ยาแขวนตะกอน ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspensions)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาแขวนตะกอน

บทนำ : คือยาอะไร?

ยาแขวนตะกอน หรือ ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension) คือ ยาที่ประกอบด้วย 2 วัฏภาค (วัฏภาค หรือ เฟส/Phase หมายถึง ส่วนที่เป็นเนื้อเดียวกันในระบบ/รูปแบบ/ภาคเดียวกัน และมีขอบเขตแน่นอนแยกจากส่วนอื่นๆของระบบนั้นๆ ในทางเคมีแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ ของแข็ง, ของเหลว, และก๊าซ) ซึ่งทั้ง 2 วัฏภาคได้แก่

1. วัฏภาคภายใน (Internal phase หรือ Dispersed phase): ที่เป็นผงยาที่ไม่ละลายน้ำ โดยเป็นของแข็ง มีขนาดอนุภาค 0.5 - 5 ไมโครเมตร

2. วัฏภายนอก (External phase หรือ Dispersion medium): ที่เป็นของเหลว เช่น น้ำเชื่อม น้ำมัน แต่นิยมใช้น้ำมากที่สุด

ทั้งนี้เนื่องจากยาบางตัวละลายในตัวทำละลายได้ไม่ดี จึงไม่สามารถเตรียมในรูปแบบยาสารละลายซึ่งเป็นยาน้ำใส (Solutions) เพราะต้องใช้ตัวทำละลายมากเกินไป เราจึงนำยาประเภทนี้มาเตรียมในรูปแบบยาแขวนตะกอนแทน ดังนั้นยาแขวนตะกอนจึงทำให้เราสามารถเตรียมยาที่มีความแรงมากกว่ายาน้ำใสทั่วไปได้ เพราะไม่ต้องคำนึงถึงปัญหาตัวยาไม่ละลาย

ทางเภสัชแบ่งยาแขวนตะกอนเป็นประเภทใดบ้าง?

ทางเภสัชแบ่งยาแขวนตะกอนเป็น 2 ประเภทดังนี้

1. ยาแขวนตะกอนชนิดสำเร็จรูป (Ready to use suspensions): เป็นยาแขวนตะกอนที่ถูกเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว โดยผงยาที่ไม่ละลายน้ำจะกระจายตัวอยู่ในน้ำกระสายยา ผู้ป่วยสามารถใช้ได้ทันทีหลังจากเขย่าขวดให้ผงยากระจายตัวอย่างสม่ำเสมอแล้วเช่น ยาธาตุน้ำขาว

2. ยาแขวนตะกอนชนิดผงผสมแห้ง (Prior to use suspensions, Dried powder for oral suspensions/reconstitution): เป็นรูปแบบที่ก่อนใช้ต้องเติมน้ำเดือดที่ทิ้งไว้จนน้ำเย็นแล้ว หรือน้ำสะอาดเพื่อเป็นกระสายยาตามปริมาณที่กำหนดไว้ ยาในรูปผงแห้งจะมีอายุ 2 ปี แต่หลังจากเติมน้ำกระสายยาแล้ว ยาจะมีอายุผลิตภัณฑ์ (Shelf-life) สั้นลง ดังนั้นควรเก็บยาไว้ในตู้เย็นเพื่อให้ยามีความคงตัว

ยาแขวนตะกอนอยู่ในรูปแบบใดบ้าง?

ยาแขวนตะกอนอยู่ในรูปแบบการวางจำหน่าย ดังนี้เช่น

1. ยาแขวนตะกอนชนิดรับประทาน (Oral suspensions): ประกอบด้วยตัวยาและสารปรุงแต่งอื่นๆ นิยมใช้น้ำหรือน้ำเชื่อมเป็นน้ำกระสายยา เช่น ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน (Antacid Suspension) หรืออลัมมิล (Alum milk)

2. ยาแขวนตะกอนชนิดใช้เฉพาะที่ (Topical suspensions): เป็นยาใช้ภายนอก ตัวยาจะมีขนาดอนุภาคเล็กมากเพื่อให้ยาสัมผัสกับผิวหนังมากๆและลดการระคายเคืองได้ดี เช่น คาลาไมน์โลชั่น (Calamine Lotion)

3. ยาแขวนตะกอนชนิดยาหยอดหู (Otic suspensions): เช่น นีโอมัยซินผสมกับไฮโดรคอร์ติโซน (Neomycin with Hydrocortisone Otic suspension)

4. ยาแขวนตะกอนชนิดยาหยอดตา (Opthalmic suspensions): เป็นยาแขวนตะกอนชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile) เช่น โทบรามัยซินผสมกับเด็กซาเมทาโซน (Tobramycin with Dexamethasone ophthalmic suspension)

5. ยาแขวนตะกอนชนิดฉีด (Parenteral suspensions): เป็นยาแขวนตะกอนชนิดปราศจากเชื้อ ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เช่น แอมพิซิลลินแบบฉีด (Sterile Ampicillin for suspension)

ยาแขวนตะกอนมีข้อดีอย่างไร?

ยาแขวนตะกอนมีข้อดีดังนี้ เช่น

1. รับประทานง่าย เพราะยาเป็นรูปแบบน้ำ จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืนทำให้ไม่สามารถรับประทานยาเม็ดหรือแคปซูลได้

2. ยามีความคงตัวดี เพราะอยู่ในรูปแบบผงแห้ง

3. ลดปัญหาเรื่องรสชาติของยาได้ เพราะยาไม่ละลายจึงไม่สัมผัสกับปุ่มรับรส (Taste bud) บริเวณลิ้น

4. ยาออกฤทธิ์ได้นานขึ้นเช่น ยาแขวนตะกอนชนิดฉีด เพราะผงยาจะอยู่ในตำแหน่งที่ฉีด แล้วจึงค่อยๆกระจายไปทั่วร่างกาย

ข้อเสียของยาแขวนตะกอนเป็นอย่างไร?

ข้อเสียของยาแขวนตะกอนคือ

1. มีปัญหาเรื่องผงยากระจายตัวในน้ำกระสายยา เพราะผงยาอาจเกาะกันเป็นก้อนแข็ง (Caking)

2. ถ้ายาตกตะกอนมากเกินไปหรือเขย่าขวดยาไม่แรงพอ ขนาดยาที่ได้รับจะไม่สม่ำเสมอ ด้านบนของขวดยาจะมีขนาดยาน้อยเกินไปเพราะมีผงยาอยู่น้อย แต่ด้านล่างของขวดยาจะมีขนาดยามากเกินไปเพราะผงยาตกตะกอนอยู่เยอะ

3. ขนส่งและพกพายาก เพราะต้องใส่ขวดใหญ่

การใช้ยาผงตะกอนในเด็กควรเป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยเด็ก มักกลืนยาเม็ดหรือแคปซูลไม่ได้ ดังนั้นยาน้ำจึงเป็นรูปแบบที่เหมาะสมมากกว่า ปัจจุบันมีการผลิตยาน้ำใสหรือยาแขวนตะกอนสำหรับใช้ในเด็กอยู่บ้างแล้ว โดยกำหนดขนาดยาเป็นหยดช้อนชาหรือช้อนโต๊ะ แต่ยาบางชนิดยังไม่มีสำเร็จรูปในรูปแบบยาน้ำสำหรับเด็ก หรือมีจำหน่ายในต่างประเทศแต่ไม่ได้นำเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้นโรงพยาบาลจึงต้องเตรียมยาน้ำใสหรือยาแขวนตะกอนขึ้นมาเองจากยาแคปซูล ยาเม็ด หรือยาผง เรียกว่า “ยาเตรียมพิเศษเฉพาะราย (Extemporaneous Compounding)”

วิธีผสมน้ำสำหรับยาแขวนตะกอนชนิดผงผสมแห้ง

มีวิธีผสมน้ำสำหรับยาแขวนตะกอนชนิดผงผสมแห้งดังนี้

1. ใช้น้ำต้มสุกที่เย็นแล้วหรือน้ำสะอาด ห้ามใช้น้ำร้อนหรือน้ำอุ่น

2. ก่อนผสมน้ำ ควรเคาะผงยาให้ร่วน ไม่จับตัวกัน

3. เติมน้ำครั้งแรกประมาณครึ่งหนึ่งของขีดที่กำหนดไว้บนขวดยาหรือพอท่วมผงยา

4. เขย่าให้ยากระจายทั่ว ไม่มีก้อนแข็ง

5. เติมน้ำอีกครั้ง เพื่อปรับระดับให้พอดีขีดที่กำหนด แล้วเขย่าขวดอีกครั้ง

6. หลังจากผสมน้ำแล้ว เก็บยาที่อุณหภูมิห้องได้ 7 วัน ถ้าเก็บในตู้เย็นจะเก็บได้ 2 สัปดาห์(ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น)

มีข้อควรระวังการใช้ยาแขวนตะกอนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแขวนตะกอนดังนี้ เช่น

1. เขย่าขวดก่อนใช้ยา เพื่อให้ได้การละลายและขนาดยาที่ถูกต้อง

2. ยาเม็ดหรือยาแคปซูลที่อยู่ในรูปแบบอื่นๆเช่น แตกตัวในลำไส้หรือออกฤทธิ์เนิ่น/นาน (Sustained release) ไม่เหมาะที่จะนำมาเตรียมเป็นยาน้ำแขวนตะกอน เพราะจะเสียคุณสมบัติออกฤทธิ์เนิ่นนานไป

3. หากผู้ป่วยได้รับยาแขวนตะกอนชนิดผงผสมแห้ง 2 ขวด ให้ผสมน้ำทีละขวด เพราะหากผสมยาทิ้งไว้นานเกินไปอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพ

4. ไม่ใช้ยาแขวนตะกอนที่ กลิ่น สี รสชาติ เปลี่ยนไปจากเดิม รวมทั้งยาที่เขย่าแล้วกระจายตัวไม่ดี เกาะกันเป็นก้อน หรือแข็งอยู่บริเวณก้นขวด เป็นต้น

ข้อแนะนำการใช้ยา

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาแขวนตะกอน) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

1. นวภรณ์ วิมลสาระวงค์. ยาเตรียมพิเศษเฉพาะรายรูปแบบยาน้ำสำหรับเด็ก Extemporaneous Compounding of oral liquids for pediatrics. กุมารเวชสาร 19 (กันยายน-ธันวาคม 2555) : 193-199

2. อุไรวรรณ เพชรจรัลไพศาล, เพชรพงศ์ เพชรี และศิริศักดิ์ ดำรงพิศุทธิกุล. ผลของสารแขวนตะกอนที่มีต่อ Ibuprofen Suspension.[วิทยานิพนธ์ปริญญาเภสัชศาสตรบัณฑิต].ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3. พรเพ็ญ วีระวัฒกานนท์. (2555). ยาแขวนตะกอน (Suspensions).เอกสารประกอบการสอนวิชาเภสัชกรรม 2, กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

4. คณะทำงานพัฒนามาตรฐานทักษาะทางวิชาชีพด้านการเตรียมยาและคณะทำงานพัฒนามาตรฐานทักษาะทางวิชาชีพทางเภสัชกรรมด้านการจ่ายยา. คู่มือทักษาตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม.