย่างไร?
- เมื่อไรควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะรกค้างอย่างไร?
- รักษาภาวะรกค้างอย่างไร?
- ภาวะรกค้างเกิดซ้ำได้อีกหรือไม่?
- สามารถป้องกันภาวะรกค้างได้หรือไม่?
- ผู้เคยมีรกค้างควรรอนานเท่าไรถึงจะตั้งครรภ์อีก?
- ผู้เคยมีรกค้างควรดูแลตนเองอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- การคลอด การคลอดบุตร (Childbirth)
- การผ่าท้องคลอดบุตร การผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง (Caesarean section)
- น้ำคาวปลา (Lochia)
- ระยะหลังคลอด (Postpartum period)
- ตกเลือดหลังคลอด (Postpartum hemorrhage)
- รกเกาะต่ำ ภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta previa)
- แท้งติดเชื้อ (Septic abortion)
- เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ (Endometritis)
- การขูดมดลูก (Fractional dilatation and curettage)
ภาวะรกค้างคืออะไร?พบบ่อยไหม?
รกค้าง หรือ ภาวะรกค้าง (Retained placenta)คือ การที่รกไม่หลุดหรือไม่คลอดออกมาหลังตัวทารกคลอดแล้วภายในประมาณ 30 นาที แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
ก. รกไม่คลอดทั้งอัน/ทั้งรก
ข. รกคลอดเพียงบางส่วนโดยมีเศษรกค้างในโพรงมดลูก
ทั้งนี้อุบัติการณ์ที่รกลอกตัวช้าจนต้องล้วงรกทั้งอันประมาณ 1 - 2 รายของการคลอดทั้ง หมด แต่สำหรับการที่มีเศษรกค้างแล้วทำให้เกิดปัญหาภายหลัง ไม่มีตัวเลขที่บอกได้แน่นอน แต่พบได้บ่อยพอประมาณ
ภาวะรกค้างมีอันตรายอย่างไร?
หากหลังคลอดทารกแล้วรกไม่คลอด รกจะไปขัดขวางการหดรัดตัวของมดลูกทำให้เลือด ออกมากจากมดลูกจากแผลที่เป็นรอยเกาะของรก เรียกว่า ‘ตกเลือดหลังคลอด’ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com)
ตกเลือดหลังคลอด เป็นสาเหตุการตายของมารดาที่สำคัญมาก ในกรณีที่มีเศษรกค้างบางส่วนจะทำให้เกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูก (เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ) ทำให้มีเลือดออกผิด ปกติทางช่องคลอดหลังคลอด
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะรกค้างคืออะไร?
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะรกค้าง คือ
- การผ่าตัดคลอด/การผ่าท้องคลอด: เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้รกค้างในครรภ์ถัดไปได้ เนื่อง จากรอยแผลผ่าตัดที่ในโพรงมดลูกอาจเป็นบริเวณที่เยื่อบุโพรงมดลูกบาง ทำให้รกที่มาเกาะบริเวณนี้เกาะลึกเกินไป อาจลงลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูก (ปกติรกจะเกาะในผนังมดลูกชั้นเยื่อบุโพรงมดลูก) ทำให้รกลอกยากหรือรกลอกไม่สมบูรณ์จนมีเศษรกค้างได้
- การแท้งที่ได้รับการขูดมดลูก: โดยยิ่งได้รับการขูดหลายครั้งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ รกติดแน่นและค้างในครรภ์ต่อไป เพราะการขูดมดลูกทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางมาก รกจึงเกาะเข้าไปถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูก รกเกาะแน่นผิดปกติ (Placenta adherence) ทำให้รกบางส่วนเกาะ ลึกและติดแน่นผิดปกติ
- รกเกาะต่ำ (Placent previa): เพราะบริเวณส่วนล่างของโพรงมดลูกมีชั้นกล้ามเนื้อบางกว่าส่วนบนของมดลูก
- มีรกน้อย: หมายถึงมีรก 2 อัน/2 รก อันหนึ่งใหญ่ปกติส่วนอีกอันเล็ก (Placenta succentu riata) รกใหญ่คลอดออกมาแล้วแต่รกอันเล็กยังค้างอยู่ จากบางครั้งไม่ทราบว่ามีรกน้อยค้างในโพรงมดลูก
- การแท้งติดเชื้อ: ทำให้มีการอักเสบในโพรงมดลูก/เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ (Endometri tis) ทำให้เนื้อเยื่อรกเปื่อยยุ่ยฉีกขาดง่าย รกไม่คลอดออกมาทั้งอัน
- การออกแรงดึงรกมากเกินไปในขณะที่รกยังไม่ลอกตัว อาจทำให้รกบางส่วนขาดค้างอยู่ในโพรงมดลูก
- ประวัติการมีภาวะรกค้างในครรภ์ก่อน
ใครที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดรกค้าง?
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดรกค้างคือ
- เคยผ่าตัดคลอด/ผ่าท้องคลอด
- มีภาวะรกเกาะต่ำ
- รกใหญ่ผิดปกติ
- เคยขูดมดลูกหลายครั้ง
- เคยมีแท้งติดเชื้อ
- เคยมีประวัติรกค้างในครรภ์ก่อน
- มีความผิดปกติของตัวรกเองจากสาเหตุต่างๆเช่น มีการติดเชื้อที่รกหรือมีความผิดปกติแต่ กำเนิดของรก
อย่างไรก็ตาม สตรีที่มีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงตามที่กล่าวมาแล้ว มักมีโอกาสที่รกลอกตัวก่อนกำหนดมากขึ้น เพราะเส้นเลือดในโรคความดันโลหิตสูงนี้มักตีบและหดรัดตัวมากกว่าปกติ รกจึงมักขาดเลือด
อาการของรกค้างเป็นอย่างไร?
อาการของรกค้างที่พบบ่อย ได้แก่
- หากรกไม่คลอดตั้งแต่หลังคลอดทารกเลยจะทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดี ทำให้เลือดออกจากโพรงมดลูกมากที่เรียกว่า ตกเลือดหลังคลอด
- ในกรณีที่รกส่วนใหญ่คลอดออกมา แล้วมีส่วนน้อยที่เหลือค้างในโพรงมดลูก จะทำให้เกิด อาการปวดท้องน้อยเนื่องจากมดลูกพยายามบีบตัวขับไล่สิ่งแปลกปลอม นอกจากนั้นเศษรกที่ค้างจะทำให้เกิดการอักเสบในโพรงมดลูก/เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ
- มีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด
- สิ่งคัดหลั่งจากช่องคลอด/น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
หลังคลอด หากมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ถ้ายังอยู่ในโรงพยาบาลควรต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาล แต่หากมีอาการเมื่อกลับมาอยู่บ้านแล้วควรต้องรีบกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลไม่ต้องรอถึงวันนัด
แพทย์วินิจฉัยภาวะรกค้างอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะรกค้างได้จาก
ก. ประวัติทางการแพทย์: เช่น
- ผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ เป็นสตรีหลังคลอดหรือ หลังแท้งบุตร หากรกไม่คลอดทั้งอันหลังคลอดทารกไปแล้ว 30 นาทีสามารถให้การวินิจฉัยได้ง่าย มักมีอาการตกเลือดหลังคลอดร่วมด้วย
- หากมีเศษรกค้างอยู่เป็นบางส่วนจะมีน้ำคาวปลาสีแดงมีกลิ่นเหม็นไหลอยู่นานผิดปกติ
- หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดหลังจากคลอดไปแล้ว 2 - 3 สัปดาห์
- มีอาการปวดท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน
- หรือสตรีหลังคลอดสังเกตว่ามดลูกไม่เข้าอู่/ยังคลำมดลูกได้จากการคลำทางหน้าท้อง
ข. การตรวจร่างกาย: ในกรณีที่เศษรกบางส่วนค้างในโพรงมดลูกมักทำให้เกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูก (เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ) ผู้ป่วยอาจ
- มีไข้ได้
- มีกดเจ็บที่ท้องน้อย
- คลำได้ยอดมดลูกยังสูงอยู่/คลำมดลูกได้จากการคลำหน้าท้องแม้ว่าจะคลอดไปนานแล้ว โดยทั่วไปหลังคลอดประมาณ 2 สัปดาห์มักคลำไม่พบมดลูกทางหน้าท้อง
- และการตรวจภายในพบเลือดไหลจากโพรงมดลูก และอาจมีกลิ่นเหม็น
ค. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ:
- ในการตรวจเลือด ซีบีซี/CBC จะตรวจพบเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติบ่งบอกว่ามีการติดเชื้อ
- การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องน้อยพบมีก้อน/เศษรกในโพรงมดลูก
รักษาภาวะรกค้างอย่างไร?
หลักการรักษาภาวะรกค้างคือ แพทย์ต้องเอารกที่ค้างออก ในกรณีที่หลังคลอดแล้วรกไม่คลอดทั้งอันภายในประมาณ 30 นาที แพทย์จะทำการรักษาด้วยการสวมถุงมือยางทางการแพทย์ แล้วยื่นมือเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อล้วงเอารกออกมาเพื่อลดโอกาสตกเลือดหลังคลอด
ในกรณีที่มีเศษรกบางส่วนค้างอยู่ในโพรงมดลูกบางส่วน สตรีหลังคลอดมักจะมีการอักเสบในโพรงมดลูกร่วมด้วย การรักษาจะเป็นการให้ยาปฎิชีวนะร่วมกับการขูดมดลูกเพื่อเอารกที่ค้างออก
ภาวะรกค้างเกิดซ้ำได้อีกหรือไม่?
ภาวะรกค้างสามารถเกิดซ้ำได้ เนื่องจากการขูดมดลูกจากที่มีรกค้างในครรภ์ก่อนทำให้เกิดแผลที่ผนังโพรงมดลูกได้ เยื่อบุโพรงมดลูกบริเวณนั้นจะบางหรือหายไปเลยเหลือเป็นชั้นกล้าม เนื้อมดลูก หากรกมาเกาะบริเวณนี้ยิ่งทำให้รกเกาะลึกและไม่ลอก เกิดเป็นรกค้างอีกได้
สามารถป้องกันภาวะรกค้างได้หรือไม่?
สามารถป้องกันภาวะรกค้างได้เป็นส่วนใหญ่จากการป้องกันปัจจัยเสี่ยง (ที่ป้องกันได้) ดังได้ กล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯง เช่น หลีกเลี่ยงหัตถการหรือภาวะที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูก /เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ หรือการขูดมดลูก เป็นต้น
ผู้เคยมีรกค้างควรรอนานเท่าไรถึงจะตั้งครรภ์อีก?
การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปหลังเคยมีภาวะรกค้าง ไม่มีข้อกำหนดชัดเจนในการเว้นระยะระหว่างการคลอดที่มีรกค้างกับการตั้งครรภ์ใหม่ ดังนั้นจึงเป็นคำแนะนำตามปกติที่ควรมีลูกห่างกัน ประมาณ 2 - 3 ปีเพื่อให้เวลาเลี้ยงดูบุตรแต่ละคนอย่างเต็มที่
ผู้เคยมีรกค้างควรดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีประวัติรกค้าง คือ
- ไปฝากครรภ์ตามปกติเมื่อพบว่าเริ่มตั้งครรภ์ แต่ต้องบอกสูติแพทย์ด้วยว่าในครรภ์ที่แล้วหรือเคยมีมีปัญหาเรื่องรกค้างรวมถึงต้องล้วงรกหรือขูดมดลูก เพื่อแพทย์จะได้เตรียมตัวหรือวางแผนในการดูแลครรภ์นี้ขณะคลอด เพราะเหตุการณ์มักเกิดซ้ำและรุนแรงขึ้น
- แพทย์อาจมีความจำเป็นในการตรวจเพิ่มเติมในกรณีที่มีปัญหาเรื่องรกเกาะต่ำร่วมด้วย เช่น ตรวจท้องน้อยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเอมอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) เพื่อดูว่ารกเกาะลึกจนทะลุกล้ามเนื้อมดลูก (Placenta percreta) หรือไม่ เพราะหากมีภาวะนี้จะอันตรายมากทำให้เลือดออกมากจนอาจทำให้ถึงตายได้ การรักษาภาวะดังกล่าวจะเป็นการผ่าตัด/ผ่าท้องคลอดบุตรและอาจต้องตัดมดลูกโดยที่ไม่ล้วงรกออกมาเลย
ส่วนการดูแลตนเองหลังมีรกค้าง (หลังการล้วงรกหรือหลังการขูดมดลูก): แนะนำอ่านเพิ่ม เติมในเว็บ haamor.com ทั้งหมด 4 เรื่องคือเรื่อง ระยะหลังคลอด, เรื่อง การขูดมดลูก, เรื่อง เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ และเรื่อง น้ำคาวปลา) และ
อนึ่ง: เมื่อหลังคลอด ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด เมื่อ
- มีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น มีไข้
- ยังคงมีน้ำคาวปลาที่ไม่ค่อยๆน้อยลง
- และ/หรือ น้ำคาวปลาไม่หมดภายใน 3 - 4 สัปดาห์หลังคลอด
- และ/หรือน้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น
บรรณานุกรม
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24417417/ [2022,April9]
- https://www.uptodate.com/contents/retained-placenta-after-vaginal-birth?search=Retained%20placenta&source=search_result&selectedTitle=1~38&usage_type=default&display_rank=1 [2022,April9]
- https://www.uptodate.com/contents/postpartum-hemorrhage-medical-and-minimally-invasive-management?search=Retained%20placenta&source=search_result&selectedTitle=5~38&usage_type=default&display_rank=5 [2022,April9]