ยาไดอะซีแพม (Diazepam) ยาแวเลียม (Valium)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 21 พฤศจิกายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- ยาไดอะซีแพมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาไดอะซีแพมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไดอะซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไดอะซีแพมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไดอะซีแพมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไดอะซีแพมอย่างไร?
- ยาไดอะซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไดอะซีแพมอย่างไร?
- ยาไดอะซีแพมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ลมชัก (Epilepsy)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Tranquilizer Drugs)
- ยานอนหลับ (Hypnotic drug)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
บทนำ
ยาไดอะซีแพม (Diazepam) หรือชื่อการค้าที่คนมักรู้จัก คือ แวเลียม (Valium) จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ถูกนำมาใช้รักษาได้หลายอาการโรค อาทิเช่น ภาวะเครียด นอนไม่หลับ โรคลมชัก สงบประสาท โรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่ติดฝิ่น
หลังจากที่ร่างกายได้รับยาไดอะซีแพม ยาจะเริ่มออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุผลดัง กล่าวยานี้จึงถูกนำไปใช้รักษาอาการชักชนิดเฉียบพลัน และผู้ป่วยที่มีภาวะเครียดคุกคาม เป็นต้น ยาไดอะซีแพมจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่ตับ และอยู่ในร่างกายได้นานถึง 20 – 100 ชั่วโมง และถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ
การใช้ยาไดอะซีแพม ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น การหาซื้อตามร้านขายยา จำเป็นต้องมีใบสั่งจากแพทย์ ไม่สามารถหาซื้อได้ง่ายเหมือนยาอันตรายอื่นๆ และหากผู้ บริโภคนำยาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ย่อมเกิดผลเสียต่อผู้ใช้มากกว่าประโยชน์ที่ควรจะได้รับ
ยาไดอะซีแพมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไดอะซีแพมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาภาวะเครียด หรืออาการวิตกกังวล
- ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ลดอาการชักเกร็ง
ยาไดอะซีแพมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไดอะซีแพมมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยจะซึมผ่านเข้าไปในสมอง และออกฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของสารเคมีที่เป็นสารสื่อประสาทที่เรียกว่า GABA (Gamma amino butyric acid) ด้วยกลไกดังกล่าว ส่งผลให้สมองตอบสนองต่ออาการโรคไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ยาไดอะซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไดอะซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแคปซูลขนาดความแรง 2 และ 5 มิลลิกรัม
- ยาเม็ดขนาดความแรง 2, 5 และ 10 มิลลิกรัม
- ยาฉีดขนาดความแรง 10 มิลลิกรัม ต่อ 2 มิลลิลิตร
ยาไดอะซีแพมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไดอะซีแพมมีขนาดรับประทาน เช่น
- สามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ผู้ใหญ่รับประทาน 4 – 40 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทาน 3 – 4 ครั้ง/วัน
- เด็กรับประทาน 0.12 – 0.8 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทาน 3 – 4 ครั้ง/วัน
*****หมายเหตุ ขนาดรับประทานที่ปลอดภัยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น และควรต้องใช้ยานี้เฉพาะตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไดอะซีแพม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไดอะซีแพมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้ เช่น ความพิการแต่กำเนิด
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทาน ยาไดอะซีแพม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาไดอะซีแพมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
การใช้ยาไดอะซีแพม อาจส่งผลให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา /ผลข้างเคียง /อาการข้างเคียง เช่น
- อาการง่วงนอน
- จิตใจไม่ปกติ
- ความจำเสื่อม
- การมองเห็นไม่ชัดเจน
- อาจพบอาการปัสสาวะติดขัด/ ปัสสาวะลำบาก
- กดการหายใจ/การหายใจผิดปกติ
- และความดันโลหิตต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้ยาไดอะซีแพมอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาไดอะซีแพม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับหญิงมีครรภ์ (เพราะอาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้) และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร (เพราะยาจะปนมาในน้ำนม ส่งผลให้เด็กนอนหลับ ง่วง ซึมตลอดเวลา ขาดอา หารได้)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคต้อหิน เพราะอาการโรคต้อหินอาจรุนแรงขึ้นได้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคจิตที่อยู่ในระยะรุนแรง
- ระวังการใช้ยากับ ผู้สูงอายุ เด็กแรกคลอด ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี(Myasthenia Gravis) เพราะผลข้างเคียงจากยานี้อาจสูงขึ้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่ป่วยด้วย โรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะบกพร่องในระบบทางเดินหายใจ เพราะอาจทำให้อาการของโรคเหล่านี้รุนแรงขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากับผู้ป่วยด้วย โรคตับ และโรคไต เพราะผลข้างเคียงจากยาจะสูงขึ้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดรวมถึงยาไดอะซีแพม ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาไดอะซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไดอะซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ เช่น
- การรับประทานไดอะซีแพมร่วมกับยาบรรเทาปวด/ยาแก้ปวด ในกลุ่มโอปิออยด์ (ฝิ่น) สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมา เช่น ง่วงนอนและวิงเวียนศีรษะมากขึ้น ตัวอย่าง ยาบรรเทาปวดดังกล่าว เช่น
- Codeine
- Fentanyl
- และ Tramadol เป็นต้น
- การใช้ยาไดอะซีแพมร่วมกับยาแก้แพ้หรือยาแก้หวัด สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงนอน วิงเวียนศีรษะ ตัวอย่าง ยาแก้แพ้/ยาแก้หวัด ดังกล่าว เช่นยา
- Brompheniramine
- Chlorpheniramine
- Cetirizine
- การใช้ยาไดอะซีแพม ร่วมกับ ยาลดความดันโลหิตสูง (ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง) สามารถส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงได้มากขึ้น มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน และเป็นลม ได้ ตัวอย่าง ยาลดความดันโลหิตดังกล่าว เช่นยา
- Atenolol , Nadolol
- การใช้ยาไดอะซีแพมร่วมกับยาที่กระตุ้นให้อยากอาหาร สามารถก่อให้เกิด อาการง่วงนอน วิงเวียนศีรษะ ตัวอย่างยาที่ใช้กระตุ้นให้อยากอาหารดังกล่าว เช่นยา
- Cyproheptadine
ควรเก็บรักษายาไดอะซีแพมอย่างไร?
ควรเก็บยาไดอะซีแพมใน
- อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
- เก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
- และต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
ยาไดอะซีแพมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่ออื่นของยาไดอะซีแพม และชื่อบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
A-Zerax (เอ-ซีแร็กซ์) | vAsian Pharm |
Calmipam (คอลมิแพม) | Chalermchai |
Diadon (ไดเอดอน) | Acdhon |
Diamed (ไดเอเมด) | Medicpharma |
Diano (ไดเอโน) | Milano |
Diapam (ไดเอแพม) | Greater Pharma |
Diapine (ไดเอพีน) | Atlantic Lab |
Diapine Atlantic (ไดเอพีน แอทแลนติก) | Atlantic Lab |
Diaz (ไดแอซ) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Diazepam Acdhon (ไดอะซีแพม แอกดอน) | Acdhon |
Diazepam BJ Benjaosoth (ไดอะซีแพม บีเจ เบญจโอสถ) | BJ Benjaosoth |
Diazepam General Drugs House (ไดอะซีแพม เจนเนอรัล ดรักซ์ เฮาส์) | General Drugs House |
Diazepam GPO (ไดอะซีแพม จีพีโอ) | GPO |
Diazepam H K Pharm (ไดอะซีแพม เอท เค ฟาร์ม) | H K Pharm |
Diazepam Lerd Singh (ไดอะซีแพม เลิศ สิงห์) | Lerd Singh |
Diazepam Pond’s Chemical (ไดอะซีแพม พอนด์ส เคมีคอล) | Pond’s Chemical |
Diazepam Samakeephaesaj (ไดอะซีแพม สามัคคีเภสัช) | Samakeephaesaj (Union Drug Lab) |
Diazepam Sommai Bhaesaj (ไดอะซีแพม สมหมาย เภสัช) | Sommai Bhaesaj |
Diazepam T P Drug (ไดอะซีแพม ทีพี ดรัก) | T P Drug |
Diazepam Vesco (ไดอะซีแพม เวสโก) | Vesco Pharma |
Diazepion (ไดอะซีเพียน) | Chew Brothers |
Dilium (ไดเลียม) | Seven Stars |
Dimed (ไดเมด) | Tanapat Bhaesaj |
Dipam (ไดแพม) | New Life Pharma |
Ditran (ไดทราน) | Thaipharmed 1942 |
Divopan (ไดโวแพน) | A N H Products |
Dizep (ไดเซพ) | Suphong Bhaesaj |
Dizepam (ไดซีแพม) | Masa Lab |
Dizzepam (ดีซซีแพม) | Pond’s Chemical |
DZP2 (ดีซีพี2) | Pharmasant Lab |
Manodiazo (มาโนเดียโซ) | March Pharma |
Manolium (มาโนเลียม) | March Pharma |
Med-Zepam (เมด-ซีแพม) | Medical Supply |
Monozide (โมโนไซด์) | Thai P D Chemicals |
Monozide-10 (โมโนไซด์-10) | Thai P D Chemicals |
Pam (แพม) | T V Pharm |
Popam (โพแพม) | Pharmasant Lab |
Ropam (โรแพม) | L. B. S. |
S Co Zepam (เอส โค ซีแพม) | S Co Pharma |
Sipam (ซิแพม) | Siam Bheasach |
Tranolan (ทราโนแลน) | Olan-Kemed |
V Day Zepam (วี เดย์ ซีแพม) | P P Lab |
Valax (วาแล็กซ์) | T M N Impex |
Valax 5 mg (วาแล็กซ์ 5 มิลลิกรัม) | Utopian |
Valenium (วาเลเนียม) | Kenyaku |
Vason (เวซัน) | Millimed |
Vescopam (เวสโคแพม) | Vesco Pharma |
Vomed 2 mg (โวเมด 2 มิลลิกรัม) | Utopian |
Vomed 5 mg (โวเมด 5 มิลลิกรัม) | Cmed Products |
Vorapam (โวราแพม) | V S Pharma |
Winopam (วิโนแพม) | Liwinner Pharma |
Zam (แซม) | Medicine Products |
Zepam (ซีแพม) | Modern Manu |
Zepaxid (ซีพาซิด) | Udomphon (Phihalab) |
Zopam (โซแพม) | Pharmasant Lab |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Diazepam#Mechanism_of_action [2019,Nov2]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/diazepam-index.html?filter=3&generic_only= [2019,Nov2]
- https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0735675799900797 [2019,Nov2]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/diazepam?mtype=generic [2019,Nov2]