ยาไพแรนเทล (Pyrantel)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 พฤศจิกายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาไพแรนเทลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาไพแรนเทลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไพแรนเทลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไพแรนเทลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไพแรนเทลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไพแรนเทลอย่างไร?
- ยาไพแรนเทลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไพแรนเทลอย่างไร?
- ยาไพแรนเทลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- พยาธิไส้เดือน (Ascariasis)
- พยาธิปากขอ (Hookworm infection)
- ตืดวัว พยาธิตืดวัว (Beef Tapeworm infection)
- พยาธิตืดหมู (Pork tapeworm) โรคติดเชื้อพยาธิตืดหมู (Cysticercosis)
- พยาธิเส้นด้าย (Threadworm) หรือ พยาธิเข็มหมุด (Pinworm)
- ทริคิโนซิส (Trichinosis)
บทนำ
ยาไพแรนเทล (Pyrantel หรือ Pyrantel embonate หรือ Pyrantel pamoate) เป็นยารักษาโรคพยาธิชนิดหนึ่ง ซึ่งออกฤทธิ์ทำให้เกิดอาการอัมพาตกับตัวพยาธิ โดยเฉพาะในกลุ่มพยาธิปากขอ และพยาธิตัวกลม บางตำรับยามีการผสมไพแรนเทลกับยาพราซิควอนเทล (Praziquantel) เพื่อรักษาโรคพยาธิตัวตืด (เช่น พยาธิตืดหมู, พยาธิตืดวัว)
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปเมื่อยาเข้า สู่ร่างกาย) พบว่า ยาไพแรนเทล ถูกดูดซึมได้ค่อนข้างน้อยจากระบบทางเดินอาหาร หลังรับประทาน ระดับยาในกระแสเลือดจะเพิ่มขึ้นสูงสุดภายใน 1 - 3 ชั่วโมง ประมาณ 50% ของยาที่รับประทานเข้าไป จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยตับ ก่อนถูกกำจัดออกมากับอุจจาระและออกทางปัสสาวะ
องค์การอนามัยโลก กำหนดให้ยาไพแรนเทลเป็นยาที่เหมาะสมกับระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐานของชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาไพแรนเทลลงในบัญชียาหลักแห่งชาติในรูปของยารับประทานชนิดเม็ดและยาน้ำแขวนตะกอน โดยอยู่ในหมวดยาอันตราย อย่างไรก็ตามการใช้ยาอย่างปลอดภัยได้ผลดีกับผู้ป่วยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
ยาไพแรนเทลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไพแรนเทลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาโรคพยาธิ: เช่น
- พยาธิปากขอ
- พยาธิไส้เดือน
- พยาธิเข็มหมุด (พยาธิเส้นด้าย)
ยาไพแรนเทลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไพแรนเทลคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อ พยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย พยาธิเข็มหมุด พยาธิปากขอ พยาธิตัวกลม แต่ไม่มีผลกับพยาธิแส้ม้า โดยตัวยาจะทำให้กล้ามเนื้อของพยาธิเหล่านั้นเป็นอัมพาต หมดความสามารถที่จะเกาะกับผนังลำไส้ของมนุษย์ จึง หลุดปนออกมากับอุจจาระ
ยาไพแรนเทลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไพแรนเทลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ด ขนาดความแรง 125 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาดความแรง 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาดความแรง 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ยาไพแรนเทลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไพแรนเทลมีขนาดรับประทาน เช่น
ก.สำหรับโรคพยาธิไส้เดือน (Ascariasis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 3 - 4 วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1 กรัมต่อ 1 ครั้งการรับประทาน
ข.สำหรับโรคพยาธิปากขอ (Necatoriasis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 3 - 4 วัน หรือรับประทาน 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 2 วัน
ค.สำหรับโรคพยาธิเส้นด้าย หรือพยาธิเข็มหมุด (Enterobiasis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมครั้งเดียว จากนั้นรับประทานซ้ำ หลังจากยารอบแรก 2 - 4 สัปดาห์ ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1 กรัมต่อ 1 ครั้งของการรับประ ทาน
ง. สำหรับโรคพยาธิทริคิโนซิส (Trichinosis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 5 วัน
อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยาไพแรนเทล ก่อน หรือ หลัง อาหารก็ได้
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก):
- การใช้ยานี้ในเด็กตั้งแต่อายุ 2 ปีขึ้นไป :ขนาดยาขึ้นกับน้ำหนักตัวของเด็กและยังมีการจำกัดขนาดยาต้องไม่เกิน 1 กรัม ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยานี้ การใช้ยานี้จึงควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือ เภสัชกร ก่อนเสมอ
- ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไพแรนเทล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไพแรนเทลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไพแรนเทล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาไพแรนเทลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไพแรนเทลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ปวดท้อง
- ง่วงนอน หรือ นอนไม่หลับ
- ท้องเสีย
- ค่าเอนไซม์การทำงานของตับจากการตรวจเลือดอาจผิดปกติ
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- มีผื่นคัน
มีข้อควรระวังการใช้ยาไพแรนเทลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไพแรนเทล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาไพแรนเทล
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับทำงานผิดปกติ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะโลหิตจาง หรืออยู่ในภาวะขาดอาหาร
- ระวังการใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไพแรนเทลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆ เสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาไพแรนเทลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไพแรนเทลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทานยาไพแรนเทลร่วมกับยาตรวจโรคของต่อมไทรอยด์ เช่น น้ำแร่รังสีไอโอดีน จะส่งผลทำให้การวินิจฉัยโรคด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีนคลาดเคลื่อนไป ควรหยุดการใช้ยาไพแรนเทลก่อนเมื่อมีการตรวจด้วยตัวยาดังกล่าว
ควรเก็บรักษายาไพแรนเทลอย่างไร?
ควรเก็บยาไพแรนเทล เช่น
- เก็บยาระหว่างอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
- ไม่ควรเก็บยาในห้อง น้ำ
ยาไพแรนเทลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไพแรนเทลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bantel (แบนเทล) | Thai Nakorn Patana |
Pyrapam (ไพราแพม) | General Drugs House |
Pyteldon (ไพเทลดอน) | Acdhon |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Pyrantel_pamoate#Drug_action [2020,Nov7]
2 https://www.drugs.com/mtm/pyrantel.html [2020,Nov7]
3 http://www.drugs.com/monograph/pyrantel-pamoate.html [2020,Nov7]
4 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fpyrantel%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosag [2020,Nov7]