ยูเมคลิดิเนียม (Umeclidinium)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยายูเมคลิดิเนียม(Umeclidinium หรือ Umeclidinium bromide) เป็นยาในกลุ่ม Muscarinic antagonist ซึ่งมีการออกฤทธิ์ได้นาน ทางคลินิกใช้เป็นยาบำบัดอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(COPD) รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาสูดพ่นทางปากโดยตัวยาจะถูกนำส่งไปยังเนื้อเยื่อ หลอดลมและถุงลมปอดจนมีผลให้เกิดการขยายตัวของเนื้อเยื่อดังกล่าว จึงทำให้อากาศในระบบทางเดินหายใจไหลเวียนได้สะดวก มากขึ้น ทั้งนี้ ตัวยานี้ที่ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด จะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 89% ตับจะคอยทำลายยานี้อย่างต่อเนื่อง ยายูเมคลิดิเนียมจะถูกกำจัดออกไปจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ ยาชนิดนี้สามารถอยู่ในกระแสเลือดได้นานถึงประมาณ 11 ชั่วโมง ปัจจุบันเราจะพบเห็นสูตรตำรับของยูเมคลิดิเนียมในลักษณะยาเดี่ยว หรือสูตรผสมร่วมกับยา Vilanterol ยายูเมคลิดิเนียมเหมาะที่จะใช้ในการรักษาแบบเชิงป้องกัน และไม่สามารถใช้ยานี้บรรเทาอาการโรคที่เกิดอย่างเฉียบพลันได้ ดังนั้นผู้ที่มีอาการปอดอุดกั้นกำเริบแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยมียาประเภท Short-acting beta2 agonist เช่นยา Albuterol ติดตัวสำรองไว้ เพื่อใช้บรรเทาอาการขณะหลอดลมหดเกร็งตัว/ขณะเกิดอาการโรค

มีข้อควรระวังของยายูเมคลิดิเนียมที่ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • ต้องไม่ใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยกำลังมีอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง กำเริบ หรือขณะที่มีอาการแน่นหน้าอก/หายใจลำบาก เพราะยานี้ไม่สามารถระงับอาการของโรคที่เกิดเฉียบพลันได้ภายในทันทีทันใด กรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการกำเริบของโรค ทางคลินิกแนะนำให้ใช้ยาประเภท Short-acting beta2 agonist ระงับอาการอย่างเฉียบพลัน ซึ่งผู้ป่วยควรมี ติดตัวเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน
  • ห้ามใช้ร่วมกับยารักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ออกฤทธิ์นานตัวอื่นๆ นอกจาก จะมีคำสั่งจากแพทย์ ด้วยการใช้ยาร่วมกันอาจเป็นเหตุให้หลอดลมหดเกร็งตัวมากขึ้นหรือที่เรียกว่า Paradoxical bronchospasm
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ยานี้สามารถทำให้อาการของโรคอื่นๆบางประเภทรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ เช่น ต้อหิน ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด โรคหัวใจ โรคต่อมลูกหมากโต
  • การสูดพ่นยานี้ ผู้ป่วยจะต้องผ่อนลมหายใจออก กลั้นหายใจเล็กน้อย อมปากท่อของอุปกรณ์สูดพ่น แล้วสูดหายใจทางปากให้ได้นาน 3- 4 วินาทีขึ้นไป เพื่อดึงผงยาออกจากอุปกรณ์ ห้ามมิให้พ่นลมหายใจใส่อุปกรณ์บรรจุยาเด็ดขาด และเมื่อนำอุปกรณ์พ่นยาออกจากปากแล้ว ต้องบ้วนปากทุกครั้งหลังสูดพ่นยาเพื่อกันตัวยาตกค้างในช่องปาก ซึ่งจะส่งผลให้ตัวยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้นจนอาจก่อผลข้างเคียงรุนแรงจากยานี้ต่อผู้ป่วยได้
  • ต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดการใช้ยาด้วยตนเอง นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
  • หากอาการของโรคไม่ดีขึ้นถึงแม้จะใช้ยาไปสักระยะหนึ่งแล้ว ผู้ป่วยควรรีบกลับมาขอคำปรึกษาจากแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก

กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการกำเริบหลายครั้ง และต้องอาศัยยาประเภท Short-acting beta2 agonist มาช่วยบำบัดอาการบ่อยขึ้น นั่นเป็นสัญญาณว่ายายูเมคลิดิเนียมอาจไม่ใช่ยาทางเลือกที่ใช้ป้องกันอาการปอดอุดกั้นเรื้อรังอีกต่อไป ผู้ป่วยควรรีบแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

นอกจากนี้การสั่งจ่ายยายูเมคลิดิเนียม ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว ห้ามผู้ป่วย/ผู้บริโภคไปซื้อหายานี้มาใช้ด้วยตนเองโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ในต่างประเทศเราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “ Incruse ellipta”

ยูเมคลิดิเนียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยูเมคลิดิเนียม

ยายูเมคลิดิเนียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ

  • บำบัดรักษาอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

ยูเมคลิดิเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยายูเมคลิดิเนียมเป็นยาประเภทเบต้า2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ โดยตัวยามีกลไกการออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดลม โดยทำให้กล้ามเนื้อนั้นเกิดการคลายตัว ส่งผลให้หลอดลมขยายและกว้างขึ้น อากาศจึงไหลเวียนเข้าปอดได้สะดวกจนเป็นผลให้อาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังทุเลาลงได้ตามสรรพคุณ

ยูเมคลิดิเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยายูเมคลิดิเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาผงสำหรับสูดพ่นเข้าทางปากที่ ประกอบด้วยตัวยา Umeclidinium bromide 62.5 ไมโครกรัม/การสูดพ่น 1 ครั้ง

ยูเมคลิดิเนียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยายูเมคลิดิเนียมมีขนาดการบริหารยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: สูดพ่นยา Aclidinium bromide 62.5 ไมโครกรัม วันละ 1 ครั้ง ต้องใช้ยาตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวัน และต้องใช้ยาต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง โดยห้ามหยุดใช้ยานี้เอง
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดยานี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยายูเมคลิดิเนียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น ต้อหิน ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด โรคหัวใจ โรคต่อมลูกหมากโต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยายูเมคลิดิเนียมอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?

หากลืมพ่นยายูเมคลิดิเนียม สามารถพ่นยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าให้ใช้ยาในขนาดปกติเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ดี การใช้ยายูเมคลิดิเนียมอย่างมีประสิทธิผล ควรต้องใช้ยาให้ตรงตามคำสั่งแพทย์

ยูเมคลิดิเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยายูเมคลิดิเนียมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน การรับรสผิดปกติ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ปวดฟัน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก คลื่นไส้ ปากแห้ง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดคอ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสาสวะ: เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ(โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน) เยื่อจมูกอักเสบ ปอดบวม ไซนัสอักเสบ ไอ

มีข้อควรระวังการใช้ยูเมคลิดิเนียมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยายูเมคลิดิเนียม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยารักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังตัวอื่นโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจาก แพทย์ก่อน
  • ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยกำลังมีอาการ หอบ ไอ เพราะยานี้ใช้เพื่อบำบัดป้องกันการเกิดอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แต่ไม่สามารถระงับอาการโรค ที่เกิดแบบเฉียบพลันได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามปรับขนาดการพ่นยาด้วยตนเอง
  • ห้ามยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ตัวยาเปลี่ยนสี หรือ เปียกชื้น
  • พ่นยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยายูเมคลิดิเนียมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ยูเมคลิดิเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยายูเมคลิดิเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยายูเมคลิดิเนียมร่วมกับยา Aclidinium, Ipratropium, Tiotropium, Atropine, ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยายูเมคลิดิเนียมมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยายูเมคลิดิเนียมร่วมกับยา Diphenhydramine ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการ ง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง เป็นลมแดดง่าย เหงื่อออกน้อยลง หน้าแดง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยายูเมคลิดิเนียมร่วมกับยา Azatadine(ยาแก้แพ้) , Hyoscyamine, Promethazine, เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว สับสน ความจำแย่ลง และอาจเกิดต้อกระจก

ควรเก็บรักษายูเมคลิดิเนียมอย่างไร?

ควรเก็บยายูเมคลิดิเนียมภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว

ยูเมคลิดิเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยายูเมคลิดิเนียม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
INCRUSE ELLIPTA (อินครูส เอลลิปตา)GlaxoSmithKline

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/umeclidinium-powder.html[2017,July1]
  2. https://www.drugs.com/sfx/umeclidinium-side-effects.html[2017,July1]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Umeclidinium_bromide[2017,July1]
  4. https://www.gsksource.com/pharma/content/dam/GlaxoSmithKline/US/en/Prescribing_Information/Incruse_Ellipta/pdf/INCRUSE-ELLIPTA-PI-PIL.PDF[2017,July1]
  5. http://www.mims.com/malaysia/drug/info/anoro%20ellipta[2017,July1]