ยูเทอโรโทนิก (Uterotonic drug)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 พฤศจิกายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- ยูเทอโรโทนิกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ยูเทอโรโทนิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยูเทอโรโทนิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยูเทอโรโทนิกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ยูเทอโรโทนิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยูเทอโรโทนิกอย่างไร?
- ยูเทอโรโทนิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายูเทอโรโทนิกอย่างไร?
- ยูเทอโรโทนิกมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด(Labor induction)
- ตกเลือดหลังคลอด (Postpartum hemorrhage)
- ออกซิโทซิน (Oxytocin)
- เออร์กอต (Ergot)
- กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome)
บทนำ
ยายูเทอโรโทนิก(Uterotonic drug หรือ Uterotonic agent)เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นให้มดลูกเกิดการบีบตัวมากขึ้น ทางคลินิกได้นำยายูเทอโรโทนิกมาใช้เป็นยาเร่งคลอด(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด)และลดภาวะเลือดออกหลังคลอด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะตกเลือดหลังคลอด)
อาจจำแนกยายูเทอโรโทนิกที่พบเห็นการใช้บ่อยๆได้ดังนี้ คือ
- Oxytocin: ผลิตภัณฑ์ยานี้จะออกฤทธิ์ภายใน 2 – 3 นาที และมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ได้นานประมาณ 15 – 30 นาที
- Prostaglandin: เป็นกลุ่มยาที่เกิดจากการสังเคราะห์สารประกอบเลียนแบบ Prostaglandinในร่างกาย ที่มีรูปแบบเป็นยารับประทานแบบอมใต้ลิ้น อย่างเช่นยา Misoprostol ซึ่งมีการออกฤทธิ์ภายใน 3 – 5 นาทีหลังได้รับยานี้ ความเข้มข้นของยากลุ่มนี้ จะมีระดับสูงสุดในกระแสเลือดเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 18 – 34 นาที และมีระยะเวลาการออกฤทธิ์นานถึงประมาณ 75 นาที เราอาจพบเห็นยายูเทอโรโทนิกในกลุ่ม Prostaglandin ได้อีกบางรายการ เช่นยา Dinoprost, Carboprost
- Ergot: สารประกอบที่นำมาใช้เป็นยากลุ่มนี้ ได้แก่ยา Ergometrine มักใช้เป็นยาห้ามเลือดหลังการคลอด มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาฉีด หลังการฉีดเข้ากล้ามเนื้อประมาณ 6 – 7 นาที ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ ระยะเวลาของการออกฤทธิ์นานถึงประมาณ 2 – 4 ชั่วโมง ข้อจำกัดการใช้ยาประเภท Ergot คือ ผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง และ/หรือป่วยด้วยโรคหัวใจ นอกจากนี้ ยากลุ่มนี้ยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ และความดันโลหิตสูง และยังอาจพบเห็นยาในกลุ่ม Ergot ตัวอื่นอีก เช่น Methylergonovine และ Acetergamine
- Syntometrine: เป็นยาที่ผสมร่วมระหว่างยา Oxytocin 5 ยูนิตสากล (IU) กับยาErgometrine 0.5 มิลลิกรัม มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาฉีด องค์การอนามัยโลกระบุให้ใช้ยานี้เป็นอันดับรองจาก Oxytocin และจาก Ergometrine ส่วนหนึ่งอาจมาจากเหตุผลที่ยานี้มีราคาแพง
- Mifepristone: จัดอยู่ในประเภทยาสเตียรอยด์สังเคราะห์ ถูกใช้เป็นยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ โดยอายุครรภ์กรณีนี้ต้องไม่เกิน 49 วัน หรือ 7 สัปดาห์ หรือใช้ทำคลอดในกรณีที่ทารกเสียชีวิต ในครรภ์มารดา ทางคลินิก เราจะไม่พบเห็นการใช้ยา Mefepristone ในการทำคลอดตามปกติ นอกจากนั้น ยานี้ยังถูกนำมารักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกับผู้ป่วยกลุ่มอาการ Cushing syndrome อีกด้วย
อนึ่ง การเลือกใช้ยาชนิดใดเป็นลำดับให้ใช้หลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกมีข้อสรุปที่ทำให้เข้าใจง่ายขึ้นดังนี้
- Oxytocin ควรถูกใช้ในการทำคลอดและป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอดเป็น อันดับต้นเนื่องจากออกฤทธิ์ได้เร็วที่สุด
- กรณีที่ยังมีภาวะเลือดออกไม่หยุดหลังคลอด และ Oxytocin ก็ใช้ไม่ได้ผล ยาSyntometrine ควรถูกนำมาใช้เป็นอันดับต่อมา ด้วยมีส่วนประกอบของยา Ergometrine ที่มีระยะเวลาในการออกฤทธิ์นาน
- กรณีที่ยา Syntometrine ยังใช้ไม่ได้ผลโดยยังพบเลือดออกหลังคลอดอยู่ ให้พิจารณาใช้กลุ่มยา Prostaglandin เช่น Misoprostol เข้ามาเป็นยาในลำดับที่ 3
การใช้ยายูเทอโรโทนิกมักจะต้องกระทำในสถานพยาบาลเท่านั้น การใช้ยานี้ มักเป็นช่วงวิกฤตเพื่อช่วยชีวิตแม่และทารก ดังนั้นคุณภาพของผลิตภัณฑ์จะต้องตรงตามมาตรฐานและพร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา
ยูเทอโรโทนิกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยายูเทอโรโทนิกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ช่วยกระตุ้นและเร่งการคลอดบุตร(การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด)
- รักษาภาวะตกเลือดหลังคลอด
ยูเทอโรโทนิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยายูเทอโรโทนิกคือ ตัวยาจะกระตุ้นให้มดลูกเกิดการบีบตัวแรงและเร็วขึ้น ทำให้การคลอดเป็นไปได้ง่ายขึ้น และเป็นที่มาของสรรพคุณ
ยูเทอโรโทนิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยายูโรโทนิก ได้มีการพัฒนาให้เหมาะสมกับธรรมชาติของตัวยาแต่ละชนิด ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดการออกฤทธิ์ได้อย่างเหมาะสม อาจกล่าวโดยสรุปถึงรูปแบบผลิตภัณฑ์ของยาแต่ละกลุ่มดังนี้
- Oxytocin: รูปแบบเป็น ยาฉีดชนิดเข้ากล้ามเนื้อ/เข้ากล้าม และฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
- Misoprostol: รูปแบบเป็น ยาอมใต้ลิ้น ยาเหน็บช่องคลอด และยาเหน็บทวาร
- Ergometrine: รูปแบบเป็น ยาฉีด และแนะนำให้ฉีดเข้ากล้ามเท่านั้น
- Syntometrine: รูปแบบเป็น ยาฉีดชนิดฉีดเข้ากล้าม
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม
ยูเทอโรโทนิกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
บทความนี้ ขอยกตัวอย่าง ขนาดการบริหารยา/ใช้ยายูเทอโรโทนิก ดังนี้ เช่น
ก. Oxytocin:
- สำหรับเร่งการคลอด(การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด): ผู้ใหญ่, หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 0.5 – 1 มิลลิยูนิต/ชั่วโมงในช่วง 30 – 60 นาทีแรก จากนั้นแพทย์จะพิจารณาค่อยๆเพิ่มขนาดยาเป็น 1 – 2 มิลลิยูนิต/ชั่วโมง จนกระทั่งมดลูกเริ่มบีบตัว
- สำหรับรักษาภาวะตกเลือดหลังคลอด: ผู้ใหญ่, ฉีดเข้ากล้าม 10 ยูนิต หลังการคลอด หรือเจือจางยาออกซิโทซิน 10 – 40 ยูนิต ในสารละลายที่ปราศจากเชื้อ 1,000 มิลลิลิตร แล้วหยดเข้าทางหลอดเลือดดำโดยใช้อัตราที่แพทย์กำหนดเพื่อทำให้หยุดภาวะตกเลือด
ข. Ergometrine:
- สำหรับเร่งการคลอด: ผู้ใหญ่, ฉีดยา Ergometrine เข้ากล้ามขนาด 500 ไมโครกรัม ร่วมกับยา Oxytocin 5 ยูนิต
- สำหรับป้องกันการตกเลือดหลังการคลอดบุตร: ผู้ใหญ่, ฉีดยาเข้ากล้ามขนาด 200 ไมโครกรัม หากจำเป็นแพทย์อาจฉีดซ้ำทุกๆ 2 – 4 ชั่วโมง
ค. Misoprostol:
- สำหรับเร่งการคลอด: ผู้ใหญ่, สอดยาเหน็บเข้าช่องคลอด ขนาด 200 ไมโครกรัม
อนึ่ง: ในเด็ก ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจนในด้านความปลอดภัย และขนาดของการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้การใช้ยา ที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยายูเทอโรโทนิก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันลิหิตสูง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยายูเทอโรโทนิก อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ยูเทอโรโทนิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มยูเทอโรโทนิกสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดความดันโลหิตสูง ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นช้า
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการตัวสั่น มีไข้
มีข้อควรระวังการใช้ยูเทอโรโทนิกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยายูเทอโรโทนิก เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ โดยมิได้มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มี ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ภาวะครรภ์เป็นพิษ
- ห้ามใช้ยานี้เมื่อทารกในครรภ์มีตำแหน่งที่ผิดท่า(เช่น ทารกท่าก้น) และ/หรือที่ไม่สามารถคลอดได้ตามธรรมชาติ
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่เคยคลอดบุตรโดยทำการผ่าตัดคลอด
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย มะเร็งปากมดลูก ผู้ที่เป็นโรคเริมบริเวณช่องคลอด และหญิงตั้งครรภ์ที่มีสายสะดือย้อย
- ระหว่างการให้ยานี้กับมารดา ต้องคอยตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ และของมารดาอย่างสม่ำเสมอ
- ระวังการใช้ยานี้กับมารดาที่มีอายุมากกว่า 35 ปี และมารดาที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มยูเทอโรโทนิกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควร ต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ยูเทอโรโทนิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยายูเทอโรโทนิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยา Oxytocin ร่วมกับยาเจลที่ใช้ทาเพื่อเร่งคลอด เช่นยา Dinoprostone จะเกิดความเสี่ยงให้มดลูกมีการบีบตัวมากขึ้นจนถึงเกิดภาวะมดลูกปริแตก(ภาวะมดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์) หากต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
- การใช้ยา Ergometrine ร่วมกับยา Halothane (ยาดมสลบ) จะเกิดการต้านฤทธิ์กันโดย Halothane จะทำให้มดลูกคลายตัว หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใชยาร่วมกัน
- การใช้ยา Misoprostol ร่วมกับยา Oxytocin จะทำให้ฤทธิ์ของยา Oxytocin เพิ่มมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย เป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษายูเทอโรโทนิกอย่างไร?
ควรเก็บรักษายายูเทอโรโทนิก ดังนี้ เช่น
- Oxytocin: ควรเก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส(Celsius) หากเก็บภายใต้อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส จะเก็บได้ไม่เกิน 3 เดือน
- Misoprostol: สามารถเก็บภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- Ergometrine: ควรเก็บภายใต้อุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส กรณีเก็บภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส จะเก็บได้ไม่เกิน 1 เดือน ควรเก็บในที่มืด ทั้งในตู้เย็น และในขณะเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปใช้
- Syntometrine: ควรเก็บภายใต้อุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส กรณีเก็บภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส จะเก็บได้ไม่เกิน 1 เดือน ควรเก็บในที่มืดทั้งในตู้เย็น และขณะเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปใช้
นอกจากนั้น การเก็บยายูเทอโรโทนิก ต้องอยู่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงสว่าง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยูเทอโรโทนิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยายูเทอโรโทนิก ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Octocin (ออกโทซิน) | L. B. S. |
Oxytocin Synth-Richter (ออกซิโทซิน ซินท์-ริชเตอร์) | Gedeon Richter |
Syntocinon (ซินโทซินอน) | Novartis |
Cytotec (ไซโทเทค) | Pfizer |
Gynaemine (กายนามีน) | Sriprasit Pharma |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Uterotonic [2016,Nov5]
- http://perinatalweb.org/themes/wapc/assets/docs/uterotonic_agents_for_post_partum_hemorrhage_v2-1.pdf [2016,Nov5]
- https://www.path.org/publications/files/MCHN_popphi_pph_fs_uterotonic.pdf [2016,Nov5]
- http://emedicine.medscape.com/article/796785-medication#2 [2016,Nov5]
- https://www.path.org/publications/files/MCHN_popphi_pph_uterotonic_trop.pdf [2016,Nov5]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/ergometrine/?type=brief&mtype=generic [2016,Nov5]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/misoprostol/?type=brief&mtype=generic [2016,Nov5]