ยิ่งแก่ยิ่งลีบ (ตอนที่ 1)

ยิ่งแก่ยิ่งลีบ-1

      

ประเทศไทยกำลังนับถอยหลังสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยในปี 2564 เราจะมีประชากรผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 20 ของประเทศ ดังนั้นการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และอาจเป็นภาระลูกหลานในที่สุด ดังนั้นการสร้างความเข้าใจด้านโภชนาการและเสริมสารอาหารให้เพียงพอจึงถือเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้าสู่สังคมสูงวัยที่แข็งแรงและมีคุณภาพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศานิต วิชานศวกุล อายุรแพทย์และแพทย์ผู้ชำนาญด้านโภชนาการคลินิกประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวในการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติครั้งที่ 14 ของทางสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย หัวข้อ "Enhance Quality of Life with Power of Food in Era of Aging Population" ว่า ผู้สูงอายุที่รับประทานอาหาร ได้น้อยลง เบื่ออาหาร จะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต น้ำหนักลดลง มีอาการเหนื่อยง่าย และแรงบีบมือที่ลดลง

นอกจากนี้การกินอาหารที่มีโภชนาการไม่เหมาะสม ไม่ได้มีเพียงแค่กินได้น้อยเท่านั้น แต่พบว่าโรคอ้วนในกลุ่มผู้สูงอายุชาวไทยเพิ่มขึ้นถึงกว่าร้อยละ 30 (เทียบปี 2551 กับ ปี 2557) แต่การมีน้ำหนักตัวที่มากไม่ได้แปลว่ามีมวลกล้ามเนื้อมากตามไปด้วย เพราะแม้ว่าจะดูอ้วนท้วนสมบูรณ์ แต่อาจจะเกิดจากมวลไขมันที่สะสมมากเกิน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศานิต กล่าวต่อว่า ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) พบได้บ่อยครั้งในผู้สูงอายุ ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น การสลายของมวลกล้ามเนื้อจะสูงขึ้น แต่กลับสร้างทดแทนได้ไม่ดีอย่างที่เคย โดยปกติแล้วบุคคลทั่วไปที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะมีมวลกล้ามเนื้อลดลงที่ร้อยละ 8 ในทุกๆ 10 ปี มวลกล้ามเนื้อจะมีอัตราการลดลงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่ออายุ 70 ปี อัตราการลดลงจะเพิ่มเป็นร้อยละ 15 ทุก 10 ปี

ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างมากเพราะเมื่อมีการลดลงของมวลกล้ามเนื้อจะส่งผลต่อสุขภาพทั้งภายในและภายนอก เช่น มีภูมิต้านทานที่น้อยลง เจ็บป่วย แขนขาอ่อนแรง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และอาจเป็นผู้ป่วยติดเตียงในที่สุด หากไม่ได้รับการดูแล

การศึกษาและงานวิจัยหลายชิ้นแนะว่า ผู้สูงอายุควรรับประทานโปรตีนคุณภาพดีเพิ่มขึ้น เพราะโปรตีนเป็นสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างและลดการสลายมวลกล้ามเนื้อโดยตรง แต่สำหรับผู้สูงอายุการทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เพราะไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้สะดวกและย่อยยาก

ในปัจจุบันจึงมีนวัตกรรมอาหารเสริมที่ได้รับการยอมรับในวงการแพทย์ ที่เรียกกันว่า "อาหารสูตรครบถ้วน 5 หมู่" ซึ่งมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมันชนิดดี วิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร ในรูปแบบผง ชงดื่มง่าย ดื่มเสริมมื้ออาหารได้ทันที โดยผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำให้ ผู้สูงอายุดื่ม "อาหารสูตร ครบถ้วน 5 หมู่" ที่มีส่วนผสมที่มีคุณภาพ เช่น โปรตีนเวย์ที่ดูดซึมได้ดีและย่อยเร็ว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศานิต กล่าวอีกว่า นอกจากเรื่องโปรตีนคุณภาพดีที่มีความสำคัญในผู้สูงอายุ ยังมีการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการลดลงของจุลินทรีย์ดีในลำไส้หรือโปรไบโอติกส์ ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพเชิงลบในผู้สูงอายุได้ การเสริมโปรไบติกส์หรือจุลินทรีย์ที่ดีในอาหารอาจช่วยฟื้นฟูคุณภาพลำไส้จากการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ดี

โดยมีการศึกษาพบว่า การเสริมอาหารที่มีจุลินทรีย์ดีหรือโปรไบโอติกส์ต่อเนื่อง 4 เดือน มีส่วนช่วยให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว (Lymphocyte) อย่างมีนัยสำคัญ และช่วยลดการติดเชื้อต่างๆ ได้มากกว่าถึงร้อยละ 41 เมื่อติดตามผลดื่มต่อเนื่อง 1 ปี

แหล่งข้อมูล:

  1. ปี 64 ยอดผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น แนะเสริมอาหารครบ 5 หมู่. https://www.thaihealth.or.th/Content/53625-ปี%2064%20ยอดผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น%20แนะเสริมอาหารครบ%205%20หมู่.html[2020, December 25].