ยาโค-ไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 ธันวาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาโค-ไตรม็อกซาโซลอย่างไร?
- ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาโค-ไตรม็อกซาโซลอย่างไร?
- ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- เชื้อรา (Fungal infection)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
- โรคติดเชื้อ (Infectious disease)
- ไตรเมโทพริม (Trimethoprim)
- ซัลฟาเมทอกซาโซน (Sulfamethoxazole)
บทนำ
โค-ไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) เป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) ที่ประกอบ ไปด้วยตัวยา 2 ตัว คือ Trimethoprim กับ Sulfamethoxazole หรือ Trimethoprim/ Sulfamethoxazole ย่อว่า TMP/SMX นอกจากฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบค ทีเรียแล้ว โคไตรม็อกซาโซลยังถูกใช้ในการบำบัดการติดเชื้อรา เชื้อโปรโตซัวอีกด้วย (อ่านเพิ่ม เติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว)
องค์การอนามัยโลกได้เสนอให้โค-ไตรม็อกซาโซลเป็นยาจำเป็นสำหรับระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐาน และประเทศไทยบรรจุยาตัวนี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว เราจึงพบเห็นในหลายสถานพยาบาลยังมียาตัวนี้เพื่อใช้รักษาคนไข้ ปัจจุบันโค-ไตรม็อกซาโซลได้รับความนิยมในการใช้น้อยลง ด้วยผลข้างเคียงของยาซึ่งผู้ป่วยหลายรายได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังมีรายงานการแพ้ยาของผู้ใช้ยามาประกอบ จึงเป็นเหตุให้หลายประเทศไม่ยอมรับและเริ่มปฏิเสธการใช้ยาตัวนี้
ปกติ ยาโค-ไตรม็อกซาโซลใช้รักษาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจทั้งช่วงบนและช่วงล่าง การติดเชื้อที่ระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อที่ไต และการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ยังใช้รักษาการติดเชื้อบริเวณผิวหนังและบาดแผลต่างๆ ตลอดจนกระทั่งใช้รักษาการติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) พบว่าเชื้อโรคหลายสายพันธุ์ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายตัว เป็นเหตุให้วงการแพทย์เริ่มนำโค-ไตรม็อกซาโซลกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง
หลังจากได้รับยาเข้าสู่ร่างกาย ทั้ง Trimethoprim และ Sulfamethoxazole จะมีการจับกับ โปรตีนในกระแสเลือด ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงสำหรับกำจัด Trimethoprim ออกจากกระแสเลือด 50% และประมาณ 8 - 10 ชั่วโมงในการกำจัด Sulfamethoxazole เช่นกัน ยาโค-ไตรม็อกซาโซลจะถูกขับออกมากับปัสสาวะ แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำในปริมาณมากพอหลังกินยา (2 แก้วโดยประมาณ) เพื่อป้องกันมิให้ยาเกิดการตกค้างหรือมีผลเสียต่ออวัยวะไตของคนไข้
ยาโค-ไตรม็อกซาโซลจัดอยู่ในหมวดของยาอันตราย มีประวัติของการแพ้ยานี้ในผู้ป่วยหลายราย หรือได้รับผลข้างเคียงของยาเป็นจำนวนมาก การใช้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาอาการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ติดเชื้อ ในระบบทางเดินปัสสาวะ
- รักษาการติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยยับยั้งการสร้างโปรตีนในกลุ่มเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย เชื้อรา และโปรโตซัว โดย Sulfamethoxazole จะรบกวนกระบวนการสังเคราะห์สาร Dihydrofolate ส่วน Trimethoprim จะรบกวนกระบวนการสังเคราะห์สาร Tetrahydrofolic acid ด้วยกระบวนการดังกล่าว จึงทำให้กลุ่มเชื้อโรคหยุดการเจริญเติบโตและตายในที่สุด
ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโค-ไตรม็อกซาโซลจัดจำหน่ายในรูปแบบ เช่น
- ยาเม็ด ประกอบด้วย Trimethoprim 80 มิลลิกรัม/เม็ด และ Sulfamethoxazole 400 มิล ลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำแขวนตะกอน ประกอบด้วย Trimethoprim 40 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร และ Sulfame thoxazole 200 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ยาฉีด ประกอบด้วย Trimethoprim 80 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร และ Sulfamethoxazole 400 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 2 เม็ด หลังอาหารเช้า - เย็น ควรรับประทานพร้อมน้ำดื่ม ที่สะอาด 2 แก้วเป็นอย่างต่ำ หากต้องใช้ยาเป็นเวลานานให้ลดขนาดรับประทานเหลือครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหารเช้า - เย็น
ข. เด็กอายุ 6 - 12 ปี: รับประทานครั้งละ 10 มิลลิลิตร หลังอาหารเช้า - เย็น
ค. เด็กอายุ 6 เดือน - 5 ปี: รับประทานครั้งละ 5 มิลลิลิตร หลังอาหารเช้า – เย็น
*****หมายเหตุ:
- การใช้ยานี้กับเด็กต้องเพิ่มความระมัดระวังของการตวงยาเพื่อรับประทาน ด้วยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากยาจะส่งผลกระทบมากกว่าในผู้ใหญ่
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กทารกแรกคลอด
- ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโค-ไตรม็อกซาโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโค-ไตรม็อกซาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/ หรืออาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโค-ไตรม็อกซาโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโค-ไตรม็อกซาโซลอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
- เกิดภาวะกระเพาะอาหารอักเสบ
- เกิดผื่นคันตามผิวหนัง
- เกิดการได้ยินบกพร่อง
- เกิดภาวะ Stevens-Johnson syndrome
- มีผลต่อระบบเลือด/ระบบโลหิตวิทยาโดยก่อให้เกิด
- ภาวะโลหิตจาง
- เม็ดเลือดขาวต่ำ (Leukopenia)
- Neutropenia (เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ต่ำ)
- เกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)
- เกิดภาวะเกลือโพแทสเซี่ยมในกระแสเลือดมีระดับสูงเกินมาตร ฐาน/โพแทสเซียมในเลือดสูง (เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ)
- น้ำตาลในเลือดต่ำ (เช่น วิงเวียน จะเป็นลม กระสับกระส่าย )
- เกิดอาการทางสมอง (เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ชัก)
- และ/หรือการทำงานของระบบขับถ่ายปัสสาวะผิด ปกติ (เช่น ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะเป็นเลือด) เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้ยาโค-ไตรม็อกซาโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโค-ไตรม็อกซาโซลดังนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาโค-ไตรม็อกซาโซล
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับ - ไตทำงานผิดปกติ
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กทารกแรกคลอด
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยา Dofetilide (ยารักษาโรคหัวใจที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ)
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย
- ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี
- ผู้ที่ร่างกายขาดโฟเลต (Folic acid/ Folate) ผู้ที่มีประวัติโรคหืด
- และผู้ป่วยภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมออายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโค-ไตรม็อกซาโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาโค-ไตรม็อกซาโซลร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide diuretics เช่น Hydrochlorothiazide) สามารถก่อให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) จึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาโค-ไตรม็อกซาโซลร่วมกับยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด เช่น Warfarin อาจเกิดความเสี่ยงทำให้มีอาการเลือดออกง่ายเพิ่มขึ้น อีกทั้งส่งผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะ ตับ - ไตของผู้ป่วย หากต้องใช้ยาร่วมกันควรต้องปรับขนาดรับประทานของยา warfarin โดยแพทย์ผู้ รักษา
- การใช้ยาโค-ไตรม็อกซาโซลร่วมกับยากันชัก เช่น Phenytoin มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการข้างเคียง เช่น เสียการทรงตัว/เซ สั่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นลม หากต้องใช้ยาร่วมกัน สมควรต้องปรับขนาดการรับประทานของ Phenytoin
- การใช้ยาโค-ไตรม็อกซาโซลร่วมกับยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่นยา Dofetilide สามารถเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ แน่นหน้าอก ตาพร่ามัว คลื่นไส้ จึงถือเป็นข้อห้ามใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาโค-ไตรม็อกซาโซลอย่างไร?
สามารถเก็บยาโค-ไตรม็อกซาโซล เช่น
- สามารถเก็บยานี้ได้ที่อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิดพ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาโค-ไตรม็อกซาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโค-ไตรม็อกซาโซล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Co-trimoxazole Community Pharm (โค-ไตรม็อกซาโซล คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) | Community Pharm PCL |
Co-trimoxazole Mixture (โค-ไตรม็อกซาโซล มิกเซอร์) | Medicpharma |
Co-trimoxazole Patar (โค-ไตรม็อกซาโซล พาต้า) | Patar Lab |
Co-trimoxazole T Man (โค-ไตรม็อกซาโซล ที แมน) | T. Man Pharma |
Co-trimoxazole Utopian (โค-ไตรม็อกซาโซล ยูโทเปียน) | Utopian |
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2013/017377s068s073lbl.pdf [2019,Nov23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Trimethoprim/sulfamethoxazole [2019,Nov23]
- https://www.medicinenet.com/sulfamethoxazole_and_trimethoprim/article.htm [2019,Nov23]
- https://www.drugs.com/ppa/sulfamethoxazole-and-trimethoprim.htm [2019,Nov23]
- https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a684026.html#storage-conditions [2019,Nov23]
- https://www.mims.co.uk/drugs/infections-and-infestations/bacterial-infections/co-trimoxazole [2019,Nov23]