ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หรือ เบนาดริล (Benadryl)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine หรือ Diphenhydramine hydrochloride หรือ Diphenhydramine HCl) หรือยาชื่อการค้าที่เป็นที่รู้จักคือ ‘เบนาดริล (Benadryl)’ จัดอยู่ในกลุ่มยาต้านสารฮิสตามีนลำดับต้น (First-generation antihistamine) ถูกนำมาใช้รักษาอาการแพ้ของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน ยานี้ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1943 (พ.ศ. 2486) และถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาพร้อมกับนำมาใช้ในวงการแพทย์ในปี ค.ศ.1946 (พ.ศ. 2489)

จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Phamacokinetics: การเป็นไปของยาเมื่อเข้าสู่ร่าง กาย) พบว่า ยาไดเฟนไฮดรามีนจะจับตัวกับโปรตีนในกระแสเลือดประมาณ 98 - 99% และถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่อวัยวะตับ ร่างกายของผู้ป่วยต้องใช้เวลาในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด 50% แตกต่างกันไปในแต่ละวัย โดยเด็กต้องใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง, ผู้ใหญ่ต้องใช้เวลาประมาณ 9 - 12ชั่วโมง, และผู้สูงอายุใช้เวลาในการกำจัดยาประมาณ 17 ชั่วโมง, ยานี้ที่ถูกกำจัดออกจากร่างกายจะผ่านไปกับปัสสาวะประมาณ 94% และกับอุจจาระประมาณ 6%

ยาไดเฟนไฮดรามีน /เบนาดริล ถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติของประเทศไทย ทำให้เราพบเห็นมีใช้ยาไดเฟนไฮดรามีนตามโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งยานี้จัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาไดเฟนไฮดรามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาไดเฟนไฮดรามีน

ยาไดเฟนไฮดรามีน/ เบนาดริล มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้บำบัดรักษาอาการแพ้ของร่างกาย เช่น ไอ อาการโรคหวัด ลมพิษ
  • ป้องกัน อาการ เมารถเมาเรือ

ยาไดเฟนไฮดรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไดเฟนไฮดรามีน/ เบนาดริล คือ ตัวยาจะออกฤทธ์ไปจับกับตัวรับที่ตอบ สนองต่อสารฮิสตามีนในร่างกาย หรือที่เรียกว่า Histamine H1-receptor ซึ่งส่งผลต่อการทำ งานของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ผนังหลอดเลือด และระบบทางเดินหายใจ ทำให้ร่างกายมีอาการบรรเทาจากอาการแพ้ต่างๆตามสรรพคุณของยา

ยาไดเฟนไฮดรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไดเฟนไฮดรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • รูปแบบยาแคปซูล ขนาดความแรง 25 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • รูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 50 มิลลิกรัม/เม็ด
  • รูปแบบยาน้ำชนิดรับประทาน โดยผสมร่วมกัยาอื่น
  • รูปแบบยาครีม ยาโลชั่น สำหรับทาผิว

ยาไดเฟนไฮดรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไดเฟนไฮดรามีน/ เบนาดริล มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. รักษาอาการจากการแพ้ต่างๆ เช่น ไอ, เป็นโรคหวัด, ลมพิษ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 - 50 มิลลิกรัม วันละ 3 - 4 ครั้ง ขนาดสูงสุดของการรับประทานไม่ควรเกิน 300 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: รับประทาน 6.25 - 25 มิลลิกรัม วันละ 3 - 4 ครั้ง การปรับขนาดรับประทานในเด็กแพทย์มักให้เพิ่มครั้งละ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทาน

ข. สำหรับป้องกันการ เมารถ เมาเรือ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 - 50 มิลลิกรัม ก่อนการขึ้นยาพาหนะเพื่อเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง และแพทย์อาจให้ยาซ้ำทุก 6 ชั่วโมง
  • เด็ก: ขนาดรับประทานขึ้นกับ อายุ และน้ำหนักตัวของเด็ก ซึ่งแพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้แนะนำขนาดรับประทาน

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยาไดเฟนไฮดรามีน ก่อน หรือ หลัง อาหารก็ได้
  • แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานยานี้ได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไดเฟนไฮดรามีน/เบนาดริล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะยาไดเฟนไฮดรามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไดเฟนไฮดรามีน/ เบนาดริล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาไดเฟนไฮดรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไดเฟนไฮดรามีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • กดประสาทส่วนกลาง (ซึม มึนงง)
  • มีอาการวิงเวียน
  • ปวดหัว
  • ง่วงนอน
  • ปากคอแห้ง
  • คัดจมูก
  • ตาพร่ามัว
  • ปัสสาวะขัด
  • รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง

*อนึ่ง: หากได้รับยานี้เกินขนาด อาจพบอาการ เช่น

  • จิตหลอน/ประสาทหลอน
  • ขาดสติ
  • ชัก
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (อาการ เช่น มีไข้ เจ็บ /ปวดกล้ามเนื้อมาก)
  • ภาวะหายใจล้มเหลว

มีข้อควรระวังการใช้ยาไดเฟนไฮดรามีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไดเฟนไฮดรามีน เบนาดริล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับทารกแรกคลอด และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย ด้วยโรคลมชัก ผู้ป่วยด้วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยด้วยช่องทางเดินปัสสาวะอุดตัน ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน)
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไดเฟนไฮดรามีน/เบนาดริล ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไดเฟนไฮดรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไดเฟนไฮดรามีน/เบนาดริล มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไดเฟนไฮดรามีน ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สามารถก่อให้เกิดอาการ ง่วงนอน วิงเวียน ได้มากยิ่งขึ้น ควรหลีกเลี่ยงและห้ามรับประทานร่วมกัน
  • การใช้ยาไดเฟนไฮดรามีน ร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งเต้านม เช่นยา Tamoxifen พบว่ายาไดเฟนไฮดรามีนจะลดประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาของยา Tamoxifen หากมีความจำเป็นที่ต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับคนไข้
  • การใช้ยาไดเฟนไฮดรามีน ร่วมกับยารับประทานเพื่อชดเชยเกลือโพแทสเซียม เช่นยา Potassium chloride อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น อาจพบอาการอื่นติดตามมาอีก เช่น วิงเวียน เลือดออกภายในกระเพาะอาหาร (เลือดออกในทางเดินอาหาร) อุจจาระมีสีดำคล้ำ หากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

ควรเก็บรักษายาไดเฟนไฮดรามีนอย่างไร?

ควรเก็บยาไดเฟนไฮดรามีน/เบนาดริล เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาไดเฟนไฮดรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไดเฟนไฮดรามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Allerdryl (แอลเลอดริล) Greater Pharma
Antipru Lotion (แอนตี้พรู โลชั่น) BJ Benjaosoth
Aracaf (เอราคาฟ) Thai Nakorn Patana
Benadryl (เบนาดริล) Johnson & Johnson
Benadryl Cough Syrup (เบนาดริล คอฟ ไซรัป ) Johnson & Johnson
Benylin CD (เบนิลิน ซีดี) Olic
Bronchoprex (บรอนโคเพรก) Kenyaku
Cabana (คาบานา) L.B.S.
Cadinyl (คาดินิล) Medifive
Cadramine V (คาดรามีน) Atlantic Lab
Caloryne (คาลอไรน์) T.O. Chemicals
Codiphen (โคไดเฟน) Community Pharm PCL
Coldanyl (โคลดานิล) Osoth Interlab
Diphendryl Expectorant (ไดเฟนดริล เอ็กเป็กทอแร้น) T. O. Chemicals
Histodryl (ฮีโทดริล) Biolab
Umeda Calamine-D (ยูเมดา คาราไมด์- ดี) Umeda

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Diphenhydramine [2020,Dec5]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fdiphenhydramine%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Overdosage [2020,Dec5]
3 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fdiphenhydramine%3fmtype%3dgeneric [2020,Dec5]
4 http://www.drugs.com/drug-interactions/diphenhydramine.html [2020,Dec5]
5 http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=250&drugName=Diphenhydramine&type=12[2020,Dec5]
6 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=DIPHENHYDRAMINE [2020,Dec5]