ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุน (Dizziness and Vertigo medications)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 26 พฤศจิกายน 2560
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เวียนศีรษะ (Dizziness)
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- หู: กายวิภาคหู (Ear anatomy) / สรีรวิทยาของหู (Ear physiology)
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนหมายความว่าอย่างไร?
- ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนแบ่งเป็นประเภทต่างๆอย่างไร?
- ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มีข้อบ่งใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนอย่างไร?
- การใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนเป็นอย่างไรบ้าง?
- สรุป
- บรรณานุกรม
ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนหมายความว่าอย่างไร?
ยาแก้เวียนศีรษะและแก้เวียนศีรษะบ้านหมุน(Dizziness and Vertigo medications/drugs) หรือเรียกง่ายๆว่า “ยาแก้บ้านหมุน(Vertigo medications หรือ Imbalance medications/drugs)” หมายถึง ยาที่ใช้บรรเทาอาการเวียนศีรษะ (Dizziness)ที่หมายรวมถึง อาการเวียนศีรษะ มึนงง หน้ามืด/ตาลาย และอาการเวียนศีรษะที่มีลักษณะแบบบ้านหมุน(Vertigo)/ที่หมายถึง อาการวิงเวียนที่รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งของรอบตัวกำลังหมุนหรือร่างกายของตัวเองกำลังหมุน/ โคลงเคลง โดยทั้งอาการเวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนนี้ อาจมีอาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ร่วมด้วย
ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนแบ่งเป็นประเภทต่างๆอย่างไร?
ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุน แบ่งประเภทตามกลุ่มยาได้ดังนี้
1. ยากดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ (Anticholinergics) เช่นยา สโคโปลามีนไฮโดรโบรไมด์ (Scopolamine hydrobromide) หรือยาไฮออสซีน ไฮโดรโบรไมด์ (Hyoscine hydrobromide)
2. ยาต้านฮิสทามีนหรือยาแก้แพ้กลุ่มดั้งเดิม (First generation antihistamines, Conventional antihistamines) เช่นยา ไดเมนไฮดริเนท (Dimenhydrinate), ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), โปรเมทาซีน (Promethazine), ไฮดรอกซิซีน (Hydroxyzine)
3. ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines, BDZs) เช่นยา ลอราซีแพม (Lorazepam), โคลนาซีแพม (Clonazepam), อัลปราโซแลม (Alprazolam), ไดอะซีแพม (Diazepam)
4. ยาต้านตัวรับโดปามีน (Dopamine receptor antagonists) เช่นยา ดอมเพอริโดน (Domperidone), เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide), อิโทรไพรด์ (Itopride), คลอโพรมาซีน (Chlorpromazine), โปรคลอเพอราซิน (Prochlorperazine), เพอร์ฟีนาซีน (Perphenazine), ไตรฟลูโอเพอราซีน (Trifluoperazine), ฮาโลเพอริดอล (Haloperidol)
5. ยาต้านตัวรับ(Receptor)ที่ชื่อ เซโรโทนิน/Serotonin (Serotonin receptor antagonists) เช่นยา ออนแดนซีตรอน (Ondansetron), แกรนิซีตรอน (Granisetron), รามอสซีตรอน (Ramosetron), โดลาซีตรอน (Dolasetron), พาโลโนซีตรอน (Palonosetron), โทรพิซีตรอน (Tropisetron)
6. ยาออกฤทธิ์ปิดกั้นช่องแคลเซียม (Calcium channel blockers) เช่นยา ซินนาริซีน (Cinnarizine), ฟลูนาริซีน (Flunarizine)
7. ยากระตุ้นการทำงานของตัวรับฮิสทามีน (Histamine agonists or Histamine analog) เช่นยา เบตาฮิสตีน ไดไฮโดรคลอไรด์ (Betahistine dihydrochloride), เบตาฮิสตีน เมไซเลต (Betahistine mesilate)
8. ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่นยา เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone), เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone)
ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายได้หลายรูปแบบ ดังนี้
- ยาเม็ด (Tablet)
- ยาแคปซูล (Capsule)
- ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
- ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
- ยาน้ำใส (Solution)
- ยาน้ำใสชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile solution)
- ยาผงชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile powder)
- แผ่นแปะผิวหนัง (Transdermal patch)
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”
มีข้อบ่งใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนอย่างไร?
มีข้อบ่งใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุน ดังนี้ เช่น
1. ใช้กดการรับรู้ของระบบประสาทหูชั้นใน (Vestibular Suppressants) จึงสามารถบรรเทาอาการเวียนศีรษะ (Dizziness) และอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (Vertigo) ที่มีสาเหตุเกิดจากโรคเมนเนียร์ (Meniere’s disease,โรคของหูชั้นในที่ไม่ทราบสาเหตุ ที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนเรื้อรัง), ความผิดปกติอื่นๆ ของระบบอวัยวะรับการทรงตัวในหูชั้นใน, โรคหูจากสาเหตุต่างๆ
2. ใช้บรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร
มีข้อห้ามใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุน เช่น
1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อยานั้นๆอย่างรุนแรง(Hypersensitivity)
2. ห้ามใช้ยากลุ่ม Antihistamines และยากลุ่ม Anticholinergics ในผู้ป่วยโรคต้อหินมุมปิด โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคลมชัก โรคต่อมลูกหมากโต มีภาวะไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลท์/สมดุลของน้ำและเกลือแร่ (Electrolyte)ในร่างกาย มีระบบทางเดินปัสสาวะอุดกั้น ลำไส้อุดกั้น/ลำไส้อุดตัน หลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน
3. ห้ามใช้ยากลุ่ม Benzodiazepines ในภาวะโคม่า ภาวะช็อก พิษสุราเรื้อรัง ภาวะกดการหายใจ การหายใจบกพร่องฉับพลัน กลุ่มอาการหยุดหายใจขณะหลับ ตับผิดปกติ/ตับอักเสบขั้นรุนแรง ต้อหิน เพราะอาจทำให้อาการของโรค/ภาวะดังกล่าวแย่ลง
4. ห้ามใช้ยากลุ่ม Benzodiazepines ติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากมีโอกาสทำให้เกิดการติดยาได้
5. ห้ามใช้ยากลุ่ม Dopamine receptor antagonists ที่ออกฤทธิ์เพิ่มการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร เช่นยา Domperidone, Metoclopramide, และ Itopride ในผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินอาหารอุดกั้น/ลำไส้อุดตัน ทางเดินอาหารทะลุ เลือดออกในทางเดินอาหาร ภาวะหลังจากได้รับการผ่าตัดทางเดินอาหาร และห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาที่ทำให้เกิดความผิดปกติจากกลุ่มอาการเอ็กทราพิรามิดัล (Extrapyramidal symptoms)
6. ห้ามใช้ยา Betahistine ในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกชนิดฟีโอโครโมไซโทมา (Pheochromocytoma)
7. ห้ามใช้ยากลุ่ม Corticosteroids ในผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อ โรคจิต โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคลมชัก โรคต้อหิน โรคกระดูกพรุน มีแผลในทางเดินอาหาร/โรคแผลเปบติค
มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุน เช่น
1. เมื่อผู้ป่วยหายจากอาการเวียนศีรษะ เวียนศีรษะบ้านหมุน และ/หรือ คลื่นไส้อาเจียน แล้ว ควรหยุดใช้ยาทุกชนิด โดยเฉพาะยาที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับสภาวะให้เข้าสู่ภาวะปกติ หากใช้ยากลุ่มนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้ผู้ป่วยปรับสภาวะได้ช้า หรือปรับสภาวะไม่ได้ ส่งผลให้มีอาการเวียนศีรษะเรื้อรัง ต้องให้ยาบรรเทาอาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเหล่านั้นตามมาในภายหลัง
2. ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Anticholinergics ในผู้ป่วยที่มีภาวะ ท้องร่วง/ท้องเสีย กรดไหลย้อน ลำไส้อักเสบเรื้อรัง และ/หรือเป็นแผลเปื่อย โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
3. ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Anticholinergics, ยากลุ่ม Antihistamines, ยากลุ่ม Benzodiazepines และยา กลุ่ม Calcium channel blockers ในผู้ที่ขับขี่ยานยนต์ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง เนื่องจากยาออกฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม ผู้ใช้ยาเหล่านี้จึงเกิดอุบัติเหตุต่างๆได้ง่าย
4. ไม่ควรใช้ยาแก้บ้านหมุนที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่นยา ยากลุ่ม Anticholinergics, ยากลุ่ม Antihistamines, และยากลุ่ม Benzodiazepines ร่วมกัน หรือรับประทานร่วมกับสุรา หรือสิ่งที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เพราะจะเสริมฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ยิ่ง ง่วงซึม กดการหายใจ และความดันโลหิตลดต่ำลงได้
5. ควรระวังการใช้ยา Betahistine ในผู้ที่มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก(แผลเปบติค) เพราะยานี้อาจเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และควรระวังการใช้ยา Betahistine ในผู้ป่วยโรคหืด เพราะยานี้อาจทำให้เกิดการหดเกร็งของหลอดลม/หายใจลำบาก
6. การใช้ยากลุ่ม Corticosteroids ควรใช้ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ได้ทั่วร่างกาย
การใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนในหญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น
หญิงมีครรภ์สามารถใช้ยากลุ่ม Antihistamines ได้ โดยแพทย์มักเลือกใช้เป็นยาอันดับแรกเพื่อบรรเทาทั้งอาการเวียนศีรษะ เวียนศีรษะบ้านหมุน และคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งยาในกลุ่มนี้ที่แพทย์เลือกใช้ เช่น Dimenhydrinate, Diphenhydramine, และ Promethazine เพราะมีข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาในหญิงกลุ่มนี้ที่มากเพียงพอ
หญิงมีครรภ์สามารถใช้ยา Metoclopramide และ Ondansetron เป็นตัวเลือกลำดับต่อมาเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน เมื่อใช้ยาในอันดับแรกไม่ได้ผล
3.ยาในกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่ม Calcium channel blockers และ Betahistine ยังมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยไม่เพียงพอ ดังนั้นควรใช้ยาเหล่านี้ก็ต่อเมื่อประโยชน์ที่ได้รับมีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์
4. ห้ามใช้ยากลุ่ม Benzodiazepines ในหญิงมีครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ อาการถอนยา และกดการหายใจ ในทารกแรกเกิด
การใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น
1. หากผู้สูงอายุมีอาการเวียนศีรษะ เวียนศีรษะบ้านหมุนบ่อยๆ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของโรค นอกจากนี้ควรแจ้งประวัติการใช้ยาที่ใช้เป็นประจำ เพราะยาบางกลุ่ม เช่น ยากันชัก อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอาการเวียนศีรษะ วิงเวียน/บ้านหมุน
2. ผู้สูงอายุสามารถใช้ยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ เวียนศีรษะบ้านหมุนได้ แต่ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากเป็นวัยที่ร่างกายมีความสามารถในการกำจัดยาลดลง จึงมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ตัวอย่างเช่น ยากลุ่ม Benzodiazepines จะยิ่งทำให้มีอาการ สับสน เดินเซ จนอาจทำให้ผู้สูงอายุหกล้มได้รับบาดเจ็บหรือกระดูกหักได้
3. ควรระวังการใช้ Cinnarizine และ Flunarizine ในผู้ที่มีอาการตัวสั่นที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือเป็นโรคพาร์กินสัน เพราะยาเหล่านี้อาจชักนำให้เกิดอาการของโรคพาร์กินสัน
การใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น
1.เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป สามารถใช้ยากลุ่ม Antihistamines ได้ โดยแพทย์มักเลือกใช้ยา Dimenhydrinate, Diphenhydramine, และ Promethazine เป็นยาตัวเลือกแรก และปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับน้ำหนักของผู้ป่วยเด็กแต่ละราย นอกจากนี้ควรเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่อาจขึ้นในเด็ก เช่น ภาวะ Paradoxical CNS stimulation(ผลข้างเคียงต่อระบบประสาท) คือ ทำให้มีอาการตื่นเต้น นอนไม่หลับ และบางรายอาจมีอาการชักได้
2.ไม่ควรใช้ยา Betahistine ในเด็กที่ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษามากเพียงพอ
3.ไม่ควรใช้ยากลุ่ม Benzodiazepines ในเด็ก เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้คือ เกิดภาวะกดการหายใจ และมีอาการง่วงซึมมากกว่าวัยผู้ใหญ่
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุน?
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุนมีดังนี้ เช่น
1.ยากลุ่ม Anticholinergics ทำให้เกิดอาการตาแห้ง และตาไวต่อแสง ปากแห้ง ปวดศีรษะ มึนงง สับสน ง่วงซึม ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก รูม่านตาขยาย ต้อหิน คลื่นไส้อาเจียน
2.ยากลุ่ม First-generation antihistamines มีอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย ได้แก่ ง่วงซึม อาการอื่นๆ ได้แก่ ตาแห้ง ปากแห้ง เสมหะเหนียวข้น ตามองภาพไม่ชัดและไวต่อแสง สับสน ปัสสาวะลำบาก ท้องผูก หัวใจเต้นผิดปกติ
3.ยากลุ่ม Benzodiazepines ทำให้มีอาการง่วงซึม เวียนศีรษะ หลงลืมชั่วคราว ติดยา ก้าวร้าว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะ บ้านหมุน ความดันโลหิตต่ำ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ การมองเห็นผิดปกติ กดการหายใจ
4. ยากลุ่ม Dopamine receptor antagonists ทำให้เกิดความผิดปกติจากกลุ่มอาการเอ็กทราพิรามิดัล (Extrapyramidal symptoms) ทำให้เกิด อาการสั่น การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อผิดปกติ กระสับกระส่าย และอาการยึกยือ (Tardive dyskinesia)
5. ยากลุ่ม Serotonin receptor antagonists ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ท้องผูก ใบหน้าแดง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำ ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
6. ยากลุ่ม Calcium channel blockers ทำให้เกิดอาการ ง่วงซึม ท้องผูก อยากอาหาร คลื่นไส้อาเจียน รู้สึกไม่สบายท้อง มีอาการสั่นไม่ทราบสาเหตุ และอาจทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน
7. ยา Betahistine ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย ปวดศีรษะ ง่วงซึม เหนื่อยล้า หน้ามืด นอนไม่หลับ ปัสสาวะบ่อย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ตาพร่า
8. ยากลุ่ม Corticosteroids ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ทั่วร่างกาย เช่น ผิวหนังบาง มีรอยแตก รอยช้ำ กระเพาะอาหารทะลุ เลือดออกในกระเพาะอาหาร/เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ต้อกระจก ต้อหิน กดการทำงานของต่อมหมวกไต ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ กระดูกพรุน และหากใช้ยานี้ขนาดสูงเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการ Cushing’s Syndrome
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- Hain, T.C. Medical Treatment of Vertigo. http://american-hearing.org/disorders/medical-treatment-of-vertigo/ [2017,Nov4]
- Schaefer, C., Peters P., and Miller, R.K. Drugs During Pregnancy and Lactation. Third Edition. Oxford : Academic press., 2015.
- กิติยศ ยศสมบัติ. Comprehensive Pharmacy review. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: นานนะภงค์; 2554.
- คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาระบบประสาทส่วนกลาง เล่ม 1 http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/archive/3274 [2017,Nov4]
- จันทร์ชัย เจรียงประเสริฐกุล. ปัญหาการทรงตัวในผู้สูงอายุ (Balance disorders in elderly) http://www.rcot.org/datafile/_file/_doctor/19ac85bb3173b1706ed42f90e98f387d.pdf. [2017,Nov4]