ยาไล่แมลง (Insect repellent/Bug spray)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 กรกฎาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ยาไล่แมลงแบ่งเป็นกี่ประเภท?
- กลไกการออกฤทธิ์ของยาไล่แมลงมีอะไรบ้าง?
- ประสิทธิภาพของยาไล่แมลงขึ้นอยู่กับอะไร?
- ใช้ยาไล่แมลงอย่างปลอดภัยอย่างไร?
- เก็บรักษายาไล่แมลงอย่างไร?
- ป้องกันแมลงโดยไม่ต้องใช้ยาไล่แมลงได้อย่างไร?
- ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงที่มีจำหน่ายมีชื่อการค้าอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาฆ่าแมลง (Insecticide)
- ประเภทวัตถุอัตรายและสารเคมี
- DEET
- ดีดีที
- น้ำมันหอมระเหย
- เพอร์เมทริน (Permethrin cream)
บทนำ
ยาไล่แมลง หรือ สารไล่แมลง(Insect repellent) หมายถึง สารประกอบใดๆที่ใช้ทาบน ผิวหนัง หรือ เสื้อผ้า หรือฉีดพ่นในพื้นที่ เพื่อป้องกันการก่อกวนของแมลง ยาไล่แมลงไม่มีวัตถุประสงค์ในการฆ่าแมลง เพียงแต่สร้างกลิ่นที่แมลงไม่ชอบที่ทำให้แมลงไม่อยากเข้าใกล้ หรือรบกวนระบบประสาทของแมลงทำให้แมลงไม่สามารถจับทิศทางของเหยื่อได้
นอกจากการใช้ยาไล่แมลงเพื่อป้องกันการรบกวนของแมลงรำคาญต่างๆแล้วนั้น ยังมีการใช้ยาไล่แมลงเพื่อป้องกันโรคระบาดที่มีพาหะจากแมลง ดังนี้
- ป้องกันยุงที่เป็นพาหะของ โรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก โรคไวรัสเวสต์ไนล์/โรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์
- ป้องกันโรคไลม์(Lyme disease)ที่มีเห็บเป็นพาหะ
- ป้องกันกาฬโรค(Bubonic plaque) ที่มีหมัดเป็นพาหะ
- ป้องกันโรคพยาธิตาบอดแถบแม่น้ำ(River blindness)ที่มีแมลงริ้นดำเป็นพาหะ
อนึ่ง การใช้ยาไล่แมลง ในปริมาณสูง อาจกลายเป็นยาฆ่าแมลง และเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้เช่นกัน ก่อนใช้ยาไล่แมลงจึงควรศึกษาข้อมูลจากฉลากกำกับผลิตภัณฑ์และสามารถหาข้อมูลโดยละเอียดจากจากเอกสารความปลอดภัยของสารเคมีแต่ละตัวหรือที่เรียกกันว่า MSDS (Material safety data sheet)
ยาไล่แมลงแบ่งเป็นกี่ประเภท?
สามารถแบ่งยาไล่แมลงออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
ก. ยาไล่แมลงแบบสังเคราะห์ (Common synthetic insect repellents): เป็นกลุ่ม เคมีภัณฑ์ที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น เช่น Methyl anthranilate, Benzaldehyde, DEET, Dimethyl carbate, Dimethyl phthalate , Ethylhexanediol, Icaridin, Indalone, Metofluthrin, Permethrin
ข. ยาไล่แมลงที่เป็นสารสกัดธรรมชาติ(Natural insect repellents): นับว่าเป็นความฉลาดของมนูษย์ที่ใช้กลไกของเคมีในธรรมชาติมาไล่แมลง เช่น น้ำมันตะไคร้หอม , น้ำมันหอมระเหยจาก Lemon eucalyptus , Citronella oil, Neem oil, Tea tree oil , Catnip oil สารสกัดจากใบยาสูบ , Beautyberry, Birch tree bark, Bog-myrtle
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไล่แมลงมีอะไรบ้าง?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไล่แมลงมีดังนี้ เช่น
- ออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของระบบการดมกลิ่นที่ใช้ตรวจหาเหยื่อของแมลง
- ออกฤทธิ์ในลักษณะสร้างกลิ่นประเภททำให้แมลงรู้สึกเหม็นและไม่กล้าเข้าใกล้
- ออกฤทธิ์โดยทำให้เกิดพิษต่อระบบประสาทของแมลง
- ออกฤทธิ์ต้านการกินของแมลงหรือทำให้ระบบย่อยอาหารของแมลงบกพร่อง
- ออกฤทธิ์ยับยั้งการลอกคราบของแมลงโดยปิดกั้นการทำงานของฮอร์โมนในตัวแมลง
ประสิทธิภาพของยาไล่แมลงขึ้นอยู่กับอะไร?
ประสิทธิภาพของยาไล่แมลงขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้ เช่น
- ความเข้มข้นของยาไล่แมลง การใช้ความเข้มข้นมากย่อมมีการออกฤทธิ์ ได้ยาวนานขึ้น
- ความคงตัวของยาไล่แมลงแต่ละชนิดมีระยะเวลาในการสลายตัวต่างกัน การใช้ยาไล่แมลงที่มีการออกฤทธิ์นาน ต้องคำนึงถึงพิษตกค้างด้วย
- ยาไล่แมลงที่ฉีดพ่นในพื้นที่นอกอาคาร และไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้ทาผิวหนัง หรือเสื้อผ้า จะมีการออกฤทธิ์ได้ยาวนานหรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับทิศทางของลมฟ้า อากาศ เช่น มีลมแรง ฝนตกอย่างหนัก จะทำให้ยาไล่แมลงเจือจางและหมดประสิทธิภาพลง
ใช้ยาไล่แมลงอย่างปลอดภัยอย่างไร?
วิธีใช้ยาไล่แมลงอย่างปลอดภัย ที่สำคัญคือ
- ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามรับประทาน กรณีกลืนลงกระเพาะอาหาร อาจช่วยเหลือเบื้องต้นโดยให้ดื่มน้ำ 2 แก้ว แล้วล้วงคอให้อาเจียน และนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที ผู้บริโภคสามารถศึกษา การปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้จากฉลากกำกับผลิตภัณฑ์ หรือจากเอกสารความ ปลอดภัยของยาไล่แมลงนั้นๆ(MSDS)
- ห้ามให้เข้าตา กรณีเข้าตา ต้องล้างด้วยน้ำเปล่าสะอาดเป็นปริมาณมาก นาน 15 นาทีขึ้นไป
- ห้ามใช้ยาไล่แมลงกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปีลงมา ปัจจุบันมีการผลิตยาไล่แมลง สำหรับเด็ก ผู้ปกครองต้องศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้กับบุตรหลานของตนเอง
- ห้ามใช้ยาไล่แมลงแทนโลชั่นบำรุงผิวหนัง ให้ใช้ยาไล่แมลงทาเพื่อปกป้องร่างกาย จากยุงและแมลงรำคาญเท่านั้น
- สามารถทดสอบว่าตนเองแพ้ยาไล่แมลงหรือไม่ โดยทาผลิตภัณฑ์ยาไล่แมลง เล็กน้อยที่ข้อพับของแขน หากไม่เกิดอาการแพ้ หรือมีผื่นคัน ก็เป็นเหตุผลเพียง พอที่จะประเมินว่าตนเองไม่แพ้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ
- ห้ามฉีดหรือพ่นหรือทายาไล่แมลงใกล้ ตา ริมฝีปาก ใต้รักแร้ หรือบริเวณผิวหนัง ที่เป็นแผล
- ห้ามทาผลิตภัณฑ์ยาไล่แมลงภายใต้ร่มผ้า ให้ทาผิวหนังที่อยู่นอกร่มผ้าเท่านั้น
- กรณีรู้สึก แสบ ร้อน ระคายเคือง หลังทาผลิตภัณฑ์ยาไล่แมลง ให้รีบล้างทำความ สะอาดทันทีด้วยน้ำเปล่าสะอาดเป็นปริมาณมากนานอย่างน้อย 15 นาที หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ยาไล่แมลงที่หมดอายุแล้ว หรือที่มีบรรจุภัณฑ์สำรุด เสื่อมสภาพ หรือมีสี กลิ่น ผิดปกติ
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังใช้ยาไล่แมลง
เก็บรักษายาไล่แมลงอย่างไร?
ควรเก็บผลิตภัณฑ์ยาไล่แมลงในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความร้อน สามารถเก็บภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ห้ามทิ้งผลิตภัณฑ์ยาไล่แมลงลงแม่น้ำหรือคูคลองตามธรรมชาติ หรือทิ้งลงพื้นดินโดยตรง ห้ามเก็บปะปนกับอาหารของมนุษย์หรือของอาหารสัตว์ และห้ามเก็บในรถยนต์
ป้องกันแมลงโดยไม่ต้องใช้ยาไล่แมลงได้อย่างไร?
มีวิธีง่ายๆซึ่งอยู่ในวิสัยของผู้บริโภคที่พอจะปฏิบัติโดยไม่ต้องใช้ยาไล่แมลง มีดังต่อไปนี้ เช่น
- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดรูปซึ่งแมลง เช่น ยุง สามารถเจาะดูดเลือดผ่านเสื้อผ้า ดังกล่าวได้
- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าสีดำซึ่งเป็นสีที่แมลงหลายชนิดชอบโดยเฉพาะ แมลงที่ดูดกัดกินเลือดของมนุษย์ เช่น ยุง
- หลีกเลี่ยงการทำให้เนื้อตัวมีกลิ่นฉุนดึงดูดแมลง เช่น มีเหงื่อออก เป็นต้น
- อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ไม่อยู่ในพื้นที่ในช่วงเวลาของวันที่แมลงออกหากิน เช่น เวลาที่ พระอาทิตย์ขึ้น หรือพระอาทิตย์ตก และช่วงพลบค่ำ
- กรณีนั่งทำงานในบ้าน อาจใช้พัดลมเป่าให้อากาศระบาย และไล่แมลงรำคาญ
- ติดมุ้งลวดเพื่อป้องกันแมลงรำคาญต่างๆเข้าบ้าน
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลงบริเวณรอบบ้าน เช่น ภาชนะหรือขยะที่เป็นแหล่งกักเก็บ น้ำซึ่งจะเป็นที่เพาะพันธุ์ของยุง
ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงที่มีจำหน่ายมีชื่อการค้าอะไรบ้าง?
ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงที่มีจำหน่ายมีชื่อการค้า เช่น
- DEET: ชื่อการค้า เช่น Soffell, Sketolene, Off familycare , กย.15
- Incaridin: ชื่อการค้า เช่น Bayrepel และ Saltidin
- Permethrin: ชื่อการค้า เช่น Nix
- Lemon eucalyptus: ชื่อการค้า เช่น Repel
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Insect_repellent [2018,June30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Neem_oil [2018,June30]
- https://www.drugs.com/article/how-to-safely-use-insect-repellents.html [2018,June30]
- https://www.washingtonpost.com/national/health-science/chemical-based-insect-repellents-work-but-you-may-want-to-try-safer-alternatives/2014/06/23/e676875c-d789-11e3-95d3-3bcd77cd4e11_story.html?noredirect=on&utm_term=.4337f41c21c9 [2018,June30]
- http://www.newkidscenter.com/best-bug-spray-for-babies.html [2018,June30]