ยาแก้เมารถ เมาเรือ (Motion sickness medications)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาแก้เมารถ

ยาแก้เมารถเมาเรือหมายความว่าอย่างไร?

ยาแก้เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน (Motion sickness medications)เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการผิดปกติ เช่น มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน หน้าซีด เหงื่อออก มีน้ำลายมากผิดปกติ เบื่ออาหาร แสบร้อนกลางอก ไวต่อการได้กลิ่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย ในขณะที่กำลังเดินทางด้วย รถ รถไฟ เรือ หรือเครื่องบิน หรือเล่นเครื่องเล่นที่มีลัษณะหมุนเป็นวงหรือหมุนไปมา

ยาแก้เมารถเมาเรือมีกี่ประเภท?

ยาแก้เมารถ เมาเรือ แบ่งประเภทตามกลุ่มยาได้ดังนี้

1. ยาต้านฮิสทามีนรุ่นที่1 (First-generation antihistamines) เช่นยา ไดเมนไฮดริเนท (Dimenhydrinate), ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), โปรเมทาซีน (Promethazine), ซินนาริซีน (Cinnarizine), ไซคลิซีน (Cyclizine), เมคลิซีน (Meclizine)

2.ยาต้านมัสคารินิก(Antimuscarinics): เช่นยา สโคโปลามีน ไฮโดรโบรไมด์ (Scopolamine hydrobromide) หรือไฮออสซีน ไฮโดรโบรไมด์ (Hyoscine hydrobromide)

3.ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines): เช่นยา ไดอะซีแพม (Diazepam)

ยาแก้เมารถเมาเรือมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแก้เมารถเมาเรือมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาน้ำใสชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile solution)
  • แผ่นแปะผิวหนัง (Transdermal patch)
  • ยาพ่นจมูก (Nasal spray)
  • หมากฝรั่ง (Chewing gum)
  • ยาเหน็บทวารหนัก (Rectal suppository)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

ยาแก้เมารถเมาเรือมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ยาแก้เมารถเมาเรือมีข้อบ่งใช้ เช่น

1.ใช้ป้องกันและบรรเทาอาการเมา/คลื่นไส้ ที่มีสาเหตุมาจากการเคลื่อนไหว เช่น เมารถ เมาเรือ เมาเครื่อง/เมาเครื่องบิน

2.ยากลุ่ม Benzodiazepines ควรใช้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมี อาการเมารถ เมาเรือ อย่างรุนแรงเท่านั้น

ยาแก้เมารถเมาเรือมีข้อห้ามใช้อย่างไร?

ยาแก้เมารถเมาเรือมีข้อห้ามใช้ เช่น

1.ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างรุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ

2.ห้ามใช้ยา Scopolamine ในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติป่วยหรือกำลังป่วยเป็นโรคต้อหิน

3.ยาScopolamine รูปแบบแผ่นแปะ เป็นยาที่ใช้เพียงครั้งเดียว ห้ามใช้ซ้ำ ห้ามตัดแบ่งแผ่นแปะ เพราะจะทำให้การปลดปล่อยของตัวยาผิดไปจากปกติ

4.ห้ามใช้ยา Scopolamine รูปแบบแผ่นแปะในขณะเข้ารับการตรวจร่างกายด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging, MRI) หากกำลังใช้แผ่นแปะอยู่ควรแกะออกก่อน เพราะอาจทำให้เกิดผิวไหม้บริเวณที่ติดแผ่นแปะจากการทำปฏิกิริยาระหว่างสาร/ยาในแผ่นแปะกับสนามแม่เหล็กฯ

5.ห้ามใช้ยากลุ่ม Benzodiazepines ใน ภาวะโคม่า ภาวะช็อก โรคพิษสุราเรื้อรัง ภาวะมีการกดการหายใจ ภาวะมีการหายใจบกพร่องฉับพลัน กลุ่มอาการหยุดหายใจขณะหลับ ตับอักเสบขั้นรุนแรง ต้อหินชนิดมุมเปิด เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง

6.ห้ามใช้ยากลุ่ม Benzodiazepines ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดการติดยา หรือการชินยา/ใช้ยาไม่ได้ผล

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมารถเมาเรืออย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมารถเมาเรือ เช่น

1.ยาแก้เมารถ เมาเรือ เป็นยาที่ควรรับประทาน “ก่อนออกเดินทาง” เพื่อให้ยาสามารถออกฤทธิ์ป้องกันอาการ ซึ่งจะได้ผลดีกว่า การใช้เป็นยารักษาเมื่ออาการดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว

2.ยาแก้เมารถ เมาเรือ ทำให้ง่วงซึมได้ จึงไม่ควรขับขับขี่ยานยนต์ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายได้ง่าย

3.ไม่ควรรับประทานยาแก้เมารถ เมาเรือ ร่วมกับสุรา สิ่งที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ, ยาที่มีฤทธิ์เป็นยากดประสาทส่วนกลาง เช่น ยาที่มีฤทธิ์ต้านโคลิเนอร์จิก(Anticholinergics) และยาต้านเศร้าชนิดต่างๆ เพราะจะยิ่งเสริมฤทธิ์ง่วงซึมให้มากขึ้น

4.ระวังการใช้ยากลุ่มยาต้านฮีสตามีนรุ่นที่1 First-generation antihistamines และยา Scopolamine ในผู้ป่วย โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคต้อหิน โรคลมชัก โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ(ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) ต่อมลูกหมากโต มีภาวะไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลท์(Electrolyte)ในเลือด ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด ลำไส้อุดตัน ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหืด และโรคถุงลมโป่งพอง เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง

5.การใช้แผ่นแปะ Scopolamine ให้เลือกแปะบริเวณหลังใบหูข้างใดข้างหนึ่ง โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่ มีขน มีแผลเปิด ผื่นคัน หรือบนผิวหนังที่มีอาการระคายเคือง

6.แผ่นแปะ Scopolamine 1 แผ่น ออกฤทธิ์ได้นาน 3 วัน หลังจากครบ 3 วันแล้ว หากต้องการใช้ยาต่อ ให้แปะแผ่นใหม่ที่บริเวณหลังหูอีกข้างหนึ่ง ไม่แปะซ้ำที่เดิม เพราะการแปะซ้ำที่เดิม อาจก่อการระคายเคืองหรือเกิดผื่นผิวหนังอักเสบต่อผิวหนังที่สัมผัสแผ่นแปะได้

7.ในขณะที่ใช้ยา Scopolamine รูปแบบแผ่นแปะ ควรระวังไม่ให้บริเวณที่แปะโดนน้ำ เพราะอาจทำให้แผ่นแปะหลุดออกได้ หากแผ่นแปะหลุดออกแล้ว ควรต้องใช้แผ่นใหม่ทันที

8.หลังจากใช้ยา Scopolamine รูปแบบแผ่นแปะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทันที เพื่อป้องกันตัวยาที่ติดอยู่บริเวณมือเข้าตา เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา ทำให้ตาพร่า ตาแดง ตาแห้ง หรือการมองเห็นไม่ชัด

9.ยาDiazepam เป็นยาที่เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นได้ เช่น ยาที่มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ (Enzyme inhibitor) เช่นยา Cimetidine, Quinidine, หรือ Ritonavir, หากใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันจะทำให้ยา Diazepam ออกฤทธิ์นานขึ้น เพิ่มโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา/ ผลข้างเคียงรุนแรงจากยา Diazepamได้มากขึ้น เช่น ง่วงซึม กดการหายใจ และหากใช้ยา Diazepam ร่วมกับยาที่มีคุณสมบัติเป็นตัวกระตุ้นเอนไซม์ (Enzyme inducer) เช่นยา Rifampin จะเพิ่มการกำจัดยา Diazepam ออกจากร่างกาย จึงอาจทำให้ระดับยา Diazepam ในเลือดต่ำเกินไป จนไม่เห็นผลการรักษา

การใช้ยาแก้เมารถเมาเรือในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้เมารถเมาเรือในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1.หญิงมีครรภ์สามารถใช้ยากลุ่ม First-generation antihistamines และ Scopolamine ได้ แต่ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยยากลุ่มนี้ที่ควรเลือกใช้เป็นตัวแรกได้แก่ Dimenhydrinate, Diphenhydramine, และ Promethazine

2.ห้ามใช้ยากลุ่ม Benzodiazepines ในหญิงมีครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดความผิดปกของทารกในครรภ์ อาการถอนยา และกดการหายใจ ในทารกแรกเกิด

การใช้ยาแก้เมารถเมาเรือในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้เมารถเมาเรือในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ผู้สูงอายุ สามารถใช้ยาแก้เมารถ เมาเรือ ได้ แต่ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากวัยนี้เป็นวัยที่ร่างกายสามารถกำจัดยาออกจากร่างกายได้น้อยลง จึงมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ตัวอย่างเช่น ยากลุ่ม Benzodiazepines ทำให้มีอาการ สับสน เดินเซ อาจทำให้ผู้สูงอายุหกล้ม จนได้รับบาดเจ็บได้

การใช้ยาแก้เมารถเมาเรือในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้เมารถเมาเรือในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

1.ไม่ควรใช้ยาแก้เมารถเมาเรือ ใน”เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี” เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยากลุ่มนี้เพียงพอ นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กในวัยดังกล่าวมักยังไม่มีอาการเมารถ เมาเรืออยู่แล้ว

2.เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป สามารถใช้ยากลุ่ม First-generation antihistamines ได้ โดยเลือกยา Dimenhydrinate หรือ Diphenhydramine เป็นยาตัวเลือกแรก และปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับน้ำหนักของผู้ป่วยเด็กแต่ละรายตามเอกสารกำกับยาหรือตามคำสั่งแพทย์/เภสัชกร นอกจากนี้ควรเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่อาจขึ้นในเด็ก เช่น ภาวะ Paradoxical CNS stimulation คือ ทำให้มีอาการ ตื่นเต้น นอนไม่หลับ และเด็กบางรายอาจมีอาการชักได้

3.ไม่ควรใช้ยา Scopolamine และยากลุ่ม Benzodiazepines ในเด็ก เพราะอาจมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ยากลุ่ม Benzodiazepines อาจทำให้เกิดภาวะกดการหายใจ

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้เมารถเมาเรือเป็นอย่างไร?

ยาแก้เทารถเมาเรือมี อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

1.ยากลุ่ม First-generation antihistamines มีอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย ได้แก่ ง่วงซึม อาการอื่นๆ เช่น ตาแห้ง ปากแห้ง เสมหะเหนียวข้น ตามองภาพไม่ชัดและตาไวต่อแสง สับสน ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด ท้องผูก หัวใจเต้นผิดปกติ

2.ยาScopolamine มีอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย ได้แก่ ตาแห้งและตาไวต่อแสง มองภาพไม่ชัด ปากแห้ง อาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ มึนงง สับสน ง่วงซึม ปัสสาวะลำบาก รูม่านตาขยาย ต้อหิน ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน

3.ยากลุ่ม Benzodiazepines ทำให้มีอาการ ง่วงซึม เวียนศีรษะ หลงลืมชั่วคราว ติดยา ก้าวร้าว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะ บ้านหมุน ความดันโลหิตต่ำ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ การมองเห็นภาพผิดปกติ กดการหายใจ

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแก้เมารถเมาเรือ) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Brainard, A., and others. Motion Sickness Treatment & Management 2016. http://emedicine.medscape.com/article/2060606-treatment#showall [2017,April 15]
  2. Erskine, S.K. Motion Sickness https://wwwnc.cdc.gov/travel/yellowbook/2016/the-pre-travel-consultation/motion-sickness [2017,April 15]
  3. Golding, J.F. Motion Sickness. Handbook of Clinical Neurology https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15655399 [2017,April 15]
  4. Murdin, J. Managing motion sickness http://www.bmj.com/content/343/bmj.d7430 [2017,April 15]
  5. Schaefer, C., Peters P., and Miller, R.K. Drugs During Pregnancy and Lactation. Third Edition. Oxford : Academic press., 2015.
  6. The National Health Service (NHS). Motion sickness http://www.nhs.uk/conditions/Motion-sickness/Pages/Introduction.aspx [2017,April 15]
  7. คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาระบบประสาทส่วนกลาง เล่ม 1 http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/archive/3274 [2017,April 15]