เอสเอ็นอาร์ไอ: ยาโรคซึมเศร้า (SNRI: Serotonin and norepinephrine reuptake inhibitor)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือ ยาอะไร?

กลุ่มยาเอสเอ็นอาร์ไอ (SNRI) คือ คำย่อของกลุ่มยารักษาอาการ/โรคซึมเศร้า

(ยาต้านเศร้า) ชื่อเต็มคือ ‘Serotonin and Norepinephrine reuptake inhibitor’ ที่รวมถึงบำบัดรักษาอาการทางจิตและประสาทในลักษณะอื่นด้วย เช่น อาการวิตกกังวล, อาการสมาธิสั้น, อาการปวดเหตุประสาท, อาการปวด กล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน (ไฟโบรมัยอัลเจีย/ Fibromyalgia), และยังนำไปประยุกต์ใช้รักษาอาการของสตรีวัยหมดประจำเดือน

กลไกหลักของยากลุ่มนี้ จะเป็นการยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาท 2 ตัว ในร่างกายได้แก่ Serotonin และ Norepinephrine ซึ่งจะส่งผลต่ออารมณ์และความสามารถในการทนต่ออาการปวดของร่างกาย

ปัจจุบันยากลุ่มนี้ได้รับความนิยมและเป็นที่แพร่หลายในวงการแพทย์อย่างมาก สามารถแจกแจงเป็นยารักษาโรคได้ดังนี้เช่น

  • ยาเวนลาฟาซีน (Venlafaxine): จัดเป็นยาตัวแรกและใช้อย่างแพร่หลายของกลุ่มยาเอสเอ็นอาร์ไอ สามารถทำให้เกิดภาวะติดยาได้ การใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ยาเดสเวนลาฟาซีน (Desvenlafaxine): เป็นยาที่ถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีต่อจากยาVenlafaxine มีจุดขายคือ บำบัดอาการซึมเศร้าโดยเฉพาะในสตรีวัยหมดประจำเดือน
  • ยาดูล็อกซีทีน (Duloxetine): ใช้รักษาอาการซึมเศร้าและอาการปวดเหตุประสาท มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่ติดสุราเรื้อรัง และผู้ป่วยด้วยโรคตับ ด้วยยานี้อาจกระตุ้นให้เกิดสภาวะตับอักเสบต่อผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
  • ยามิลแนซิแพรน (Milnacipran) : รักษาอาการซึมเศร้า และอาการ ปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน (Fibromyalgia)
  • Levomilnacipran : เป็นยาอีกตัวที่มีสูตรโมเลกุลเหมือนกับ Milnacipran และถูกพัฒนา ขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ใช้รักษาอาการซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน
  • ยาไซบูทรามีน (Sibutramine): รักษาอาการซึมเศร้า แต่มีจุดขายที่เด่นขึ้นมาคือ ใช้เป็นยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วนได้

อาจกล่าวได้ว่า ยากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (SNRIs) จัดเป็นยาทางเลือกที่ค่อนข้างดีสำหรับผู้ ป่วยด้วยโรค/ภาวะซึมเศร้า และผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง แต่การเลือกใช้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์หลังจากการตรวจคัดกรองร่างกายผู้ป่วยแล้ว ประกอบกับการตอบสนองของผู้ป่วยที่จะต้องแจ้งต่อแพทย์ให้ทราบเป็นระยะๆถึงประสิทธิภาพการรักษา รวมถึงพัฒนาการของอาการป่วยเป็นไปในทิศ ทางเช่นไร

ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาโรคซึมเศร้า

ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาอาการ/ภาวะซึมเศร้า
  • บรรเทาอาการวิตกกังวล
  • รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน (ไฟโบรมัยอัลเจีย /Fibromyalgia)
  • รักษาอาการปวดเหตุประสาท
  • บำบัดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรี)
  • ใช้เป็นยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วน

ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอคือ ตัวยาจะยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาท 2 ตัว คือ Serotonin และ Norepinephrine ซึ่งกลไกนี้จะเกิดที่สมองส่งผลต่อระดับสารสื่อประสาทตัวอื่นๆและเกิดการปรับสมดุลของสารเคมีในเซลล์สมอง จากกลไกเหล่านี้จึงทำให้ลดอาการซึมเศร้าและอาการต่างๆดังกล่าวใน’บทนำ’ และก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • เป็นยาแคปซูลชนิดรับประทาน ซึ่งมีขนาดต่างๆกันขึ้นกับแต่ละชนิดของตัวยา

ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอมีขนาดรับประทานอย่างไร?

การรับประทานยา/ขนาดยาในกลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ มีความแตกต่างกันด้วยปัจจัยของชนิดยาที่ใช้ อาการป่วย อายุ โรคประจำตัว และสภาพร่างกายในขณะนั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยารักษาโรค/ภาวะซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไออาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ด้วยยากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอจะทำให้ระดับสารสื่อประสาท Serotonin ในสมองมีระดับสูงขึ้น จึงทำให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังต่อไปนี้ เช่น

  • ความอยากอาหารลดน้อยลงส่งผลให้น้ำหนักตัวลดตาม
  • ทำให้ช่วงระยะเวลาที่นอนหลับลดลง เช่น เดิมเคยนอนได้ 8 ชั่วโมงจะลดเป็น 6 ชั่วโมง เป็นต้น
  • วิงเวียน
  • อ่อนแรง
  • ง่วงนอน
  • ปวดหัว
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย
  • สมรรถภาพทางเพศถดถอย
  • ปัสสาวะขัด
  • นอกจากนี้ยังมีผลของการเพิ่มระดับสารสื่อประสาทชนิด Norepinephrine ที่อาจทำให้เกิดภาวะ
    • ความดันโลหิตสูง
    • วิตกกังวล
    • อาจเกิดอาการทางโรคหัวใจติดตามมา

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไออย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวการณ์ทำงานของตับวาย, ผู้ที่อยู่ในภาวะลดน้ำหนัก
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ห้ามปรับเพิ่มการรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยากับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ
  • ระวังการเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome: กลุ่มอาการจากมีสารสื่อประสาทชนิด Serotonin สูง เช่น สับสน กระสับกระส่าย เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ตัวสั่น ปวดหัว)
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยา Venlafaxine ร่วมกับ ยา Dextromethorphan สามารถเพิ่มความเสี่ยงของกลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Duloxetine ร่วมกับยา Ergotamine อาจทำให้เกิด อาการสับสน มีอาการ ประสาทหลอน ชัก หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ หรือที่เรียกว่ากลุ่มอาการ Serotonin syndrome จึงควรหลีก เลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Milnacipran ร่วมกับยา Phenylpropanolamine จะทำให้เพิ่มผลข้างเคียงของยา Phenylpropanolamine มากยิ่งขึ้น โดยอาจพบอาการ วิตกกังวล กระสับกระส่าย รวมไปถึงเกิดภาวะ Serotonin syndrome จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Sibutranine ร่วมกับยา Tryptophan (กรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาภาวะที่ร่าง กายขาดสารอาหารชนิดนี้) สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะ Serotonin syndrome หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไออย่างไร?

ควรเก็บยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิที่เย็น
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Efexor XR (เอเฟกเซอร์ เอ็กซ์อาร์) Pfizer
Valosine SR (วาโลไซน์ เอสอาร์) Standard Chem & Pharm
Pristiq (พริสติค) Pfizer
Cymbalta (ซัมบัลต้า) Eli Lilly
Ixel (อิกเซล) Pierre Fabre Medicament

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=VENLAFAXINE [2021,May8]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=desvenlafaxine [2021,May8]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin%E2%80%93norepinephrine_reuptake_inhibitor#Indications [2021,May8]
  4. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/depression/in-depth/antidepressants/art-20044970 [2021,May8]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/accuhist-pdx-drops-with-venlafaxine-614-12385-2296-0.html [2021,May8]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/duloxetine-with-e-caff-p-b-949-0-329-8638.html [2021,May8]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/altatapp-with-milnacipran-429-7133-3101-0.html [2021,May8]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/aminomine-with-sibutramine-2568-15148-2060-0.html [2021,May8]
  9. https://www.drugs.com/cdi/effexor.html [2021,May8]