ยิ่งแก่ยิ่งลีบ (ตอนที่ 2)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 2 มกราคม 2564
- Tweet
ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) หรือ การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เป็นภาวะปกติที่พบได้ร้อยละ 10 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป ) เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุมักหกล้มกระดูกหัก และสามารถทำให้คุณภาพชีวิตลดลง
ในทางกายภาพ หลังอายุ 30 ปีเป็นต้นไป ร่างกายมนุษย์จะมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ค่อยเคลื่อนที่ (Immobility) จะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อประมาณร้อยละ 3-5 ในทุกๆ 10 ปี หรือมีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย
สำหรับการเกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยนั้น นักวิจัยเชื่อว่ามาจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- เซลล์ประสาทรับความรู้สึกจากสมองไปยังกล้ามเนื้อมีการทำงานที่ลดน้อยลง
- ฮอร์โมนลดลง เช่น โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) เทสโทสเตอร์โรน (Testosterone) และ ตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตที่มีโครงสร้างคล้ายอินซูลิน (Insulin-like growth factor)
- ร่างกายมีความสามารถในการเปลี่ยนโปรตีนให้เป็นพลังงานลดลง
- ได้รับแคลอรี่หรือโปรตีนไม่พอที่จะคงมวลกล้ามเนื้อ
หรือกล่าวได้ว่าเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้
- การไม่สามารถเคลื่อนที่ได้รวมถึงการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Lifestyle) ทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้ถูกใช้งาน เช่น การนอนพักหลังการได้รับบาดเจ็บ หรือแม้แต่การลดการเดินลง 2-3 สัปดาห์ ก็สามารถทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลงได้
- โภชนาการที่ไม่สมดุล (Unbalanced Diet) อาหารมีแคลอรี่และโปรตีนที่ไม่พอ ซึ่งมักเกิดในผู้สูงอายุเพราะมีการเปลี่ยนแปลงในการรับรู้รส มีปัญหาเรื่องเหงือก ฟัน และการกลืน
- การเจ็บป่วยเรื้อรังสามารถทำให้เกิดการอักเสบที่ไปลดมวลกล้ามเนื้อ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ลำไส้อักเสบ โรคเอสแอลอี โรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis) แผลไหม้รุนแรง (Severe burns) และ โรคติดเชื้อเรื้อรังอย่างวัณโรค (Tuberculosis)
- ความเครียดระดับรุนแรง (Severe Stress)
ลักษณะอาการของภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยที่เกิดขึ้น เช่น
- ขนาดกล้ามเนื้อลีบหรือเล็กลง
- อ่อนแอ ไม่อึด
- การทรงตัวไม่ดี
- ขึ้นบันไดลำบาก
- เดินช้าลง
- ยกของลำบากกว่าปกติ
- น้ำหนักลดเอง
แหล่งข้อมูล:
- Sarcopenia With Aging. https://www.webmd.com/healthy-aging/guide/sarcopenia-with-aging [2020, January 1].
- How to Fight Sarcopenia (Muscle Loss Due to Aging). https://www.healthline.com/nutrition/sarcopenia [2020, January 1].
- Sarcopenia: What you need to know. https://www.medicalnewstoday.com/articles/318501#Other-causes [2020, January 1].