ยาไนเตรท (Nitrate medicines)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

 ยากลุ่มไนเตรท หรือ ยาไนเตรท (Nitrate medicines) ในบทความนี้จะกล่าวเฉพาะกลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการของโรคหัวใจ เช่น อาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด/กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina) ซึ่งอาจแบ่งยาไนเตรทได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

  1. Short-acting nitrate (ยากลุ่มออกฤทธิ์เร็ว): จัดเป็นยาที่ใช้เวลาออกฤทธิ์ไม่นานนัก ผู้ป่วยจะรู้สึกอาการดีขึ้นหลังการใช้ยาเพียงไม่กี่นาที กลุ่มยาไนเตรทที่มีการออกฤทธิ์ลักษณะนี้ เช่นยา
  • Glyceryl trinitrate หรือ Nitroglycerin: เป็นยาที่ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1847 (พ.ศ. 2390) นำมาใช้รักษาอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะมีทั้งชนิดฉีด ชนิดเม็ดอมใต้ลิ้น ชนิดสเปรย์ผิว พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง
    • สำหรับยาชนิดอมใต้ลิ้นจะออกฤทธิ์ภายใน 5 นาที
    • ในขณะที่ชนิดสเปรย์จะใช้เวลามากกว่า 15 นาทีขึ้นไป
    • สำหรับชนิดพลาสเตอร์ปิดผิวหนังต้องใช้ปิดผิวหนังทุกๆ 24 ชั่วโมง                

 อนึ่งยากลุ่มนี้มีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) โดยทั่วไปคือ ปวดหัว  วิงเวียน  อ่อนเพลีย ใบหน้าแดง เป็นต้น

  • Isosorbide dinitrate: สามารถใช้ยานี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกทดแทนยา Glyceryl trinitrate ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ของยานี้จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่ต้องใช้ปริมาณเลือดและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงมากจนเกินไปแต่ใช้เป็นปริมาณเท่าที่จำเป็น อีกทั้งทำให้หลอดเลือดขยายตัว การไหลเวียนของเลือดสะดวกขึ้น รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน ยาอมใต้ลิ้น และชนิดสเปรย์
    • หากเป็นยาชนิดอมใต้ลิ้นจะออกฤทธิ์ภายใน 2 - 5 นาที
    • ในขณะที่ชนิดเม็ดสำหรับรับประทานจะออกฤทธิ์ภายใน 1 ชั่วโมง

อนึ่ง อาการข้างเคียงโดยรวมที่พบเห็นได้จากยากลุ่มนี้ เช่น ปวดหัว  วิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว ใบหน้าแดง

  1. Long-acting nitrate (ยากลุ่มออกฤทธิ์ช้า): มักถูกใช้เป็นยาป้องกันมิให้เกิดภาวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แต่ไม่ใช่ยาที่จะใช้เมื่อเริ่มมีอาการ ระยะเวลาที่จะเริ่มออกฤทธิ์จะนาน/ช้ากว่ายาประเภท Short-acting nitrate กล่าวคือประมาณ 20 นาทีเป็นอย่างน้อย สูตรตำรับที่พบเห็นของยากลุ่มนี้ เป็นยาชนิดรับประทาน มีได้ทั้งชนิดทั่วไปและชนิดที่ฤทธิ์ยาอยู่ได้เนิ่นนานกว่ายาชนิดทั่วไป (Extended release form) ยาในกลุ่มไนเตรทที่มีการออกฤทธิ์ลักษณะนี้ เช่นยา
  • Isosorbide mononitrate: ถูกนำมาใช้ในเชิงป้องกันการเจ็บหน้าอกด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ไม่เหมาะที่จะใช้เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกแล้วด้วยใช้เวลาของการออกฤทธิ์หลังรับประทานนานถึงประมาณ 20 นาทีเป็นต้นไป ยานี้สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงคล้ายกับยาสองตัวแรก เช่น มีอาการปวดหัว วิงเวียน เป็นต้น

อนึ่ง ก่อนการเลือกใช้ยาในกลุ่มไนเตรท แพทย์จะต้องสอบถามประวัติอาการป่วย ประวัติการ ใช้ยาหรือแพ้ยาต่างๆ เช่นมีคำถามต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยมีปัญหาด้านโรคตับ โรคไตหรือไม่ มีภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ ภาวะ/โรคซีด ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) ต้อหิน  เคยได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะหรือไม่ เป็นต้น
  • หากเป็นสตรีอาจได้รับคำถามอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่

ทั้งนี้เมื่อมีการจ่ายยานี้ให้ผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะสำทับและย้ำให้ผู้ป่วยรับประทานยาให้ตรงเวลา หรือใช้ยาเฉพาะเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก และไม่ควรปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตัวเอง ประการสุดท้ายต้องให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามที่นัดหมายทุกครั้ง

ความปลอดภัยในการเลือกใช้ยากลุ่มไนเตรท จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามผู้ป่วยซื้อหายากลุ่มนี้มารับประทานด้วยตนเอง

ยากลุ่มไนเตรทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาไนเตรท

ยากลุ่มไนเตรทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เพื่อ

ใช้บำบัดรักษาอาการ/ภาวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina)

ยากลุ่มไนเตรทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 ยากลุ่มไนเตรทมีกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้

  • Glyceryl trinitrate: จะออกฤทธิ์ต่อเอนไซม์ไนตริก ออกไซด์ สติมูเลติ้ง กัวไนเลท ไซเคลส (Enzyme nitric oxide stimulating guanylate cyclase) ซึ่งมีผลกับ กล้ามเนื้อเรียบที่ผนังของหลอดเลือดแดงทำให้เกิดการคลายตัว ส่งผลให้เลือดเข้าไปเลี้ยงบริเวณเนื้อเยื่อที่มีภาวะขาดเลือดได้ดีขึ้น
  • Isosorbide: จะกระตุ้นให้หลอดเลือดแดงเกิดการคลายตัวรวมถึงลดแรงดันของหัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricular pressure) ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการทนต่อแรงดันในหลอดเลือดแดง จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ยากลุ่มไนเตรทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากลุ่มไนเตรทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:      

  • ยาเม็ด ยาแคปซูล ชนิดรับประทาน
  • ยาเม็ด ชนิดอมใต้ลิ้น
  • ยาพ่นสเปรย์ใต้ลิ้น
  • พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง
  • ยาฉีด

ยากลุ่มไนเตรทมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยากลุ่มไนเตรทมีขนาดรับประทาน/ขนาดการใช้ยาโดยต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ด้วยตัวยามีทั้งชนิดออกฤทธิ์เร็ว - ช้าแตกต่างกัน การใช้ยานี้จะต้องสอดคล้องกับอาการป่วย ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันออกไป

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไนเตรทด้วย ผู้ป่วยควรแจ้ง  แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น  

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไนเตรทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไนเตรท สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยานี้ให้ตรงเวลาตามแพทย์ผู้ รักษาสั่งเสมอ

ยากลุ่มไนเตรทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มไนเตรทสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • Glyceryl trinitrate: เช่น ปวดหัว วิงเวียน อ่อนเพลีย  ชีพจรเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำ  หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ใบหน้าแดง มีผื่นคัน และอาจมีผื่นผิวหนังอักเสบ
  • Isosorbide: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ปวดหัว วิงเวียน ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน  ปวดท้อง อ่อนเพลีย ปากคอแห้ง เจ็บหน้าอก ปวดหลัง บวมน้ำ ท้องผูกหรือท้องเสีย ท้องอืด และอาหารไม่ย่อย

มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มไนเตรทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มไนเตรท เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากลุ่มไนเตรทกับผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคซีด  ผู้ป่วยด้วยภาวะมีปริมาณพลาสมาในเลือดน้อย (Hypovolaemia)  ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวจากเกิดการอุดกั้นของระบบหลอดเลือด ผู้ที่มีความดันในกะโหลกศีรษะสูงเนื่องจากมีบาดแผลหรือมีภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไตระยะรุนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) ผู้ที่มีร่างกายอยู่ในภาวะขาดสารอาหาร ผู้ที่มีภาวะอุณหภูมิของร่างกายต่ำกว่าปกติ
  • ระหว่างการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ หากพบอาการตาพร่า ปากคอแห้ง ให้หยุดการใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • ระวังการใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มไนเตรทด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยากลุ่มไนเตรทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยากลุ่มไนเตรทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยา Isosorbide ร่วมกับยา Tadalafil ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง
  • การใช้ยา Glyceryl trinitrate ร่วมกับ ยาลดความดัน กลุ่ม Calcium channel blockers สามารถทำให้ความดันโลหิตต่ำได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยา Glyceryl trinitrate ร่วมกับยาขยายหลอดเลือดแดงตัวอื่นๆ เช่นยา Tadalafil หรือรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้ หากไม่จำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายากลุ่มไนเตรทอย่างไร?

 ควรเก็บยาไนเตรท:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิระหว่าง 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยากลุ่มไนเตรทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไนเตรท  มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Nitroject (ไนโตรเจค) Sun Pharma
Nitromint (ไนโตรมินท์) Egis
Nitrostat (ไนโตรสแตท) Pfizer
Corodil (โคโรดิล) T.O. Chemicals
Hartsorb (ฮาร์ทซอร์บ) Siam Bheasach
Imdex (อิมเด็กซ์) CCM Pharma
Ismo-20 (อีสโม-20) Riemser
Isobide (ไอโซไบด์) Patar Lab
Isobinate (ไอโซไบเนท) General Drugs House General Drugs House
Isoket (ไอโซเคท) Schwarz Pharma
Isoket 0.1% IV (ไอโซเคท 0.1% ไอวี) Schwarz Pharma
Isoket Spray (ไอโซเคท สเปรย์) Schwarz Pharma
Isopen-20 (ไอโซเพน-20) Siam Bheasach
Isorem (ไอโซเรม) Remedica
Isosorbide Dinitrate GPO (ไอโซซอร์ไบด์ ไดไนเตรท จีพีโอ) GPO
Isotrate (ไอโซเตรท) Berlin Pharm
Monolin/Monolin SR (โมโนลิน/โมโนลิน เอสอาร์) Berlin Pharm
Monosorb (โมโนซอร์บ) GPO
Monotrate (โมโนเตรท) Sun Pharma
Solotrate 20 (โซโลเตรท 20) Zydus Cadila
Sorbinate SR 60 (ซอร์ไบเนท เอสอาร์ 60) Zydus Cadila
Sornil (ซอร์นิล) Utopian

 

บรรณานุกรม

  1. https://patient.info/heart-health/nitrate-medication  [2022,April 23]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Nitroglycerin  [2022,April 23]
  3. https://patient.info/medicine/glyceryl-trinitrate-for-angina-gtn  [2022,April 23]
  4. https://www.drugs.com/isosorbide_mononitrate.html [2022,April 23]